Reflection เพื่อค้นหาตัวตนทางวิชาการ (3): การพัฒนากิจกรรมนักศึกษา


ถ้ามหาวิทยาลัยที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า คนพูดและสะท้อนความคิดเห็นมากกว่า ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่สลับซับซ้อนกว่านั้นได้อย่างไร

โจทย์ที่อยู่ในใจของผมมาตลอดในการทำกิจกรรมตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สมัยอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย  ดูเหมือนจะเป็นเรื่องการทำยังไงจะทำให้กิจกรรมนักเรียน/นักศึกษาพัฒนาขึ้นได้ เรื่องนี้ย้อนไปถึงสมัยจะขึ้นม. 6 ที่ผมได้โอกาสจากเพื่อนคนนึงชื่อเอกราช ซาบูร์ ที่เป็น NGO สายสิทธิเด็กตั้งแต่มัธยมฯ เค้ารบกวนให้ผมไปประชุมแทนเขาที่บุรีรัมย์ และหลังจากนั้นเองในกิจกรรมต่อเนื่องจากการประชุมนั้น ผมได้เข้าอบรมเกี่ยวกับเรื่องวิทยากรกระบวนการ , ​Mind Mapping และทักษะอื่นๆที่ ทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจในการที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายๆประการ  เท่าที่จำได้ตอนสมัยทำกรรมการนักศึกษา รุ่นผมเป็นรุ่นแรกในรอบหลายๆปีที่มีการจัดกิจกรรมค่ายนักกิจกรรมขึ้น 

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ผมได้มีโอกาสได้ไปเกี่ยวข้องกับภาคประชาชนอีกสายหนึ่ง (ที่เขาไม่อยากให้เรียกว่า NGO ) ที่เรียกตัวเองว่า ภาคประชาสังคม (Civil Society) ผมเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะเยาวชนขององค์กรที่ชื่อว่า สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (Civic Net)  (มีฐานในกรุงเทพฯชื่อ Bangkok Forum นำโดย อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ และท่านอื่นๆ) ที่นี่เองที่ผมได้เรียนรู้เครื่องมือเพิ่มเติม โดยเฉพาะเครื่องมือในด้านการคิด เช่น ความคิดสร้างสรรค์ , การคิดเชิงระบบ, Six Thinking Hat เป็นต้น , ทักษะในการนำประชุมอย่างสร้างสรรค์ ,  ทักษะในการออกแบบการฝึกอบรม ฯลฯ   จากทักษะและองค์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมเหล่านี้เองที่ผมและเพื่อนๆที่ไปด้วยกันอย่าง น้ำทิพ (อ.ชญานี ชวะโนทย์),นำมาใช้ในการทำกิจกรรมของคณะ และหนึ่งในนั้นก็คือ ค่ายอบรมนักกิจกรรม

เราเพียรพยายามสร้างและปรับเปลี่ยนรูปแบบของค่ายอบรมนักกิจกรรมมาตั้งแต่เราอยู่ปี 2 จนปี 3 ก็แล้ว ปี 4 ก็แล้ว ตัววิธีการฝึกอบรมที่ออกแบบก็ยังไม่ให้ผลที่น่าพอใจเสียที รูปแบบพัฒนาตั้งแต่การประยุกต์เอาเกมส์โชว์ที่ดังมากใน UBC สมัยนั้นคือ Survival มาใช้ ก็คือ ให้น้องๆที่เข้าร่วมได้ลองทำกิจกรรมจริงๆเลย ในช่วงเวลาค่ายนั่นเอง  ในปีที่สองเราเปลี่ยนใหม่เป็นใช้โมเดลดินน้ำมันและให้น้องทำกิจกรรมเสมือนว่ากำลังเล่นเกมส์วางแผนการรบแบบสลับตา กับพี่สต๊าฟที่จะกำหนดเงื่อนไขต่างๆให้น้องแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันก็แฝงการฝึกทักษะในการทำกิจกรรมที่จำเป็นเข้าไปด้วย ในปีสุดท้ายที่เราทำเป็นในลักษณะของการอบรมที่เป็นทางการมากขึ้น ระยะยาวมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่เวิร์คอยู่ดี ปัญหาประการนึงก็คือ น้องที่เข้าอบรมกับเราไม่ได้เติบโตมาเป็นคณะกรรมการนักศึกษา แต่กระจัดกระจายไปร่วมกิจกรรมอื่นๆทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัย และเราก็ไม่รู้จริงๆว่าตกลงแล้วทักษะที่เราให้น้องได้เอาไปใช้ประโยชน์จริงหรือไม่

คำว่า ยังไม่ให้ผลที่น่าพอใจนั้น หมายถึงว่า ตอนนั้นเราตั้งใจสร้างกิจกรรมเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้กิจกรรมของคณะมีการพัฒนาให้มากขึ้น  แต่ดูเหมือนว่า กิจกรรมฝึกอบรมจะไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของกิจกรรมนักศึกษาในคณะโดยตรงนัก ปัจจัยที่ดูจะมีผลดูเหมือนจะต้องมองในเชิงสังคมวิทยา และมานุษยวิทยาเสียมากกว่าคือ  มองในเชิงของเครือข่ายทางสังคม, ค่านิยมวัฒนธรรม  กติกาไม่เป็นทางการ, โครงสร้างสังคมที่เรียกว่า “โต๊ะกลุ่ม” (คล้ายๆกับชนเผ่าก็ไม่ปาน) และความสัมพันธ์ระหว่างโต๊ะกลุ่ม, เป้าประสงค์ของกรรมการนักศึกษ และความสัมพันธ์กับโต๊ะกลุ่ม , ความสัมพันธ์และอิทธิพลทางวัฒนธรรมของรุ่นพี่สู่รุ่นน้องและรุ่นหลาน ฯลฯ

สาเหตุนึงที่ผมให้ความสำคัญกับกิจกรรมของคณะมากในสมัยนั้น ผมคิดว่าน่าจะได้อิทธิผลจากแนวคิดเรื่องประชาสังคมอยู่มากทีเดียว ตอนสมัยนั้น กิจกรรมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ้าไม่เป็นอารมณ์สายลมแสงแดดเอนเตอร์เทนเมนต์ ก็จะอยู่บนอุดมการณ์สังคมนิยม , Marxism หรืออะไรก็ตามที่ออกแนวซ้าย สังคม ชนชั้น ความไม่เท่าเทียมกัน อย่างเช่น กลุ่มวัชพืช, กลุ่มธรรมาภิวัฒน์ เป็นต้น  ผมก็เห็นวา ไม่เห็นมีใครเอาแนวคิดประชาสังคมมาใช้เลย ผมจึงเริ่มสนใจศึกษาเรื่องนี้จากหนังสือหลายเล่มทีเดียว ตั้งแต่เข้าปีหนึ่งนั่นล่ะ  ตอนนั้นจำได้ว่า คิดว่าต้องศึกษาก่อน จะได้ลองใช้แนวคิดประชาสังคมในการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย ... คือ ถ้ามหาวิทยาลัยที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า คนพูดและสะท้อนความคิดเห็นมากกว่า ยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้  เราจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่สลับซับซ้อนกว่านั้นได้อย่างไร 

จากการศึกษาและความตั้งใจนั้นก็นำมาซึ่งแนวคิดเชิงวิธีการก็คือว่า เราควรจะต้องเริ่มจากทำให้คณะเข้มแข็งก่อน ต้องทำให้แต่ละกลุ่มมาร่วมคิดร่วมทำร่วมกัน สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม กลุ่มเป็นเหมือนครอบครัว หลายครอบครัวรวมกันเป็นชุมชน ใช้ทักษะที่ได้จากการอบรมจาก Civic Net นั่นล่ะ  การนำประชุมอย่างสร้างสรรค์เอย กระบวนการความคิดสร้างสรรค์เอย  จากนั้นถ้าคณะเข้มแข็ง เราก็ควรจะเชื่อมเครือข่ายของคณะ เพื่อให้มหาวิทยาลัยเข้มแข็ง  SFN ในบทก่อนก็เป็นผลผลิตจากแนวคิดนี้  จากนั้นผมถึงไปพยายามผลักดันเครือข่ายระดับมหาวิทยาลัยกับการเข้าร่วมโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำนักศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 1 จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ถ้าเครือข่ายเหล่านี้เข้มแข็ง นักศึกษาน่าจะมีพลังมากพอ ที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่นได้ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสที่นักศึกษาจะได้พบเจอสังคมภายนอก และทำให้เขามีความตระหนักต่อสังคมมากขึ้น เป็นพลเมืองที่ดี หรือกระทั่งพลเมืองที่กระตือรือร้น (Active Citizen) ในอนาคตได้

ที่กล่าวมานี้ สามารถทำได้สำเร็จในสองส่วนแรกคือ ในคณะ และในเครือข่ายสายสังคม แต่ระดับมหาวิทยาลัยทำไม่สำเร็จ และผมไม่สามารถส่งผ่านไปยังรุ่นต่อไปได้  อย่างไรก็ดี แนวคิด แนวปฏิบัติอย่างนี้เอง ที่ทำให้ผมให้ความสำคัญต่อการพัฒนานักกิจกรรมของคณะอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 245430เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเองก็ยังมองว่า การอบรมสัมมนาในรั้วมหาวิทยาลัย  ยังไม่สามารถบ่มเพาะพลังชีวิตให้นิสิตได้ทำกิจกรรมทั้งเพื่อตนเองและสังคมได้  เมื่อเทียบกับกิจกรรมในเชิงสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ...

ตอนนี้  ผมกำลังผลักเรื่องกิจกรรมเข้าไปในวิชาการศึกษาทั่วไป  และรับรองรายวิชานี้ในทรานสคริปกิจกรรม ...รวมถึงการสร้างวิชาเรียนที่เกี่ยวกับกิจกรรม หรือผู้นำโดยตรง 

ขอบคุณครับ

.....

 

ขอบคุณครับ :)

เรื่องทรานสคริปกิจกรรมเป็นเรื่องนึงที่ผมเคยคิดเหมือนกัน ส่วนใหญ่ทางพวกนักกิจกรรมมักจะไม่ค่อยเห็นด้วยหากบังคับ เพราะจะกลายเป็นว่าเด็กจะถูกบังคับให้ทำกิจกรรม แทนที่จะเป็นตามความสนใจเหมือนที่ควรจะเป็น ...​

ตัวผมคิดว่า มันน่าจะมีกลไกที่รับรอง นับหน่วยกิจจากกิจกรรมที่นักศึกษาเข้าไปเป็นคนจัดการ ...ผมไม่คิดว่า "เข้าร่วม" จะเพียงพอ ต้องเป็นคน "จัดการ" จึงน่าจะได้รับการรับรองสักหน่อย เพราะอย่างน้อยเขาย่อมได้บทเรียนจากการจัดกิจกรรมนั้นๆแน่นอน กลไกนี้ควรจะเป็น optional ครับ ไม่ควรเป็นแบบบังคับ เพราะมันจะบิดเบือนแรงจูงใจในการทำกิจกรรมไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งท้ายที่สุดก็จะไม่ส่งผลให้นักศึกษาเรียนรู้ได้เท่าที่ควร

สวัสดีค่ะ

ตอนนี้ฝ่ายการนักศึกษาที่คณะฯเราแจกประกาศนียบัตรนักศึกษาค่ะ

โดยส่วนตัว คิดว่าการประกาศใน transcript หรือประกาศนียบัตร เป็นรางวัล

รางวัลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกติกา.. เป็นได้ทั้ง "ผลตอบแทน" (สำหรับการทำดี) และ "แรงจูงใจ" (ให้ทำดี)..

ตัวเองนั้น ให้ความสำคัญที่ต้นทาง คือ "แรงบันดาลใจ" ที่จะทำความดี การจัดค่ายตามรอยอาจารย์ป๋วยนั้น เป็นความพยายามในข้อนี้ค่ะ

แรงบันดาลใจ ความตั้งใจ แรงขับจากข้างใน จะสามารถสร้างผลที่หลากหลายทิศทางแต่ต่อเนื่อง ด้วยต้นทุนต่ำ (คือไม่ต้องแจกรางวัลอยู่ร่ำไป)

แท้จริงแล้ว คำถามต่ออาจาย์ชลถึงความสนใจในเรื่องที่ทำสัมมนา ป.ตรีนั้น กำลังถามถึง ความสนใจที่สะท้อนแรงบ้นดาลใจลึกๆ ที่นอกจากจะสามารถส่งแรงขับให้อาจารย์เขียนสัมมนาชิ้นนั้นแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลให้อาจารย์ทำอะไรอีกหลายอย่างที่ต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับมัน...อาจจะทั้งเชิงลึก และเชิงกว้าง

แรงจูงใจนั้น ไม่สร้างพลังเท่าแรงบันดาลใจ

แต่ก็อาจจะสร้างแรงจูงใจได้ง่ายกว่าสร้างแรงบันดาลใจ

พระคริสต์ที่อยากเปลี่ยนสังคมของคนพื้นถิ่น ยังต้องควานหา "ความเชื่อดั้งเดิม" เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นแนวทางการพัฒนาแบบใช้ "วัฒนธรรมชุมชน" เป็นฐาน

ความเป็นธรรมศาสตร์อยู่ตรงไหน คุณค่าของเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์คืออะไร .. ต้องมาควานหากันใหม่ เพื่อสร้างแรงขับจากข้างในที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกครั้ง..

รถวิ่งต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิง ส่วนรางวัล กติกานั้นเป็นน้ำมันหล่อลื่น...สำคัญแต่ยังไม่ใช่สิ่งเดียว.. มีทั้งเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นก็ดีค่ะ

คิดแบบนี้ละค่ะ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท