Reflection เพื่อค้นหาตัวตนทางวิชาการ (4): การจัดการความรู้


สังคมที่ผมอยากเห็นส่วนหนึ่งคือเป็นสังคมที่คนเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสมบูรณ์ของข้อมูลมีอยู่มากพอสมควร อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้คนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำว่าประสิทธิภาพในแง่หนึ่งหมายถึงว่า เขาสามารถใช้มันในการแก้ปัญหาของตนและพัฒนาตนเองได้ ในระดับที่ไกลไปกว่านั้นก็คือ เขาสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นและนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่เป็น ประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้

ความพยายามในการพัฒนากิจกรรมนักศึกษาของผมยังไม่ประสบความสำเร็จ และยังหาทางไม่ออกจนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงปีสามเทอมสอง หลังจากเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์พัฒนา EC461 เข้าใจว่าเป็น Solow Growth Model   ก็เกิดไอเดียบรรเจิดขึ้น  ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่าสิ่งนี้คือ “กระบวนการจัดการความรู้” (Knowledge Management)

Solow Growth Model  เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่ริเริ่มพัฒนาโดย ศาตราจารย์ โรเบิร์ต เมอร์ตัน โซโลว์  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1987 เขาเริ่มพัฒนาทฤษฎีตั้งแต่ทศวรรษ 1950s  หลังจากนั้นทฤษฎีได้ถูกนำไปเป็นนโยบาย และได้ถูกพัฒนาต่อมาให้ซับซ้อนและใช้ได้จริงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมตัวแปรด้านทุนมนุษย์ (Human Capital) เข้าไป หรือการพัฒนาไปสู่  Endogenous Growth Theory ที่มองว่าเทคโนโลยีที่เคยถูกมองว่าเป็นปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วเป็นปัจจัยภายใน  

จำได้ว่าที่เข้าใจและอยู่ในหัวตอนนั้นก็คือ เห็น Solow Growth Model เป็นในลักษณะโดยสรุปว่า  การผลิตโดยรวมจะเพิ่มขึ้นทั้งหมด หากระบบเศรษฐกิจมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น  ก็คือ แรงงานแต่ละคนจะสามารถผลิตสินค้าบริการได้เพิ่มขึ้นจากเดิม แม้อันนี้จะไม่ใช่ท้ังหมดต่อทฤษฎี แต่ว่ามันก็ทำให้ผมลองคิดเปรียบเทียบและพบว่า จริงๆแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยี หรือเทคนิควิธีในการทำกิจกรรมนี่เอง ที่ขาดไป จึงทำให้กิจกรรมนักศึกษาย่ำอยู่กับที่

ตอนนั้นผมมีมุมมองต่อกิจกรรมนักศึกษาช่วงก่อนวิกฤตทักษิณ (ช่วงปลายปี 2549)  ว่าค่อนข้างจะอ่อนด้วย กล่าวคือ อ่อนด้อยทั้งเชิงการจัดการและเนื้อหา ซึ่งผมมีสมมติฐานว่า เป็นเพราะว่านักศึกษาต้องมาวุ่นวายกังวลค้นหากับวิธีการจัดการ ต่างๆมากเกินไปจนทำให้ขาดเวลามาพัฒนาเนื้อหา   การจัดการที่ว่านี่เช่น  การประชุม (ซึ่งสำคัญมากถึงมากที่สุด), งานธุรการ, การประสานงาน, การจัดทำสื่อ เป็นต้น  หากเขามีทักษะดี มีเครื่องมือดีอยู่แล้ว เขาน่าจะสามารถใช้เวลาไปกับการมองปัญหาสังคม และออกแบบกิจกรรมให้มีผลสัมฤทธิ์ในการแก้ปัญหาได้มากขึ้น

ทีนี้ กลับมาเรื่องเทคโนโลยี  ตอนนั้นผมคิดต่อไปว่า ปกติเวลาคนเราคนนึงจะสร้างเทคโนโลยีได้มันใช้เวลามากอยู่เหมือนกันหนา มันต้องมีประสบการณ์ในงานนั้นมากพอสมควร  ประสบการณ์มากไม่พอ จะต้องมีจำนวนครั้งในการคิดทบทวนจำนวนครั้งมากพอด้วย (คือบางคนประสบการณ์มากแต่ไม่เคยนั่งทบทวนตัวเองเลย ก็ยากที่จะคิดหรือสร้างอะไรใหม่ๆ หรือแก้ปัญหาได้)  ทีนี้นักศึกษามีช่วงเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้นในมหาวิทยาลัย  เราจะทำยังไงถึงจะเอาชนะข้อจำกัดด้านเวลานี้ได้   ผมก็คิดเอาง่ายๆเลยว่า งั้นเราต้องหาทางทำให้ มีจำนวนประสบการณ์มากพอและมีจำนวนครั้งในการคิดให้มากพอในช่วงเวลาที่สั้นลงให้ได้  จึงนำไปสู่การมองว่า อย่างนี้ทำคนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีหลายๆคนที่ทำกิจกรรมคล้ายๆกันมาแบ่งปันประสบการณ์กันและมาร่วมกันทบทวนและสร้าง “นวัตกรรม” ก็คือ เทคโนโลยีใหม่ๆในการทำกิจกรรมนั่นเอง

ผมได้ลองผิดลองถูกกับการทำให้แนวคิดนี้เป็นจริงๆมาเรื่อยๆตั้งแต่นั้น คือปี สามเทอมสอง ด้วยการเสนอแนวคิดนี้ในโครงการอบรมผู้นำฯ นำมาซึ่งกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบันที่สนใจเรื่องนี้มารวมตัวกันโดยใช้ชื่อ Activity Innovation Network (AIN)  แต่ก็ไม่สามารถผลักไอเดียให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้เพราะยังขาดเครื่องมือ คือ เราเองก็ประสบปัญหาในการหาเครื่องมือหรือ “เทคโนโลยี” มาเพื่อทำให้แนวคิดนี้เป็นจริงให้ได้

พวกเราลองผิด ลองถูกกันต่อมาจนกระทั่งพวกเราได้รู้จักกับคอนเซปเรื่องการจัดการความรู้  แม้กระนั้นก็ยังอยากจะเรียนรู้ด้วยตนเองและพยายามไม่พึ่งองค์กรอย่าง สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (KMI)  พวกเราเรียนรู้เครื่องมือของ KMI ในขณะเดียวกันก็พยายามพัฒนาวิธีการต่างๆ นำไปสู่การทำโครงการ “สหกรณ์ความคิด” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ Young  Cementthai Social Innovator มุ่งสร้างชุมชนนักปฏิบัติในกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมค่ายอาสาฯ , สันทนาการ และองค์การนักศึกษา  แต่ก็ยังคงประสบปัญหาทั้งในเชิงการจัดการและการปฏิบัติ และปัญหาจากปัจจัยเชิงสังคมวิทยาและมนุษยวิทยาคล้ายกับในระดับคณะอยู่ดี   

อย่างไรก็ดี บทเรียนจากโครงการนี้มีอยู่มากมายทีเดียว ผมพยายามจะผลักแนวคิดนี้ต่อด้วยการรวมกลุ่มเพื่อนที่เคยลองเรื่องนี้กันมาก่อน ตั้งองค์กรที่ทำงานกับนักศึกษาชื่อ ITEM เพื่อนำบทเรียนต่างๆจากที่เคยทำมามาลองทำกันอีกซักตั้ง แต่ว่าผมก็ต้องมาเรียนต่อเสียก่อน โปรเจคนี้จึงต้องเป็นอันหยุดไป

ผมคิดว่า ประสบการณ์ในส่วนนี้ (คือบทนี้ กับบทก่อนหน้านี้) ของผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ผมอยากเห็น ก็คือ  สังคมที่ผมอยากเห็นส่วนหนึ่งคือเป็นสังคมที่คนเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสมบูรณ์ของข้อมูลมีอยู่มากพอสมควร  อีกประการหนึ่งก็คือ ผู้คนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  คำว่าประสิทธิภาพในแง่หนึ่งหมายถึงว่า เขาสามารถใช้มันในการแก้ปัญหาของตนและพัฒนาตนเองได้ ในระดับที่ไกลไปกว่านั้นก็คือ เขาสามารถใช้ข้อมูลเหล่านั้นและนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้

หมายเลขบันทึก: 245433เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท