“โต๊ะบิแด” กับการดูแลอนามัยของมารดาและทารกชาวไทยมุสลิม


เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมของนักวิจัย เพื่อให้นักวิจัยได้ร่วมปฏิบัติงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ

     ต่อจากบันทึก เพราะ GotoKnow.org เขาถึงได้เลือกครับ เมื่อทีมนักวิจัยของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตัดสินใจเลือกให้ผมเป็นผู้ประสานและเลือกพื้นที่ จว.พัทลุงเป็นฐานในการพัฒนาแล้ว สิ่งที่เราเจ้าของพื้นที่ควรจะได้คือการเข้าไปเรียนรู้ร่วม เพื่อเป็นโจทย์หัดคิด หัดทำเองได้ในภายหลัง เพราะผมเชื่อครับว่า จนท.เรามีศักยภาพ แต่เมื่อโดนกดอยู่นาน ๆ อย่างต่อเนื่อง ก็กลายเป็นคน “คิดไม่ออก ไม่บอกไม่ทำ ไม่ย้ำไม่เห็น ในที่สุดก็ทำอะไรไม่เป็น เพราะไม่เป็นอันอยากทำ” ลองมีดูเพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมเรียนรู้กันดีกว่าว่าเขามาทำอะไร ทำไม และทำอย่างไรครับ

     โครงการสร้างเสริมสุขภาพและการดูแลอนามัยของมารดาและทารกชาวไทยมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน มีวัตถุประสงค์คือ (1)  เพื่อศึกษาและวิเคราะห์คัมภีร์ วรรณกรรม ภูมิปัญญาด้านสุขภาพแม่และเด็กและการประยุกต์ใช้  (2)  เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาโต๊ะบิแดในการดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในสถานบริการสุขภาพภาครัฐระดับอำเภอ  (3) เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการผสมผสานภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านมุสลิมในการส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก มีพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด คือ  สงขลา  ยะลา  สตูล และปัตตานี  งานวิจัยนี้เป็นกระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โครงการนี้ได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่1/2549 เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2549   ณ โรงแรม เจ.บี. หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นการทำความเข้าใจภาพรวมโครงการวิจัยและการจัดทำกรอบแนวคิดโครงการวิจัยของแต่ละพื้นที่

     สำหรับการประชุมคณะนักวิจัยโครงการ ครั้งที่ 2/2549 นี้ เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมของนักวิจัย เพื่อให้นักวิจัยได้ร่วมปฏิบัติงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้คณะนักวิจัยส่วนกลางได้ประสานงานและเชิญวิทยากรบรรยายในประเด็นทางวิชาการทั้งด้านแนวคิด เทคนิค และกระบวนการที่สอดคล้องกับประเด็นงานที่พื้นที่ตั้งเป็นคำถามงานวิจัย รวมทั้งให้คณะนักวิจัยได้ฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนามในพื้นที่อำเภอปากพะยูน อำเภอกงหลา จังหวัดพัทลุง เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีในการปฏิบัติการได้ ดังนั้นโครงการจึงได้มีการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
          1. เพื่อให้คณะนักวิจัยได้เรียนรู้และมีความเข้าใจเรื่องแนวคิดและกระบวนการการวิจัยเชิงคุณภาพ แบบกรณีศึกษา
          2. เพื่อให้คณะนักวิจัยเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านการศึกษาองค์ความรู้ประสบการณ์การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านและการปรับตัวของสถานบริการสุขภาพในการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก
          3. เพื่อจัดทำแนวทางการบริหารงานวิจัยร่วมกัน

     สาระสำคัญและกระบวนการประชุมคณะนักวิจัย ครั้งที่ 2/2549 จะประกอบด้วย
          หมวดแนวคิด หลักการ และกระบวนการด้านการแพทย์พื้นบ้านและงานวิจัยเชิงคุณภาพ

              1) การบรรยายเรื่อง “การแพทย์พื้นบ้านภาคใต้ กับบริบททางสังคมและกระบวนการรักษาผู้ป่วย” โดย ดร. เลิศชาย  ศิริชัย  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  จังหวัดนครศรีธรรมราช บทเรียนจากโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ประกอบด้วยประเด็นต่อไปนี้
                     • ความหมายและคุณค่าของการแพทย์พื้นบ้านต่อระบบสุขภาพชุมชน
                     • แนวคิดและการทำความเข้าใจเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของระบบการแพทย์พื้นบ้าน
                     • กระบวนการฟื้นฟูระบบการดูแลรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้าน
                          - การฟื้นฟูเพื่อการพึ่งตนเองของชุมชน
                          - การฟื้นฟูเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะการผสมผสานในระบบบริการสุขภาพในท้องถิ่น

              2) การบรรยายเรื่อง การวิจัยเชิงคุณภาพ: แนวคิดและกระบวนการ โดย ผศ.ดร. กิตติพร นิลมานัส  คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย  (1)  ปรัชญาและแนวคิดพื้นฐานของการวิจัยเชิงคุณภาพ ทฤษฎีและสมมุติฐานงานวิจัยเชิงคุณภาพ ลักษณะของงานวิจัยเชิงคุณภาพ ศักยภาพและข้อจำกัดของงานวิจัยเชิงคุณภาพ การประยุกต์ใช้งานวิจัยเชิงคุณภาพในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนและการพัฒนาระบบบริการในสถานบริการสุขภาพ (2) วิธีเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์เชิงลึก (Indepht interview) การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion/FGD) และการสังเกต (Participant observation)

              3) การบรรยายเรื่อง การวิจัยเชิงคุณภาพแบบกรณีศึกษา โดย อาจารย์รุจินาถ อรรถสิษฐ กลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย (1) ความหมายและลักษณะสำคัญ (2) การออกแบบงานวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย (3) ข้อจำกัดของการศึกษาแบบกรณีศึกษา (4) ตัวอย่างของงานวิจัยแบบกรณีศึกษา

              4) การนำเสนอบทเรียนการวิจัย “การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสร้างเสริมสุขภาพในระยะตั้งครรภ์: กรณีศึกษาสตรีไทยมุสลิมในภาคใต้” โดยอาจารย์จินตนา หาญวัฒนกุล โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา ประกอบด้วย (1) กรอบแนวคิดของงานวิจัย (2) วัตถุประสงค์ (3) วิธีการศึกษา     (4) ผลการศึกษา “ข้อค้นพบที่สำคัญจากงานวิจัย” (5) ข้อเสนอแนะ

              5) การนำเสนอ บทเรียนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เรื่อง “การดูแลตนเองของสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด” อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดย นางสาวยูนัยดะห์ กะดะแซ และคณะ ประกอบด้วย (1) บทเรียนการก่อรูป “โจทย์การวิจัยของทีมชุมชน” (2) กระบวนการทำงาน (3) ผลการวิจัยเบื้องต้น

          หมวดการฝึกภาคสนาม เรื่อง การศึกษาองค์ความรู้ประสบการณ์การใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก โดย 

              1) อาจารย์อนุชา หนูนุ่น สสจ.พัทลุง วิทยากรเตรียมการภาคสนามล่วงหน้า  

              2) คณะนักวิจัยกลุ่มงานการแพทย์พื้นบ้านไทยจัดทำเครื่องมือโดยศึกษาจากคำถามงานวิจัยของแต่ละโครงการย่อย ดังนี้
                   เครื่องมือชุดที่ 1 การศึกษาองค์ความรู้และประสบการณ์ของโต๊ะบิแด
                   เครื่องมือชุดที่ 2 การศึกษาชุมชนด้านบริบททางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง
                   เครื่องมือชุดที่ 3 การศึกษาความรู้และประสบการณ์ในการดูแลตนเองของหญิงตั้งครรภ์ คลอด หลังคลอดและทารก
                   เครื่องมือชุดที่ 4 การปรับตัวของระบบบริการสุขภาพภาครัฐระดับอำเภอในการดูแลสุขภาพแม่และเด็กสำหรับชาวไทยมุสลิม

              3) การฝึกภาคสนามที่ตำบลเขาชัน อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง โดยใช้เครื่องมือชุดที่ 1-3  ฝึกภาคสนามที่โรงพยาบาลกงหลา โดยใช้เครื่องมือชุดที่ 4

          หมวดการถอดบทเรียนโครงการ เรื่อง “การถอดบทเรียนโครงการ: แนวคิดและกระบวนการ” โดย อาจารย์เสรี จุ้ยพริก

          หมวดการบริหารงานวิจัย การประชุมคณะนักวิจัยทั้งส่วนกลางและคณะนักวิจัยภูมิภาค เรื่อง แผนปฏิบัติการ การวิจัยและแผนงบประมาณ

หมายเลขบันทึก: 25032เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2006 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดิฉันตามอ่านเรื่องนี้ รู้สึกเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก "โครงการสร้างเสริมสุขภาพและการดูแลอนามัยของมารดาและทารกชาวไทยมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน" บางครั้งเราอาจ "ลืม" หรือดูเหมือนละเลย...บางสิ่งบางอย่างไปในสังคม หากแต่พอนึกได้และเลือกที่จะให้ความสำคัญ..ทำให้เกิดความเท่าเทียมและสิ่งที่พึงควรได้จากสังคมที่ควรพึงมีให้กันในฐานะที่เป็น "คนไทย" คนหนึ่ง..

พื้นที่จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม และน่าสนใจ ในการลงพื้นที่ทำวิจัยอย่างยิ่ง ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่เลือกพื้นที่จังหวัดนี้เป็นพื้นที่ศึกษาในบริบท "ภูมิปัญญา"..ของชาวบ้านในการ "สร้างความรู้..ทางด้านสุขภาพ..ของชุมชน" ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ มีความพร้อมและมี Role Model ที่เป็นแบบอย่างในเรื่องของ "กระบวนการทางปัญญา" และการเลือกทำตาม "ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในชุมชน"ในเรื่อง "สุขภาพ".."ข้อมูล" จากโครงการไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน ที่ได้ดำเนินการมาแล้วหนึ่งปี และจากการลงพื้นที่ในสองครั้งแรกนั้น..เหมือนการทำ pilot study ในประเด็นดังกล่าว...Theme..ที่ได้ คือ "การทำงานและกระบวนการทางปัญญาของ อสม."...และ theme ดังกล่าวจะเป็นกุญแจที่ไขนำทางไปสู่ข้อค้นพบ..ที่ดิฉันกำลังศึกษา

ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข  หรือของโครงการไตรภาคีฯเอง หรือโครงการวิจัยที่ดิฉันกำลังดำเนินอยู่นั้น เชื่อว่า..ประโยชน์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้เกิดเพียงแค่..คน ชุมชนพัทลุงเท่านั้น แต่หากจะ..เป็นประโยชน์ที่สามารถขยายผลไปสู่ "คน" อื่นๆ..ในภูมิภาค...ต่างๆ...ใน"ประเทศไทย" ได้แน่นอน..."เชื่อ..มั่น"อย่างนั้นคะ

Dr.Ka-poom

     การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต้องมีความเข้าอกเข้าใจกันอย่างแท้จริง ผมรับประสานโครงการนี้ตอนติดต่อมาครั้งแรกทางโทรศัพท์ด้วยความปิติ ที่เห็นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หยิบมาทำ...เป็นความพอใจและชอบในตอนเริ่มต้นครับ
     ขอบคุณมากครับที่ ลปรร.ด้วยเสมอ

ขอโอกาศตรงนี้ในการประชาสัมพันธ์ด้วยนะคะ  วันที่ 20 พ.ค. นี้ มีงาน "ตามภูมิปัญญา นวดพื้นบ้าน" ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลเขาชัยสน เวลา 9.00 - 15.00 น.

ส่วนวันที่ 10 มิถุนายน นี้ "ฟื้นฟูภูมิปัญญา หมอตำแย" ที่ สสอ. เขาชัยสน เวลา 9.00 - 15.00 น. ค่ะ

เผื่อว่าข้อมูลจากการประชุมเหล่านี้ จะช่วยเป็นวัตถุดิบในการเรียนรู้อีกอย่างค่ะ

น้องไออุ่น

     ดีมากนะครับ ขอบันทึกลงสมุดนัดหมายไว้เลย แล้วขออนุญาตถือโอกาสไปร่วมด้วยกิจกรรมหลังนะครับ เสียดายแต่กิจกรรมแรกนั้นตรงกับเวที "KM อสม.ติดดาว" เสียแล้ว ยังไงก็เอามาเล่าไว้ใน Blog ด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท