ชีวิตที่พอเพียง : ๗๒๖. นั่งรถไฟไปชุมพร (๒)


 

          ผมนั่งรถไฟไปชุมพรเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพื่อไปงานศพ     วันที่ ๒๐ มี. ค. ๕๒ นี้ไปอีก เพื่อไปงานแต่งงาน   ไปคราวที่แล้วไปคนเดียวจึงได้มีโอกาสสังเกตสิ่งต่างๆ เอามาบันทึก   แต่คราวนี้ชวนสาว (น้อย) ไปด้วย   จึงไม่ได้สังเกตสิ่งต่างๆ มากนัก   มัวคุยหรืออ่านหนังสือพิมพ์เสียเป็นส่วนใหญ่  

          สิ่งแปลกตาที่ห้องรอผู้โดยสาร คือที่นั่งที่เป็นเก้าอี้มีน้อยมาก    บริเวณตรงกลางเป็นพื้นหินขัดที่สวยงามและสะอาดเป็นพื้นโล่ง   (ที่ปีที่แล้วใช้จัดนิทรรศการสมเด็จกรมหลวงฯ)    กลายเป็นที่นั่งแบบนั่งกับพื้น   ทั้งไทย-ฝรั่งนั่งพักกันอย่างสบาย 

          ถ้าเทียบกับสมัยผมเด็กๆ นั่งรถไฟไป-กลับชุมพร – บางกอกน้อย    หรือสมัยอยู่หาดใหญ่ช่วงต้นๆ นั่งรถไฟไป-กลับหาดใหญ่ – หัวลำโพง    บริเวณภายในสถานีรถไฟหัวลำโพงได้รับการจัดระเบียบดีขึ้นมากมาย   ซึ่งก็หมายความว่าผู้ค้ารายย่อยหายไปหมด   ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นผู้ค้ารายใหญ่ทั้งหมด   แต่สถานีรถไฟสามเสนดูจะทรุดโทรมลงไป   ขาดการปรับปรุง   ได้จากการสังเกตตอนผมไปจองตั๋ว       

          รถไฟขบวนที่เราเดินทางเป็นรถด่วน กรุงเทพ – นครศรีธรรมราช ขบวนที่ ๘๕  เจ้าหน้าที่ดูแลตู้นอนที่ ๑๖ ชื่อบัณฑิต ทำหน้าที่ดีอย่างน่าชื่นชม   สีหน้าแววตาแสดงความเป็นคนมีจิตบริการสูงมาก   คนแบบนี้ถ้าผมมีสถานบริการผมจะชวนไปทำงานด้วย   เวลาประมาณสองทุ่ม ก็เดินมากล่าวแนะนำวิธีปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย   เพราะเคยมีคนมาขโมยของ   หลังสี่ทุ่มเขาจะปิดไม่ให้คนขึ้นลงจากตู้นอนได้   คุณบัณฑิตให้หลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย ๕ ข้อ   (๑) หลัง ๔ ทุ่ม จะใส่กลอนประตู   ถ้ามีคนมาเคาะประตูขอเข้ามาในตู้นอน ผู้โดยสารอย่าเปิดรับเอง   ให้ไปตามคุณบัณฑิตมาเปิด  (๒) เวลาไปเข้าห้องน้ำ อย่า วางกระเป๋าเงินหรือของมีค่าไว้ที่ที่นอน   (๓)  ให้เอากระเป๋าใส่ของมีค่า เช่นกล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เข้าไปในที่นอนด้วย  (๔) ปิดม่านให้มิดชิด และเหน็บชายม่านไว้ใต้ที่นอน   ไม่ให้คนภายนอกล้วงเข้าไปเอาได้  (๕) ถ้ามีคนเปิดม่าน ให้ออกมาดูว่าเป็นใคร   ถ้าเป็นคนร้ายมาขโมยให้ส่งเสียงขอความช่วยเหลือ    คุณบัณฑิตจดหมายเลขที่นอนคนโดยสารที่จะลงชุมพรไว้ปลุกด้วย

          ผมนอนหลับๆ ตื่นๆ บนที่นอนชั้นล่าง ในตู้นอนปรับอากาศชั้น ๒   เพราะเป็นห่วงว่าจะเลยชุมพร   ทั้งๆ ที่ตั้งให้ iPhone ปลุก   และบอกคุณบัณฑิตไว้แล้ว    เพราะเกรง ไม่ได้ยินเสียงปลุกของ iPhone และเกรงว่าเจ้าหน้าที่ของรถไฟจะเหมือนของปีที่แล้ว ที่หวังพึ่งไม่ได้   แต่คราวนี้คุณบัณฑิตรับผิดชอบดีมาก    แม้ผมและหมออมราจะตื่นเอง เขาก็มาบอกว่ายังอีก ๑ ชั่วโมงจึงจะถึง

          ในที่สุดรถไฟเสียเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง    คุณบัณฑิตบอกว่าเป็นเช่นนี้เป็นประจำ   ผมว่าถ้าเช่นนั้นก็เปลี่ยนเวลาที่เป็นทางการเสียน่าจะดีกว่า 

          หลานชายเป็นทหารยศร้อยโท ประจำอยู่ที่ ร. ๑๑ บางเขนเอารถมารับที่สถานีรถไฟ   ญาติพี่น้องคนอื่นๆ เขามากันตั้งแต่เมื่อวาน   พิธีแต่งงานทำที่โรงแรม   เจ้าสาวเป็นลูกของน้องชายคนที่ ๓ ชื่อ นส. อรกมล พานิช   เจ้าบ่าวชื่อสุวัฒน์ชา เป็นชาว อ. นาทวี  จ. สงขลา    ผมถามน้องสะใภ้ที่เป็นแม่เจ้าสาว ว่าเจ้าบ่าวนามสกุลอะไร   ได้คำตอบว่าไม่รู้   ผมจึงยังไม่รู้ว่าหลานสาวจะใช้นามสกุลอะไรหลังแต่งงาน   รู้แต่ว่าเจ้าบ่าวจะมาอยู่ที่บ้านเจ้าสาวและช่วยพ่อตาทำสวน   เป็นอันว่าน้องชายคนนี้มีลูกสาว ๒ คน และแต่งงานหมดแล้ว   น้องชายคนนี้ดีใจมาก ที่ลูกเขยจะมาสืบทอดการทำสวน   น้องๆ ที่ทำสวน ๓ คน มีฐานะดีกว่าผมทั้งสิ้น   ปีนี้มีเค้าว่าหลานจะแต่งอีก ๑ คู่คือลูกสาวของน้องชายคนถัดจากผม   แต่งงานปลายปีนี้ ที่เชียงราย   พิธีแต่งงานเป็นเครื่องมือของการรวมญาติอย่างหนึ่ง 

          พิธีแต่งงานจัดง่ายๆ ด้วยการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญ   ตามด้วยการไหว้ญาติผู้ใหญ่    แล้วเลี้ยงอาหารเที่ยง   ระหว่างเลี้ยงอาหารแขกก็ผลัดกันขึ้นไปร้องเพลง   เป็นอันเสร็จพิธี

          เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นพิธีบายศรีสู่ขวัญของภาคใต้   หมอทำพิธีเป็นคนหนุ่มมาจากนาทวี   เราคุยกันว่า ที่ชุมพรและสุราษฎร์ไม่มีพิธีแบบนี้   ผมเคยเห็นพิธีบายศรีสู่ขวัญของภาคเหนือและภาคอีสานมามาก   แต่ไม่เคยเห็นของภาคใต้เลย   ได้มาเห็นครั้งนี้นับเป็นบุญ   ข้อสังเกตคือพิธีของภาคอีสานและภาคเหนือยาวมาก   ของภาคใต้สั้นกว่า ใช้เวลาเพียงครึ่งหนึ่งหรือไม่ถึงครึ่งของภาคเหนือและอีสาน   และของภาคเหนือและอีสานหมอขวัญเป็นคนแก่หรืออาวุโสมาก   แต่ของภาคใต้ที่เห็นคราวนี้หมอขวัญหนุ่มมาก   อายุคงสักประมาณ ๓๕

          หลานชายคนหนึ่งจบวิศว จุฬากลับมาช่วยพ่อแม่ทำงานที่บ้าน   หลานคนนี้ถือเป็นเด็กสมองดีเลิศ   ตอนเรียนชั้นประถมอ่านสามก๊กจบและรู้เรื่องดีมาก   เข้าใจเรื่องซับซ้อนได้ดี ความจำดี   แต่ตอนเรียนวิศว ที่จุฬา เขาต้องเรียนอยู่ถึง ๖ ปี   ผมสงสัยว่า ถ้าระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยไทยมีความยืดหยุ่นกว่านี้ หลานคนนี้น่าจะเรียนได้ดีกว่านี้มาก   หรือคิดใหม่ว่าระบบการศึกษาน่าจะได้หาวิธีใช้นิสิตสมองเลิศให้เกิดคุณค่าทางวิชาการได้ดีกว่านี้   แต่ถ้าคิดตามแนวหนังสือ Outliers หลานของผมอาจมีจุดอ่อนบางจุด   ที่ปิดกั้นความมีสมองเลิศของเขา 

          กลับจากงานแต่งงาน หลานชายคนที่เขียนถึงในย่อหน้าบน มาแนะนำการใช้ Wifi ที่เขาติดตั้งสำหรับใช้ที่บ้านและที่ร้านค้าที่อยู่ห่างบ้านออกไป ๓๐ เมตร    ผมจึงได้อวด บล็อก ThaiKM และ Council ใน G2K   เราจึงคุยกันต่อเรื่องประวัติเมืองชุมพร    ที่ผมเอาประวัติบอกเล่าที่น้องชายค้นคว้ามาขึ้น บล็อก เป็นที่นิยมชมชอบ   ผมจึงได้รู้ว่าข้อความบางตอนผิดพลาด   จึงเข้าไปแก้ไขแล้ว    

          ตอนค่ำวันที่ ๒๑ มี.ค. หลานสาวและน้องสะใภ้มาส่งที่สถานีรถไฟ    รถไฟด่วน นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ ขบวนที่ ๘๖   มาและออกตรงเวลา    จอดอยู่ที่สถานีชุมพรเกือบ ๑๐ นาที   การขึ้นลงรถไฟจึงไม่ต้องรีบร้อน   นอกจากเรา คนแก่สองผัวเมีย แล้ว ยังมีฝรั่งนักท่องเที่ยวสองผัวเมียขึ้นที่ชุมพรด้วย   เขานอนชั้นบนเหนือที่นอนของเรา  

          ตั๋วของเราระบุที่นั่ง ๓๘ และ ๔๐  ของตู้นอนหมายเลข ๑๖   พอเข้าไปในตู้รถก็ถึงเลย    สะดวกในด้านขึ้นลง    แต่พอนอนก็พบว่าเสียงดังมาก    คงจะเป็นเสียงเสียดสีของข้อต่อระหว่างโบกี้    เป็นบทเรียนว่า ต่อไปเมื่อไปซื้อตั๋วรถไฟให้ระบุกับเจ้าหน้าที่ขายตั๋วว่า ต้องการที่นอนชั้นล่างกลางๆ ตู้นอน    จะนอนสบาย เสียงไม่ดังมาก และตัวรถไม่แกว่งมาก    ที่จริงเรื่องเสียงก็ยังดังอยู่ดี   และตรงกลางตู้นอน นอกจากเสียงล้อบดรางแล้ว ยังมีเสียงเครื่องยนต์สำหรับฉุดเครื่องปรับอากาศด้วย

          ผมนอนหลับดีกว่าขาไป    ผมออมรานอนไม่หลับ    ผมโชคดีที่นอนหลับง่าย   และคราวนี้รถไฟถึงก่อนเวลา    คือเวลาตีห้าก็ออกจากศาลายา    สถานีต่อไปคือบางซื่อ  

          ลูกสาวคนโตไปนอนเป็นเพื่อนป้าที่บ้านปากเกร็ด   มารับที่สถานีสามเสนพร้อมป้า เพราะป้านอนไม่หลับ    พอลงทางด่วนแจ้งวัฒนะเราก็เจอรถติด เพราะมีรถผู้ปกครองไปส่งนักเรียนสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อที่อิมแพ็คท์ เมืองทองธานี   กว่าจะหนีหลุดออกมาได้ก็เสียเวลาไป ๒๐ นาที    นี่คือทักษะในการมีบ้านอยู่ใกล้อิมแพ็คท์   เราต้องรู้ว่าเมื่อไรจะมีกิจกรรมต้นเหตุรถติด และคอยหลบหลีกให้ดี  

         ไปชุมพรคราวนี้ นอกจากได้ไปแสดงความยินดีต่อหลานสาว ผู้เป็นเจ้าสาว    แสดงความยินดีต่อน้องชายและน้องสะใภ้ ที่ได้ลูกเขยอีกคนหนึ่ง แล้ว    ผมยังได้ชื่นใจที่ได้เห็นแม่มีสุขภาพดี มีชีวิตชีวา กินอาหารอร่อย   ในชีวิตที่อายุ ๘๙

 

วิจารณ์ พานิช
๒๒ มี.ค. ๕๒


                  

ข้อดีอย่างหนึ่งในการเดินทางกับสาวน้อย คืออาหารการกินอุดมสมบูรณ์

พิธีไหว้ญาติผู้ใหญ่ แม่นั่งโซฟาตัวกลางระหว่างพ่อแม่ของเจ้าบ่าว  พ่อแม่ของเจ้าสาวนั่งด้านขวามือของภาพ

 

พิธีบายศรีสู่ขวัญ หมอขวัญคือคนที่หันหน้ามาทางกล้อง

แม่กำลังรดน้ำมนตร์อวยพรคู่บ่าวสาวซึ่งเป็นหลานย่า คำอวยพรของแม่ศักดิ์สิทธิ์เสมอ

เครื่องบายศรี

 
หมายเลขบันทึก: 252426เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 07:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องราวที่มีหลายอรรถรสมากครับ

เรื่องของรถไฟไทยเป็นเรื่องที่กระผมได้พบเจอหลากหลายมากครับในช่วง 5 ปีที่กระผมมาทำงานที่อุทยานฯ หว้ากอ จังหวัดประจวบฯ และไป-กลับประจวบฯ-หาดใหญ่ เคยมีนอนเพลินเลยไปหัวหินก็มีครับ หลังจากประสบการณ์ครั้งนั้นกระผมก็เลยไม่รอให้พนักงานปลุกอีกเลยครับ เดินทางจนตื่นเป็นเวลาประจำ นอนที่บ้านก็ยังตื่นเลยครับ และคิดว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยน่าจะพัฒนาให้ระบบบริการเกิดความสมบูรณ์ได้ถ้ามีงบในการพัฒนาในอนาคตน่าจะทำให้คนใช้บริการรถไฟมีความสุขยิ่งขึ้นนะครับ

สำหรับด้านการศึกษากระผมก็เห็นด้วยครับ บางครั้งเด็กที่มีความสามารถไม่ได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมก็อาจจะทำให้เสียจังหวะจนอาจจะทำให้เสียบุคลากรที่มีคุณภาพไปก็มาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเด็กที่มีความสามารถพิเศษ แต่ในความเป็นจริงกระผมคิดว่ายังไม่ทั่วถึงและอาจจะยังไม่หลากหลายหรือเปล่าครับ

และกระผมก็เพิ่งทราบว่าที่สงขลามีพิธีบายศรีสู่ขวัญ ทั้งๆที่อยู่สงขลามาก็นานพอควร คงต้องหาโอกาสไปเรียนรู้พิธีในงานต่างๆในท้องถิ่นให้มากขึ้นครับ ขอบพระคุณมากๆครับ

ปพร ประเสริฐศักดิ์

หนูบังเอิญได้มาอ่านบล็อกของอาจาร์ยเนื่องจากกำลังหาข้อมูลไปเที่ยว ชุมพร พออ่านแล้วรู้สึกชื่นชมกับการเล่าเรื่องราวของอาจารย์มากค่ะ เป็นนักเล่าเรื่องที่ชวนให้ติดตามจริงๆ อ้อ หนูเป็นคนหนึ่งที่ชอบขึ้นรถไฟตู้นอนค่ะ เลยพลอยได้ประโยชน์ไปด้วยเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท