สงกรานต์ล้านนา


สงกรานต์ล้านนา

สงกรานต์ล้านนา




   ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปี๋ใหม่เมือง ทุก ๆ ปี นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศต่างก็หลั่งไหลสู่จังหวัดเชียงใหม่ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางแหล่งอารยธรรมล้านนาไทย เพื่อมาสัมผัสกับประเพณีที่งดงาม แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่อยากมาเชียงใหม่เพื่อเล่นสาดน้ำ และเล่นปะแป้งรอบคูเมือง ด้วยเพราะเหตุใด จึงทำให้ความเข้าใจความหมายของประเพณีสงกรานต์ล้านนาแปรเปลี่ยนไปเช่นนั้น

    ประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ เทศกาลสงกรานต์ล้านนาในอดีต ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความงดงาม และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของคนในภาคเหนือ โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ เป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดใจให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศให้อยากมาเยือนเมืองเชียงใหม่ในช่วงนี้

     ตามประเพณีโบราณชาวล้านนาเชื่อว่า วันสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนศักราชใหม่ การล่วงเลยของปีเก่าและการมาเยือนของปีใหม่ในช่วงเวลาประมาณ 5 วัน ชาวล้านนาจะหยุดงานเพื่อเฉลิมฉลองในวาระอันสำคัญนี้ เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม

     แต่ในปัจจุบัน ภาพของวัยรุ่นหนุ่มสาวเล่นปะแป้ง และสาดน้ำรอบคูเมือง เสียงโห่ร้องด้วยความสะใจ ความสนุกสนานรูปแบบใหม่ ได้รับการเผยแพร่ออกไปตามสื่อต่าง ๆ กลายเป็นภาพลักษณ์งานปี๋ใหม่เมืองที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาวต่างตั้งหน้าตั้งตาอย่างใจจดใจจ่อเพื่อจะได้ออกมาเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันปีละครั้ง


     ภาพรถที่ติดเป็นแนวยาวรอบคูเมือง ภาพของวัยรุ่นหญิงสาวนุ่งน้อยห่มน้อยโดยไม่สะทกสะท้ายต่อสายตาที่มอง การนำเครื่องเสียงมาติดตั้งตามจุดต่าง ๆ เปิดเพลงเร้าใจ และการนั่งล้อมวงดื่มของมึนเมาบนแนวกำแพงเมืองเก่า เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมานับสิบปี โดยปราศจากการควบคุมอย่างแท้จริง

     ความงดงามของประเพณีสงกรานต์อันทรงคุณค่าของล้านนา เปรียบเสมือนสายใยความผูกพันแห่งอดีตกับปัจจุบัน สิ่งที่แสดงถึงความเป็นไทยอย่างแท้จริง กำลังจะถูกลบเลือนไป ด้วยกิจกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง บิดเบือน และถูกยกเลิกไป

      ความเอื้ออาทร ความห่วงใย และความปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่นมีความสุขโดยการประพรมน้ำ ถูกแทนที่ด้วยการสาดน้ำและขว้างปา ด้วยกิริยาก้าวร้าวรุนแรง ไม่สนใจความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น กับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของประเพณีสงกรานต์ล้านนาแทบทั้งสิ้น



   ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่ห่วงใยและเห็นความสำคัญของวิถีชีวิตที่งดงามของล้านนาพยายามหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมให้กลับคืนมาสู่ความหมายและความเข้าใจที่ถูกต้องอีกครั้ง

     ประเพณีสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ของคนล้านนาสมัยโบราณนั้น จะถือเอาวันที่ 13 เมษายน เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ชาวล้านนาเรียกว่า “วันสังขานต์ล่อง” วันนี้จะได้ยินเสียงยิงปืนดังตั้งแต่เช้ามืด ด้วยความเชื่อว่า เป็นการขับไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต จากนั้น ก็จะปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาด ซักเสื้อผ้า เก็บกวาดที่นอนหมอนมุ้ง แล้วจึงอาบน้ำชำระร่างกายให้ผ่องใส

     ที่สำคัญในวันนี้จะมีการดำหัว หรือ สระผมเป็นกรณีพิเศษ ชำระล้างสิ่งอัปมงคลโดยหันหน้าไปทางทิศที่กำหนดไว้ตามตำราโหราศาสตร์ เสื้อผ้าที่นุ่งห่มก็มักจะเป็นเสื้อผ้าใหม่ รวมทั้งยังมีการนำเครื่องรางของขลังประจำบ้านมาสระสรง เพื่อชำระขัดล้างด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย

     ในวันสังขานต์ล่อง ที่จังหวัดเชียงใหม่จะอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญประจำเมือง จัดขบวนแห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้นมัสการและสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลร่วมกัน

     วันที่สองของประเพณีสงกรานต์ล้านนา เรียกว่า “วันเนา” หรือ “วันเน่า” โบราณล้านนาเชื่อว่า วันนี้เป็นวันต้องห้ามทำสิ่งที่ไม่ดี เช่น ห้ามด่า ห้ามทะเลาะวิวาท เพราะจะทำให้เกิดความไม่เป็นมงคลไปตลอดชีวิต ว่ากันว่าผู้ที่ประสงค์จะตัดไม้ไผ่ไปใช้งานก็มักจะตัดในวันนี้ด้วยเชื่อว่าไม้ที่ตัดในวันเน่าจะไม่มีมอดและปลวกมารบกวนตลอดอายุการใช้งาน


     วันเนา ถือเป็นวันสุกดิบ หรือเป็นวันจับจ่ายซื้อของเพื่อเตรียมไว้ทำบุญในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเรียกได้อีกอย่างว่า เป็นวันดา ของที่เตรียมนอกจากจะเป็นไทยทานแล้ว ยังมีตุงสำหรับก่อเจดีย์ทราย ไม้ค้ำสรี และน้ำส้มป่อยสำหรับดำหัวผู้ใหญ่ เป็นต้น จากนั้นในช่วงบ่ายก็จะช่วยกันขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย


     วันที่สาม เป็นวันเถลิงศก หรือ วันเปลี่ยนศักราชใหม่ เรียกว่า “วันพระญาวัน” วันนี้ชาวบ้านล้านนาชื่อว่าเป็นวันดีที่สุดของปี เป็นวันแห่งการทำบุญทางศาสนา โดยตั้งแต่เช้ามีการทานขันข้าวที่วัด เสร็จจากนั้น ก็จะนำข้าวปลาอาหารไปทานขันข้าวคนเฒ่าคนแก่ที่เคารพนับถือเพื่อขอพรปีใหม่ ตอนสายจึงนำตุงไปปักเจดีย์ทรายในวัด และร่วมฟังเทศน์รับอานิสงส์ปีใหม่ พร้อมกับนำน้ำขมิ้นส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมไปสรงน้ำพระพุทธรูป สถูปเจดีย์ บางแห่งก็จะมีพิธีถวายไม้ค้ำโพธิ์ในโอกาสเดียวกัน ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นการดำหัวผู้อาวุโส บิดา มารดา พระเถระผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการขอขมาลาโทษในสิ่งที่เคยล่วงเกิน

     วันที่สี่ เรียก “วันปากปี” ถื วันแรกของการเริ่มต้นปีใหม่ บางคนจะพยายามใช้จ่ายเงินให้น้อยที่สุด เพราะเชื่อว่าหากเริ่มต้นจ่ายมาก จะมีเรื่องต้องจ่ายไปตลอดทั้งปี ในวันนี้ยังคงมีการรดน้ำดำหัวบุคคลสำคัญ และ เจ้าอาวาสที่วัด

     ยังความเชื่ออีกอย่างของชาวล้านนา ในวันปากปี อาหารมื้อเย็นมักเป็นแกงขนุน เพราะเชื่อว่าจะช่วยค้ำจุนชีวิตให้มีความเจริญรุ่งเรือง ไม่ตกต่ำ



    และวันที่ห้า ซึ่งเป็นวันส่งท้ายเทศกาลสงกรานต์ล้านนา เรียกว่า “วันปากเดือน” ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ ชาวบ้านล้านนามักจะประกอบพิธีกรรม การส่งเคราะห์ต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความหมายของธรรมเนียมปฏิบัติของเทศกาลสงกรานต์ล้านนา แก่นแท้แล้ว คือ เทศกาลแห่งการทำบุญเริ่มต้นชีวิตใหม่ การเล่นสาดน้ำเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายและเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น หากแต่ในปัจจุบันการเล่นสาดน้ำกลับหลายเป็นจุดขายของธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์

     โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ เมืองที่เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนา รอบคูเมืองเก่า
โบราณสถานที่สำคัญของเมืองจะคาคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ลงเล่นน้ำ บ้างก็ดื่มของมึนเมา และประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ด้วยเข้าใจความความหมายที่เปลี่ยนไปของประเพณีสงกรานต์ล้านนา

      ฉะนั้น คนเชียงใหม่จะทำอย่างไร ในการฟื้นฟูและจรรโลงประเพณีสงกรานต์ล้านนา ด้วยความหมายที่ถูกต้องให้อยู่คู่กับล้านนาสืบไป

หมายเลขบันทึก: 247280เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาเยี่ยมชม

  • ผมเคยไปเที่ยวเชียงใหม่นานแล้วไปชมหลายแห่ง
  • มีโอกาสจะไปอีกสักครั้ง
  • ระยะทาง 1,477 ก.ม.
  • ชมธรรมชาติสองข้างทางสวยงามมาก
  • ขอบคุณมาก

1. ท. ณเมืองกาฬ

เมื่อ จ. 09 มี.ค. 2552 @ 17:59

谢谢你哦~~

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท