ขนมปังหน้าคน


แมกาซีนแปลก ฉบับศุกร์ 13 มีนาคม 2552

-เมนูอาหาร : “อี๊ดเบเกอรี่ (EAT BAKERY) - "ขนมปังหน้าคน” ( Human Bread )

ราคา : ชิ้นส่วนอวัยวะเล็กของคน ได้แก่ ตา หู จมูก นิ้ว ฯลฯ ชิ้นละ 50 บาท ส่วนชิ้นใหญ่ อาทิ หัว แขน ขา อยู่ที่ประมาณ 500 บาท ส่วนชิ้นใหญ่ๆ แบบคนครึ่งตัว อยู่ที่หลักหมื่น ชิ้นใหญ่สุด แบบศพเต็มตัว ประเทศเยอรมนีเคยซื้อไปในราคา 40,000 บาท

สูตรขนมปัง : ส่วนผสมเหมือนกับทำ ปกติ ใช้แป้ง ไข่ นมสด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และช็อกโกแลต เป็นต้น แตกต่างที่ปริมาณส่วนผสม การนวด และการอบ ที่เป็นเทคนิคเฉพาะตัว ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่กว่า 3 ปี

วิธีการทำ : ไม่มีแม่พิมพ์ ทุกชิ้นต้องปั้นด้วยมือทั้งหมด ต้นแบบมาจากจินตนาการหรือดูตามหนังสือ ไม่ได้นำมาจากใบหน้าผู้มีชีวิตอยู่จริง โดยต้องปั้นให้มีขนาดเล็กกว่าที่ต้องการเล็กน้อย เผื่อไว้สำหรับหลังอบขนมปังจะพองตัวขึ้น หลังจากนั้นจึงลงด้วยสีผสมอาหาร

รสชาติ : เนื้อขนมปังหน้าคนจะคล้ายคุกกี้ สามารถเก็บไว้กินได้ 3 วัน แต่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อไปเก็บโชว์มากกว่ากิน

เจ้าของสูตร : นายกิตติวัฒน์ อุ่นอารมณ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ขนมปัง โดยปกติรู้กันว่าเป็นอาหารที่ทำจากแป้งสาลีผสมกับน้ำและยีส หรือ ผงฟู นอกจากนี้ยังมีการใช้ส่วนผสมอื่นๆเพื่อแต่งสี รสชาติและกลิ่น แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทของขนมปัง และแต่ละประเทศที่ทำ โดยนำส่วนผสมมาตีให้เข้ากันและนำไปอบ ขนมปังมีหลายประเภท เช่น ขนมปังฝรั่งเศส ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังหวาน ขนมปังไรน์ หรือแม้กระทั่ง เพลสเซล(Pretzel) ของขึ้นชื่อประเทศเยอรมันนี เป็นต้น แต่ขนมปังที่นำมาแนะนำในวันนี้เป็นขนมปังที่เรียกว่า “ขนมปังหน้าคน” ซึ่งเป็นสูตรที่ไม่มีที่ไหนในโลกนอกจากที่ประเทศไทยที่เดียวและเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก จนมีออเดอร์สั่งตรงเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ถ้าจะกล่าวถึงเจ้าของสูตรขนมปังผู้นี้คงจะต้องแนะนำว่าท่านเป็นศิลปินเสียมากกว่าคนทำขนมปังเพราะโดยปกติคนจะซื้อขนมปังเพื่อไปบริโภคเป็นอาหารยามว่าง แต่ขนมปังของคุณกิตติวัฒน์นั้นกินได้เพียงแต่ไม่ได้ต้องการให้คนติดใจในรสชาติ ไม่ได้อยากให้คนอยากกินคนด้วยกันเองจริงๆ แต่เพื่อเป็นงานศิลปะที่สื่อถึงหลักสัจธรรมของชีวิต

กิตติวัฒน์ อุ่นอารมณ์ เกิดวันที่ 23 พฤษภาคม 2520 ที่จังหวัดราชบุรี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยมีผลงานรางวัเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทสื่อประสม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 49 ในปี พ.ศ.2546

กิตติวัฒน์ เติบโตมากับร้านขายเบเกอรี่ของที่บ้าน จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตในขณะที่คุณกิตติวัฒน์กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะมัณฑณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ่อของคุณกิตติวัฒน์ไม่สบาย เป็นเนื้องอกในสมอง ทำให้คุณกิตติวัฒน์ทุกข์ใจมาก คิดว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เกิดจากกรรมและความตายนั้นก็เป็นเรื่องใกล้ตัวคนเรามาก เมื่อมีเกิดก็ย่อมมีแก่ มีเจ็บ และมีตาย และร่างกายก็จะเน่าสลายไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกันกับขนมปัง แม้ว่าจะเก็บไว้ได้หลายวัน แต่เมื่อถึงเวลามันก็ต้องบูดเน่า หนอนขึ้นและส่งกลิ่นเหม็นไม่ต่างจากคน จึงได้เกิดไอเดียปั้นแป้งขนมปังเป็นศพคน ซึ่งผลงานครั้งนี้รุนแรงยิ่งกว่าที่เห็นในปัจจุบันเสียอีก แต่ทำเป็นเพียงงานศิลปะส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้สานต่อ

จนกระทั่งเมื่อเขาอายุได้ 28 ปี ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรและได้มีโอกาสศึกษาเรื่องการพยายามรักษาสภาพลักษณะภายนอกโดยใช้เทคนิคสื่อผสมเเสดงเนื้อหาเกี่ยวกับความทุกข์ที่เกิดจากร่างกาย ความเจ็บป่วยที่เกิดกับมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ คุณกิตติวัฒน์จึงได้นำศิลปะศพนี้กลับมาทำงานนี้อีกครั้ง โดยเริ่มจากการไปดูต้นแบบของจริงที่โรงพยาบาลศิริราช

   
   
   
   
   
   

งานศิลปะศพนี้ใช้ชื่อว่าอี๊ด เบเกอรี่ เนื่องจากตั้งตามชื่อร้านขนมปังของที่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 2 ต.ท่าชุมพล  อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และชื่อนี้ยังพ้องเสียงกับคำว่า “EAT” ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า กินซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของขนมปังหน้าศพที่ดูน่าขยะแขยงแต่ก็กินได้ สื่อให้คนเราอย่ายึดติดในรูปลักษณ์ภายนอก  เริ่มแรกนั้นคุณกิตติวัฒน์ไม่ได้คาดหวังให้เป็นเรื่องแปลกหรือหวังผลทางการตลาดแต่อย่างใด เพียงแค่อยากหารายได้ช่วยทางบ้านจึงลองเอาผลงานออกขาย แต่กลับกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้เนื่องจากมีสื่อมวลชนสนใจเอาไปนำเสนอ ชื่อเสียงเลยกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้แต่สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น เอพี รอยเตอร์ ก็นำไปออกข่าว ทำให้มีลูกค้ามาจากทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ สร้างรายได้เป็นหลักแสนบาทต่อเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลฮาโลวีนสินค้าจะเป็นที่ต้องการมาก นอกจากนี้ ยังมีค่ายหนัง สั่งสินค้าไปโปรโมทหนังแนวสยองขวัญและยังได้ส่งขายยังห้างสรรพสินค้าต่างๆ จนประสบปัญหาผลิตไม่ทันขายเพราะผลิตได้น้อย อย่างมากแค่ 100 ชิ้นต่อเดือน เนื่องจากเป็นงานทำมือ ใช้เทคนิคเฉพาะตัว แม้แต่แม่และพี่สาวของเขาที่เชี่ยวชาญการทำเบเกอรี่ ก็ไม่สามารถช่วยได้ แต่ความยากก็มีประโยชน์เพราะไม่ถูกใครลอกเลียนแบบ
          

 สำหรับเสียงสะท้อนผลงานที่ผ่านมาคุณกิตติวัฒน์บอกว่ามีทั้งแง่บวกและลบ คนที่ชอบจะบอกว่า เป็นไอเดียที่ดี ช่วยทำให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมชาติมนุษย์ ส่วนแง่ร้ายบอกว่าปลูกฝังความรุนแรงให้แก่เด็ก เคยมีผู้ปกครองบอกว่าลูกเขาเห็นแล้วพูดว่า อยากกินศพทำให้ตนเองเป็นกังวลประเด็นนี้มากพยายามคิดแบบเข้าข้างตัวเองว่าเด็กแค่ยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นขนมปังกินได้ เขาไม่ได้อยากกินศพจริงๆ ถ้าพ่อแม่ช่วยแนะนำว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นแค่ขนมปังที่ทำให้เหมือนศพ ไม่ได้เป็นศพจริงๆ ลูกอย่ายึดติดกับแค่สิ่งที่เห็นก็จะเป็นการสอนอีกแนวทางหนึ่ง

   ทุกวันนี้ในส่วนของการขายขนมปังหน้าศพนั้น แม้คุณกิตติวัฒน์ได้หยุดขายมาระยะหนึ่งแล้วเนื่องจากต้องทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ แต่คุณกิตติวัฒน์ยังคงผลิตชิ้นงานศิลปะขนมปังหน้าคนนี้ในโอกาสพิเศษต่างๆ ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนมกราคม 2552 คุณกิตติวัฒน์ได้นำศิลปะขนมปังของเขาไปจัดแสดงโดยใช้ชื่อว่า “Body and the dead” หรือ “ร่างกายกับความตาย” ที่ “whitespace” สถานที่แสดงผลงานศิลปะของบรรดาศิลปินทั้งในและต่างประเทศ ตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ ซอย 3 ผลงานทั้งหมดถูกนำมาจัดแสดงในรูปแบบ Mix Media สื่อผสมที่มีทั้งผลงานประติมากรรมสร้างสรรค์ที่เหมือนจริงและภาพจิตรกรรมสีน้ำมันมาจัดวางอย่างลงตัวภายในพื้นที่แกลเลอรี่โล่งโปร่งที่มีขนาดหนึ่งห้องพอดีใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงเท่านั้นก็ทำให้คุณขนลุกได้อย่างไม่น่าเชื่อ ระยะเวลาเกือบ 3 เดือนของการจัดแสดงผลงานได้สร้างความฮือฮาให้กับผู้ผ่านไปมาและวัยรุ่นย่านสยามสแควร์ได้ไม่น้อย จนมีหลายคนนำภาพไปโพสท์และแสดงความเห็นไว้ในอินเตอร์เน็ต เช่น “ชอบไอเดียและคอนเซ็ปต์ในการแสดงผลงาน ใครอยากชมผลงานโดยไม่ต้องเดินทางไปถึง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เชิญที่ชั้น 2 ของโรงหนังลิโด ดูงานแสดงชุดนี้แล้ว ลึกซึ้งยากจะบรรยาย” / “นิทรรศการ Body and the dead ของกิตติวัฒน์ อุ่นอารมณ์ จัดที่ whitespace ตรงด้านหลัง lido ทีแรกก็งง ๆ ยิ่งงงกว่าเมื่อเห็นป้าย Human Bread ขนมปังหน้าคน for sale 70 baht เหอะๆ พอดีเพื่อนกลัวเลยไม่ได้เข้าไปดู แต่จะเป็นไงนะถ้าลองซื้อติดมือไปแทะตอนเดินเล่นสยาม ....

 ภายในวันงานเปิดนิทรรศการกิตติวัฒน์ได้นำผลงานบางส่วนของเขาซึ่งเป็นอวัยวะของร่างกาย ส่วนต่าง ๆ ออกมานำเสนอให้ได้ลิ้มลองกัน รสชาติที่ได้สัมผัสนั้นขอบอกว่าดีเลยทีเดียว ไม่แตกต่างจากขนมปังที่มีวางขายอยู่ทั่วไปและมีหลากหลายไส้อีกต่างหาก สอดคล้องกับแนวความคิดที่ว่า อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็นและสิ่งที่เห็นอาจจะไม่เป็นเหมือนสิ่งที่คิด ทุกวันนี้คนเราตัดสินใจจากภาพภายนอก ควรมองคุณค่าภายในมากกว่า                                                                                                                     อี๊ดเบเกอรี่ โทร 032-233-901          

 

ชมภาพงานนิทรรศการเพิ่มเติมได้ที่ http://www.whitesp-ce.com/gallery

หมายเลขบันทึก: 249528เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2009 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

น่ากลัวมากกว่าน่ากินนะค่ะเนี่ย

แต่ก็แปลกดี...น่าสนใจมากค่ะ

เห็นแล้วนึกถึงตอนเรียนกับอาจารย์ใหญ่มาทันที

น่ากลัวจังค่ะคุณ กิตติยา

ใครจะทานลงนะเนี่ย

แต่ก็แปลกใหม่ เพิ่งเคยเห็นนี่แหละค่ะ

เดี๋ยวขอแนะนำเพื่อนๆให้เข้ามาดูนะคะ

แปลกดี

ขอบคุณค่ะ

สววัดีค่ะ

คยเห็นตามสื่ออินเตอร์เนตก่อนหน้านี้ และสื่อทางทีวีมาบ้าง

ว่าแต่ทำเพื่ออะไรค่ะ

เป็นงานศิลปะค่ะ ผู้ทำต้องการสื่อให้คนเห็นแล้วรู้สึกในเรื่องของสัจจธรรม

คือ ขนมปังเป็นสิ่งที่เรากินกันใช่ไหมค่ะ มันมีรสชาติอร่อย แต่ตอนที่เรากินเราคงไม่คิดถึงตอนที่มันเน่าเสีย เล๊ะ หนอนขึ้น เช่นเดียวกับคนเราก็เหมือนขนมปังมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แต่ที่สุดแล้วก็ต้องตาย คือสูญสลายไปตามกาลเวลา เห็นขนมปังนี้แล้ว

ให้รู้สึกปลงค่ะ และดังคอนเซ็ปต์ที่ต้องการสื่อว่า อย่ามองอะไรจากรูปลักษณ์ภายนอก

ขนมปังนี้แม้ภายนอกจะดูหน้ากลัว แต่มันก็คือขนมปัง แล้วก็รสชาติอร่อยด้วยค่ะ

จะกินยังไง

หน้าอะไรไม่รู้

น่ากลัวจัง

คนที่ทำต้องกินให้ดูก่อนเอามาขาย

น่า กัว อ่ะ ม่ะ กล้า กิน

แหะๆ ขาด ตับ ไต ไส้ หัวใจ ม้าม ปอด - -'

"จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

"กิตติวัฒน์ เติบโตมากับร้านขายเบเกอรี่ของที่บ้าน จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตในขณะที่คุณกิตติวัฒน์กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะมัณฑณศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

ตกลงเขาเรียนคณะอะไรกันแน่?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท