BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วิทยากรสโมสรโรตารีสงขลา


วิทยากรสโมสรโรตารีสงขลา

วันนี้... ตอนเช้าคณะสโมสรโรตารีสงขลาได้มาเริ่มต้นเพื่อจะฟื้นฟูสร้างบ่อยางขึ้นมาใหม่ (เคยเล่าไว้ คลิกที่นี้) โดยกำหนดเอาฤกษ์ ๐๙.๐๙ น. วิธีการก็เพียงแต่ผู้เขียนเข้าไปในโบสถ์ จุดธูปเทียนแล้วก็อธิษฐานจิตขออำนาจบารมีธรรมแห่งพระรตนตรัย บอกกล่าวต่อผู้สร้างวัดยางทองและอดีตเจ้าอาวาสวัดยางทองทุกรูปว่าจะสร้างบ่อยางขึ้นมาใหม่เพื่อให้ดำรงอยู่เป็นสัญลักษณ์ของวัดและของเมืองสงขลาสืบต่อไป การกระทำครั้งนี้มีเจตนาดี หากมีอะไรไม่ถูกต้องเหมาะสมก็ขอเวรกรรมทั้งหลายจงตกแก่ข้าพเจ้ารูปเดียวเท่านั้น ส่วนคุณความดีและบุญกรรมถ้าจะพึงมีก็จงเป็นของทุกคน...

ต่อจากนั้น ผู้เขียนก็ไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์บริเวณพื้นที่จะขุดบ่อขึ้นมาใหม่ โดยการขยายบ่อลูกเล็กเยื้องด้านหน้าของโบสถ์ตามที่เคยตกลงกันซึ่งเคยเล่าไว้แล้ว และผู้เขียนก็ประกาศย้ำอีกครั้งว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาดี หากเวรกรรมอะไรจะพึงมีในการกระทำครั้งนี้ก็ขอให้ตกแก่ข้าพเจ้าผู้เดียวเท่านั้น แล้วก็ใช้พลั่วเหล็กเล็กๆ งัดก้อนคอนกรีตข้างบ่อขึ้นมาเล็กน้อยเป็นการเอาฤกษ์ว่าได้เริ่มกระทำแล้ว ต่อจากนั้นคณะโรตารีสงขลา ไวยาวัจกรวัด และผู้เขียนก็ร่วมถ่ายรูปเป็นอันเสร็จพิธี...

เมื่อถ่ายรูปเสร็จแล้ว ทั้งหมดก็เข้าไปยังภายในโบสถ์เพื่อร่วมปรึกษาหารือกันอีกคราว ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือการจัดงานฉลองบ่อยางใหม่แล้วทอดผ้าป่าก่อนที่จะถวายบ่อยางให้แก่วัดยางทองอย่างเป็นทางการ แต่รายละเอียดปลีกย่อยมีมาก กว่าจะเสร็จเรื่องก็เกือบห้าโมงเช้า...

 

คืนนี้ทุ่มกว่าๆ ผู้เขียนก็ตกกระไดพลอยโจนต่อไป โดยสมาชิกโรตารีสงขลามารับไปร่วมประชุมกับสโมสรโรตารีที่โรงแรมรอยัลคราวน์ ซึ่งผู้เขียนไปในฐานะวิทยากรรับเชิญเพื่อเล่าถึงประวัติวัดยางทองและบ่อยาง ก็พูดนิดหน่อยเพื่อให้การประชุมเป็นไปเท่านั้น แต่ก็ได้รับฟังสาระเรื่องราวในประเด็นอื่นๆ จากวิทยากรร่วมและสมาชิกท่านอื่นๆ ประชุมอยู่ชั่วโมงกว่าก็เลิก... อีกอย่างหนึ่งที่ได้มาก็คือใบประกาศเกียรติคุณใส่กรอบอย่างสวยงามที่ท่านนายกสโมสรมอบให้ตามธรรมเนียม 

ผู้เขียนเคยบ่นให้กัลยาณมิตรและคนคุ้นเคยฟังเสมอว่า เบื่อที่สุดก็คือการประชุมการสัมมนา ดังนั้น ถ้าไม่มีหน้าที่โดยตรงก็มักจะไม่ค่อยไป ถ้าจะไปอยู่บ้างก็ชอบพอชอบใจกับผู้นิมนต์หรือชักชวนเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น เท่าที่จำได้ ผู้เขียนมักจะประชุมหรือสัมมนาทางวิชาการมากกว่าการประชุมทางกิจการคณะสงฆ์ ครั้งนี้นับว่าเป็นกรณีพิเศษ และยังนึกไม่ออกว่าเคยไปประชุมหรือสัมมนาที่โรงแรมใดบ้าง น่าจะครั้งนี้เป็นครั้งแรก...

สาเหตุที่เบื่องานทำนองนี้ เพราะรู้สึกว่าค่อนข้างไร้สาระ คนโน้นพูดที คนนี้พุดที แต่ละคนต้องนั่งเป็นตุ๊กตา หรือแสดงไปตามบทบาทที่เหมาะสม... คราครั้งใดที่ถูกภาคบังคับให้ร่วมประชุม ผู้เขียนมักจะมีกระดาษข้างหน้าแล้วก็วาดรูป เป็นรูปนามธรรม คือใช้ปากกาหรือดินสอขีดๆ เขียนๆ ระบายไปเรื่อยๆ หมดแผ่นหนึ่ง ก็ต่ออีกแผ่นหนึ่ง และเมื่อมีโอกาสก็มักจะพูดทะลุกลางปล้องขึ้นมาในบางประเด็น ซึ่งเคยพูดกับเพื่อนสนิทว่า ไปแล้วต้องพูดสักนิด ไปนั่งฟังเฉยๆ ไม่คุ้ม ! ไปทำไม ! ... อะไรทำนองนี้ จนเป็นที่เล่าลือเชิงตำหนิว่าเข้าที่ไหนวงแตกที่นั้น

อันที่จริงเรื่องขีดๆ เขียนๆ ในห้องประชุมดังกล่าว ผู้เขียนฝึกหัดมาตั้งแต่เริ่มเรียนหนังสือโน้นแหละ ทั้งยังจำไม่ได้ว่าเริ่มครั้งแรกเมื่อไหร่ จำได้ว่าตอนเด็กๆ หนังสือและสมุดของผู้เขียนทุกเล่มจะมีลายพวกนี้อยู่ เพราะฝึกหัดมาหลายสิบปี ภาพที่ขีดๆ เขียนๆ จึงค่อยพัฒนาไปเรื่อย... จำได้ว่า ตอนเรียนม.ศ.๓ อาจารย์ภาษาอังกฤษมาเห็นตอนกำลังวาดอยู่ ท่านก็ทักว่าน่าจะไปเรียนศิลป์ แต่ผู้เขียนก็มิได้ใส่ใจ เพราะผู้เขียนวาดรูปเหมือนไม่เป็น แม้กระทั้งปัจจุบัน

เรื่องนี้ เพิ่งมาฉุกคิด เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนอยู่กรุงเทพฯ กล่าวคือ มีเด็กวัดที่ชอบวาดรูปหรือถนัดทางศิลป์ มาคุยด้วย ผู้เขียนจึงลองให้ดูที่เคยขีดๆ เขียนๆ ไว้ตามหน้าหนังสือและกระดาษเอกสารทั่วไป เค้าก็วิจารณ์ว่า เหมือนเด็กวาด แต่เด็กวาดไม่เป็น ภาพแบบนี้ เค้าเรียกว่าภาพ abstract (ภาพนามธรรม)... แล้วเค้าก็แนะนำว่า นี้... ถ้าหลวงพี่เซ็นชื่อแล้วเอาใส่กรอบสวยๆ พาไปขายสวนจตุจักร อาจขายได้ ต่อไปถ้าบังเอิญดัง อาจมีราคาเป็นหมื่น... อะไรทำนองนี้ (5 5 5)

ตอนนี้... วัดยางทอง ท่านเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสอาพาธ ไม่อาจประกอบศาสนกิจและจัดการเรื่องราวต่างๆ ได้ ดังนั้น หลายเรื่องภายในวัด ผู้เขียนจึงต้องจัดการและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามที่เห็นสมควร.. ตั้งแต่เลิกสอนหนังสือรู้สึกได้ถึงความเป็นอิสระและสุขภาพก็ดีขึ้น แต่ช่วงนี้ เริ่มรู้สึกว่าความเป็นส่วนตัวค่อยๆ ถูกบั่นทอนไป... 

หมายเลขบันทึก: 246386เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 02:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดียามดึก

แวะมาอ่าน

ได้รู้ว่าเขาจะทำการขุดบ่อขึ้นมาใหม่ และคงให้ชื่อว่าบ่อยางเหมือนเดิม

เพื่อจะให้คนได้เห็น ได้รู้ว่าบ่อยางนั้นอยู่ที่ใด (เป็นความคิดของผู้เขียน)

ขอถามว่า บ่อยางลูกเดิมนั้นอยู่ตรงไหน ?

สวัสดี

Pพระ มงคล มงคล ถีราวุฒิ

 

ที่ประชุมก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ ซึ่งได้ข้อสรุป๒ นัย กล่าวคือ

  • ไม่มีใครรู้จริง เพราะไม่มีใครเกิดทัน
  • บ่อทั้งหมดในวัดยางทอง ชื่อว่า บ่อยาง

อามันตา ภันเต

นมัสการพระคุณเจ้าบรรยากาศการประชุมสัมนาทั่วๆไปเป็นดังนี้แล...เวทีลุ่มน้ำทะเลสาบ มีคนสะท้อนในวงว่า กระดาษที่ที่พิมพ์แจกในการประชุมถ้าเอาไปปู เต็มเลแล้ว แต่ยังไม่เห็นเลดีขึ้นเลย ค่อนข้างจริงแล้วครับ

P วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

  • 5 5 5 5 5 5 5 5 5 5 ....

ปิดเครื่องปิดไฟจำวัดแล้ว แต่โรคประจำตัวมาเยือนตามปกติ นั่นคือ พอฝนตกนอนไม่หลับ จึงเปิดไฟเปิดเครื่องอีกครั้ง มาเจอความเห็นของบัง อารมณ์ดีขึ้นเลย (5 5 5 5 5...)

เจริญพร

นมัสการพระคุณเจ้า

มาร่วมอนุโมทนากับสิ่งที่โรตารี่และพ่อท่านได้ทำ

เดี๋ยวนี้เด็กบ้านเราไม่ค่อยสนใจอนุรักษ์สิ่งเก่าแก่ดั้งเดิม คิดว่าของใหม่ทันสมัย ของเก่าล้าสมัย แต่ในความเป็นจริงสิ่งเก่าแก่แฝงไว้ด้วยปรัชญาและภูมิปัญญาชาวบ้าน การที่วัดยางทองมีบ่อยางหลายบ่อแสดงว่าต้องมีอะไรสักอย่างครับ เช่น เป็นแหล่งน้ำของชุมชน

ถ้ามีโอกาสไปสงขลาจะแวะไปเยี่ยมอาจารย์และไปดูบ่อยางครับ

P อัยการชาวเกาะ

 

มีสมาชิกท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า ในเมืองสงขลามีอยู่ ๑๘ วัด แลทุกวัดก็มีบ่อ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในตัวเมืองก็มีบ่อเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจายอยู่ทั่วไป แต่ก็มิได้มีชื่อสำคัญว่าบ่อโน้นบ่อนี้ มีเพียงบ่อยางเท่านั้นที่ติดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน แสดงว่าจะต้องมีความสำคัญอะไรสักอย่างที่ต่างไปจากบ่ออื่นๆ...

คนเราปกติก็ฟังๆ จำๆ เดาๆ ในเรื่องต่างๆ นั่นเป็นปกติของคน  ซึ่งอาตมาก็ทำนองนั้น... เฉพาะเรื่องบ่อยาง เมื่อมาอยู่วัดยางทองจึงมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ต่อไป อาจกลายเป็นผู้รู้เรื่องนี้ (5 5 5...)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท