สสส. : ดูงานสุขภาวะชุมชนที่เชียงราย (๔)


บูรณาการภารกิจ ไม่แบ่งตามส่วนงาน

ตอนที่

วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
วันนี้ดิฉันตื่นแต่เช้าอีกเช่นเคย ใช้เวลาก่อนการรับประทานอาหารเช้าเก็บภาพในอาณาบริเวณที่พักที่เมื่อวานไม่มีโอกาสได้สำรวจ เส้นทางเดินสูงๆ ต่ำๆ เล่นเอาคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างดิฉันรู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน

อาหารเช้าวันนี้เป็นข้าวอบสัปะรด ผัดมักกะโรนี แกงจืด ผลไม้ และชา กาแฟ เสียดายที่ที่นี่ไม่มีกาแฟสด เลยดื่มกาแฟสำเร็จรูปเพียงเพื่อการเติมคาเฟอีนให้ร่างกายเท่านั้น

เราเก็บของทั้งหมดและ check out เลย เพราะหลังจากดูงานเสร็จก็ได้เวลาเดินทางกลับกรุงเทพ วันนี้เราไปดูงานที่ อบต.แม่ฟ้าหลวง เห็นชื่อก็อยากไปแล้ว คุณด้วงคุยไว้มากว่านายก อบต.เป็นชาวเขาและเป็นคนหนุ่ม พื้นที่นี้ไม่ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. แต่มีดีหลายเรื่อง

เรานั่งรถตู้ออกจากที่พักเวลา ๐๘.๐๐ น. ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที ขึ้นๆ ลงๆ ดอย พอใกล้จะเมารถก็ถึง อบต.แม่ฟ้าหลวง มีทีมพื้นที่หลายคนมาให้การต้อนรับ ทั้งนายอำเภอ รอง ผอ.โครงการพัฒนาดอยตุง นายก อบต. ประธานสภา อบต กำนัน ท้องถิ่นอำเภอ สสอ. หัวหน้า สอ. ๒ แห่ง ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

 

นายก อบต. แม่ฟ้าหลวง (กลาง)

เด็กๆ อาข่า มาแสดงประกอบเพลงให้ชม ๒ เพลง นายก อบต.แปลให้ฟังว่าเพลงแรกเป็นเรื่องของเด็กกำพร้าบรรยายความน้อยเนื้อต่ำใจ อีกเพลงหนึ่งดิฉันจำไม่ได้แม่น แต่ก็เกี่ยวกับการเจียมตน ถ่อมตน ขณะชมการแสดงนายก อบต.บอกว่ากำลังสร้าง ดี เจ น้อย (เด็ก ป.๔ และเด็กมัธยม) จะได้กระจายเสียงเรื่องสุขภาพเข้าไปในหมู่บ้านโดยใช้ภาษาอาข่าและลาหู่  เชิญ ดี เจ มืออาชีพมาถ่ายทอดเทคนิค และได้ข้อมูลด้านสุขภาพมาจาก สอ.

 

การแสดงของเด็กๆ อาข่า

เมื่อเข้าสู่ห้องประชุม นายอำเภอได้เล่าภาพรวมของอำเภอแม่ฟ้าหลวงว่าแยกมาจาก อ.แม่จัน เป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี ๒๕๓๕ ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี ๒๕๓๙ มี ๔ ตำบล ๗๖ หมู่บ้าน ประชากรประมาณ ๘๐,๐๐๐ กว่าคน มีหลายชนเผ่าแต่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน ประกอบอาชีพเกตรกรรม เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง ฯลฯ

นายก อบต. แม่ฟ้าหลวง นายทรงกลด อภิสุนทรกุล เล่าว่าในตำบลมี ๑๙ หมู่บ้าน แยกออกมาจาก ต.เทอดไทย ในอดีตเป็นถิ่นทุรกันดาร ชาวภูเขายากจน ปลูกฝิ่น อยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนส่า ป่าถูกบุกรุกทำลาย ปี ๒๕๓๑ สมเด็จย่า เสด็จมาประทับที่ดอยตุง มีการปลูกป่า นำความเจริญมาสู่ปัจจุบัน

ปี ๒๕๕๑ มีรายได้จำนวนเท่าไหร่ ได้รับจากรัฐเท่าไหร่ จำนวนครัวเรือน ชนเผ่าต่างๆ ทำการเกษตร ชา กาแฟ ไม้ดอก ไม้ประดับ ทำนา ทำไร่ มีโรงเรียนประถม ๖ แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก ๑๒ แห่ง สอ. ๔ แห่ง สินค้าที่ขึ้นชื่อคือกาแฟอาราบิก้า ชาดอยตุง งานฝีมือชาวเขา

อบต.แม่ฟ้าหลวงได้รับรางวัลหลายรางวัล อาทิ อบต.ที่มีการบริหารจัดการที่ดี รางวัลศูนย์เด็กเล็ก ตลาดดีมีมาตรฐาน ฯลฯ จึงมีคนมาเยี่ยมบ่อย แต่ละปีมานับร้อยคณะ นำรายได้มาสู่ชุมชนปีละหลายล้านบาท

๓๐ ปีที่แล้ว พื้นที่มีสภาพเป็นป่าหัวโล้น มีสีเขียวไม่ถึง ๒๐% ทำให้คนรู้สึกไม่ดีต่อคนพื้นที่สูง ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีดรงเรียน คนก็ต้องหาวิธีการเอาตัวรอด ไม่มีการวางแผนครอบครัว มีลูกครอบครัวละ ๕-๖ คน การปลูกพื้นไร่ ๒ ปี ดินก็เสื่อม จึงต้องเปิดพื้นที่ป่าใหม่ คนขาดความรู้ ยาเสพติดจึงเป็นทางหารายได้เลี้ยงครอบครัวที่เป็นกอบเป็นกำ มีชนกลุ่มน้อยเยอะ มีกลุ่มอิทธิพลของแต่ละชนเผ่า

ปี ๒๕๓๐ เริ่มมีถนนมีโรงเรียนบางจุด ยังไม่กระจาย พอมีโครงการดอยตุงทุกอย่างก็เริ่มเข้ามาทุกด้าน คนเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติ มีอาชีพรองรับ ตอนนี้ยาเสพติดค่อนข้างจะควบคุมได้ ได้ประกาศสงครามกับยาเสพติดก่อนรัฐบาลทักษิณเสียอีก นายก อบต.เล่าถึงหลักการบริหารงานว่าใช้การกระจายอำนาจ จำนวนผู้บริหาร จำนวนข้าราชการ พนักงานจ้าง สามารถบูรณาการภารกิจ ไม่แบ่งตามส่วนงาน เปิดโอกาสให้สร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผู้บริหารไม่ตีกรอบ เล่าวิธีการบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เน้นการพัฒนาด้านการศึกษา ที่ทำได้มากและเต็มที่คือการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในระดับโรงเรียนก็ดูว่าขาดอะไร จะได้เติมเต็ม

สสอ. เล่าว่ามี สอ. ๑๓ แห่ง จำนวนบุคลากร สิทธิ UC ๘๐% อีก ๒๐% รอการพิสูจน์ฐานะบุคคล โรคติดต่อยังเป็นปัญหา โรคไม่ติดต่อก็ยังเป็นปัญหา เช่น HT, DM โรคเรื้อรังต่างๆ

ทีมผู้มาเยือนสนใจซักถามเรื่องการป้องกันและการสร้างเสริมสุขภาพ การทำงานที่เริ่มจากคนในชุมชน คุณสมพร ใช้บางยางอยากเห็นท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สร้างสุขให้เกิดขึ้น ภาคราชการทำงานร่วมกับท้องถิ่นได้ ชื่นชมที่นายก อบต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่มีมากถึง ๑๒ ศูนย์ พื้นที่ราบบางที่ยังทำไม่ได้

นพ.ชาตรี เจริญศิริ อยากรู้เรื่องเคล็ดลับอายุยืน แนะให้กลับไปค้นหาของดีในตัว มองหาไม้เท้าและหัวเข่าของชาวบ้าน ได้รับคำตอบว่ามีคนม้งที่มีอายุ ๑๐๓ ปี ใช้ไม้เท้าในการเดิน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องน่าจะมีทั้งอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และอากาศ ชาวไทยใหญ่น่าจะเป็นเรื่องของอาหารและการเข้าวัด เผ่าอื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอาหาร ช่วงปี ๒๕๓๒ คนที่มีอายุเกิน ๕๕ ปี มีจำนวนน้อย เพราะฝิ่นและมาเลเรีย หลังจากนั้นคนมีอายุเฉลี่ยมากขึ้น ท่านรอง ผอ.โครงการพัฒนาดอยตุงอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะทางอากาศกับต้นพญาสัตบรรณ

นายอำเภอกล่าวว่าที่ อบต.ไม่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดีระยะหลังๆ เพราะทางการเอาตัวชี้วัดเรื่องรายได้จากการเก็บภาษีเข้ามา ที่นี่อยู่ในเขตป่าสงวนจึงเก็บภาษีไม่ได้มาก ถ้าเอาพื้นที่สีเขียว จะได้รางวัลตลอด นายอำเภอปรารภว่าเคยส่งเด็กไทยใหญ่ไปเรียนพยาบาล จบแล้วกลับมาทำงานที่ รพ.แม่ฟ้าหลวง ดีมาก ภาษาก็ได้ อยากให้รับเด็กไปเรียน คุณด้วงและอาจารย์ขนิษฐาแนะนำให้ทำทั้งอำเภอและจะช่วยประสานกับทาง มช.ให้

คุณคำเดื่องแนะให้ยกภูมิปัญญาที่ทำให้สุขภาพแข็งแรง เช่น การใช้ครกกะเดื่อง เป็นการรวมคนในครอบครัวให้มีการช่วยกัน ได้ออกกำลังกาย ลูกได้เรียนรู้วิธีการหุงข้าว ได้กินข้าวดี

ต่อจากที่นี่ เราไปเยี่ยมสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ ดอยตุง ได้แนะนำให้น้องๆ ที่ สอ.รู้จักบล็อกของเครือข่ายเบาหวานและ GotoKnow ต่อจากนั้นไปดูวิสาหกิจชุมชน (ชา) และตลาดชุมชน

๑๑.๒๐ น. เยี่ยมวิสาหกิจชุมชน รับรู้เรื่องการผลิตชาอินทรีย์ ปลอดสารพิษ มีการตั้งเป็นสหกรณ์ ปีหนึ่งเก็บชาได้ ๕ ครั้ง ชาที่นี่ได้ส่งออกต่างประเทศ เช่น จีน เยอรมัน ขายเป็นตันราคาจะถูกกว่าขายปลีก ปุ๋ยที่ใช้จะหมักเอง ชาชอบปุ๋ยที่ทำจากปลา ต้องรู้เรื่องศัตรูพืช เราได้ความรู้ว่าผู้ผลิตชาสำเร็จรูปชื่อดังเขาเอาใบชาแก่และกิ่งที่ตัดแต่งออกทิ้งไปป่น ผสมแป้งสาลี ปรุงแต่งกลิ่น มาขายให้กับเรา (ต่อไปคงเลิกซื้อดื่ม)

 

วิสาหกิจชุมชน สวนชาดอยตุง ขวา-ทีมชงชา

เราชิมชาหลายรสและซื้อชากันคนละหลายห่อ ชาที่ดีคืออู่หลงก้านอ่อน ดิฉันซื้อกาชงชาด้วย เป็นกาที่มาจากจีน ใบเล็กนิดเดียวราคา ๕๐๐ บาท ทางร้านแนะนำวิธีการเตรียมกาชงชาว่าต้องเอาใบชาใส่ชงน้ำร้อนแช่ทิ้งไว้ ๒-๓ วัน แล้วเททิ้ง ทำ ๒-๓ รอบเพื่อให้ดึงกลิ่นดินออก ดิฉันพูดว่าเอาใบชาถูกๆ ทำคงดี แต่ทางร้านบอกว่าต้องเอาใบชาแพงๆ (ไม่รู้พูดเล่นหรือจริง)

ต่อจากนั้นเราได้ไปชมตลาดชุมชน ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จเมื่อวันก่อน ตลาดขนาดไม่ใหญ่มาก แห้ง สะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น คุณด้วงซื้อทั้งผักพื้นบ้านและดอกไม้หอบใหญ่

 

ตลาดชุมชน ต.แม่ฟ้าหลวง <p style="text-align: center;"> </p> <p style="text-align: center;"> </p><table border="1"><tbody><tr>

</tr></tbody></table> ผักและดอกไม้ในตลาด

อาหารกลางวันมื้อนี้เรารับประทานกันที่ร้านไมตรี ไม่ไกลจากตลาดนัก ดิฉันมีความเห็นว่าเป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดของ trip นี้ โดยเฉพาะเป็ดย่าง ขาหมู ใส้อั่ว ฯลฯ เสียดายที่ไม่มีข้าวเหนียว หิวได้ที่เลยไม่ทันได้เก็บภาพไว้ หลังอิ่มแล้วดิฉันขอให้พาไปซื้อกาแฟดอยตุงเพราะรู้มาว่าอยู่ไม่ไกล สมาชิกไม่ค่อยนิยมกาแฟแบบดิฉัน บางคนลองซื้อไปบ้างแต่ไม่เยอะ ดิฉันซื้อ Expresso ทีเดียว ๖ ถุงเลย หลายคนพากันไปซื้อเซรามิกดอยตุงใกล้ๆ กันแทน

จบการดูงาน เราเดินทางไปสนามบินเชียงราย shopping กันอีกคนละอย่างสองอย่าง เดินทางกลับถึงกรุงเทพที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพ ดิฉันรีบเดินทางออกจากสนามบินเพื่อกลับบ้านให้ทันดูละครเกาหลีเรื่องลีซาน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 245724เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

อ.วรภัทร์น่าจะเคยไปที่เชียงรายเหมือนคุณวัลลา ค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านเพลินเหมือนอยู่แม่ฟ้าหลวงด้วยเลยค่ะ

เจริญขึ้นมากเลยนะคะ หนูเคยไปน้านนานแล้ว

เห็นด้วยค่ะที่จะให้คนพื้นที่เรียนพยาบาลกลับมาดูแลคนในชุมชน

หนับหนุนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท