วิทยฐานะ : สร้าง หรือ ทำลาย ขวัญกำลังใจครู


วิทยฐานะ : สร้าง หรือ ทำลาย ขวัญกำลังใจครู

ความนำ

                ครูเป็นหัวใจของการพัฒนาการศึกษา  เป็นผู้กำหนดคุณภาพประชากรในสังคม และ คุณภาพของประชากรสังคม คือตัวกำหนดในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม วิชาชีพครูจึงควรเป็นที่รวมของคนเก่ง คนดี สามารถเป็นต้นแบบทางคุณธรรม จริยธรรม การประพฤติปฏิบัติตน การดำรงชีวิต และการชี้นำสังคมไปในทางที่เหมาะสม แต่ในสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน วิชาชีพครูกำลังมีปัญหาหลายประการ ได้แก่ เงินเดือนครูต่ำเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ ครูไทยคือคนระดับกลาง และระดับกลางส่วนล่างทางเศรษฐกิจและสังคม ครูต้องทำอาชีพเสริมอื่นๆ อาชีพครูไม่ได้รับการยกย่องในสังคม ครูต้องทำงานบริหารและงานอื่นๆ ทำให้ไม่มีเวลาในการเตรียมการสอน  นอกจากนี้ ประกอบ คุปรัตน์ (2548) ยังได้กล่าวไว้ว่า ปัจจุบันเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ประสงค์ที่จะประกอบอาชีพครู

                นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.ครูและบุคลากรทางการศึกษา 2547 ใน มาตรา 54 ได้ระบุไว้ว่า ครูจะมีวิทยฐานะได้จะต้องเข้ารับการประเมิน แม้ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่างอะไรจาก พ.ร.บ.ข้าราชการครู พ.ศ.2523 เพราะครูจะต้องเข้ารับการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่ง แต่หากลงลึก จะพบว่า รูปแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินมีรายละเอียดหลายส่วนที่แตกต่างไป โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ เช่น หมอ ผู้พิพากษา อัยการ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น ทั้งต้องการส่งเสริมให้ครูมีความก้าวหน้าในอาชีพ มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดการเรียนการสอนและตัวคุณภาพของเด็กนักเรียน ที่จะได้รับการศึกษาที่ดีตามไปด้วย

                วิทยฐานะจึงไม่ใช่สวัสดิการที่ทุกคนต้องได้ แต่เป็นตำแหน่งของผู้ที่มีความรู้ ความสามารถในวิชาชีพ ปัจจุบันการประเมินวิทยฐานะของครูกำหนดให้มีการประเมินใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ 2. ด้านคุณภาพการปฏิบัติงาน และ    3. ด้านผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยพิจารณาจากผลการปฏิบัติงาน ผลงานทางวิชาการ   ไม่น้อยกว่า 1 รายการ ผู้ที่ผ่านการประเมินในด้านที่ 3 ต้องมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์จากคณะกรรมการจำนวน 3 คน อย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งส่วนที่เป็นผลการปฏิบัติงาน ผลงานทางวิชาการ และคะแนนรวม ดังนั้นวิทยฐานะต้องสะท้อนมาจากประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ ไม่ใช่เป็นการมาทำเพื่อขอวิทยฐานะ และการประเมินก็ต้องประเมินจากการปฏิบัติหน้าที่ ภายใต้หลักการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กำหนดไว้ 5 ประการ ตามหนังสือ ก.ค.ศ. ที่ ศธ.0206.2/ว2 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 คือ

1.                   หลักการความรู้ความสามารถและสมรรถนะในการปฏิบัติงาน

2.                   หลักคุณธรรม

3.                   หลักผลการปฏิบัติงานที่ส่งผลต่อผู้เรียน ต่อคุณภาพการศึกษา ต่อวงการวิชาชีพและต่อชุมชนและสังคม

4.                   หลักการทำงานแบบมืออาชีพ : การบริหารโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ การจัดการความรู้ และการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้

5.                   หลักการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานไปพร้อมกับคุณภาพชีวิตการทำงาน

 

 วิทยฐานะ : แรงจูงใจหรือการบังคับ

 

ในช่วงเดือน มีนาคม 2551 มีครูที่ส่งผลงานประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษถึง 62,587 คน ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เป็นปกติ ที่มีผู้ขอรับการประเมินเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547   ที่ พระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ครูมีเงินเดือน เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งเหมาะสมกับฐานะทางสังคมและวิชาชีพ ภายใต้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่ต้องการให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง จากกฎหมายทั้งสองฉบับ น่าจะทำให้เงินเดือนของครูสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ รวมทั้งเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งที่ครูจะได้รับ ก็น่าจะทำให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้วิชาชีพชั้นสูง แต่ในทางปฏิบัติก็คือ บัญชีเงินเดือนครูแยกออกมาจากข้าราชการ กพ. มีการกำหนดแท่งเงินเดือนขึ้นมาใหม่ และยกเลิกระบบซี ซึ่งก็ยังคงอิงฐานเงินเดือนของ กพ. อยู่เช่นเดิม 

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ครูส่วนใหญ่ของประเทศ อยู่ในแท่ง คศ.2 วิทยฐานะชำนาญการ มีเพดานเงินเดือนสูงสุดที่ขั้น 33,540 บาท เมื่อนับตามอายุการทำงานและอายุของครูแล้ว หลังอายุประมาณ 45 ปี จะประสบภาวะ“เงินเดือนตัน” จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการทำงานของแต่ละคน ภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของครูเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อการคำนวณบำเหน็จบำนาญที่ควรจะได้รับหลังเกษียณอายุราชการ ทำให้ครูเฉื่อยชา ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพอีกต่อไป ผลร้ายแรงที่ตามมาคือคุณภาพการศึกษาหรือคุณภาพของผู้เรียนที่เป็นอนาคตของประเทศนั่นเอง

อีกประการหนึ่งคือ เจตนาของการกำหนดวิทยฐานะก็คือ การสร้างให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้มีความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนในระยะยาวและสร้างคนเก่งไว้ในระบบ จึงกำหนดให้มีเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่ง โดยวิทยฐานะชำนาญการได้รับ 3,500  บาท วิทยฐานะชำนาญการพิเศษได้รับ 11,200 บาท วิทยฐานะเชี่ยวชาญ 19,800 บาท และวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ 26,000 บาท นอกเหนือที่จะได้รับจากเงินเดือน ซึ่งจะทำให้ครูมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้

จึงกล่าวได้ว่าอัตราเงินเดือนของครูเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูต้องดิ้นรนให้พ้นจากภาวะ “เงินเดือนตัน”  ส่วนวิทยฐานะ เป็นสิ่งดึงดูดใจให้ครู มีความก้าวหน้าในวิชาชีพและได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น นั่นคือ ครูถูกบังคับทางอ้อมจากอัตราเงินเดือน และถูก “ดึงดูด” ด้วยเงินตอบแทนให้ทำผลงานวิชาการเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะนั่นเอง

 

 

 

วิทยฐานะ : เหตุใดจึงผ่านการประเมินเพียงน้อยนิด

จากการติดตามการประเมินวิทยฐานะของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการประเมินวิทยฐานะในช่วงเดือนมีนาคม 2551 นี้มากที่สุด คือ กลุ่มครูชำนาญการพิเศษ เพราะมีผู้ส่งผลงานเข้ารับการประเมินเป็นจำนวนมากถึง 62,587 คน แต่มีครูที่ผ่านการประเมินเพียง 9,213  คน ด้านที่ครูไม่ผ่านการประเมินเป็นจำนวนมาก คือด้านที่  3 การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการประเมินผลงานวิชาการ ซึ่งเป็นหัวใจของการประเมิน มีหลายสาเหตุ อาทิ ครูบางคนทำผลงานเองแต่คุณภาพไม่ถึง บางคนทำงานเก่งสอนหนังสือเก่งแต่เขียนผลงานนำเสนอไม่เป็น ซึ่งกรรมการประเมินบางท่าน อาจจะยึดติดรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ หากครูเขียนรูปแบบผลงานวิชาการไม่ถูกก็จะไม่ผ่านการประเมิน ทั้งที่จริงแล้วรูปแบบน่าเป็นส่วนหนึ่งของการให้คะแนนเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่ากรรมการที่มีมากถึง 7,000 คน ยังมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มสาระเดียวกันครูในสพท.หนึ่งส่งให้กรรมการชุดหนึ่งตรวจผ่าน ส่วนครูอีก สพท.หนึ่งให้กรรมการอีกชุดหนึ่งตรวจกลับไม่ผ่านการประเมิน เป็นต้น

                เมื่อพิจารณาถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้ครูไม่ผ่านการประเมิน จะพบว่า สาเหตุสำคัญอยู่ที่หลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ซึ่งไม่ได้ประเมินตามสภาพการทำงานของครู ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 4 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ครู” หมายถึง บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่างๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน  ดังนั้นเกณฑ์การประเมินจึงควรจะประเมินผลที่เกิดจากการปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือ คุณภาพของผู้เรียนนั่นเอง  แต่กลับกำหนดให้ครูพัฒนาผลงานวิชาการที่เรียกกันติดปากว่า “นวัตกรรม” โดยมีลักษณะเป็นงานวิจัยที่เข้มข้น ให้มีคุณภาพ ถูกต้องครบถ้วน สมบูรณ์ สร้างสรรค์ และมีประโยชน์ เช่นเดียวกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีภาระงานสอนและค้นคว้าวิจัยเป็นปกติ ปรัชญาการจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงเป็นปัญหาอันใหญ่ยิ่งสำหรับครูที่ไม่สามารถทำผลงานวิชาการเช่นเดียวกับอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ เนื่องจาก การจะทำผลงานวิชาการที่มีคุณภาพนั้น ครูต้องมีความรู้ ความเข้าใจและมีความชำนาญถึงวิธีการทำผลงานวิชาการ เข้าใจงานวิจัยฯลฯ ต้องมีการศึกษาค้นคว้าเอกสาร ความรู้ทางวิชาการจากหลากหลายแหล่งเพื่อใช้ประกอบ ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ แต่ในสภาพความเป็นจริงในขณะนี้คือ ครูขาดความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย ครูที่อยู่โรงเรียนกันดาร โรงเรียนขนาดเล็ก ครูสูงวัยใกล้เกษียณ และครูทั่วไปยังขาดแหล่งศึกษาค้นคว้า รวมทั้งภาระงานของครู นอกจากงานสอนแล้วยังมีงานอื่นๆอีกมากมาย

                คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินในด้านที่ 3 ไว้ว่า ให้พิจารณาจากเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานและผลงานทางวิชาการ และอาจให้ผู้ขอเลื่อนวิทยฐานะนำเสนอและตอบข้อซักถามด้วยก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติ       ที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีกรรมการแม้แต่ชุดเดียวที่ให้ครูนำเสนอและตอบข้อซักถาม ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว  นั่นหมายความว่ากรรมการประเมินและตัดสินจากเอกสารเพียงอย่างเดียวโดยที่ครูไม่มีโอกาสชี้แจงหรืออธิบายแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทการทำงานของตนเองเลย  นอกจากนี้ เกณฑ์การตัดสินที่ต้องผ่านเป็นเอกฉันท์ ก็เป็นปัญหาที่สำคัญยิ่ง ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเกณฑ์ที่เคร่งครัดจนเกินไป เพราะถึงแม้ว่าคะแนนแต่ละส่วนจะผ่านเกณฑ์ที่กำหนด แต่หากคณะกรรมการคนใดคนหนึ่งไม่ให้ผ่าน ก็หมายถึงว่าผลการวิชาการไม่ผ่านการประเมิน โดยที่เจ้าของผลงานไม่มีโอกาสปรับปรุงงานของตนเองอีกเลย 

หลักเกณฑ์ดังกล่าวยังบังคับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ห่างไกลกันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ อาทิเช่น 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับโรงเรียนที่มีความพร้อมในทุกด้าน

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการประเมินในแต่ละครั้ง ต้องใช้กรรมการตรวจผลงานเป็นจำนวนมาก มาตรฐานของกรรมการที่เข้มข้นแตกต่างกันของแต่ละคน แต่ละกลุ่มสาระ และแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของผู้ผ่านและไม่ผ่านการประเมินระหว่างกลุ่มสาระและเขตพื้นที่

 

 

 

วิทยฐานะ : วิกฤติขวัญและกำลังใจของครู

                ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการวิชาชีพครูปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่าเป็น “วิกฤติขวัญและกำลังใจ ซึ่งเกิดขึ้นในทุกระดับ ทั้งในระดับชาติ  ระดับภาค เขตพื้นที่การศึกษา ไม่เว้นแม้กระทั่งในระดับสถานศึกษา มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้มีการเยียวยาครูที่ไม่ผ่านการประเมิน เกิดความระแวงสงสัยซึ่งกันและกัน ระหว่างกรรมการตรวจผลงานและผู้ส่งผลงาน มีการจ้างทำผลงาน คัดลอกผลงานวิชาการ ผลงานที่ครูสร้างขึ้นไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนจริงฯลฯ ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจครูอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ครูดีเด่น ครูที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและหน่วยงานต่างๆ ไม่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ ขาดการยอมรับจากสังคม เกิดความท้อแท้ สิ้นหวัง ครูที่สอนเก่งเข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนดเป็นจำนวนมากและเกินโควตา   ที่กำหนดทุกครั้ง ทำให้ครูดีออกจากระบบเป็นจำนวนมาก

                เมื่อมองถึงคุณภาพของผู้เรียน จากการประเมินคุณภาพผู้เรียนของสำนักงานเลขาธิการ ในปี พ.ศ. 2550 พบว่า ผู้เรียนมีคุณภาพในภาพรวมอยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุงถึงร้อยละ 40 – 60 อยู่ในระดับพอใช้  20 – 40  และอยู่ในระดับดีเพียงร้อยละ 5 – 20 แสดงให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ยิ่งครูทำผลงานมาก ผลสัมฤทธิ์และคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน มิได้มากตามไปด้วย กลับเป็นทิศทางที่ตรงกันข้าม นั่นคือผลที่เกิดจากการพัฒนานวัตกรรมของครู ไม่ได้นำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพสูงขึ้น และผู้เรียนไม่ได้รับการพัฒนาอย่างแท้จริง

                ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะทำให้เกิดวิกฤติขวัญและกำลังใจของครูแล้ว ปัญหาที่สำคัญกว่านั้นก็คือ วิกฤติด้านคุณธรรมจริยธรรม และจรรยาบรรณของความเป็นครู การเสนอผลงานเพื่อการประเมินเลื่อนวิทยฐานะไม่ใช่ผลที่ได้รับทางตรงแต่เป็นผลพลอยได้ หรืออานิสงส์จากการพัฒนางานจนเกิดผลดีแก่ผู้เรียนที่ชัดเจน แต่ก็มีครูจำนวนไม่น้อยที่มุ่งทำผลงานของตนเอง ละเลยหน้าที่หลักคือภาระงานสอน ปล่อยปละละเลยผู้เรียน มีการจ้าง การรับจ้าง รวมทั้งการคัดลอกผลงานวิชาการของผู้อื่น เหล่านี้ล้วนเป็นวิกฤติศรัทธาที่ทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลง

 

 

 

ทางออกของปัญหา

                หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ดี และมีความพยายามที่จะแก้ไข ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยว่า การประเมินวิทยฐานะครูควรต้องดูที่ผลผลิตที่เกิดจากความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานของครู คือพัฒนาการหรือความก้าวหน้าของนักเรียน ตามสภาพบริบทของแต่ละพื้นที่ แต่ไม่ใช่พิจารณาจาก คะแนน NT  O-net A-net เพราะความพร้อมในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาไม่เท่ากัน หากเกณฑ์การประเมินพิจารณาจากคะแนนทดสอบระดับชาติด้วย คงมีครูน้อยรายที่อยากสอนโรงเรียนห่างไกล กันดาร หรือโรงเรียนเสี่ยงภัย รวมทั้งโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูเพียงไม่กี่คน ครูทั้งหลายคงอยากสอนโรงเรียนในเมืองที่มีความพร้อมทุกด้าน ซึ่งจะเอื้อให้ขอเลื่อนวิทยฐานะได้ง่ายขึ้น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว จิตวิญญาณของความเป็นครูก็จะสูญหายไป คงเหลือแต่ความเป็นครูเพื่อหาประโยชน์จากวิชาชีพเท่านั้น

ทำอย่างไรระบบค่าตอบแทนครู เงินเดือน ค่าจ้าง และสวัสดิการอื่นๆ จะเป็นแรงจูงใจ     ในการทำงาน สร้างคนดีคนเก่งและเก็บไว้ในระบบ และขณะเดียวกันก็มีกระบวนการปล่อยถ่ายครูหรือบุคคลที่ไม่เหมาะสมกับงานออกจากระบบ แทนที่จะต้องเก็บคนไม่มีประสิทธิภาพไว้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้มีครูจำนวนมาก รวมทั้งองค์กรครูต่างๆ เรียกร้องให้มีการเยียวยาผู้ที่ไม่ผ่านการประเมินด้วยเหตุผลนานัปการ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้ไม่ผ่านการประเมินและให้โอกาสในการปรับปรุงผลงานอีกครั้ง เป็นการเยียวยาผู้ไม่ผ่านการประเมิน ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางดังกล่าวไม่ใช่ทางออกของปัญหา เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเป็นการปฏิบัติเฉพาะครั้ง ไม่ใช่เกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างถาวร ครูส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอทางออกของปัญหาดังนี้

                แนวทางแรกคือ ระบบเงินเดือนและค่าตอบแทน ควรแบ่งเป็น 2 ช่องทาง คือ ทางแรกมาจากการเลื่อนไหลไปตามปกติ โดยไม่มีการกำหนดเพดานเงินเดือน และไม่มีการเลื่อนวิทยฐานะ ทางที่สอง เป็นเส้นทางลัดสำหรับผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ และต้องการความก้าวหน้าในวิชาชีพ มีการพัฒนา คิดค้นทำผลงานและเข้ารับการประเมินเพื่อให้ได้เงินเดือนที่สูงขึ้นและได้เลื่อนวิทยฐานะ

                แนวทางที่สอง ปัญหาหลักของเรื่องนี้อยู่ที่หลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน หากยังต้องมีการประเมินอยู่ การแก้ไขจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการให้สอดคล้องกับการทำงานของครู หลักเกณฑ์แรกคือ วิธีการประเมินควรจะดูในหลายๆ มิติ ได้แก่ เอกสาร ผลงานเชิงประจักษ์ และให้ครูนำเสนอผลงานของตนเองต่อคณะกรรมการประเมิน เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาเป็นการประเมินแบบทางเดียว ผู้เข้ารับการประเมินไม่มีโอกาสชี้แจง อธิบายในประเด็นที่กรรมการสงสัย ซึ่งส่งผลให้การประเมินบางเรื่องบิดเบี้ยว อีกทั้งกรรมการประเมินสามารถให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนางานในโอกาสต่อไป ซึ่งเป็นวิธีการพัฒนาคุณภาพครูอีกวิธีหนึ่งด้วย แนวทางดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ให้ครูที่ทำผลงานด้วยตนเองและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้เรียนอย่างแท้จริง แต่อ่อนด้อยในการเขียนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการสามารถเลื่อนวิทยฐานะได้  ทั้งยังเป็นการสกัดกั้นการจ้าง การคัดลอกผลงานซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความตกต่ำของวิชาชีพอีกด้วย

                หลักเกณฑ์ที่สอง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินไม่ควรเป็นสภาพเดียวกันทั้งประเทศ ควรสอดคล้องกับสภาพการทำงานของครูกับกลุ่มผู้เรียนที่มีความยากง่ายของการพัฒนาต่างกัน เช่น กลุ่มด้อยโอกาส เด็กเร่ร่อน เด็กพิการ ชาวเขา ชาวเล เป็นต้น รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น และคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง (Stakeholder) เช่น นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษา และเพื่อนร่วมทีมงาน เป็นต้น เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผู้ที่ได้รับการประเมิน

                ลักเกณฑ์ที่สาม สำหรับครูที่ได้รับการยกย่อง เช่น ครูแห่งชาติ ครูต้นแบบ หรือครูที่ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้มีผลสัมฤทธิ์ คุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ยอมรับในสังคม ควรได้รับการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นโดยไม่ต้องทำผลงานวิชาการ เนื่องจากมีผลงานเป็นประจักษ์พยานอยู่แล้ว

ครูดี ครูเก่ง ในสังคมไทยยังมีอยู่มาก มีครูจำนวนไม่น้อยที่พร้อมให้สิ่งดีๆ ต่อการศึกษาของ การจะทำให้ครูมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และทำงานอย่างมีความสุข จะต้องเข้าใจสภาพการทำงานของครูตามบริบทของสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ แล้วกำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างสอดคล้องและเป็นธรรมให้มากที่สุด เมื่อนั้น ครูยุค ปะ-ติด-รูป คงจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 246778เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2009 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เพราะเขาไม่รู้จริงและไม่ทำจริง หวังแต่เงินและตำแหน่งไม่คิดถึงสิ่งที่เด็กจะได้รับ

ใช่ครับเหมือนคอมเม้นต์ข้างบนเลยครับ

ความคิดเห็นแตกต่างกันไป ก็ ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งเงินทั้งเด็ก

ก็ น่าสนใจ

และ เมื่อดูเรื่องของการแก้ปัญหาทางการศึกษา หลักสูตร ใหม่ ปี 2544 ยังใช้ได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนอีกแล้ว

และ คศ 3 ที่แก้ปัญหาเด็กนั้น ได้จริงหรือไม่ ละ

หลักเกณฑ์ที่สาม สำหรับครูที่ได้รับการยกย่อง เช่น ครูแห่งชาติ ครูต้นแบบ หรือครูที่ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผลมาจากการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ให้มีผลสัมฤทธิ์ คุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ยอมรับในสังคม ควรได้รับการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นโดยไม่ต้องทำผลงานวิชาการ เนื่องจากมีผลงานเป็นประจักษ์พยานอยู่แล้ว

รางวัลดังกล่าวไม่ใช่ผลงานทางวิชาการ(ครูต้นแบบ ครูแห่งชาติ รางวัลอื่นๆ) ไม่ได้มาตรฐานผลงานทางวิชการ การเลื่อนวิทยะฐานะที่ทำทุกวันนี้ก็ย่อหย่อนมากที่สุดแล้ว

ผลงานวิชาการที่ครูทำเพื่อขอเลื่อนวิทยะฐานะจะส่งผลต่อผู้เรียนอย่างมากมาย หากครูมีความตระหนักและมีเมตตาต่อผู้เรียน

ที่ผ่านมาทำเพื่อเงินกันทั้งนั้น  วันๆไม่เคยสอน ไอ้ที่ทำผลงานส่งก็ไม่เคยใช้สอนเด็ก แต่ได้อ.3 แต่คนสอนแทบตายลงที่เด็กจริงๆส่งผลงานจากการที่สอนจริง  กลับตกไม่เป็นท่า  ถ้าสังคมต้องการแบบนี้ก็ไม่เป็นไร ต่อไปจะทำตัวใหม่ ที่ผ่านมาคงยังทำดี(เลว)ไม่พอ ต่อไปนี้จะทำตัวลอกเลียนแบบครูที่ได้คศ.3 ทุกกระเบียดนิ้วเลย ชาติคงจะเจริญหละคราวนี้

โชติ วิชัยชาญสกุล

ผมไม่เชื่อหรอกว่าถ้าลงที่สอนเด็กจริงจัง แล้วจะไม่ผ่าน ผมคิดว่าข้ออ้างแก้ตัวมากกว่า ผมเคยอ่านผลงานมาเยอะ เนื่้อหายังสอนผิดๆถูกๆ ก็ไปแก้ไขกันครับ ผมว่าไม่ต้องหาข้ออ้างเข้าข้างตัวเองหรอกเสียเวลาปล่าว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท