Reflection เพื่อค้นหาตัวตนทางวิชาการ (2)


สำหรับผมแล้วข้อสมมติเหล่านั้นเป็นเหมือนเป้าหมายที่ตลาดที่มีอยู่ควรจะไป ถึงให้ได้ เพื่อทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรที่สุด ข้อสมมติหนึ่งก็คือ ทุกคนในตลาดมีข้อมูลสมบูรณ์และสามารถใช้ข้อมูลทั้งหมดในการตัดสินใจเลือก สิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจึงคิดว่า หากทุกคนมีข้อมูลที่สมบูรณ์ เขาน่าจะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณและมีประสิทธิภาพ

เมื่อย้อนนึกไปถึงช่วงเวลาตอนทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้นปีที่หนึ่ง มาจนจบการศึกษาเป็นอาจารย์และตั้งองค์กรของตนเอง ที่ล้มลุกคลุกคลานไปตามอัตภาพจนกระทั่งมาเรียนต่อ ยิ่งทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

ตอนปีหนึ่ง ปีการศึกษา 2544 เป็นช่วงที่สถานการณ์ความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องการย้ายไม่ย้ายกำลังร้อนระอุ  ผมได้เข้าไปมีความเกี่ยวข้องอยู่พอสมควรในฐานะของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในปีนั้น เพราะว่ารุ่นผมจะเป็นรุ่นแรกที่จะต้องย้ายไปอยู่รังสิต สี่ปี ตามที่มหาวิทยาลัยประกาศเอาไว้ตั้งแต่มีการเลือกคณะหลังสอบเอนทรานส์  ช่วงนั้น สถานการณ์ค่อนข้างบีบให้นักศึกษาปีหนึ่งของแต่ละคณะต้องคุยกันเพื่อหาจุดยืนของรุ่นของเราในคณะ เพื่อที่จะได้สามารถสื่อสารกับฝ่ายต่างๆได้ชัดเจนที่สุด ผมในฐานะผู้ที่อยากทำกิจกรรมคณะ ร่วมกับเพื่อนๆอีกหลายคนเชิญชวนเพื่อนๆมาคุยกันเพื่อหาจุดยืนในเรื่องนี้ 

ในขณะนั้นสิ่งที่คิดเห็นก็คือว่า มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้เพื่อนๆรับทราบข้อมูลทั้งหมดเพื่อที่จะได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความคิดเห็นนี้ยิ่งถูกกระตุ้นหนักเข้าไปอีกเมื่อนักศึกษาฝ่ายที่สนับสนุนการย้ายกลับท่าพระจันทร์โหมกระพือข่าวลือที่ว่า คณาจารย์คณะหนึ่งมีมติให้นักศึกษาย้ายกลับไปคณะเดียว ซึ่งสร้างความโกลาหลเป็นอันมากในรังสิตในขณะนั้นที่ช่องทางข้อมูลข่าวสารไม่ค่อยจะมี  แต่ช่างบังเอิญเสียนี่กระไร ในวันเดียวกันนั่นเอง ผมได้ไปรู้ความจริงจากอาจารย์คณะดังกล่าวที่เป็นแกนนำหลักในการเคลื่อนไหวไม่ย้ายมารังสิต ด้วยตัวเองว่า คณาจารย์คณะนั้นไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด ผมจึงยิ่งรู้้สึกมากขึ้นไปอีกว่า มันจำเป็นอย่างยิ่งที่เพื่อนๆสายสังคมศาสตร์จะต้องได้รับข้อมูลที่แท้จริงจากทั้งสองฝ่าย เพื่อที่จะได้แสดงความเห็นและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การตั้งเครือข่ายสายสังคมศาสตร์ (Social sciences Faculty Network :SFN) และทำการเคลื่อนไหวโดยเชิญอาจารย์ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายคัดค้านการย้ายมาให้ข้อมูลกับนักศึกษา พร้อมทั้งทำข้อมูลของทั้งสองฝ่ายเผยแพร่ให้เพื่อนนักศึกษาได้รับทราบ และจัดการแสดงลงความคิดเห็นของนักศึกษาสายสังคมศาสตร์เองด้วยความร่วมมือของแกนนำนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่งของทั้ง 8 คณะสายสังคมศาสตร์

ระหว่างนั้น ประเด็นคำถามที่ผมสนใจก็คือ มันมีหรือไม่ สื่อที่เป็นกลาง ความเป็นกลางของสื่อคืออะไร ... ผมสนใจคำถามเหล่านี้เพราะว่าตอนน้ันเราอยากให้ SFN เป็นสื่อที่เป็ฯกลาง ให้ข้อมูลที่เป็นกลางแก่เพื่อนๆ ผมถึงกับซื้อหนังสือในประเด็นดังกล่าวของอาจารย์คณะสังคมวิทยา ที่สอน  TU120 ในช่วงนั้น  มาอ่านเลยทีเดียว

ผมได้ถกเถียงประเด็นนี้กับ ไกรยศ กัลยาณมิตรของผมหลังจากนั้นไม่นาน เกี่ยวกับว่า จริงๆแล้วเราสามารถสื่อสารข้อมูลเพียวๆที่ปราศจากการให้คุณค่า และให้คนตัดสินใจเอาเองได้จริงหรือไม่ ? ตัวผมคิดว่าได้ ในขณะเดียวกัน ไกรยศเห็นตรงกันข้าม ผมสังเกตได้ว่า ความคิดที่ต่างกันในเรื่องนี้นำไปสู่วิธีการในการทำกิจกรรมและสื่อสารกับเพื่อนๆคนอื่นๆด้วยวิธีที่แตกต่างกัน  ณ วันนี้ผมอาจจะสรุปกับตัวเองได้ว่า จะเป็นแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทีเดียว โดยเฉพาะผู้รับสาร และเป้าประสงค์ของเราเอง ถ้าผู้รับสารไม่รู้เรื่องอะไรเลยจริงๆ การชี้ว่าทางเลือกนี้มีนัยยะเชิงคุณค่า อย่างไรเป็นสิ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจของเขา แต่ถ้าผู้รับสารมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องมากพอ และมีวิจารณญาณ การนำเสนอข้อมูลเพียวๆเลยก็น่าจะเพียงพอต่อการตัดสินใจ  ในส่วนของวัตถุประสงค์นั่นก็แน่นอนว่า หากเราอยากจะชี้นำ ก็คงต้องใช้กลยุทธ์แบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากเมื่อเราต้องการความเห็นของเขาจริงๆ

ความคิดทั้งหมดทั้งปวงนี้สำหรับผมแล้วมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ว่าด้วยตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competitive Market)  ข้อสมมติของทฤษฎีมีอยู่หลายข้อเลยทีเดียวที่ไม่สมจริง แต่สำหรับผมแล้วข้อสมมติเหล่านั้นเป็นเหมือนเป้าหมายที่ตลาดที่มีอยู่ควรจะไปถึงให้ได้ เพื่อทำให้ตลาดมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรที่สุด ข้อสมมติหนึ่งก็คือ   ทุกคนในตลาดมีข้อมูลสมบูรณ์และสามารถใช้ข้อมูลทั้งหมดในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจึงคิดว่า หากทุกคนมีข้อมูลที่สมบูรณ์ เขาน่าจะสามารถตัดสินใจได้อย่างมีวิจารณญาณและมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี ผมเองมารู้ในภายหลังว่า จริงๆแล้ว มันเป็นไปได้ยากมากเลยในความเป็นจริง เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า Transaction Cost หรือ ต้นทุนทางธุรกรรมอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ต้นทุนด้านข้อมูล หรือ Information Cost ด้วย นอกจากนี้ ความจำกัดในศักยภาพการประมวลผลของสมองมนุษย์เองก็มีจำกัด ฉะนั้น ข้อสมมติของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ว่าด้วยความสมบูรณ์ของข้อมูลนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย   นักเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ (New Institutional Economist) อย่างเช่น โอลิเวอร์ วิลเลียมสัน (Oliver Williamson) โรนัลด์ โคส (Ronald Coase) หรือ ดักกลาส นอร์ธ (Douglas North) เป็นต้น ได้ให้กรอบความคิดที่ผมสนใจมากๆ ก็คือ แนวคิดเรื่อง สถาบัน (institution) ในฐานะที่เป็นกติกา นั่นเอง ที่จะทำหน้าที่ในการลดต้นทุนทางธุรกรรมเหล่านี้

ต้องขอบคุณอาจารย์สมบูรณ์ ศิริประชัย ผู้ล่วงลับที่เป็นผู้เปิดประตูโลกวิชาการให้ผมได้รู้จักกับเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่นี้ทีเดียว  ....

คำสำคัญ (Tags): #reflection
หมายเลขบันทึก: 245423เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 06:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาเรียนรู้ และทักทายค่ะ

มีความสุขในการทำงาน นะคะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท