The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอน วิกฤตการณ์ล่าอาณานิคม สู่วิวาทะชาตินิยมสองแผ่นดิน ส่วน ๒


จนกระทั่ง วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ รัฐบาลกัมพูชาจึงยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) ขอให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนกำลังทหารออกจากปราสาทพระวิหาร และวินิจฉัยว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา และ รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยอีกเป็นครั้งที่ ๒ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ อันเป็นเวลาก่อนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษา

บทที่ ๓ กรณีพิพาท ไทย กัมพูชา ศึกสองแผ่นดินชิงปราสาทพระวิหาร

            แผนที่โดยคณะกรรมการปักปันผสมตามหนังสือสัญญา ค.ศ.๑๙๐๗ โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า แผ่นดงรักอัตราส่วน ๑ : ๒๐๐,๐๐๐ ได้มีการจัดทำขึ้นโดยรัฐบาลฝรั่งเศสแต่ฝ่ายเดียวและมิได้ใช้หลักเกณฑ์ สันปันน้ำ เป็นเกณฑ์ในการแบ่งเขตแดน เป็นผลให้ปราสาทพระวิหารและบริเวณที่เรียกว่า พื้นที่ทับซ้อน ๔.๖ ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตของประเทศกัมพูชา เปรียบเสมือนเงื่อนตายที่ยากที่จะแก้ หรือที่ ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า กรณีปราสาทพระวิหาร เป็นระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม โดยอธิบายว่า ...ปัญหาเขาพระวิหารเป็นปัญหาเรื้อรังมาตลอด สาเหตุเพราะอยู่บริเวณเส้นชายแดน  การแบ่งเขตแดนเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ...เทคนิคที่ชาติมหาอำนาจนั้นใช้เป็นระเบิดเวลานั่นก็คือการกำหนดเส้นเขตแดนอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้แผนที่กลายเป็นหลักฐานและเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้ตกลงหรือยืนยันอ้างสิทธิตามกฎหมายที่ฝรั่งเป็นผู้สร้างขึ้น ...ผลที่ตามมาคือ ไทยอาจรู้เท่าฝรั่งได้แต่ไม่ทัน[1]

            ๕๐ ปีต่อมา นับแต่การจัดทำแผนที่ในปี ค.ศ.๑๙๐๗  ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาก็ก่อตัวขึ้นจากความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดนดังกล่าว โดยมิได้มีการทักท้วงจากฝ่ายไทยและปัญหานี้ไม่เคยถูกแก้ไขแต่ประการใด เพราะความที่ปราสาทพระวิหารนั้นห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครองทุรกันดารยากต่อการเข้าถึงและความเกรงกลัวต่ออำนาจของประเทศฝรั่งเศสในสมัยนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน[2] ขึ้น ไทยได้ดินแดนบางส่วนที่เสียให้แก่ฝรั่งเศสไปกลับคืนมาโดยความช่วยเหลือของกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม รัฐบาลไทยก็จำต้องส่งคืนดินแดนทั้งหมดแก่กัมพูชา โดยไม่มีความชัดเจนว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศใด ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ทางการไทยได้เข้าครอบครองปราสาทพระวิหาร รัฐบาลฝรั่งเศสผู้อารักขากัมพูชา จึงมีหนังสือลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๑๙๔๙ ประท้วงทางการไทย จากนั้นได้มีหนังสือทักท้วงตามมาอีก ๓ ฉบับ โดยฉบับที่ ๓ อ้างว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนกัมพูชาขอให้รัฐบาลไทยถอนผู้ดูแลปราสาทออกไป และเมื่อกัมพูชาได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ มีการตกลงว่าจะเจรจาปัญหาระหว่างสองประเทศแต่ก็มิได้มีการเจรจาแต่อย่างใด [3]

            วิวาทะชาตินิยมระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ก่อตัวและทวีความรุนแรงขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ เริ่มจากความไม่พอใจของประชาชนกัมพูชาในข้อเขียนของหนังสือพิมพ์ไทยฉบับหนึ่งเรื่องการกู้ชาติของกัมพูชาที่ไม่ได้กล่าวถึงบทบาทของพระเจ้านโรดมสีหนุเท่าที่ควรจนมีการเดินขบวนประท้วงขึ้น พระเจ้านโรดมสีหนุทรงปราศัยกับผู้ร่วมชุมนุมโดยมีพระราชดำรัสบางส่วนพาดพิงถึงประเทศไทยว่า ไทยโกงเอาเขาพระวิหารของเขมรไป เขมรจึงควรทวงเอาคืนมา[4] ต่อมาเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำกรุงลอนดอนได้เขียนบทความลงในวารสาร กัมพูชาวันนี้ Le Cambodge d’aujour d’hui” ย้ำว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และตำหนิไทยด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเคยแย่งชิง ดินแดนของกัมพูชาไปเป็นเหตุให้ประชาชนชาวไทยเริ่มไม่พอใจ จนเกิดวิวาทะระหว่างหนังสือพิมพ์ทั้งสองประเทศเป็นระยะ จนวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๑ มีการเปิดการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยมีกรอบการเจรจาหมวดหนึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ทั้งบริเวณเขาพระวิหารและดอนโตน แต่การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ

หลังจากนั้นประชาชนชาวไทยเริ่มเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการปราศัยโจมตีรัฐบาลกัมพูชา ตลอดจนเคลื่อนขบวนประท้วงไปยังหน้าสถานทูตกัมพูชา จนกระทั่งวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนในปีเดียวกัน รัฐบาลกัมพูชาประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย รัฐบาลไทยจึงปิดพรมแดนด้านกัมพูชาพร้อมส่งกำลังตำรวจตระเวนชายแดนไปเพิ่มเติม ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๒ ทั้งสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใหม่โดยการไกล่เกลี่ยของผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติ บารอน โจฮัน เบคฟริส  อย่างไรก็ดี ประเทศไทยและกัมพูชามีการกระทบกระทั่งกันด้วยการแถลงข่าวและข้อเขียนทางหนังสือพิมพ์เป็นระยะ จนกระทั่ง วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ รัฐบาลกัมพูชาจึงยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ)[5] ขอให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนกำลังทหารออกจากปราสาทพระวิหาร และวินิจฉัยว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา และ รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยอีกเป็นครั้งที่ ๒ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ อันเป็นเวลาก่อนศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษา [6]

ซึ่งรายละเอียดในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดี[7] ผู้เขียนใครขอนำเสนอในรูปแบบตารางประกอบความเข้าใจ ดังนี้



[1] โปรดดู ศรีศักร วัลลิโภดม และคณะ, เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม, (กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๑), หน้า ๙ - ๑๐

[2]...ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายชาตินิยมอย่างสุดขั้ว โดยนโยบายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ปลุกกระแสเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ) ที่เคยเสียให้ฝรั่งเศส เมื่อกระแสเรียกร้องถึงจุดแตกหักรัฐบาลไทยจึงส่งกองทัพบุกเข้าไปในเขมรหรือที่รู้จักกันในนามสงครามอินโดจีน พ.ศ. ๒๔๘๓ จากนั้นโดยความช่วยเหลือจากกองทัพญี่ปุ่น ทำให้ได้ดินแดนดังกล่าวคืนจากฝรั่งเศสตามด้วยหลวงพระบาง จัมปาศักดิ์ในเวลาต่อมา (ปิยชาติ สึงตี, เอกสารประกอบการเสวนา เขาพระวิหาร : ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม, ๒๕๕๑)

[3] โปรดดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๑๑ , หน้า ๒๑ - ๒๒

[4] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๑๑ , หน้า ๒๒

[5] Case Concerning The Temple of Preah Vihear (Cambodia v. Thailand) Merits 1962

[6] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๓ - ๒๕

[7] ทั้งนี้ โปรดดู บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เพิ่งอ้าง, หน้า ๒๖ และ กระทรวงการต่างประเทศ. แปล., คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ : คดีปราสาทพระวิหาร, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, ๒๕๐๕) ประกอบ

คำสำคัญ (Tags): #ปราสาทพระวิหาร
หมายเลขบันทึก: 244532เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท