Reflection เพื่อค้นหาตัวตนทางวิชาการ (1)


ณ วันนั้นเอง ... ที่คำถามของศาสตราจารย์แบคเฮาส์ได้จุดประกายให้ผมนึกถึงคำถามของอ.ปัทมาวดี และความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลังแรงขับเคลื่อนความสนใจในประเด็นวิชาการข้าง ต้นก็สว่างวาบขึ้นในบัดดล ซึ่งนั่นทำให้ผมมีความชัดเจนในเชิงวิชาการมากขึ้นอย่างยิ่งยวด

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อนที่ร่วมคลาสผมนำเสนอเปเปอร์ในงานสัมมนาสำหรับนักเรียนปริญญาโทวิจัย และปริญญาเอก เรื่องเกี่ยวกับ “กลไกราคากับตลาดความรู้ทางวิทยาศาสตร์” ก่อนหน้านี้ที่เพื่อนผมเขามาหาคนคอมเมนต์เปเปอร์ผมไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เพราะคิดว่าอาจจะไม่ตรงกับความสนใจแต่เมื่อฟังเขานำเสนอแล้ว ผมมีคอมเมนต์มากมาย และอยากแลกเปลี่ยนรวมถึงช่วยแนะไปถึงแหล่งความรู้ที่เราเคยศึกษามาด้วย

ตั้งแต่ปริญญาตรีมาจนปริญญาโท หัวข้องานวิจัยผมวนเวียนอยู่ที่เรื่องเกี่ยวกับ สถาบันที่ทำให้ชาวบ้านอย่างปราชญ์ชาวบ้านสามารถสร้างองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ ตอนปริญญาตรี ผมทำหัวข้อ “ปัจจัยเชิงสถาบันที่มีผลต่อการสร้างและจัดการความรู้ในชุมชนเกษตรยั่งยืน” ส่วนตอนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย หัวข้อคือ “การวิเคราะห์เชิงสถาบันในประเด็นพฤติกรรมการร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้าน: กรณีศึกษาเครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์”  แม้ว่าผลคะแนนของสองชิ้นจะค่อนข้างต่างกัน คือของป.ตรีดีกว่าของป.โท แต่เมื่อมองกลับมาแล้วก็แสดงให้เห็นว่า ผมสนใจและหมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้พอสมควร

กลับมาที่ห้องสัมมนา ... วันนั้น ศาสตราจารย์ โรเจอร์ แบคเฮาส์  (Roger Backhouse) นักประวัติศาสตร์ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิ่งแฮม ได้ร่วมเป็น Commentator สำหรับเปเปอร์นี้ด้วย หลังจากที่แกสอนพวกเราและเสร็จเมื่อครึ่งชม.ก่อนสัมมนาที่ว่านี้จะเริ่ม  หลังจากที่คอมเมนต์เปเปอร์ไปซักพัก มีการพูดคุยซักถามจากวงสัมมนา ศาสตราจารย์ได้ถามขึ้นมาว่า “จริงๆแล้วผมว่างานนี้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของความตั้งใจที่ใหญ่กว่านั้น จริงๆแล้วคุณตั้งใจไว้ว่ายังไง?” ...

คำถามนี้เพื่อนผมไม่ได้ตอบ เพราะจริงๆแล้วเหมือนเค้าเองก็ยังไม่ได้คิดเรื่องเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น งานนี้เหมือนเกิดขึ้นจากความสนใจของเขา เขาจึงเขียนเปเปอร์นี้ขึ้น  ทว่า คำถามนี้นี่เองที่กระแทกผมเข้ามาเต็มๆ

คำถามนี้เหมือนกับคำถามที่อาจารย์ปัทมาวดี ซูซูกิ ได้เคยทิ้งท้ายเอาไว้ในงานมินิซิมโพเซี่ยม มกราคม 2550 ที่อาจารย์คอมเมนต์งานวิจัยปริญญาตรีของผม ว่า

“...คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ อะไรทำให้ชลคิดหัวข้ออย่างนี้ได้มากกว่า...” 

ประโยคคำถามนี้ไม่เคยขึ้นมาในหัวผมจนกระทั่งวันนั้น ในคอมเมนต์ของอาจารย์สิ่งที่ผมจำได้แม่นคือ อาจารย์บอกว่า งานของผมมันไม่ควรจะเป็นงานปริญญาตรี เพราะมันใหญ่มาก แต่มันควรจะเป็นงานปริญญาเอกมากกว่า ซึ่งแน่นอนประโยคนั้นนำทางผมมาจนทุกวันนี้ เพียงแต่ว่า เมื่อถึงตอนขึ้นระดับปริญญาเอกแล้ว การเข้าใจตนเองในทางวิชาการมีความสำคัญมากทีเดียว  และการที่ไม่เคยตอบคำถามข้างต้นที่อาจารย์ปัทฯทิ้งท้ายไว้นั่นเองที่ทำให้ผมยังวนเวียนคิดไม่ตกว่าตกลงแล้วอะไรเป็นสิ่งที่ผมสนใจมากพอ ภายใต้องค์ความรู้ที่มีอยู่ ที่จะทำให้ผมอยู่กับมันไปเป็นเวลาหลายปีในการเรียนปริญญาเอกกันแน่

ณ วันนั้นเอง ... ที่คำถามของศาสตราจารย์แบคเฮาส์ได้จุดประกายให้ผมนึกถึงคำถามของอ.ปัทมาวดี และความตั้งใจที่อยู่เบื้องหลังแรงขับเคลื่อนความสนใจในประเด็นวิชาการข้างต้นก็สว่างวาบขึ้นในบัดดล ซึ่งนั่นทำให้ผมมีความชัดเจนในเชิงวิชาการมากขึ้นอย่างยิ่งยวด

คำสำคัญ (Tags): #reflection
หมายเลขบันทึก: 245420เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท