ศิลา
น.ส. ศิลาวัน หล้า จันทรบุตร

สรุปบทเรียน ตอนที่ 1


องค์ความรู้เรื่องมันสำปะหลัง

           

สรุปบทเรียน   การทดลองปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร (ตอน1)

            เมื่อวันที่ 16 ก.พ.  ที่ผ่านมา  ได้มารายงานตัว ณ สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร   เพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการ    โดยต้องทดลองปฏิบัติราชการตามที่สำนักงานก.พ.กำหนดไว้    ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับการพัฒนาเพื่อให้รู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นข้าราชการที่ดีรองรับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 59   โดยทางก.พ.ได้กำหนดมาตรฐานการพัฒนาข้าราชการระหว่างทดลองปฏิบัติราชการเป็น 3 ช่วง  ดังนี้  ช่วงที่ 1 การปฐมนิเทศ  ช่วงที่ 2  การฝึกอบรม  และช่วงที่ 3  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  นั้น

            ซึ่งเมื่อวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์  ที่ผ่านมาก็ได้เข้าอบรมในช่วงที่ 1 การปฐมนิเทศ ณ กรมส่งเสริมการเกษตรเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว    ส่วนการอบรมช่วงที่ 2 “การเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะงานส่งเสริมการเกษตร”(14 วัน  โดยประมาณ)และการเข้าฝึกอบรมช่วงที่ 3 หลักสูตร  “การเรียนรู้ด้วยตนเองจากเอกสารของสำนักงาน ก.พ.”   นั้นจะมีหนังสือแจ้งให้ทราบอีกครั้งหลังจากได้ทดลองปฏิบัติราชการ 45 วันทำการ

            ดังนั้นทางกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดกรอบการทดลองปฏิบัติราชการ   ไว้ดังนี้

หลักการ

            1.จัดประสบการณ์ให้เป็นระบบและกระบวนการที่ต่อเนื่อง

            2.ให้มีการฝึกสถานการณ์จริงให้มากที่สุด    เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

            3.สร้างสัมพันธภาพที่ดีให้ระหว่างข้าราชการบรรจุใหม่ ข้าราชการเก่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            4.พัฒนาคุณภาพข้าราชการใหม่ให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

วัตถุประสงค์

            เพื่อให้ข้าราชการบรรจุใหม่มีความรู้  ความเข้าใจ  มีทักษะและประสบการณ์  ตรงตามสมรรถนะตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  ระดับปฏิบัติการอย่างแท้จริง

           

 

ซึ่งการทดลองปฏิบัติราชการ  45 วันทำการนั้น  ต้องปฏิบัติราชการอยู่ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร 35 วันทำการ  และสำนักงานเกษตรอำเภอลานกระบืออีก 10 วันทำการก่อนเข้ารับการอบรมช่วงที่ 2 และช่วงที่ 3   

            โดยการทดลองปฏิบัติราชการที่ผ่านมา  ทีมวิทยากรพี่เลี้ยง(คุณเขียวมรกต-ฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ  คุณสิงห์ป่าสัก-กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร  คุณเสนาะ  ทนันชัย-กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต   และคุณนิธินนท์   การินทา-ฝ่ายบริหารงานทั่วไป)    ได้วางแผนกระบวนการฝึกปฏิบัติในแต่ละกลุ่ม/ฝ่าย   ดังนี้

วันที่   16-20  ก.พ.52                  เรียนรู้งานรวม 4 กลุ่ม/ฝ่าย

วันที่   23-27  ก.พ.52                  เรียนรู้งานกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร

วันที่    2 - 6   มี.ค.52                  เรียนรู้งานฝ่ายบริหารงานทั่วไป

วันที่    9-13   มี.ค.52                  เรียนรู้งานกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต

วันที่   16-20  มี.ค.52                  เรียนรู้งานฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ

วันที่   23-27  มี.ค.52                  ประเมินผลแบบมีส่วนร่วม WORK SHOP ย่อย

วันที่   30 มี.ค.-3เม.ย.52              นำเสนอผลการปฏิบัติงาน,จัดทำรายงาน-สรุป

วันที่    7-23   เม.ย.52                 ลงปฏิบัติงานอำเภอ  10  วันทำการ

 

            ตลอดระยะเวลาของการฝึกปฏิบัติราชการที่ผ่านมา(ประมาณ 30 วันทำการ)    ได้ร่วมปฏิบัติงานกับพี่ๆทีมงานของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร   ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์,ทักษะ,เทคนิคต่างๆ  ได้เรียนรู้งานของแต่ละกลุ่ม/ฝ่าย    ได้เรียนรู้งานในภาคสนาม(การปฏิบัติงานในพื้นที่)   อีกทั้งยังได้พบเจอพูดคุยกับเกษตรกรในแต่ละอำเภอของจังหวัดกำแพงแพง   รู้ถึงพื้นที่ทางการเกษตร,ชนิดของพืชที่ปลูกในแต่ละอำเภอ   เห็นปัญหาของเกษตรกรในหลายๆด้าน    รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกรอีกด้วย   ซึ่งพอจะเขียนสรุปรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆที่ได้ปฏิบัติไว้ดังนี้

 

แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเกษตรกร(มืออาชีพ)

            เมื่อวันที่ 23 ก.พ.52   ที่ผ่านมาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการถอดบทเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง      โดยได้เข้าร่วมกับพี่ๆทีมงานของสำนักงานจังหวัดกำแพงเพชรและพี่ๆจากกรมส่งเสริมการเกษตร  ถอดบทเรียนการผลิตมันสำปะหลังของคุณวันเพ็ญ  สิงห์สร้อย  ที่ ต.สักงาม  อ.คลองลานโดยเทคนิคของคุณวันเพ็ญจะเป็นการใช้ปุ๋ยชีวภาพเร่งต้น-ใบ(ไม่ว่าจะเป็นสูตรหอย,ฮอร์โมนไข่)   การใช้สารซุปเปอร์เทอร์โบแช่ทอนพันธุ์เพื่อเร่งรากและกันแมลง     การปลูกถั่วเขียวบำรุงดิน   การเลือกขนาดของท่อนพันธุ์(เท่ากับเหรียญ ห้าบาท)  การให้น้ำก่อนปลูกและการให้น้ำเมื่อมันมีอายุได้ 7  เดือน   โดยมีรายละเอียดของการถอดองค์ความรู้ ดังนี้

 

การถอดองค์ความรู้เรื่องประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง

 

            เกษตรกรชื่อ  คุณวันเพ็ญ   สิงห์สร้อย  อายุ  36 ปี  ที่อยู่เลขที่ 189  ม. 1  ต.สักงาม    อ.คลองลาน  จ.กำแพงเพชร  สถานภาพทางสังคม  สมาชิกอบต.สักงาม   ประสบการณ์เกี่ยวกับมัน 8ปี  และที่ประสบความสำเร็จได้ผลผลิตมันดีในช่วง 3 ปีหลัง  ซึ่งตลอดระยะเวลาการปลูกมัน  คุณวันเพ็ญให้ความสำคัญต่อขั้นตอนต่างๆดังนี้(ให้คะแนนเต็มสิบ)โดยจะให้ความสำคัญในด้านของพันธุ์   การดูแล,การจัดการก่อนการเก็บเกี่ยวมากที่สุด(เท่ากับ 10 คะแนน)  รองลงมาจะเป็นเรื่องของดินและศัตรูพืช(คะแนนเท่ากับ 8 เท่ากัน)  ให้ความสำคัญน้อยที่สุดจะเป็นเรื่องของการกำจัดวัชพืช(เท่ากับ 7 คะแนน)

 

 

ลักษณะพื้นที่ปลูก

            -ประวัติการใช้ที่ดิน  อดีตเคยปลูกกล้วยไข่  แต่เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาได้หันมาปลูกมันสำปะหลังแทน   โดยเคยใช้พันธุ์น้องแบม ,ระยอง 7,ห้วยบง 60 มาแล้ว  แต่ได้ผลผลิตไม่ดีประมาณ 2 ตัน/ไร่  ปัจจุบันจึงหันมาปลูกพันธุ์ระยอง 5(เพื่อนบ้านและเจ้าหน้าที่เกษตรแนะนำ)ปัจจุบันได้ผลผลิต 8.7 ตัน/ไร่ มีการปลูกถั่วเขียวบำรุงดิน 3 ปี/ครั้ง(ไถกลบตอนออกดอกอายุประมาณ 45วัน)

            -พื้นที่ปลูก  เป็นที่ราบลุ่ม  น้ำไม่ขัง  มีการระบายน้ำดี  แต่ถ้ามีฝนตกชุกติดต่อกัน  7 วัน อาจทำให้น้ำท่วมขัง  ทำให้ผลผลิตเสียหายได้

            -ลักษณะดิน  เป็นดินร่วนปนทราย  มีคุณสมบัติระบายน้ำดี

การเตรียมดิน

            การไถ  ใช้ผาน 3  โดยจะทำการไถหลังเก็บเกี่ยวมัน  ไถลึก 30-40 ซม.  และทำการพักดินหลังไถผาน 3 แล้วประมาณ 15 วัน  ถ้านานกว่านี้จะมีปัญหาวัชพืช   แต่ถ้าปลูกหนีน้ำหรือกรณีรีบปลูก  ไม่ต้องพักดินก่อนยกร่องก็ได้     จากนั้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์(ของอบจ.)ใส่อัตรา 1 กระสอบ/ไร่    การยกร่องความกว้าง 80 ซม.  เป็นการกลบปุ๋ยอินทรีย์ไปด้วย  และเกี่ยวกับการให้น้ำ  คือช่วยทำให้น้ำไม่ท่วมขัง  มีผลต่อการเจริญเติบโตของมัน  ซึ่งถ้าร่องใหญ่   หัวมันก็จะมีขนาดใหญ่

การเตรียมพันธุ์

            ใช้พันธุ์ระยอง 5  เพราะนำมาปลูกในพื้นที่แล้วได้ผลดี  ซึ่งพันธุ์นี้มีเพื่อนบ้านแนะนำ  และตัวเกษตรกรเองก็ได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมประจำตำบลแล้ว    แหล่งที่มาของท่อนพันธุ์ในช่วงแรกซื้อมาและในปีต่อมาเก็บท่อนพันธุ์ไว้ใช้เอง(ซื้อท่อนพันธุ์มา 2,000 บาท  ใช้ได้ 6ไร่)  โดยการเลือกท่อนพันธุ์ที่ใช้ทำพันธุ์นั้น  เลือกต้นพันธุ์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์ผ่านกลางประมาณ  1  ซม.  (เท่ากับนิ้วโบ้หรือเท่ากับเหรียญห้าบาท ) เลือกเฉพาะส่วนที่เป็นสีน้ำตาล  ไม่เอาส่วนที่เป็นสีเขียวเลย  เพราะมีความเหมาะสมในการใช้เป็นท่อนพันธุ์  ทั้งในเรื่องอายุและความสมบูรณ์    โดยอายุของท่อนพันธุ์จะขึ้นอยู่กับอายุการเก็บเกี่ยวผลผลิต    ซึ่งจะตัดท่อนพันธุ์ก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน  ตัดเป็นท่อนยาวๆก่อน  (วัดจากยอดประมาณ  50 ซม.จากส่วนที่แตกหน่อขึ้นมาประมาณ 2 นิ้ว   แต่ถ้ามีส่วนสีเขียวก็ตัดออก)  แล้วนำมารวมกันโดยการตั้งไว้    ซึ่งการเก็บท่อนพันธุ์นั้นจะเก็บไว้ไม่เกิน  15 วัน  ต้องนำไปปลูก   เพราะถ้าเก็บไว้นานจะส่งผลถึงผลผลิต    การตัดท่อนพันธุ์จะใช้เลื่อยวงเดือนซึ่งฉุดด้วยมอเตอร์รถไถเดินตาม   ตัดในลักษณะตรงไม่ดูจำนวนตา  เพราะจะออกรากรอบบริเวณรอยตัดและจะแตกตา 2-3 ตา  แต่ถ้าตัดเฉียงรากจะงอกแค่ข้างเดียวและจะแตกตามากกว่า   จะตัดท่อนพันธุ์ยาว 20-25  ซม.ตัดคราวละ 10 ต้น  จากนั้นนำท่อนพันธุ์ที่ตัดแล้วมาชุบสารซุบปอร์เทอร์โบ  อัตรา  2  กก./น้ำ 200 ลิตร  ต่อท่อนพันธุ์ทีใช้ปลูก 24 ไร่   โดยทำการหมักสารไว้ก่อน 1 คืน  นำท่อนพันธุ์มาชุบสารที่หมักไว้  แค่ให้เปียกนำไปใส่กระสอบแล้วจึงปลูก   ซึ่งสารซุปเปอร์เทอร์โบมีบริษัทเข้ามาแนะนำว่าผลิตจากดินภูเขาไฟ   ช่วยให้รากแตกดี และแมลงไม่กิน   ไม่มีสารพิษตกค้าง  ซึ่งเกษตรกรลองใช้แล้วได้ผลดีมาตลอด   สามารถกันมอด,ปลวก   และรากก็แตกมาก   โดยในช่วงแรกใช้คลุกกับข้าวงอกก่อนนำไปหว่าน   เพื่อป้องกันหอยเชอร์รี่  ต่อมาจึงได้ทดลองใช้กับมันสำปะหลัง

วิธีการปลูก

            ปลูกต้นฤดูฝน  ปลูกเดือน ก.พ.  ปักท่อนพันธุ์ในลักษณะตั้งตรง  โดยคุณวันเพ็ญบอกว่า  ปักลึกลงไปในดิน 1 ใน 3  ของความยาวท่อนพันธุ์  (ประมาณ 10 ซม.)   ปักกลางร่อง ระยะปลูกระหว่างต้น 30 ซม.  ระหว่างร่อง 80 ซม.

ระบบน้ำ

            แหล่งน้ำ  อาศัยน้ำฝน  แต่ถ้าเกิดฝนแล้งและมันอายุ 7 เดือน  จะให้น้ำ 1  ครั้ง  โดยสูบจากคลองสวนหมากแล้วปล่อยตามร่องจนเต็มพื้นที่   ทำให้ดินชุ่มชื้น   หัวมันจะขยายเร็วขึ้น-มีขนาดใหญ่ขึ้น  เพราะสามารถดูดธาตุอาหารจากดินได้ง่ายขึ้น  ส่งผลให้ขุดหัวมันง่ายขึ้น

การกำจัดวัชพืช

            ฉีดยาคุมหญ้าหลังปักท่อนพันธุ์   หลังจากนั้นไม่ต้องกำจัดวัชพืชอีก   โดยใช้ยาคุมหญ้า  1  ขวดครึ่งต่อ 24 ไร่  ซึ่งสาเหตุที่ทำการกำจัดวัชพืชเพียง  1  ครั้งเพราะมีการให้ปุ๋ยชีวภาพทางใบ(ปุ๋ยน้ำชีวภาพและฮอร์โมนไข่)ทำให้มันแตกใบเร็วและเจริญเติบโตดี  คลุมไม่ให้วัชพืชได้รับแสงแดด  ทำให้วัชพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้  แต่ถ้าบริเวณที่มันเจริญเติบโตไม่ดี  มีหญ้าขึ้นจะใช้วิธีดายหญ้าโดยใช้แรงงานคนแทน

การให้ปุ๋ย

            ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี  เพราะเคยใช้แล้วดินแข็งแน่น  เป็นก้อนใหญ่  จึงหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์   เพราะช่วยทำให้ดินดี  ร่วนซุยและยังใช้ปุ๋ยน้ำเร่งการเจริญเติบโตของต้น   อัตราส่วน 250 มล./น้ำ 25 ลิตร  ฉีดในพื้นที่  24 ไร่  ฉีดเมื่อเริ่มแตกใบ 2-3 ยอด    หรือใบมีความยาวประมาณ 15 ซม.ทุก 15 วัน  หยุดฉีดเมื่อใบเป็นมัน  เขียวเข้มและเจริญเติบโตรวดเร็ว(ประมาณ 3 เดือน)   แล้วฉีดฮอร์โมนไข่แทน  เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของหัวมัน   โดยฉีดพ่นทางใบทุก 15 วันอัตราส่วนฮอร์โมนไข่ 50 มล./น้ำ 25 ลิตร  จนกระทั่งมันมีอายุ 7 เดือน  จึงหยุดการใช้ฮอร์โมนไข่  เพื่อไม่ให้หัวมันได้รับฮอร์โมนมากเกินไป  จนหัวมันแตกเสียหายได้     ส่วนแนวคิดของการทำฮอร์โมนไข่มาจากการใช้ฮอร์โมนในการเลี้ยงกบของลุงสุชาติ  ซึ่งเป็นบิดา

การเก็บเกี่ยว

            เก็บเกี่ยวเดือน ม.ค.  เมื่อมันมีอายุ  11 เดือน 9 วัน  แต่ถ้าในกรณีฝนตกชุก  จะเก็บเกี่ยวก่อนอายุวิธีการเก็บเกี่ยวนั้นจะใช้รถไถผานหัวหมู

ต้นทุนการผลิต

            ค่าจ้างไถ 450 บาท/ไร่(2 ครั้ง)

            ค่าจ้างปลูก 200 บาท/ไร่

            ค่าจ้างตัดท่อนพันธุ์ 50 บาท/ไร่

            ค่าจ้างเก็บเกี่ยว (ขุดหัวมัน+เก็บหัวมัน) 270 บาท/ไร่

            ค่าปุ๋ยอินทรีย์  250  บาท/ไร่

            ค่าซุปเปอร์เทอร์โบ  10  บาท/ไร่

            ค่ายาคุมหญ้า  16 บาท/ไร่

ข้อมูลโดยคุณวันเพ็ญ   สิงห์สร้อย

   

หมายเลขบันทึก: 252398เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2009 07:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีค่ะคุณสิงห์ป่าสัก
  • ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมนะค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท