วัวลาย ถนนแห่งเครื่องเงิน


วัวลาย ถนนแห่งเครื่องเงิน

วัวลาย ถนนแห่งเครื่องเงิน




   

นับแต่อดีตกาลที่ผ่านมาหลายร้อยปี ชุมชนย่านถนนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สร้างงาน และสร้างอาชีพให้กับชุมชนในวันนี้กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เสียงตอกขันเงินที่เคยได้ยินมาตลอดนับแต่โบราณ เริ่มแผ่วเบาลงทุกขณะ ด้วยเหตุนี้คนในชุมชนถนนวัวลาย จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของล้านนาเอาไว้

   หากมองย้อนกลับไปในอดีต นับเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่หัตถกรรมเครื่องเงินได้อยู่คู่กับชุมชนวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ นับแต่ยุคที่เรียกกันว่า เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งได้รวบรวมผู้คนจากหัวเมืองต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองหลังการปลดแอกจากการยึดครองของพม่า

     ในจำนวนผู้คนที่เข้ามาอยู่เชียงใหม่ยุคนั้นมีช่างฝีมือ หรือ สล่า ติดตามมาด้วย โดยถนนวัวลาย ได้กลายเป็นที่อาศัยตั้งรกรากของช่างฝีมือเครื่องเงินจากคุ้มหลวง เพื่อทำหน้าที่สืบสานและถ่ายทอดฝีมือช่างเครื่องเงิน อันเป็นเอกลักษณ์ของตนให้แก่ลูกหลานสืบมา และยังขยายแหล่งผลิตไปยังบ้านหารแก้ว อำเภอหางดง บ้านแม่หย้อย อำเภอสันทราย


     ด้วยเพราะเหตุนี้คนในชุมชนบ้านวัวลายส่วนใหญ่จึงยึดอาชีพทำเครื่องเงินเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว โดยผู้ชายจะเป็นฝ่ายตี ในขณะที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายตกแต่งให้มีความประณีต สวยงาม ผู้เฒ่าและเด็ก ๆ รับหน้าที่ขัดเงาให้เครื่องเงินมีความงดงามน่าใช้ การทำเครื่องเงินจึงกลายเป็นทุนทางสังคมของคนย่านถนนวันลายมาจนถึงปัจจุบัน

      แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ร้านจำหน่ายเครื่องเงินบนถนนวัวลายเริ่มหายไป พร้อม ๆ กับเสียงตอกขันเงินก็เริ่มลดน้อยลงเช่นกัน


เสียง...พระพิทักษ์สุทธิคุณ /
เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ (พูดเกี่ยวกับความเสื่อม)



  

ด้วยเพราะตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดกับมรดกทางภูมิปัญญาของชาวบ้านชมรมเครื่องเงินบ้านวัวลายเชียงใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นด้วยความร่วมมือของ เจ้าของร้านค้า ผู้ผลิต ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงิน เพื่อฟื้นฟูหัตถกรรมเครื่องเงินวัวลายให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศออกไปอย่างกว้างขวาง, เพื่อรวมกลุ่มผู้ค้าเครื่องเงินบ้านวัวลายให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน, เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น, เพื่อสร้างอาชีพ และเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคงยั่งยืน, และเพื่อสืบสานเอกลักษณ์ชุมชนบ้านวัวลายเอาไว้

เป้าหมายในการดำเนินงาน คือ การขยายตลาดผู้บริโภคภายในและต่างประเทศ, การหาแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำ เพื่อสร้างสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจชุมชน การพิจารณาปรับปรุงวงเงินกู้โดยใช้บุคคลค้ำประกันให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และขนาดของกิจการ, การพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ฝีมือช่างดั้งเดิมเอาไว้

      ในขณะเดียวกัน วัดศรีสุพรรณ วัดหมื่นสาร และวัดนันทาราม ซึ่งเป็นศูนย์ของชุมชนก็พยายามหาแนวทางในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูการทำเครื่องเงินให้อยู่คู่กับชุมชนวัวลายเช่นกัน

ด้วยประวัติศาสตร์ อันยาวนาน เครื่องเงินบ้านวัวลายได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่คนทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดีการพัฒนาคุณภาพชีวิตช่างฝีมือให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ที่สำคัญคือ การสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนให้ได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้อุดมการณ์ร่วมกันในการ สร้างสังคมมั่นคง สร้าง คนมั่งคั่ง ยั่งยืน

เสียง...พระพระพิทักษ์สุทธิคุณ /
เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ (พูดการตั้งกลุ่ม.)


     นับจากอดีตการทำเครื่องเงินบ้านวัวลาย ได้สร้างอาชีพให้คนในชุมชน กลายเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น พร้อม ๆ กับการสร้างชื่อเสียงให้กับเมืองเชียงใหม่ ดังนั้น การสืบสานและอนุรักษ์เครื่องเงินวัวลายจึงเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนและคนเชียงใหม่ทุกคน

http://www.fm100cmu.com/blog/Lanna/content.php?id=154
หมายเลขบันทึก: 247276เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท