เรมะ ปาทาน :,มนุษย์(ต่างด้าว)ล่องหนในสายตาของกฎหมายไทย


 

(คนห้ากลุ่ม)  สาม-ราษฎรไทย/มีเลข 13 หลัก ที่เป็นคนต่างด้าว เกิดในไทย

นางสาวเรมะ ปาทาน มนุษย์(ต่างด้าว)ล่องหนในสายตาของกฎหมายไทย

กิติวรญา รัตนมณี

 6 เมษายน 2552

 

“วันเด็กปีนี้หนูไม่อยากได้อะไรมากไปกว่าบัตรประชาชนหรอกค่ะ และถ้าให้หนูเลือกระหว่างเงินหนึ่งล้าน กับบัตรหนึ่งใบหนูขอเลือกบัตรหนึ่งใบค่ะ เพราะถึงมีเงินแต่ไม่มีบัตรหนูก็ทำอะไรมากไปกว่านี้ไม่ได้ จะออกไปเรียนที่อื่นก็ลำบาก จะไปไหนก็กลัวโดนจับ แถมเวลาที่ครูถามเรื่องบัตร หนูก็อายเพื่อนๆในห้องเรียน 

                                ความในใจของเรมะ ปาทาน

 

จุดเริ่มต้นของความไร้ตัวตน(ทางกฎหมาย)

เรื่องราวของเรมะเริ่มต้นที่พ่ออาลีและแม่ดาราวี ซึ่งเป็นชาวเมืองมะริด ประเทศพม่า แต่งงานอยู่กินกันจนมีลูกด้วยกันสามคน คือ พี่มด พี่มอชิ และพี่ปัทมา ต่อมาราวๆ ปี 2519 พ่ออาลีได้เดินเท้าจากเมืองมะริดเข้ามาประเทศไทย ทางด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โดยเช่าห้องอยู่กับเพื่อนที่เข้ามาขายของด้วยกันชื่อนายมิตร (หรืออามีน)

ตลอดสี่ปีที่พ่ออาลีเข้ามาอยู่ประเทศไทย ไม่มีการติดต่อกลับไปหาแม่ดาราวีและลูกๆเลย จนกระทั่งแม่ได้ทราบข่าวจากย่าว่าพ่อไปขายโรตีอยู่ที่ประเทศไทย ต่อมา ย่าได้ย้ายมาอยู่ด้วยที่บ้านชูเบ เมืองมะริด และช่วยกันทำมาหากิน โดยรับจ้างปลูกผัก ถางป่า ถางหญ้าเป็นหลัก และบางคราวก็รับจ้างถักหญ้าคาเพื่อมุงหลังคา แต่ถึงจะทำงานหนักขนาดไหนก็ยังไม่พอหาเลี้ยง 5 ชีวิต อยู่ดี แม่ของเรมะเล่าว่าตอนนั้นทุกคนในครอบครัวต้องอยู่กันอย่างลำบาก ต้องอดมื้อกินมื้อ หากเป็นช่วงฤดูฝน หรือวันไหนฝนตกก็ไม่มีงานทำ ซึ่งหมายถึงการไม่มีเงินสำหรับซื้ออาหารประทังชีวิตด้วย

ราวปี 2523 ย่าได้แนะนำให้แม่พาลูกๆ ย้ายไปอยู่กับพ่อที่ประเทศไทย แม่ใช้เวลาไตร่ตรองอยู่เกือบเดือน จึงตัดสินใจพาพี่ๆ ทั้งสามคนมาเสี่ยงโชคที่เมืองไทย ทั้งหมดเดินเท้ามาตามป่าติดต่อกัน 5 วัน จนมาถึงด่านสิงขร และข้ามเข้ามาฝั่งไทย มาอาศัยกับพ่อซึ่งเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ หลังจากอยู่ได้ 3 เดือน ทุกคนในครอบครัวก็ทนกับความคับแคบของสถานที่ และค่าเช่าบ้านไม่ไหว ทั้งหมดจึงย้ายไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ ที่บ้านไร่เก่า ในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาได้ราวหนึ่งปี ย่าก็เดินทางกลับไปอยู่บ้านที่มะริด และไม่ได้ติดต่อกันอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

หลังจากครอบครัวของเรมะย้ายมาอยู่ที่บ้านไร่เก่าได้ระยะหนึ่ง แม่ดาราวีก็ให้กำเนิดลูกคนที่สี่ คือ เกติมาในปี 2532 หลังจากนั้นก็ให้กำเนิด “เรมะ” ในวันที่ 24 สิงหาคม 2536  และตามมาด้วยน้องๆ อีกสองคน คือ ด.ช.หงฟ้า และ ด.ญ อัสมา ในปี 2544 และ 2546 แม้ว่าเด็กๆ ทั้ง 4 คน จะเกิดบนแผ่นดินไทย โดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด แต่ทุกคนปราศจากหลักฐานที่ยืนยันว่าพวกเขาเกิดบนแผ่นดินนี้ ด้วยความกลัวว่าจะถูกตำรวจจับเข้าคุกด้วยข้อหา—ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง--พ่อแม่จึงไม่กล้าไปติดต่อทางราชการเพื่อแจ้งเกิดให้ลูก —ทำให้ลูกๆ ไม่มีเอกสารการเกิด ประกอบกับความไม่รู้หนังสือ  จึงไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพื่อแจ้งเกิด หรือขอเอกสารการเกิดให้ลูกๆ

 

สิทธิ และโอกาสที่ขาดหายไป

เมื่อครอบครัวของเรมะไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีบัตรทองหรือบัตรประกันสุขภาพ เรมะและคนในครอบครัวจึงพยายามรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อไม่ให้ต้องเจ็บป่วย แต่ใครจะห้ามความเจ็บป่วยได้ เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ คนอย่างเรมะมีทางเลือกไม่มากนัก เธอเล่าว่าหากเจ็บป่วยเล็กน้อยก็อาศัยซื้อยาชุดตามร้านขายยาละแวกบ้านมาทานตามอาการ แต่หากรุนแรงขึ้นมาก็ต้องพึ่งหมอที่คลีนิคใกล้บ้าน เพราะสะดวกดีและไม่ถูกเรียกดูบัตร แต่ถ้าป่วยฉุกเฉิน หรือเป็นโรคประจำตัวที่ต้องรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคปวดท้องและปวดหัวของแม่ดาราวี ก็ต้องพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล ช่วงแรกๆ เจ้าหน้าที่ก็เรียกดูบัตร แต่หลังๆ ก็ไม่ได้เรียกถามอะไร ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายก็ต้องจ่ายเต็มทั้งหมด

เรมะเล่าว่า ตั้งแต่จำความได้เธอและคนในครอบครัวก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกล้อเลียนมาโดยตลอด มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จำได้ขึ้นใจ ตอนที่แม่ป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล เรมะและพี่สาวต้องขี่มอเตอร์ไซด์พาแม่ไปโรงพยาบาลตอนเที่ยงคืน ระหว่างที่กำลังนั่งรอแม่ออกจากห้องตรวจ มีเจ้าหน้าที่บางคนแอบทำท่าทางล้อเลียน โดยพูดเป็นภาษาพม่าแล้วก็หัวเราะคิกคักกัน แม้เรมะจะรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่คิดว่าถ้ามีบัตร เราคงไม่ถูกเค้าหัวเราะแบบนี้

เรมะยังเล่าอีกว่า การไม่มีหลักฐานอะไรเลย ทำให้เธอต้องเสียโอกาสดีๆทางการศึกษาไปหลายครั้ง ไม่สามารถขอทุนกู้ยืมทางการศึกษาเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน ไม่สามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อในโรงเรียนดังๆได้ ทั้งๆที่เธอเป็นเด็กเรียนดี เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนมาโดยตลอดเป็นถึงประธานชมรมกีฬา และที่สำคัญเรมะยังเป็นนักเรียนมุสลิมคนแรกในโรงเรียนสามร้อยยอดวิทยาคมที่ผ่านการสอบนักธรรมตรี และสอบนักธรรมโทผ่านด้วยคะแนนอันดับ 1 คือได้ 100 คะแนนเต็ม ตอนนี้เธอกำลังขมักเขม้นกับการอ่านหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบนักธรรมเอก พร้อมๆ กับเตรียมวางแผนชีวิตอนาคตว่าเรียนจบมัธยมแล้วจะทำอะไรต่อไป

 

การปรากฎตัวครั้งแรกในทะเบียนราษฎรไทย

ครอบครัวปาทานอยู่แบบไร้ตัวตนเรื่อยมา เด็กอย่างเรมะไม่รู้หรอกว่าทำไมถึงต้องมีบัตร รู้แต่เพียงว่าวันหนึ่งผู้ใหญ่บ้านก็มาบอกลูกบ้านทุกคนว่า ทุกคนต้องมีบัตร และแนะนำให้คนที่ไม่มีบัตรอะไรเลยอย่างครอบครัวของเรมะ ไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับทางอำเภอเพื่อจะได้ไม่ถูกจับและส่งตัวออกไปนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ทุกคนในครอบครัวของเรมะจึงพากันไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี 2547 โดย พ่อ แม่ พี่มอชิ และพี่ปัทมา ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.38/1) และขอใบอนุญาตทำงาน ในขณะที่ เกติมา เรมะ และน้องๆ อีก  3 คน ได้รับการบันทึกชื่อใน ท.ร.38/1 ในฐานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว และมีเลขประจำตัว 13 หลัก โดยเลขที่ได้มาตอนนั้นขึ้นต้นด้วย “00”

ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งนี้ พ่อได้ขอให้เพื่อนบ้านซึ่งเป็นคนไทยช่วยแสดงตัวเป็นนายจ้าง โดยระบุประเภทงานว่าทำงานก่อสร้าง (แต่จริงๆแล้ว พ่อของเรมะขายโรตี) เสียค่าใช้จ่ายไปประมาณคนละ 3,800 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน 1,900 บาท และค่าใช้จ่ายในการทำบัตรประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวอีก 1,900 บาท

แต่พ่อแม่และพี่มอชิทำบัตรแรงงานต่างด้าวในปี 2547 เพียงปีเดียว หลังจากนั้นมามีเพียงปัทมา เท่านั้นที่ยังต่ออายุบัตรแรงงานต่างด้าวเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน

ปี 2548 ในขณะที่ เรมะ กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.1 ก็ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน(แบบ89) ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 และยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 มกราคม 2548  โดยครูประจำชั้นที่โรงเรียน แต่ยังไม่ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก เรมะเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจว่า ทำไมเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีปัญหาเหมือนเธอจึงได้รับการกำหนดเลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วย ”0” กันหมดแล้ว เหลือเพียงเธอ และพี่สาว คือ เกติมาเท่านั้น ที่ยังไม่ได้เลข 13 หลัก สองพี่น้องปล่อยให้เรื่องราวล่วงเลยมานับปี

ปี 2550 หลังจากที่ครอบครัวปาทานได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลไร่เก่า เรมะก็ได้รับการสำรวจฯ จากทางโรงเรียนเป็นครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งก่อน เพราะทั้งสองพี่น้องเฝ้าติดตามความคืบหน้าในการสำรวจฯ โดยเพียรพยายามสอบถามความคืบหน้าจากครูประจำชั้นอย่างต่อเนื่อง และครูเองก็ช่วยติดตามจากทางเทศบาล จนแล้วจนรอด ทั้งสองคนก็ยังไม่ได้รับการกำหนดสถานะตามยุทธศาสตร์ฯ เพราะทางเทศบาลบอกว่ามีเลข 13 หลักขึ้นต้นด้วย “00” ในฐานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวอยู่แล้ว จึงไม่สามารถกำหนดเลขให้ใหม่ได้ ประกอบกับเรื่องนี้ก็อยู่นอกเหนืออำนาจของเทศบาล ทั้งเรมะ เกติมา และครูประจำชั้น จะต้องไปติดต่อที่ทางอำเภอ

เมื่อทางเทศบาลส่งเรื่องต่อไปให้อำเภอ ทั้งหมดจึงมุ่งหน้าไปที่อำเภอ ทั้งเรมะและเกติมาขึ้น-ลงอำเภออีกหลายครั้ง ทุกครั้งก็ได้รับคำตอบเหมือนเดิม เรมะจำคำตอบนี้ได้ขึ้นใจ แม้จะรู้สึกท้อ แต่เมื่อหันกลับมาดูความพยายามของพี่สาวและครูประจำชั้นแล้ว เรมะก็มีกำลังใจลุกขึ้นสู้ อย่างน้อยก็สู้เคียงข้างกับพี่สาวผู้ไม่ยอมแพ้

ในระหว่างรอ..รอ..รอ..และรอ ให้ทางอำเภอติดต่อกลับมา ทั้งเรมะและเกติมาก็ได้รับการสำรวจฯ เป็นครั้งที่สาม แต่คราวนี้เป็นการสำรวจโดยผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งได้รับมอบหมายจากทางเทศบาล และล่าสุดเมื่อปี 2551  เทศบาลก็ได้ให้ผู้ใหญ่บ้านสำรวจฯ ลูกบ้านที่ยังไม่มีเลข 13 หลักอีกครั้ง แม้จะเป็นครั้งที่สี่แล้วที่เรมะได้รับการสำรวจฯ แต่ทุกอย่างก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรคืบหน้า

นอกจาก จะต้องกรอกแบบสอบถามให้ตัวเองแล้ว ทั้งเรมะและเกติมายังช่วยกรอกแบบสอบถามให้พ่อ แม่ซึ่งเขียนหนังสือไม่เป็น และน้องๆ อีกสองคนที่ยังเล็กอีกด้วย จนถึงปัจจุบัน เรมะและเกติมาก็ยังไม่ได้รับการกำหนดเลขใหม่

เรมะบอกว่า กรอกแบบสอบถามบ่อยมาก จนแทบจะเขียนได้ โดยไม่ต้องดูคำถามแล้ว

 

สถานะบุคคล และแนวทางการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย

เรมะมีสถานะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย ย่อมจะต้องได้รับหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 23 แห่ง พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534  นอกจากนี้ รัฐไทยยังมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องรับรองความเป็นบุคคลให้แก่ “บุคคลทุกคน” ในประเทศไทย[1] แต่เรมะคลอดด้วยฝีมือหมอตำแย และไม่ได้ไปขอให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านออกนังสือรับรองการเกิดท.ร. 1/1 ตอนหน้า เพื่อยืนยันว่าเรมะเกิดในประเทศไทยโดยหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด อันเป็นเหตุให้เรมะไม่มีเอกสารรับรองการเกิด และไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย เรมะจึงกลายเป็นคนล่องหนในสายตาของกฎหมายและประสบปัญหาความไร้รัฐ ตั้งแต่เกิด

ไม่ต่างจากนายอาลีผู้เป็นพ่อและนางดาราวีผู้เป็นแม่ แม้ว่าทั้งคู่จะเกิดและเติบโตในประเทศพม่า แต่เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในพม่า จึงไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎร รวมถึงไม่ได้รับการยอมว่ามีสัญชาติพม่า ซึ่งส่งผลให้ทั้งคู่ต้องประสบกับความ”ไร้รัฐ” และ ”ไร้สัญชาติ” ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ลูกๆ ทุกคนต้องประสบกับปัญหาเดียวกัน

ดังนั้น เรมะจึงควรดำเนินการขอหนังสือรับรองการเกิด ตามบทบัญญัติมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่2) พ.ศ.2534  หรือขอหนังสือรับรองสถานที่เกิดตามบทบัญญัติมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457

ในขณะเดียวกัน แม้ว่าเรมะจะเกิดในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโยหลักดินแดน ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 (ฉบับที่2) 2535 เนื่องจากในขณะที่เรมะเกิดพ่อและแม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง ดังนั้น เรมะจึงมีสถานะเป็นเพียงคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และไม่ปรากฎว่ามีสัญชาติของรัฐใดเลย จึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน และถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่เกิดตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) 2508  อีกด้วย

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยผลของบทบัญญัติมาตรา 22 ประกอบกับ มาตรา 7 ทวิ วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2508  และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 ) 2551 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ฐานะการอยู่ของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศจะต้องไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เรมะซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยจึงไม่อาจถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายอาญาที่ว่า จะลงโทษบุคคลในความผิดที่บุคคลนั้นมิได้กระทำ มิได้ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงออกมากำหนดฐานะการอยู่ในประเทศไทย เรมะก็ยังคงถูกถือเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ  1 ปีแล้วนับจากกฎหมายสัญชาติ (ฉบับที่ 4) ใช้บังคับ ก็ยังไม่มีกฎกระทรวงออกมากำหนดฐานะการอยู่ในประเทศไทยสำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย  ดังนั้น ภาคประชาสังคมควรร่วมมือกันผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงดังกล่าวโดยเร็ว

นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา เรมะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับคุ้มครองสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยการรับรองไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตลอดจนมาตรา 3 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว 2549 เรื่อยมาจนถึงบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

นับจากปี 2547-2548ที่เรมะได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติฯ (ท.ร.38/1) ในฐานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว กล่าวได้ว่า เรมะได้ปรากฏตัวในทะเบียนราษฎรไทยเป็นครั้งแรก ในสถานะราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตามบทบัญญัติมาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง 2522 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่อนผันให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติฯ (ท.ร.38/1) ในปี 2547 เรมะจึงไม่ประสบกับปัญหาความไร้รัฐอีกต่อไป คงเหลือเพียงความไร้สัญชาติ และยังไม่มีสิทธิเข้าเมืองถูกกฎหมาย และอาจทำให้เรมะตกอยู่ในสภาพที่แย่ลงไปอีก ด้วยเพราะว่าสิทธิอาศัยที่เรมะได้รับ ได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2548  เมื่อประเทศไทยมีนโยบายไม่ต่ออายุทะเบียนกลุ่มผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว

อย่างไรก็ดี ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีที่รับรองยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2548 เป็นต้นมาเรมะซึ่งเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ได้มีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.38 )  และมีสิทธิร้องขอสัญชาติไทย เมื่อเรียนจบปริญญาตรี โดยภาคประชาสังคมจะต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสองแห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) 2551  เพื่อรับรองการพัฒนาสถานะบุคคล อันนำไปสู่กระบวนการรับคำร้องขอสัญชาติไทยในกลุ่มเด็กในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ฯ

อุปสรรคสำคัญของเรมะในวันนี้ เห็นจะมีเพียง การที่อำเภอปฏิเสธที่จะจำหน่ายเลขประจำตัว 13 หลักเก่าในฐานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว และกำหนดเลขให้ใหม่เป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ที่เธอควรจะได้รับ

  



[1] ข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ประกอบกับข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966

 

ทสรุป : ข้อเสนอสำหรับแนวทางการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทย

๑. เนื่องจากเรมะมีสถานะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยจึงควรดำเนินการขอหนังสือรับรองการเกิด ตามบทบัญญัติมาตรา ๒๐/๑ แห่งพรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่๒)พ.ศ.๒๕๕๑ หรือขอหนังสือรับรองสถานที่เกิดตามบทบัญญัติมาตรา ๘๓แห่งพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗

๒. สำนักทะเบียนอำเภอควรจำหน่ายเลขประจำตัว ๑๓ หลักเดิมของเรมะที่ได้รับจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.๓๘/๑) และดำเนินการกำหนดเลขประจำตัว ๑๓ หลักใหม่ ขึ้นต้นด้วย "๐"ตามสถานะที่ถูกต้อง เนื่องจากเรมะมีสถานะเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยจึงควรได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(ท.ร.๓๘ก) ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติครม. ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

๓. หลักจากได้รับการเพิ่มชื่อทะเบียนประวัติบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(ท.ร.๓๘ก) และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวที่ถูกต้องแล้ว เรมะควรทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพราะ เรมะเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่มีอายุตั้งแต่ ๕ ปี บริบูรณ์ ซึ่งมีหน้าที่จัดทำบัตรประจำตัวตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ๒๕๕๑

๔. ภาคประชาสังคมควรร่วมมือกันผลักดันให้กระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดฐานะและเงื่อนไขของผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม

๕. ภาคประชาสังคมควรร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลเสนอมติครม.ตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสองเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคล อันนำไปสู่กระบวนการรับคำร้องขอสัญชาติไทยในกลุ่มเด็กในสถาบันการศึกษาในประเทศไทยตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติ ครม. ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘

 


 

[๑] นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังทำวิทยานิพนธ์เรื่อง คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทย

หมายเลขบันทึก: 245622เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2009 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

แล้วแบบนี้จะโทษใครครับ

แล้วแบบนี้จะโทษใครครับ

จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้วยไหมคะ

ไหมคะ ไม่ตอบคำถาม อ.แหววเลยค่ะ เรื่องที่ถามว่า จะกำหนด ไork process เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างไรคะ ?

อ.แหววจะอ้างบันทึกนี้ในงานวิจัยของ อ.แหวว อย่างนี้นะคะ

·         กิติวรญา รัตนมณี, เรมะ ปาทาน มนุษย์(ต่างด้าว)ล่องหนในสายตาของกฎหมายไทย, กรณีศึกษาภายใต้โครงการขยายองค์ความรู้จากแม่อายสู่อันดามัน, ภายใต้ความร่วมร่วมมือระหว่างกองทุนศาสตรจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิเอเซีย, เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒

      http://gotoknow.org/blog/kitiwaraya6/245622

ตกลงไหมคะ

work process

1 สอบข้อเท็จจริง (เสร็จแล้ว)

2 บันทึกสรุปข้อเท็จจริง (เสร็จแล้ว)

3 ชี้แจงให้เจ้าของปัญหารับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ

3.1 ปัญหาสถานะบุคคล

3.2 ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

4. หารือกรมการปกครองกรณีถูกปฏิเสธการจำหน่ายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เก่าในฐานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวฯ (หารือในเวทีครบรอบหนึ่งปีการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการจัดการประชากร ณ ห้องประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)

5.ให้เจ้าของปัญหาเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคค

5.1 สืบหาพยานเอกสาร-พยานบุคคลเพื่อรับรองการเกิด

5.2 เตรียมสอบปากคำพยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิด

5.3 ทำบันทึกปากคำพยานผู้รู้เห็นการเกิด

work process

1 สอบข้อเท็จจริง (เสร็จแล้ว)

2 บันทึกสรุปข้อเท็จจริง (เสร็จแล้ว)

3 ชี้แจงให้เจ้าของปัญหารับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ (ชี้แจงแล้ว)

3.1 ปัญหาสถานะบุคคล

3.2 ปัญหาการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน

4. หารือกรมการปกครองกรณีถูกปฏิเสธการจำหน่ายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เก่าในฐานะผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวฯ (หารือในเวทีครบรอบหนึ่งปีการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการจัดการประชากร ณ ห้องประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552)

5.ให้เจ้าของปัญหาเตรียมความพร้อมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล (กำลังดำเนินการ)

5.1 สืบหาพยานเอกสาร-พยานบุคคลเพื่อรับรองการเกิด (เจ้าของปัญหากำลังดำเนินการ)

5.2 เตรียมสอบปากคำพยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิด(เจ้าของปัญหากำลังดำเนินการในเบื้องต้น)

5.3 ทำบันทึกปากคำพยานผู้รู้เห็นการเกิด(เจ้าของปัญหากำลังดำเนินการ)

ความคืบหน้าเดือนมีนาคม 2552

ดูรายการ THAI PBS เมื่อวันที่ 22-06-54 จะเป็นกำลังใจให้ประสบผลสำเร็จ เพื่อความหวังของครอบครัว สู้สู้...

สมนึก เมืองประดิษฐ์

ได้ดูทางทีวี เมื่อสักครู่ก็ชื่นชม ความฝันและการเป็นคนสู้ชีวิตของเธอมาก

ผมเป็นชายอกสามศอก ยังทำไม่ได้อย่างเธอเลย เธอสมควรที่จะได้รางวัล

แห่งความเป็นนักสู้ของเธอ อย่างสมความตั้งใจ ผมขอเป็นกำลังใจให้เธออีกคนหนึ่งครับ

ขอให้เธอได้สัญชาติไวๆ และขอให้เธอจงประสบความสำเร็จ ในชีวิตที่เธอได้ฝันไว้

ด้วยเถิดครับ ขอบคุณครับ

ผมเพิ่งดูรายการเหมือนคุณความเห็นข้างบน และมีความประสงค์จะช่วยเหลือเงินน้องเค้า(ทางอิสลาม เรียกว่า ซากาตนะครับ) รบกวนคุณเจ้าของบทความหากมีช่องทางไหนที่สามารถติดต่อน้องเค้าได้ รบกวนส่งมาทาง e-mailผมด้วยครับขอบคุณครับ

อันนี้E-mail ผมนนะครับ [email protected] ขอบคุณอีกครั้งครับ

@นวภัทร์ ดิฉันคิดว่า เราลองเขียน จม.(ก่อน) ไปถึงน้องเรมะ ที่มหาลัย คณะกายภาพบำบัด ตามที่รายการทีวีได้บอกเราไว้ ดีมั้ยคะ หากน้องเค้าตอบเรามา และสามารถมีเลขที่บัญชีให้เราได้ ดิฉันก้อจะกระจายข่าวไปทาง Facebook อีกช่องทางด้วย คิดว่าน่าจะดีนะคะ ดิฉันก้ออยากช่วยน้องเค้า ให้น้องเค้ารู้สึกว่าอย่างน้อยเราทุกคน(ในกรุงเทพฯ) ที่ได้ดูรายการนี้ เป็นเพื่อนน้องเค้าทุกคนน่ะค่ะ

สนใจอยากช่วยน้องเค้าเหมือนกันค่ะ มีอะไรคืบหน้าบอกด้วยนะค่ะ

สำหรับการติดต่อเพื่อช่วยเหลือน้องเค้าสามารถส่งข้อความติดต่อไปที่กลุ่มเครือข่ายไทยพลัดถิ่นได้ค่ะ

อีเมล์ [email protected]

เวปไซต์ http://www.thaipladthin.org

เฟสบุค http://www.facebook.com/thaipladthin

สำหรับความคืบหน้าของน้อง 

1. ตอนนี้เรมะมีบัตรเลข 0 (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน-- กลุ่มนักเรียน) และมีหลักประกันสุขภาพตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 แล้วค่ะ

2. ส่วนเรื่องสัญชาติ สำหรับกลุ่มไทยพลัดถิ่น หลังจากมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่.... เมื่อ 2 มีนาคม ที่ผ่านมา และสภาได้มีมติรับหลักการของร่าง ก.ม.ฉบับดังกล่าวแล้ว ตอนนี้คงต้องรอให้ ก.ม.ออกมา เรมะจึงจะไปแสดงตนเพื่อใช้สิทธิในสัญชาติไทย ตามกระบวนการที่ก.ม.กำหนด (รายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่... ดูได้ที่ลิงค์นี้ http://www.senate.go.th/document/one/68.pdf)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท