รมต.จุรินทร์ สรุปเรียนฟรี15 ปี


รมต.จุรินทร์ สรุปเรียนฟรี15 ปี

เรียนฟรี15ปีตำราให้โรงเรียนจัดซื้อ
แจกเงินให้ผู้ปกครองซื้อชุด-อุปกรณ์


"จุรินทร์" สรุป เรียนฟรี 15 ปีรัฐบาลโอนงบให้ร.ร.ให้ผู้ปกครองไปเบิกเงินมาช็อปปิ้งชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนฟรีเองตามความพอใจส่วนตำราเรียนให้ ร.ร.ซื้อเองจุรินทร์ แจงซับซ้อนน้อยสุดพร้อมสั่งหาวิธีสกัดผู้ปกครองนำเงินไปใช้เรื่องอื่น ส่วนเงินช่วยค่าครองชีพ 2,000 บาท กรอ.เตรียมสรุปวิธีจ่าย 18 ก.พ.นี้


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือเรื่องนโยบายเรียนฟรี 15 ปีพร้อมสนับสนุนตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้นักเรียนด้วยว่า

ที่ประชุมได้หารือเพื่อเลือกวิธีจัดซื้อและจัดสรรตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียนฟรี พร้อมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสมที่สุด และได้ข้อยุติว่า ในส่วนของชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะจัดสรรงบประมาณตรงไปยังโรงเรียน แล้วให้ผู้ปกครองเบิกเงินจากโรงเรียนเพื่อนำไปจัดซื้อชุดนักเรียนรายละ 2 ชุด ทั้งนี้

ระดับก่อนประถมจะได้เงินค่าชุดนักเรียนรายละ 300 บาท
ประถมรายละ 360 บาท
ม.ต้นรายละ 450 บาท
ม.ปลายรายละ 500 บาท
อาชีวะรายละ 1,000 บาท
ส่วนค่าอุปกรณ์การเรียน ระดับก่อนประถมได้รายละ 200 บาท
ประถมรายละ 390 บาท
ม.ต้นรายละ 420 บาท
ม.ปลายรายละ 460 บาท
โดยผู้ปกครองมีสิทธิจะเลือกซื้อชุดนักเรียนของร้านค้าใดก็ได้ หรือจะรวมกลุ่มกันจ้างกลุ่มแม่บ้านในชุมชนตัดเย็บให้ก็ได้ เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์การเรียน ผู้ปกครองจะเลือกซื้ออุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ไม่มีการบังคับ กระทรวงแค่ให้แนวทางโดยจัดทำรายการแนะนำอุปกรณ์ที่ควรซื้อ โดยจะแบ่งจ่าย 2 ครั้ง

ส่วนตำราเรียนฟรีนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะโอนเงินไปให้โรงเรียนดำเนินการจัดซื้อตำราเรียนเองตามวงเงินที่ได้รับ คือ

ก่อนประถม 200 บาทต่อคน
ประถม 433 บาท
ม.ต้น 669 บาท
ม.ปลาย 897 บาท
รวมทั้งจะโอนงบประมาณกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

ในวงเงินหัวละ 430 บาท สำหรับระดับก่อนประถม
ประถม หัวละ 480 บาท
ม.ต้น880 บาท
ม.ปลาย950 บาท
เพื่อให้โรงเรียนไปดำเนินการจัดกิจกรรม 4 ประเภทคือ กิจกรรมวิชาการกิจกรรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เช่น ลูกเสือ-เนตรนารียุวกาชาด กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา และกิจกรรมให้บริการไอซีทีและคอมพิวเตอร์แก่นักเรียน เพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดซื้อตำราเรียนและจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน นั้นโรงเรียนต้องให้ภาคี 4 ฝ่ายคือ ผู้ปกครอง ครู คณะกรรมการนักเรียน ตัวแทนชุมชุน มีส่วนในการตัดสินใจร่วมกับกรรมการสถานศึกษาด้วย

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันและสุดท้ายตัดสินใจเลือกวิธีจัดงบตรงไปให้โรงเรียน แล้วให้ผู้ปกครองเบิกเงินไปซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนเองตามความประสงค์เพราะเห็นว่าวิธีนี้ซับซ้อนน้อยกว่าใช้ระบบคูปอง

ส่วนที่กลัวว่า เมื่อผู้ปกครองรับเงินไปแล้วจะนำเงินไปใช้อย่างอื่น ไม่ซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนให้เด็กนั้นจริงๆ แล้วไม่มีระบบอะไรที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงให้คูปองผู้ปกครองก็อาจไปตกลงกับร้านค้าขอแลกเป็นเงินแทน โดยหักส่วนแบ่งให้ร้านค้าก็ได้ รมว.ศึกษาธิการกล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ไปคิดระบบป้องกันเรื่องนี้โดยอาจกำหนดให้ผู้ปกครองต้องนำใบเสร็จ หรือชุดนักเรียนที่ซื้อ มายืนยันกับโรงเรียน รวมทั้งให้คิดระบบติดตาม ตรวจสอบด้วย โดยอาศัยกลไกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนั้นจะให้มีการรณรงค์ให้นักเรียนที่สามารถช่วยตัวเองได้สละสิทธิ์ในการรับเงินค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยมีเป้าหมายว่า จะนำเงินที่เหลือจากการสละสิทธิ์ไปใช้พัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสยากจนทั่วประเทศ จากข้อมูลของ สพฐ.พบว่ามีโรงเรียนด้อยโอกาสทั่วประเทศ 600 แห่งเพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนคนใดสละสิทธิ์ก็เท่ากับมีส่วนช่วยพัฒนาโรงเรียนยากจนในชนบท ในส่วนนักเรียนโรงเรียนเอกชนจะได้รับสิทธิของฟรี 4 อย่างเช่นกันและโรงเรียนเองจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มจาก 60% เป็น 70% ในปีการศึกษา 2552 ด้วย

ส่วนปัญหาข้อขัดแย้งการให้เงินช่วยค่าครองชีพจำนวน2,000 บาทนั้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้จะมีความชัดเจนขึ้น โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 18 กุมภาพันธ์จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งจะหยิบยกประเด็นเงินช่วยค่าครองชีพจำนวน 2,000 บาทเข้าหารือว่าจะจ่ายด้วยวิธีการใด

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะดำเนินการตลอดทั้งปี คาดว่าเงินงบประมาณจะเข้าสู่ระบบได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป เริ่มจากเงินอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนเงิน 2,000 บาทและเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุจะดำเนินการได้ในเดือนเมษายน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแจกเงิน 2,000 บาทให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนจะช่วยเหลือบรรเทาค่าครองชีพผลกระทบจากเศรษฐกิจได้ถึง 8-9 ล้านคน ซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย 7-8 พันบาท

ส่วนที่มีเงินมากกว่านี้ถึง 1.5 หมื่นบาท มีประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น จะใช้วิธีจ่ายเงินแบบไหนจะสรุปวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับภาคเอกชนให้สนับสนุนและรับเช็คดังกล่าวแทนเงินสดทั้งในร้านค้าโชห่วย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งการช่วยเพิ่มมูลค่าเช็ค โดยการให้ส่วนลด เช่น อาจทำให้มูลค่าเช็คเงินสดกลายเป็น 2,200 บาทซึ่งแนวทางดังกล่าวน่าจะเหมาะสมกว่าการให้เป็นคูปองเหมือนไต้หวัน เพราะอาจปลอมแปลงง่ายและเอกชนที่รับคูปองไปไม่สามารถนำไปเข้าแบงก์ได้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังกล่าวว่า การจ่ายเงิน 2,000 บาทให้ประชาชนนั้น ยืนยันว่าเงินต้องถึงประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสามารถนำไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ หากต้องจ่ายให้เป็นเช็คก็ขอให้เอกชนให้ความร่วมมือในการรับแทนเงินสดและให้ส่วนลดมากที่สุดด้วย



ขอบคุณที่มา : คม ชัด ลึก
18 กุมภาพันธ์ 2552

คำสำคัญ (Tags): #ข่าวการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 244707เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท