ดื่ม(แอลกอฮอล์)แล้วหน้าแดงดีไหม?


 

...

 > [ Wikipedia ]

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์ฟิลิพ เจ. บรูคส์ และคณะ แห่งสถาบันการเสพติดแอลกอฮอล์และแอลกอฮอลิซึมแห่งชาติ สหรัฐฯ

คนบางคนมักจะมีอาการหน้าแดง (flushing) เวลาดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) ซึ่งบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ ใจสั่น ใจเต้นแรงร่วมด้วย

...

อาการดังกล่าวเป็นผลจากลักษณะพันธุกรรม (สืบต่อจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย) ของการขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อยที่ใช้ในการทำลายแอลกอฮอล์ที่ชื่อ 'ALDH2'

ผลของการขาดเอนไซม์หรือน้ำย่อย 'ALDH2' จะทำให้เกิดการคั่งของสารพิษที่ชื่อ "อะเซทาลดีไฮด์ (acetaldehyde)"

...

เรียกชื่อแปลกๆ แบบนี้คงจะไม่เป็นที่รู้จักกัน แต่ถ้าพูดถึงสารเคมีที่เป็นเครือญาติ หรือพี่ๆ น้องๆ ของอะเซทาลดีไฮด์ คือ "ฟอร์มาลดีไฮด์ (formaldehyde)" หรือยาดองศพแล้ว พวกเราคงจะรู้จักกันดี

พิษของอะเซทาลดีไฮด์มีความแรงน้องๆ ฟอร์มาลดีไฮด์ทีเดียว

...

ลักษณะพันธุกรรมหรือยีนส์บกพร่องชนิดนี้ (ALDH2 deficient) เป็นยีนส์คู่ คนที่ขาดไป 1 ยีนส์ (ดีครึ่งหนึ่ง บกพร่องครึ่งหนึ่ง) เรียกว่า "เถรท (trait = ลักษณะเฉพาะแฝง พันธุกรรมแฝง ยีนส์แฝง)" พบมากถึง 1 ใน 3 ของคนที่มีเชื้อสายเอเชียตะวันออก (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี)

คนที่เป็น "เถรท" หรือมียีนส์บกพร่องครึ่งหนึ่ง... ถ้าดื่มเบียร์แบบจืดจางครึ่งกระป๋องก็มากพอที่จะทำให้หน้าแดงได้แล้ว

...

คนที่มียีนส์ 'ALDH2' บกพร่อง 2 ยีนส์ (ไม่มีพันธุกรรมดี มีแต่พันธุกรรมบกพร่อง) หรือไม่มีเอนไซม์นี้เลยจะติดเหล้าได้ยากมากๆ

สาเหตุเนื่องจากทนพิษอะเซทาลดีไฮด์ไม่ไหว เช่น เป็นลม ปวดหัว เมาค้าง ฯลฯ แบบรุนแรงหรือเป็นทันทีที่กิน (คุณลุงผู้เขียนท่านหนึ่งมีอาการแบบนี้ คือ ดื่มนิดเดียวแล้วเป็นลมสลบไปเลย)

...

ปัญหาอยู่ที่พวก "เถรท (trait)" หรือพวกที่มียีนส์บกพร่องแฝงอยู่ครึ่งหนึ่ง มียีนส์ดีอยู่ครึ่งหนึ่ง พวกนี้จะทำลายพิษแอลกอฮอล์ได้ แต่ทำลายได้ช้ากว่าคนทั่วไป

สารพิษที่คั่งทำให้หน้าแดงเวลาดื่ม ทว่า... ยังพอทนไหว ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษในระดับสูงกว่าคนอื่น

...

ถ้าคนที่ขาดเอนไซม์นี้ดื่มเบียร์แบบจืดจางวันละ 2 กระป๋องเล็ก (2 ดริ๊งค์) จะมีความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มเป็น 6-10 เท่าของประชากรทั่วไป

คณะวิจัยประมาณการณ์ว่า ถ้าผู้ชายญี่ปุ่นที่ดื่มหนักปานกลางขึ้นไปลดปริมาณการดื่มให้น้อยลงเป็นไม่เกิน 9 ดริ๊งค์ต่อสัปดาห์ (1 ดริ๊งค์ = เบียร์แบบจืดจาง 1 กระป๋องเล็ก = เหล้า 40 ดีกรี 25 มิลลิลิตร) จะลดความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหาร (ชนิด squamous cell cancers) ได้ 53% > [at-bristol.org.uk]

...

อาจารย์บรูคส์กล่าวว่า นักดื่มอายุน้อยบางคนใช้ยาแก้แพ้ช่วยลดอาการหน้าแดงในระหว่างการดื่ม เพื่อให้ดื่มได้มากขึ้น

การทำเช่นนี้กลบเกลื่อนอาการหน้าแดงได้ชั่วคราว แต่จะทำให้เสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นในระยะยาว

...

อาจารย์ท่านแนะนำให้ตั้งคำถาม 2 ข้อกับคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ได้แก่

(1). ตอนดื่มเบียร์แก้วแรกในชีวิต... หน้าแดง (flushing) หรือไม่

  • ถ้าหน้าแดงแสดงว่า น่าจะขาดเอนไซม์ ALDH2 และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้น

(2). เมื่อดื่มไป 1-2 ปี... ดื่มเบียร์แล้วหน้าแดงหรือไม่

  • ถ้าหน้าไม่แดง (เลิกแดง) แสดงว่า น่าจะเริ่มติดเหล้าแล้ว (tolerant = ด้าน ดื้อยา ดื้อต่อสารเคมี)

...

คนที่ดื่มแล้วหน้าแดง... เสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่ดื่มนานจนหายแดง... แสดงว่า เริ่มติดเหล้าแล้ว เสี่ยงมะเร็งด้วย เสี่ยงโรคอื่นๆ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง ตับอ่อนอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง ฯลฯ ด้วย

เมืองไทยเรามีสถิติมะเร็งหลอดอาหารในภาคใต้สูงกว่าภาคอื่นๆ และคนไทยที่หน้าแดงเวลาดื่มเหล้าก็มีสูงมากด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ว่า คนไทยที่มีพันธุกรรมบกพร่องแบบนี้น่าจะมีมากพอๆ กับชาวเอเชียตะวันออกไกล (ญี่ปุ่น จีน เกาหลี)

...

กล่าวกันว่า ฝรั่ง (ชาวตะวันตก) มีแนวโน้มจะมีพันธุกรรมบกพร่องแบบนี้ต่ำกว่าคนเอเชีย ทำให้ฝรั่งทนต่อสารพิษชนิดนี้ได้มากกว่าคนเอเชียโดยเฉลี่ย

ข่าวดีคือ สมาคมมะเร็งวิทยาอเมริกา [ ACS ]  แนะนำวิธีลดเสี่ยงมะเร็งหลอดอาหารที่สำคัญได้แก่

  • (1). ไม่สุบบุหรี่
  • (2). ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก (ถ้าดื่มแล้วหน้าแดง... ดื่มน้อยก็เสี่ยง)
  • (3). ระวังอย่าให้น้ำหนักเกินหรืออ้วน... ถ้าอ้วนไปแล้วก็ขอให้รักษาน้ำหนักให้คงที่หรือลดลง
  • (4). กินผักผลไม้ทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้) หลายๆ สี ให้มากพอทุกวัน
  • (5). อย่าดื่มเครื่องดื่มร้อนจัด (เช่น ชา กาแฟ ฯลฯ)
  • (6). ถ้าทำงานซักรีกประเภท "ซักแห้ง" ควรลดการใช้สารเคมีเท่าที่จะทำได้ หรือจัดให้ที่ทำงานมีการระบายอากาศที่ดี และล้างมือด้วยสบู่ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำทุกครั้ง 

[ ACS ]

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

... 

ที่มา                                                       

  • Thank Dailymail.co.uk > Nicholas Bakalar. Blushing drinkers at risk for oesophageal cancer > [ Click ] > March 20, 2009. / Source > PLoS Medicine.
  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • ข้อมูลในบล็อกมีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค > ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงโรคสูง ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์ > ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปเผยแพร่ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 21 มีนาคม 2552.
หมายเลขบันทึก: 250045เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2009 22:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
หัวใจเต้นแรง หน้าแดงทุกที ใช่เธอรึนี่ที่คอยตลอดมา

ขอบคุณมากครับ 

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท