Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๗)


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๒๓)

สแปนชั่น ไทยแลนด์
การจัดการความรู้เพื่อผลิตภาพองค์กร

 

         (โปรย) Spansion Thailand ทำการจัดการความรู้โดยยึด”คน”เป็นศูนย์กลาง และสร้างกระบวนการให้มีการจัดการความรู้อยู่ในเนื้องาน โดยนำการจัดการความรู้มาเป็นกิจกรรมเสริมที่จะช่วยยกระดับและสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น และเป็นสังคมที่มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  จึงส่งผลที่การพัฒนาคน ผลิตภัณฑ์ เพิ่มผลิตภาพองค์กร 

รู้จัก สแปนชั่น
         บริษัท สแปนชั่น ไทยแลนด์ จำกัด เป็นโรงงานผู้ผลิตแผงวงจรไฟฟ้า (IC) ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นโรงงานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 4 แห่ง ของ Spansion ในทวีปเอเชีย ผลิตภัณฑ์ของสแปนชั่น ประกอบด้วยหน่วยความจำประเภท Nor Flash  ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ,คอมพิวเตอร์มือถือ( PDA), ระบบ GPS รวมถึงถูกติดตั้งในเครื่อง DVD รถยนต์, หน่วยความจำ (media memory) เป็นต้น กลุ่มลูกค้าหลักส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ชั้นนำต่าง ๆ ชั้นนำในประเทศไทยและในเอเชีย 
         สแปนชั่น ไทยแลนด์ เดิมคือบริษัท เอเอ็มดี ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งในประเทศไทยมากกว่า 16 ปี แล้ว จนเมื่อมาควบรวมสายงานผลิตหน่วยความจำ (Memory Devices) ของบริษัทแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (เอเอ็มดี) กับบริษัท ฟูจิตสึ  จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น สแปนชั่น ไทยแลนด์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546   มีพนักงานรวมประมาณ 1,400 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงกว่าร้อยละ 61 ระดับการศึกษาตั้งแต่ ม.ต้น – ปริญญาเอก  มีอายุงานเฉลี่ยประมาณ 7.6 ปี
         สแปนชั่นมีหลักการพัฒนาองค์กรและธุรกิจที่ยึดบุคลากรเป็นศูนย์กลาง  “บุคลากรคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร” การดำเนินงานของบริษัทจึงมุ่งพัฒนาคน พัฒนางาน ด้วยการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถ และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็จัดสวัสดิการหรือบริการที่ให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ดังคำขวัญที่ว่า Spansion Thailand  เป็นบ้านหลังที่สองของพนักงาน 

KM ที่ต่อยอดจาก ทุนเดิม
         สแปนชั่น ไทยแลนด์ มีวิธีบริหารจัดการความรู้ในแบบของตนเองบนพื้นฐานวัฒนธรรมองค์กรที่ทำมายาวนาน เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการจัดการความรู้ นั่นคือ การเปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เคารพเกียรติและสิทธิของบุคคลอื่น การรับฟังเมื่อผู้อื่นพูด  การพูดคุยกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการในรูปแบบต่าง ๆ ช่วยให้เกิดความกล้าแสดงออกของพนักงานมากขึ้น 
         กิจกรรมที่เคยทำเช่น กิจกรรม Three Persons Teaching คือ เมื่อมีใครไปเรียนรู้อะไรมาจากภายนอกก็จะกลับมาบอกต่อให้แก่เพื่อน ๆ ในกลุ่ม หรืออีกตัวอย่างคือ เรามีความกล้าที่จะพูดจะแสดงออกทางความคิดในเวทีต่าง ๆ หรือการทำงานที่อยู่บนพื้นฐานของการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นพื้นฐานสำคัญที่เป็นกลไกผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องอันเป็นรูปแบบหนึ่งของกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงาน
         วัฒนธรรมองค์กรจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในองค์กร   กิจกรรมที่ต่อเนื่องมาจึงเน้นกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ  ทั้งที่เป็นclass room  ไม่เป็น class room หรือแบบชุมนุมก็มี ทุนเดิมจึงส่งผลดีเมื่อองค์กรทำการจัดการความรู้ ที่เริ่มด้วยการแสวงหา รวบรวม ความรู้ต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นแกนความรู้หลักซึ่งมีความสำคํญและเป็นความรู้ที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาไปใช้เป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอันเกิดเป็นผลผลิตหรือเพิ่มพูนผลิตภาพของหน่วยงาน 

IT  และ CoPs   เครื่องมือจัดการความรู้ในองค์กร
         สแปนชั่น ไทยแลนด์  สามารถจำแนกและจัดกลุ่มของกิจกรรมหรืองานที่เกี่ยวข้องออกเป็น 2 ด้านหลัก ๆ คือ    1)  ด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อช่วยจัดการความรู้  หรือ  การนำเครื่องมือไอทีเข้ามาใช้ประโยชน์  2) ด้านการพัฒนาและสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยในกระบวนการเผยแพร่ความรู้   นั่นคือ การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนในระบบที่เรียกว่า CoPs (Community of Pracitice) หรือชุมชนนักปฎิบัติขึ้นในองค์กร
         การนำหลักวิชาการและทฤษฎีของการจัดการความรู้ไปจับกับสิ่งที่องค์กรทำอยู่ ทำให้พบว่า IT  และ CoPs คือ เครื่องมือ 2 ส่วนหลักที่จะมาเติมเต็มให้การพัฒนาคน พัฒนางานขององค์กรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ทั้ง  IT และ CoPs  จึงถูกกำหนดให้เป็นหัวใจของการทำงานในปี 2005-2006  
         โดยในส่วนของไอที  ที่ทำมาตั้งแต่ปลายปี 2547   โดยบริษัทได้พัฒนาโปรแกรม Knowledge Portal มาใช้ในการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ ประสบการณ์และความรู้ในการทำงานต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์   มีทดลองใช้ในกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญขององค์กรได้แก่ TCPI project,Engineering project,Department presentation  เป็นต้น โดยได้จัดเตรียมระบบการสืบค้นข้อมูลเอาไว้เป็นอุปกรณ์ช่วย  ในการให้พนักงานได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และนำความรู้ไปต่อยอดใช้ในงานประจำได้    ไอทีที่นำมาใช้จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นอกจากช่วยจัดระบบและเก็บรวบรวมความรู้ของบริษัทแล้วยังเป็นเวทีเสมือนที่ส่งเสริมให้พนักงานมีพฤติกรรมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของตัวเองได้ต่อเนื่องไปกับความรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง
         ส่วน  CoPs หรือ ชุมชนนักปฎิบัติ มีการส่งเสริมในลักษณะของ  “club” ที่เป็นการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันของคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน  เช่น ชมรมนันทนาการ  ชมรมวิชาการ  อาทิ ชมรมกีฬาต่าง ๆ และชมรมเย็บปักถักร้อยหรือชมรมการทำประโยชน์ต่อสังคม  ฯลฯ    ส่วนด้านการทำงานก็จะเป็น พวกกลุ่มวิศวกรก็จะมาคุยกัน  หรือแม้แต่การทำงานในลักษณะข้ามสายงาน  เช่น คณะกรรมการทำงาน คณะกรรมการอาหาร คณะกรรมการการศึกษา คณะกรรมการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เป็นต้น   ตอนนี้ในสแปนชั่นมี CoPs เกิดขึ้นกว่า 60 CoPs  ในหลากหลายรูปแบบ และหลายระดับ  ตั้งแต่หน้างานผลิตระดับปฎิบัติการไปจนถึงระดับบริหารและนันทนาการ   ซึ่งในการดำเนินการเขาก็มีช่องทางการสื่อสารที่จะสะท้อนความรู้ ความต้องการของเขาขึ้นมาข้างบน ทั้งเป็นทางการไม่เป็นทางการ  และความรู้ที่เกิดขึ้นก็จะถูกคัดเลือก นำเสนอและจัดเก็บไว้ในระบบ

KM TEAM ไร้ตัวตนแต่มีพลัง
         การจัดการความรู้ของบริษัทสแปนชั่นไม่มีกำหนดผู้รับผิดชอบไว้ชัดเจน แต่เป็นการทำงานในรูปคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่คัดเลือกมาจากตัวแทนฝ่ายหรือส่วนงานต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารสูงสุดจนถึงระดับปฎิบัติการ ส่งตัวแทนฝ่ายละ 1 คน เป็นทีมข้ามสายงาน มีวาระการทำงาน 2 ปี คณะกรรมการจึงมีลักษณะไม่ตายตัวแต่มีความต่อเนื่องในงาน  
         และความจริงแล้วงานการจัดการความรู้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานพัฒนาด้านการศึกษาของบริษัท  ของคณะกรรมการด้านการศึกษาของบริษัท ที่มีหน้าที่หลัก คือ  ดูแลเรื่องกลยุทธ์ และแผนงานต่าง ๆ ของบริษัท  ดังนั้น KM จึงถูกบรรจุอยู่ในงานโดยที่ผู้ปฎิบัติไม่รู้สึกเป็นภาระเพิ่ม แต่เป็นสิ่งเสริมที่จะช่วยให้การปฎิบัติงานดีขึ้น   อีกทั้งการติดตามและประเมินผลของคณะทำงานจัดการความรู้ที่จะต้องรายงานผลเป็นระยะต่อผู้บริหารก็แสดงถึงความเอาใจใส่ของระดับนโยบาย
         การจัดการความรู้ที่ทำในรูปคณะกรรมการ ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบเฉพาะ  (Knowledge Officer) แต่มีพลังในการทำงานที่เป็นผลอย่างเห็นรูปธรรม จึงเป็นวิธีการที่เหมาะกับองค์กรแบบสแปนชั่น 

จัดการความรู้ให้อยู่ในงาน
         โสรัจ  จตุรทิศ  Assistant Learning @Development Manager  กล่าวว่า  การจัดการความรู้ให้อยู่ในงานของสแปนชั่นทำในหลายลักษณะ เช่น ส่วนงานด้านวิศวกรรม ในบางตำแหน่งงาน เขาจะถูกบรรจุ ให้ทำเรื่องของ Knowledge sharing  การทำ technical paper เข้าไว้ในเป้าหมายในแผนงาน(แผนงานส่วนบุคคล/ปัจเจก ) ว่าปีนี้ต้องทำได้เท่าไหร่ อย่างไร มีกี่เรื่อง เป็นต้น  ถือเป็นการทำงานแบบหนึ่งที่สามารถวัดผลได้  จากตัวอย่างนี้ก็มีคนสนใจอยากจะเข้ามาแชร์หรือเอาไปทำในสายงานตัวเองเพิ่มขึ้น 
         การกำหนดและทำในจุดนี้ในตอนแรกระดับปฎิบัติการยังไม่รู้ว่ากำลังทำ KM อยู่  เพราะไม่ได้ใช้คำว่า KM  ช่วงหลังจึงมีการทำประชาสัมพันธ์ให้พนักงานเข้าใจ โดยผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น  กิจกรรมสัปดาห์การจัดการความรู้,บทความในวารสาร Dialog,Freqquent notice board notification,E-mail,การประชุมกับกรรมการผู้จัดการประจำไตรมาส,การประชุมทั้งในและนอกองค์กร, Webpage   ซึ่งตอนนี้ทั้งองค์กรก็รู้หมดแล้ว
โดยสิ่งที่สื่อออกไปคือการทำการจัดการความรู้ของสแปนชั่นไม่ใช่การล้มของเดิมแต่เป็นการต่อยอด เสริมในส่วนที่ขาด และไม่เหมือนกับการทำ ISO  และ 5 ส.  และการทำ KM ไม่ใช่โครงการหรือแผนงานที่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด  การจัดการความรู้สำหรับสแปนชั่นมันฝังในวัฒนธรรมองค์กรของสแปนชั่นมายาวนาน เพียงแต่ในทางทฤษฎีเขาตั้งชื่อเสียใหม่ แต่ในหลักการก็เหมือนเดิม  เขายังทำงานปกติ แต่เป็นการมองอย่างบูรณาการมากขึ้น  ซึ่งการสื่อออกไปอย่างนี้ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นงานใหม่หรือภาระเพิ่ม แต่เป็นเครื่องมือที่ไปช่วยเขา ทำให้ไม่เกิดความรู้สึกต่อต้าน
และเพื่อให้เห็นประโยชน์จากการ KM ร่วมกัน จึงมีการสร้างช่องทางการสื่อสารระหว่างบริษัท ทีมงานกับพนักงาน ที่หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น อีเมลล์  ขึ้นบอร์ด วารสารภายใน
         เสียงตามสาย หรือแม้กระทั่งการประชุมพูดคุยกันระหว่างคณะกรรมการ (committee) กับทีมงาน  เราพยายามจะดึง km ให้เป็นงานประจำวัน เช่น  การวางแผนงานหรือกำหนดกลยุทธ์ใหม่ ๆ ให้เขาทำงานง่ายขึ้นโดยใช้ ระบบ KM เข้าไปช่วย  หรืออย่างเช่น การเสนอผลงาน TCPI project ที่แต่เดิมต่างคนต่าง save file ของตัวเองเก็บไว้บน network drive หรือ flash drive ส่วนตัวบ้าง  เมื่อนำเสนอแล้วก็จบ ปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเป็นการ present files ผ่านระบบ KM Aplication  ซึ่งจะมีการบันทึกไฟล์ไว้ในระบบที่คนอื่น ๆ สามารถเข้ามาดูและนำไปใช้ได้

ขุมความรู้และการจัดเก็บ
         กระบวนการทำงานดังกล่าว ก่อให้เกิดความรู้ที่สำคัญกับองค์กรความอยู่รอดและศักยภาพในการแข่งขันที่สำคัญ 6 เรื่อง   ได้แก่
1.  project หรือ เป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็น innovation ของพนักงาน ซึ่งส่งเข้ามาปีละ 400-500 เรื่อง  แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ สิ่งเล็ก ๆ แต่มีความสำคัญจะถูกเก็บไว้เป็นคลังความรู้ของบริษัท
2. department presentation  ซึ่งแต่ละ department ก็จะมีการทำโครงการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกเดือน เราก็จะมีการเก็บไว้ในระบบ 
3. Technical presentation ต่าง ๆ เช่น  Technical paper  ฯลฯ ก็จะถูกจัดเก็บไว้
4. Engineering presentation ต่าง ๆ ซึ่งจะมีทุกไตรมาสหรือทุก 2 เดือน ซึ่งก็จะถูกเก็บไว้เหมือนกัน มีเยอะมากเป็นร้อย ๆ  
5. Puplication  เช่นพวกของสิทธิบัตรต่าง ๆ หรือเมื่อพนักงานเราเขียนบทความแล้วถูกเราไปตีพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายในเราก็จะเก็บไว้เหมือนกัน
6.  traning mattireal ต่าง ๆ เราก็จะบันทึกเก็บเอาไว้
จะเห็นว่าทั้งหมดมันก็จะเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานทุก ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะถูกจัดเก็บ
อย่างเป็นระบบไว้เป็นคลังความรู้ขององค์กร ที่พนักงานทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ นอกจากนี้บริษัทยังจัดส่งเสริมการใช้ประโยชน์ด้วยการจัดมุม  internet café  24 ชั่วโมง ให้พนักงานสามารถมาใช้ได้ตลอดเวลาอีกด้วย

KM เพื่อธุรกิจ   
         ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา IT Tool และ CoPs ในสแปนชั่น ไทยแลนด์ เป็นการทำการจัดการความรู้ที่สอดคล้องกับธุรกิจ  ดังที่ คุณโสรัจ กล่าวว่า  สแปนชั่น ไทยแลนด์ ทำ KM  เพื่อให้เกิดผลจากความเชื่อที่ว่า  ความรู้ของพนักงาน เป็น ฐานที่สำคัญที่สุดขององค์กร  คนสำคัญที่สุด และคนทำให้เกิด  productivity  ซึ่งนี่เป็นทฤษฎี  เมื่อเอามาเทียบกับโมเดลจัดการความรู้ ไปอิงว่ามันมีอะไรบ้าง และขาดอะไรบ้าง  ตอนนี้ที่มีเพิ่มขึ้น ก็เช่น Knowledge sharing ซึ่งจัดให้เป็น program มีขั้นตอนการดำเนินงานชัดเจน มีกลุ่มคนเป้าหมายชัดเจน  Knowledge online ก็มี เว็บบอร์ดเพิ่มเข้ามา  ปัจจุบันเรามีความรู้กว่า 500 เรื่อง ที่เป็นประโยชน์กับองค์กร และมีคนเข้ามาดูแล้วมากกว่า 2000 คน  และข้อมูลที่ได้ถูกประมวลในการจัดทำแผนงานของบริษัทสำหรับปี 2005-2006 เราก็มีการทำไว้ชัดเจนว่าอะไรทำไปแล้วอะไรยังขาดอยู่  และแผนการดำเนินการเป็นอะไรบ้าง มีการระบุไว้ว่าแต่ละกิจกรรมจะถูกทำเมื่อไหร่ และทำไปแล้วอย่างไรบ้าง ใครทำ  training programme  เป็นอย่างไร

ยึดมั่นปรัชญา “คนสำคัญที่สุด”
         หลาย ๆ องค์กรในประเทศไทยที่บอกว่า “คน”สำคัญ แต่ว่า action ไม่เกิด ไปดูแล้วมันก็ไม่ใช่  มันก็ไม่มีผลอะไร คำตอบที่ให้มันไม่มี 
         สำหรับสแปนชั่น ตัวอย่างง่าย ๆ ที่แสดงว่าบริษัทให้ความสำคัญกับ “บุคลากร” เช่น เรื่อง งบประมาณ ที่เสนอขึ้นมาถ้าเป็นเรื่องความปลอดภัยของพนักงาน ขอเท่าไหร่ก็ไม่มีการตัดถ้าเป็นความปลอดภัยของพนักงานจริง ๆ   หรือเช่น ในภาวะที่บริษัทประสบวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ขณะที่หลายบริษัทที่บอกว่าให้ความสำคัญกับคนแต่เมื่อเจอวิกฤติก็เอาคนออก  แต่สแปนชั่นให้ความสำคัญกับคนใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการพัฒนาบุคลากร  ทุ่มการศึกษา ทุ่มเงิน ทุ่มเวลา จัดอบรมเพื่อให้เขาได้เรียนรู้    เป็น concept ที่เกิด action จริง  แล้วหน้าที่ในการวางแผนการพัฒนาบุคลากรก็มีคณะทำงานมีหน่วยงานมีโครงสร้างตามลำดับ และมีความชัดเจนของแผนงานที่ออกมาเป็นรูปธรรม 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ : KM ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด
         จะเห็นว่ารูปธรรมที่ชัดเจนในการจัดการความรู้ของ สแปนชั่น ไทยแลนด์  นั่นคือการมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการหากระบวนการจัดการที่จะช่วยให้เกิดการสร้าง  การใช้ และการจัดเก็บความรู้ไว้ในองค์กร ซึ่งส่วนนี้ก็ได้ IT เข้ามาช่วย และส่งผลให้เกิดคลังความรู้มากมายเป็นองค์ความรู้ขององค์กรที่สามารถส่งต่อสู่การนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย  รวมทั้งมีการเอื้อให้เกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ CoPs ขึ้นในองค์กรอย่างหลากหลาย  ส่งผลให้เกิดความร่วมมือทั้งองค์กรในการทำเรื่องต่าง ๆ ร่วมกันภายใต้วัฒนธรรมองค์กรและพฤติกรรมการปฎิบัติที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น พัฒนาขึ้นจากการกระบวนการจัดการความรู้    และแม้จะเห็นผลชัดเจนแต่การจัดการความรู้ก็ยังคงต้องอาศัยการเรียนรู้และทำอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการจัดการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบในงานเพื่อเป้าหมายของธุรกิจ ที่มี “บุคลากร”เป็นปัจจัยขับเคลื่อน และด้วยกระบวนการเช่นนี้ สแปนชั่น ไทยแลนด์ จึงสามารถผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพ ที่แข่งขันได้ในระดับแนวหน้าของกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและเอเชีย.

คุณโสรัจ  จตุรทิศ
Assistant Learning&Development Manager
Human Resources Department
Spansion (Thailand) Limited
229 Moo 4 Changwattana Road
Pakkerd Nonthaburi  11120
โทร. 0-2962-1180 , 0-2584-1591

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24608เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ พอดีออร์ต้องจัดสัมมนาเรื่องการจัดการความรู้ของ สแปนชั่น ไทยแลนด์ ค่ะมีแนวทางและข้อมมูลในการสัมมนาขึ้นเยอะเลยค่ะ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท