คุณไม่ได้ปวดหัว(ไมเกรน)คนเดียว คนอื่นก็ปวด


...

ภาพที่ 1: ข่าวร้ายคือ "ใกล้สอบแล้ว... แค่เห็นกองตำราก็ปวดหัวแล้ว" ข่าวที่อาจจะดีคือ อย่าเพิ่งตกใจ... คุณไม่ได้ปวดหัวอยู่คนเดียว คนอื่นก็ปวด > [ Wikipedia ]

...

ภาพที่ 2:  กราฟแสดงสถิติโอกาสเป็นไมเกรนในแนวดิ่ง(%) อายุในแนวนอน(ปี) > [ Wikipedia ]

  • เส้นกราฟสีแดงแสดงเพศหญิง เส้นกราฟสีน้ำเงินแสดงเพศชาย
  • เส้นกราฟ "ขีด-เว้น-ขีด" แสดงคนที่เป็นไมเกรนแบบมีอาการนำ (aura) เช่น ตาเห็นแสงกระพริบ ตาเห็นภาพบางส่วนมืดไป ฯลฯ ชั่วคราวก่อนปวด
  • ข่าวที่อาจจะดีคือ ไมเกรนเป็นโรคที่มักจะเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่น เพราะฉะนั้นการเริ่มเป็นวัยรุ่นก็บ่งบอกว่า ตอนนี้ "ยังไม่แก่นะ" อะไรทำนองนี้

...

คนไข้ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เคยคิดฆ่าตัวตายเพราะปวดหัว... ความจริงปวดหัวเป็นเรื่องธรรมดา อย่าว่าแต่ปวดหัวทั่วๆ ไปเลย แม้แต่เรื่องปวดหัวแรงๆ อย่างไมเกรน... คุณก็ไม่ได้เป็นคนเดียว

ผู้หญิงบนโลกเบี้ยวๆ ใบนี้มีโอกาสเป็นไมเกรน 1 ใน 4 ผู้ชายมีโอกาส 1 ใน 12 กลไกหนึ่งที่อาจทำให้ผู้หญิงปวดหัวมากกว่าผู้ชายคือ ฮอร์โมนของผู้หญิงมีจังหวะขึ้นและลงมากกว่าผู้ชาย

...

เรื่องแรกที่น่ารู้คือ คนหลายๆ คนมีเรื่องกระตุ้นให้ปวดหัวแบบไมเกรนได้ เช่น ความเครียด แสงไฟจ้า เช่น หลอดไฟนีออน(ฟลูออเรสเซนต์) ฯลฯ ฟ้าแลบ ชอคโกแล็ต ไวน์แดง กาเฟอีน ฯลฯ

กาเฟอีนในชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลังมีลักษณะพิเศษหน่อยคือ บางคนกินแล้วปวด บางคนกินๆ อยู่และหยุดกินทันทีก็ปวดได้เช่นกัน

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์เคนเนต มูคามาล และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐฯ ทำการศึกษาในคนไข้ที่ปวดหัวมากจนต้องเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล 7,054 ราย (ใช้หน่วยนับ "ราย" เนื่องจากคนไข้บาง "คน" ป่วยหลายครั้งในช่วงเวลาที่ทำการศึกษา)

ผลการศึกษาพบว่า อากาศที่ร้อนขึ้นทุกๆ 5 องศาเซลเซียสจะเพิ่มความเสี่ยงปวดหัวไมเกรน 7.5% เพราะฉะนั้นเราคงจะเดาได้ว่า ภาวะโลกร้อนทำให้วัยรุ่นยุคใหม่ปวดหัวกันบ่อยขึ้น ไม่ใช่เราปวดอยู่คนเดียว คนอื่นก็ปวดเหมือนกัน

...

ภาพที่ 3: "ออรา (aura)" หรือแสงระยิบระยับที่พบบ่อยบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือหรือขั้วโลกใต้ เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกทำหน้าที่คล้ายเป็นเกราะป้องกันรังสีคอสมิคชนิดมีอนุภาค(บวกหรือลบ) ไม่ให้ผ่านเข้ามาได้ง่ายบริเวณส่วนกลาง (เขตร้อน)

รังสีนี้ "รั่ว" ผ่านเกราะสนามแม่เหล็กโลกได้ที่ขั้วโลกและบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "ออรา" อันงดงาม แต่ "ออรา" ที่คนเป็นไมเกรนเห็นนี่... คงจะหาความงดงามได้ยาก เพราะเห็นไม่นานก็จะตามมาด้วยอาการปวดหัว คลื่นไส้ และเด็กบางคนอาจจะปวดท้องด้วย > [ Wikipedia ]

...

ความกดอากาศที่ลดลง เช่น ช่วงก่อนพายุหรือเขตความกดอากาศต่ำเข้ามา ช่วงก่อนฝนตก ฯลฯ ก็เพิ่มความเสี่ยงปวดหัวไมเกรนได้ 48-72 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน

คนที่ปวดหัวไมเกรน 1 ใน 6 รายมี "อาการนำ" ที่เรียกว่า "ออรา (aura)" ซึ่งอาจเห็นแสงวูบๆ วาบๆ คล้ายไฟฉาย (flashing lights), ตามืดบอดเป็นจุดๆ (blind spots), ตามัวชั่วคราว (difficulty in focusing), หรือเห็นภาพแปลกไปชั่วคราวคล้ายภาพสะท้อนในกระจกแตก

...

เรื่องที่สำคัญมากคือ "ออรา" จะมาแบบวูบๆ วาบๆ ไม่นาน และไม่เห็นภาพเป็นเรื่องเป็นราวอะไรแบบภาพหลอนที่พบในคนบ้า เช่น เห็นภาพคนโน้นคนนี้มาเรียกอยู่คนเดียว ฯลฯ

อาการที่บ่งบอกว่า น่าจะเป็นไมเกรนคือ ปวดหัวแบบ "ตุ๊บๆ (throbbing)" ตามจังหวะการเต้นหัวใจ(ชีพจร) ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว ส่วนน้อยเป็น 2 ข้างพร้อมกัน อาการอาจปวดเพิ่มขึ้นเมื่อเห็นแสงจ้า หรือได้ยินเสียงดัง และมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

...

อาการปวดหัวไมเกรนมากกว่าครึ่งไม่ทุเลาด้วยยาพาราเซตามอล ทว่า... ข่าวร้ายก็มักจะมาไล่เลี่ยกับข่าวดี ข่าวดีที่ว่านี้คือ โลกเรามียาดีๆ มากพอที่จะทำให้อาการไมเกรนทุเลาลงได้ แถมยังมียาอีกหลายชนิดที่ป้องกันไม่ให้โรคนี้กำเริบได้ดีพอสมควร

กล่าวกันว่า ทหารที่ทำการปฏิวัติสำเร็จในประเทศหนึ่งเป็นโรคไมเกรน อาจารย์หมอท่านหนึ่งให้ยาป้องกันปวดหัวไมเกรนท่านจนอาการทุเลาราบคาบ เลยได้รับรางวัลให้เป็นรัฐมนตรี

...

ไม่ว่าโลกเราจะหมุนไปอีกกี่รอบ และไม่ว่าวิกฤตอะไรจะเกิดกับชีวิตของเรา... ขั้นแรกคือ ต้องใช้ "ทำใจ" เข้าข่มไว้ก่อน ทำใจให้ได้ อยู่กับมันให้ได้ 

เรียกสติกลับมา (ถ้าสติไม่อยู่กับตัว... สตางค์มักจะไม่อยู่กับตัวไปด้วยเสมอ) และตั้งหน้าตั้งตาหาทางพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส หรือทำเรื่องหนักเป็นเบาให้ได้

...

ถ้าเป็นไมเกรน... ขอให้ใส่ใจเรื่องการนอนให้ดี คือ นอนให้พอและนอนไม่ดึกเกินเป็นประจำ เนื่องจากการนอนไม่พอหรือนอนดึกเกินอาจกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

... 

ที่มา                                                       

  • Thank Dailymail.co.uk > David Derbyshire. Why migraine sufferers may miss the joys of spring. > [ Click ] > 10 March 2009.
  • ขอขอบพระคุณ > อ.นพ.ศิริชัย ภัทรนุธาพร สสจ.ลำปาง + อ.นพ.โอฬาร ยิ่งเสรี ผอ.รพ.ห้างฉัตร + อ.อรพินท์ บุญเสริม + อ.อนุพงษ์ แก้วมา > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • ข้อมูลในบล็อกมีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค > ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงโรคสูง ควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์ > ยินดีให้ท่านผู้อ่านนำไปเผยแพร่ได้ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า > 15 มีนาคม 2552.
หมายเลขบันทึก: 248643เขียนเมื่อ 15 มีนาคม 2009 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท