The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอน วิกฤตการณ์ล่าอาณานิคม สู่วิวาทะชาตินิยมสองแผ่นดิน ส่วน ๔


ศาลเห็นว่ามีการตอบรับแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย และหากว่ามีความประสงค์ที่จะคัดค้านแผนที่หรือจะยกปัญหาใดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามก็มิได้กระทำอย่างใดเลยไม่ว่าในขณะนั้นหรือต่อมาอีกหลายปีอันถือว่าเป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายไทย และถือว่า ได้ให้ความยินยอมโดยนิ่งเฉยแล้ว ดังภาษิตลาตินว่า “ผู้ที่เงียบเฉยอยู่ย่อมถือว่ายินยอม ถ้าเขามีหน้าที่ที่จะพูดและสามารถจะพูดได้” และเมื่อจะยกความไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับการลากเส้นเขตแดนว่ามิได้เป็นไปตามสันปันน้ำ ก็เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า “คู่ความไม่สามารถอ้างความผิดพลาดขึ้นเป็นเหตุลบล้างความยินยอม หากตนได้มีส่วนก่อให้เกิดความผิดพลาดนั้นขึ้น ”อันเป็น “หลักกฎหมายปิดปาก (Estoppel)”

โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกำหนดประเด็นข้อพิพาท คือ ปัญหาอธิปไตยเหนือดินแดน ศาลจึงจำต้องพิจารณาถึง เส้นเขตแดน ระหว่าง ๒ ประเทศ และหลักฐานชิ้นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก็คือ แผนที่ภาคผนวก ๑ หรือ Map Annex I ซึ่งฝรั่งเศสจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวซึ่งในแผนที่ดังกล่าวได้กำหนดเส้นเขตแดนอันเป็นผลให้ปราสาทพระวิหารและบริเวณปราสาทในส่วนที่ปัจจุบันเรียกว่า พื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตอธิปไตยของประเทศกัมพูชา โดยที่ฝ่ายไทยได้คัดค้านความสมบูรณ์ของแผนที่ดังกล่าวว่า มิได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมผู้มีอำนาจและจัดทำขึ้นโดยฝรั่งเศสแต่ฝ่ายเดียว ตลอดจนการกำหนดเส้นเขตแดนในแผนที่มิได้ยึดสันปันน้ำเป็นเกณฑ์ตามหนังสือสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ นั้น ศาลเห็นว่า มิใช่เรื่องที่เป็นข้อสำคัญในการพิจารณา แต่ประเด็นคือ ความไม่สมบูรณ์เช่นที่ไทยอ้างนั้น ภาคีสนธิสัญญาได้ยอมรับแผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นเขตแดนตามที่ปรากฎว่าเป็นผลงานในการปักปันเขตแดนบริเวณพระวิหาร[๑] แล้วหรือไม่

เมื่อฝรั่งเศสจัดทำแผนที่เสร็จในปี พ.ศ.๒๔๕๑ และส่งมายังรัฐบาลสยาม พฤติการณ์ของฝ่ายไทยเกี่ยวกับแผนที่ในขณะนั้น ศาลเห็นว่ามีการตอบรับแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย และหากว่ามีความประสงค์ที่จะคัดค้านแผนที่หรือจะยกปัญหาใดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามก็มิได้กระทำอย่างใดเลยไม่ว่าในขณะนั้นหรือต่อมาอีกหลายปีอันถือว่าเป็นข้อผิดพลาดของฝ่ายไทย และถือว่า ได้ให้ความยินยอมโดยนิ่งเฉยแล้ว ดังภาษิตลาตินว่า ผู้ที่เงียบเฉยอยู่ย่อมถือว่ายินยอม ถ้าเขามีหน้าที่ที่จะพูดและสามารถจะพูดได้และเมื่อจะยกความไม่สมบูรณ์เกี่ยวกับการลากเส้นเขตแดนว่ามิได้เป็นไปตามสันปันน้ำ ก็เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่า คู่ความไม่สามารถอ้างความผิดพลาดขึ้นเป็นเหตุลบล้างความยินยอม หากตนได้มีส่วนก่อให้เกิดความผิดพลาดนั้นขึ้น อันเป็น หลักกฎหมายปิดปาก (Estoppel) นอกจากนี้ ประเด็นข้อต่อสู้ของไทยที่ว่าไม่เคยยอมรับเส้นเขตแดนบนแผนที่ภาคผนวก ๑ และอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหารนั้น ถูกหักล้างโดยอาศัยหลักฐานที่ว่าสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เคยเสด็จไปเยี่ยมปราสาทพระวิหารในลักษณะกึ่งราชการ ในปี พ.ศ.๒๔๗๓  ขณะทรงเป็นนายกราชบัณฑิตย สถานและทรงรับหน้าที่เกี่ยวกับหอสมุดแห่งชาติและโบราณสถาน โดยเมื่อเสด็จถึงปราสาทได้ทรงรับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากข้าหลวงฝรั่งเศสโดยมีการเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งก็มิได้ทรงทักท้วงแต่ประการใด ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงพิพากษาให้ ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของราชอาณาจักรกัมพูชา

 

จะเห็นได้ว่า ผลจากการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสในยุคหนึ่งเป็นเหตุให้ดินแดนที่เคยมีความสัมพันธ์อย่างสงบสุขร่มเย็นมาอย่างยาวนานต้องพิพาทกันจากปมปัญหาในเรื่องเขตแดนอันเกี่ยวพันถึงมหาสถานอันล้ำค่าอย่าง ปราสาทพระวิหาร จนก่อให้เกิด วิวาทะระหว่างประเทศ ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก วิกฤตการณ์ดังกล่าวจบลงไปแล้ววาระหนึ่ง ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศด้วยความเศร้าสลดของประชาชนชาวไทย บทความทั้งหมดที่ได้นำเสนอมาในตอนนี้ น่าจะจะสะท้อนถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ไม่ว่ายุคใดสมัยใด บรรพบุรุษไทยก็มีความพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถในการต่อสู้ปกป้องอธิปไตยของชาติ ดังนั้น ชาติและอธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรหวงแหนและธำรงรักษาไว้ให้ยั่งยืนบนพื้นฐานความรักที่ไม่กลายเป็นการ คลั่งชาติอย่างที่ไม่พึงประสงค์ หน้าต่างโลก ชุด The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ท่านผู้อ่านจะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำพิพากษาและประเด็นทางกฎหมายและการเมืองในทางทฤษฎี เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกที่มีข้อกังขาว่า แผนที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ (โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

 



[๑] กระทรวงการต่างประเทศ. แปล., อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๑๔, หน้า ๒๘-๒๙

คำสำคัญ (Tags): #ปราสาทพระวิหาร
หมายเลขบันทึก: 244540เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พันโท อานันท์ ชินบุตร www.anantpowerful.com

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของข้าราชการไทย โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนกำลังทำนั้นมีผลผูกมัดตามกฎหมายเสมอมา จะโทษฝ่ายที่จ้องจะเอาเปรียบเราฝ่ายเดียวก็เห็นจะไม่ได้ ปัญหาระหว่างเขตแดนไม่ใช่มีเฉพาะเขาพระวิหารแต่มีอีกมากมายหลายจุดที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา หลักราชการข้อหนึ่งที่ ร.6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก็ได้กล่าวถึง ความรู้เท่าถึงการณ์นี้

ฉะนั้นแล้ว ข้าราชการไทยควรพึงระลึกเสมอว่า ไม่ว่าสิ่งใดที่ตนทำลงไป ย่อมมีผลดีผลเสียต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเสมอ เราจะเห็นข้อพิพาทเกิดขึ้นอยู่เนืองๆไม่เพียงเฉพาะปัญหาระหว่างเขตแดนของประเทศเท่านั้น ยังมีปัญหาระหว่างที่ดินของรัฐและประชาชน ประชาชนกับประชาชน และแม้แต่หน่วยงานของรัฐกันเองด้วย และมไม่ใช่เฉพาะเรื่องเขตแดนเท่านั้นที่มีปัญหา ถนนที่เห็นขรุขระเหมือนทางเกวียนทั่วไปบนทางหลวงของรัฐ ป่าไม้ที่ถูกข้าราชการจ้องทำลายเอง พื้นที่ตามป่าสงวนที่ข้าราชการเข้าไปจับจอง ยังมีอีกมากมาย ทั้งหมดนี้ หากข้าราชการปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบและตั้งอยู่บนความซื่อตรงแล้ว ผลเสียหายต่างๆก็จะไม่เกิดขึ้นมากมายไปทุกหย่อมหญ้า นี่ไม่ได้หมายความว่ามีความไม่ซื่อตรงเกิดขึ้นในสมัยที่มีปัญหาเรื่องแผนที่ของเขาพระวิหารนั้น แต่เป็นความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย แต่ก็ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การสงวนสิทธิ์ในคำพิพากษานั้นจะได้เริ่มต้นนำมาใช้กันจริงจังเสียที เหตุใดไม่หาทางให้ศาลโลกพิจารณาใหม่ เพราะหากเราจะรอการปักปันเขตแดนบริเวณนี้ เขมรก็คงจะยึดถือข้อพิจารณาของศาลโลกอยู่ดีว่า เส้นเขตบนแผนที่ทางตอนเหนือของปราสาทนั้นคือเส้นเขตแดน แล้วหากเรามีการปักปันไปตามนั้น ก็มีหวังว่าจะเป็นการทำให้เส้นเขตแดนของเขามั่นคงยิ่งขึ้น และคราวนี้เราก็จะเสียพระวิหารไปโดยถาวรเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท