บทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่


บทบาทสำคัญกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ในโลกปัจจุบันการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกสังคมต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง จนขณะนี้ได้ก้าวมาสู่ยุคที่มนุษย์สามารถย่อโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลให้มาอยู่ในกำมือได้อย่างง่ายดาย และก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่าง ๆ มีความตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือที่นิยมเรียกกันว่า ICT ซึ่งมาจากคำว่า Information and Communication Technology กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็เช่นกัน ได้ดำเนินงานเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ โดยพัฒนานำร่องใน การจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของโรงเรียนวิถีพุทธ โรงเรียนสองภาษา โรงเรียนในกำกับของรัฐ โรงเรียนเพื่อนเด็ก หรือโรงเรียนต้นแบบการใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนรู้

 ซึ่งนับเป็นแนวคิดใหม่ในการจัดการเรียนรู้ที่มีรูปแบบผสมผสานหลากหลายวิธีการเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ ให้เป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณธรรม จริยธรรม

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information  Technology) หรือที่เรียกย่อๆว่า “IT” หมายถึง เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล (Data) และประมวลผลข้อมูลให้เกิดผลลัพธ์เป็นสารสนเทศ (Information ) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ข้อมูล ((Data) หมายถึง ข้อมูลดิบที่เก็บรวบรวมมาจากที่ต่างๆ ซึ่งยังนำไปใช้งานไม่ได้ เช่น การสำรวจความคิดเห็น ความคิดเห็นที่ได้ถือว่าเป็นข้อมูลดิบ

สารสนเทศ (Information ) หมายถึง ผลลัพท์ที่ได้จากการประมวลผลข้อมูลดิบ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อประกอบการทำงาน หรือเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหาร

เช่น นำข้อมูลความคิดเห็นแต่ละข้อมาหาความถี่เป็นค่าร้อยละเพื่อเปรียบเทียบดูว่า ความคิดเห็น

ข้อใดมีผู้เลือกมากน้อยเป็นร้อยละเท่าไร ค่าร้อยละดังกล่าวก็จัดเป็นสารสนเทศ เป็นต้น

 

 

 

 

 

การบริหารจัดการศึกษา หมายถึง การจัดการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย คือ การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพที่สมบูรณ์ครบถ้วนทั้งเป็นคนดี มีปัญญา มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าหากการบริหารจัดการศึกษาประสบความสำเร็จในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คนที่มีคุณภาพเหล่านั้นก็จะไปพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าและมีสันติสุข (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ,2547:1-2)

                การประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการบริหารการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของชาติฉบับแรกของประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา มีสาระสำคัญที่ใช้เป็นหลักในการปฏิรูปการศึกษาของชาติทั้งในส่วนที่เป็นความมุ่งหมาย หลักการของการจัดการศึกษา สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา ระบบการศึกษา แนวทางจัดการศึกษาการบริหารและจัดการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทรัพยากร และการลงทุนเพื่อการศึกษา และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ.2542) สำหรับการกำหนดรูปแบบของการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ (ฟาฏินา วงศ์เลขา,

2 เมษายน 2550)

1.  การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่มีแน่นอนในจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา

หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน

2.        การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยึดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย

รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดผลและประเมินผล รวมทั้งเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม

3.       การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตามความ

สนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาสโดยสามารถศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ

 จากรูปแบบของการจัดการศึกษาทั้ง 3 รูปแบบดังกล่าวได้สะท้อนความตื่นตัวที่จะ

ปฏิรูปการศึกษาโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตที่เน้นให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้วางเป้าหมายในการสร้างให้คนไทยเป็นคนเก่ง คนดี มีความสุข เป็นทรัพยากรบุคคลที่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน (รุ่ง แก้วแดง,                2543 : 18) นอกจากนั้นสาระในหมวด 9 ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ยังได้กำหนดถึงบทบาทหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการจัดการด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยกำหนดขอบเขตครอบคลุมไปถึงการจัดการโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาบุคลากร การจัดตั้งกองทุนและหน่วยงานกลางเพื่อวางนโยบายและบริหารงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาในยุคของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้เปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้และความต้องการในการศึกษาในอนาคต สื่อและอุปกรณ์การศึกษารูปแบบใหม่เข้ามาแทนที่สื่อแบบเก่า มีแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่หลากหลาย จะเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมทางการศึกษาแบบใหม่ การปฏิรูปการศึกษาจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างทั้งระบบใหม่ โดยเฉพาะการบริหารและการจัดการศึกษา ซึ่งจากเดิมโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบ เปลี่ยนมาเป็นสังคมและชุมชนร่วมกันรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษามากยิ่งขึ้น ฉะนั้นการจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย จะเชื่อมโยงและเข้าหากันมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนผสมผสานกันและเอื้อประโยชน์ในทุกกลุ่มเป้าหมาย การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้สอดคล้องกับยุคปฏิรูปการศึกษาตามระบบการศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย จะส่งผลดีอย่างไรนั้น ผู้เขียนขอประมวลเป็นภาพรวม ดังนี้

1.       การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดกิจกรรมและพัฒนาการเรียนการ

สอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นจะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพื่อนำความรู้และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นไปใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคมได้

2.       การจัดระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ให้มีแหล่งความรู้ที่หลากหลาย สำหรับการ

ค้นคว้าหาความรู้ทุก ๆ ด้านที่ผู้เรียนต้องการและเหมาะสมกับผู้เรียน เช่น สื่อมวลชนทุกแขนง

เครือข่ายสารสนเทศ ทรัพยากรท้องถิ่น ชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้พัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง

3.       การปรับกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นให้ครูเป็นเพียงผู้อำนวยความ

สะดวกและชี้แนะให้ผู้เรียนทำการศึกษาค้นคว้าคิดและตัดสินใจด้วยตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายการเรียนรู้เป็นเครื่องมือ ขณะเดียวกันครูต้องเป็นต้นแบบด้านคุณธรรม และจริยธรรมด้วย ซึ่งต้องปลูกฝังทั้งในชั่วโมงเรียนและกิจกรรมการฝึกปฏิบัติ

4.   ส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยโดยการประสานกับชุมชนและท้องถิ่นในการ

พัฒนาการเรียนการสอนตามอัธยาศัยเน้นการค้นคว้าและทักษะการสืบค้นสารสนเทศ ให้ผู้เรียนใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสื่อสารข้อมูลทางไกลผ่านระบบเครือข่ายได้ รวมทั้งประเมินผลจากการนำมาใช้มากกว่าการจดจำเนื้อหา

ที่กล่าวมาเป็นแนวความคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยพัฒนา

การศึกษาตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้การศึกษาจะไร้ขีดพรมแดน ข้อจำกัดในด้านสถานที่ เวลา และด้านอื่นๆ จะไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้อีกต่อไป โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีสิทธิและส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางจัดการศึกษา โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยระดมทรัพยากรและทุนทางสังคมเข้ามาเป็นปัจจัยในการจัดกิจกรรม ไม่จำเป็นจะต้องมุ่งใช้งบประมาณจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสและนิมิตหมายที่ดี    ที่ชุมชนจะได้มีส่วนร่วมในการบูรณาการภูมิปัญญาชาวบ้าน จารีตประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นเข้ากับการจัดการศึกษาในชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือ

ปัจจุบันการศึกษาก้าวเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยี การจัดการเรียนการสอนก็

เปลี่ยนไปในรูป e-learningซึ่งต้องสนองตอบการศึกษาได้ทุกรูปแบบทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย ตลอดจนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการก็จำเป็นต้อง ส่งเสริมและพัฒนาให้ทันกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง โดยการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ระบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ และพัฒนาบุคลากรในสถานศึกษาให้มีความรู้ ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ในการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติงานในหน้าที่ โดยจัดทำข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดจนให้บริการทางการศึกษา ส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน จัดหา คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการใช้ปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานในการจัดการศึกษา ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ประโยชน์จาก ICTเพื่อการเรียนรู้ ให้มีการสอนผ่าน e-learning จัดให้มีห้องสมุดอีเลคทรอนิคส์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตซึ่งนำไปสู่สังคมแห่งคุณธรรมและสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

                                พอสรุปได้ว่า ICT ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการจัดการเรียนการสอนในสังคมปัจจุบัน ทำให้เด็กไทยสามารถรับรู้เรื่องราวข่าวสารที่ทันสมัย ทันโลก ทันเหตุการณ์ ทุกโรงเรียน

 

แหล่งอ้างอิง

 

ฟาฏินา วงศ์เลขา . การประยุกต์ใช้ ICT เพื่อการบริหารการศึกษา [online].  เข้าถึงได้จาก :   

              http://www.dailynews.co.th/educate/each.aspnewsid. (2550,  เมษายน 2 )

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ. (2547). ผู้บริหารสถานศึกษา

              มืออาชีพ. กรุงเทพ : เอสแอนด์ จี กราฟฟิค.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 245554เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 19:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท