The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอน วิกฤตการณ์ล่าอาณานิคม สู่วิวาทะชาตินิยมสองแผ่นดิน ส่วน ๑


ขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาซึ่งมีที่มาจากการล่าอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งนำไปสู่การปักปันเขตแดนและจัดทำแผนที่แสดงเขตแดนไทยกับกัมพูชาอันมีเงื่อนงำและเป็นมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ๒ ประเทศตลอดจนการหาข้อยุติในข้อโต้แย้งเรื่องเขตแดนและอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารที่จบลงด้วยความบอบช้ำของราชอาณาจักรไทยที่ศาลยุติธรรมมระหว่างประเทศ ในเวลาต่อมา

ชุด The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย

ตอน วิกฤตการณ์ล่าอาณานิคม สู่วิวาทะชาตินิยมสองแผ่นดิน

โดย  นายปณิธัศร์ ปทุมวัฒน์ นิติกร สำนักกฎหมาย

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอบทความชุด The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอน ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนยอดผาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่องราวของปราสาทพระวิหารเกี่ยวกับ ประวัติ ความเป็นมา ตลอดจนองค์ประกอบส่วนต่างๆของปราสาทพระวิหาร ในคราวนี้ หน้าต่างโลก The Knowledge Windows”  ชุด The Temple of Preah Vihear ปราสาทพระวิหาร มหาสถานบนรอยเขตอธิปไตย ตอน วิกฤตการณ์ล่าอาณานิคม สู่วิวาทะชาตินิยมสองแผ่นดิน ขอนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชาซึ่งมีที่มาจากการล่าอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส  ซึ่งนำไปสู่การปักปันเขตแดนและจัดทำแผนที่แสดงเขตแดนไทยกับกัมพูชาอันมีเงื่อนงำและเป็นมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ๒ ประเทศตลอดจนการหาข้อยุติในข้อโต้แย้งเรื่องเขตแดนและอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารที่จบลงด้วยความบอบช้ำของราชอาณาจักรไทยที่ศาลยุติธรรมมระหว่างประเทศ ในเวลาต่อมา

 

บทที่ ๑ ภูมิหลังความสัมพันธ์ฉันท์พ่อลูก สยาม-เขมร

ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชอาณาจักรเขมรในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้นค่อนข้างราบรื่น  ด้วยความสัมพันธ์ในลักษณะที่เหนือกว่าและของราชอาณาจักรสยามในฐานะเจ้าประเทศราชและผู้มีพระคุณ  โดยปรากฎว่า ฐานะทางการเมืองของราชอาณาจักรเขมรในยุคนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของสยาม โดยการสถาปนาพระมหากษัตริย์ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากราชอาณาจักรสยาม  นอกจากนี้พระราชวงศ์เขมรเกือบทุกพระองค์ต่างก็ได้รับการศึกษาอบรมจากราชสำนักสยามทั้งสิ้น

ดังปรากฎว่า  ...พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงนักองเองเป็นพระราชบุตรบุญธรรมและทรงโปรดเกล้าให้ออกไปครองเมืองเขมร นักองจันทร์ผู้บุตรก็ได้สืบราชสมบัติแทนพระราชบิดา ล่วงมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงโปรดเกล้าสถาปนา องค์พระนโรดม เป็นเจ้าแผ่นดินเขมรและทรงโปรดเกล้าให้จัดเครื่องราชูปโภคไปพระราชทานถึงเมืองอุดงมีชัย ราชธานีเขมรในสมัยนั้น...[1]

นอกจากนี้ยังปรากฎต่อมาว่า มีการทำหนังสือสัญญาลับระหว่างราชอาณาจักรสยามและเขมรในปี พ.ศ.๒๔๐๖ ยืนยันว่าเขมรเป็นของไทย[2] มีข้อความบางตอน ดังนี้

...ทำสัญญาเพื่อจะให้มีคุณมีประโยชน์...ให้รู้แลถือตามข้อสัญญานี้สืบต่อไปภายหน้า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามมีพระเดชพระคุณได้ช่วยทำนุบำรุงเมืองเขมรเปนลำดับสืบๆมาแต่ต้นพระวงษ์จนบัตรนี้... ข้อ ๑ ว่า เมืองเขมรเปนเมืองประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ... [3]

นอกจากนี้ พระมหากษัตริย์ไทยยังทรงเป็นผู้ประกอบพิธีราชาภิเษกให้กับพระเจ้ากรุงเขมร และพระเจ้ากรุงเขมรจะต้องส่งพระโอรสเข้ามาทรงพำนัก เข้ารับการศึกษาและผนวชในกรุงเทพมหานครเสมือนเป็นองค์ประกัน และยังต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่ราชสำนักสยามทุกปี ปีละครั้งตลอดจนการดำเนินนโยบายกับต่างประเทศก็จำต้องให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยด้วย

จึงเห็นได้ว่าในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ ๑-๔ นั้น เขมรได้อ่อนน้อมยอมเป็นประเทศราชของกรุงสยามมาโดยตลอด  ความสัมพันธ์ของ ๒ แผ่นดินนี้จึงค่อนข้างราบรื่นมาเป็นเวลากว่า ๘๐ ปี แม้จะมีความวุ่นวายบ้างก็เป็นเรื่องความวุ่นวายภายในประเทศของเขมรจากการช่วงชิงราชสมบัติกันในหมู่พระราชวงศ์  ที่รัฐบาลสยามก็ได้เข้าไกล่เกลี่ยให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติไปโดยเรียบร้อยทุกครั้ง อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสก็กำลังพยายามหาทางยึดครองทวีปเอเชียทั้งหมดเพื่อครองโลก และเมื่อลัทธิล่าอาณานิคมแผ่ขยายมาถึงภูมิภาคแถบเอเชียอาคเนย์ ความสัมพันธ์ของไทยกับกัมพูชาท่ามกลางบริบทของการแสวงหาอาณานิคมของชาติยุโรปก็ไม่ราบรื่นเหมือนสมัยเดิมอีกต่อไป

 

บทที่ ๒ ฝรั่งเศส...รัฐชาติผู้เปลี่ยนแผนที่แสดงอาณาเขตของสยาม

            นับตั้งแต่เวลาที่ฝรั่งเศสเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามอย่างเป็นทางการ[4]ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๙[5]นั้น เมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลไทยก็สังเกตเห็นได้ว่าฝรั่งเศสสนใจในราชอาณาจักรเขมรซึ่งเป็นประเทศราชของไทยเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ

เขมรเป็นดินแดนที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน อันจะเป็นทางนำไปสู่ประเทศจีน โดยเฉพาะมณฑลยูนนานอันเป็นตลาดการค้าสำคัญ  นอกจากนี้เขมรมีความเจริญทางเศรษฐกิจจากการทำประมงชายฝั่งทะเลสาบขนาดใหญ่ และที่สำคัญการยึดครองเขมรได้จะช่วยส่งเสริมให้ญวณ(เวียดนาม)ใต้ซึ่งตกเป็นของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๔๑๐ มีฐานะมั่นคงและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากการเป็นแหล่งเสบียงอาหารที่สำคัญแก่กองทัพฝรั่งเศส และยังใช้เป็นบันไดสำหรับการขยายอาณาเขตทางตอนเหนือได้อีกด้วย

          ในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้ยึดครองเขมรในฐานะรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการในการลงนามในสนธิสัญญาฉบับวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๐ ผลก็คือ ความเป็นเจ้าประเทศราชของสยามเหนือเขมรก็สิ้นสุดลงนับแต่บัดนั้น  ไทยต้องเสียดินแดนส่วนใหญ่ของเขมรและเกาะอีก ๖ เกาะ คงไว้แต่เสียมราฐและพระตะบองที่ยังคงเป็นของไทย และสมัยต่อมา  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สยามก็ต้องเสียดินแดนอีกมากมายให้แก่ฝรั่งเศสคือ แคว้นสิบสองจุไท ในปี พ.ศ.๒๔๓๑[6] หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกระเหรี่ยงตะวันออก ในปี พ.ศ.๒๔๓๕ ซึ่งยังไม่เพียงเท่านั้น ฝรั่งเศสกับสยามมีข้อโต้แย้งกันหลายประการ จนความตึงเครียดระหว่างประเทศสุกงอมเต็มที่ เมื่อฝรั่งเศสและญวณภายใต้อารักขาของฝรั่งเศสพยายามสำรวจและรุกล้ำดินแดนของไทยในแถบอินโดจีน รัฐบาลสยามจึงส่งข้าหลวงและกำลัง      ทหารเข้าเตรียมป้องกันชายแดนในพื้นที่ดังกล่าว รัฐบาลฝรั่งเศสจึงถือพฤติการณ์ของรัฐบาลสยามเช่นนั้นว่าเป็นการเตรียมทำสงครามกับฝรั่งเศส  จึงแต่งตั้งให้ นายออกุส ปาวี (Auguste Pavie) เป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงสยาม  เพื่อเจรจา ความเมืองเรื่องรุกรานดินแดน อย่างเป็นทางการกับ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น  แต่ไม่อาจตกลงกันได้

เมื่อเป็นเช่นนั้น องค์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศจึงทรงเสนอให้ตั้งอนุญาโตตุลาการโดยความร่วมมือของสหรัฐอเมริกาขึ้นเพื่อวินิจฉัยปัญหาต่างๆที่ฝรั่งเศสและสยามเห็นไม่ลงรอยกัน แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสเห็นว่าใช้วิธีทางการทูตอาจไม่ได้ผล จึงเริ่มการ พิจารณาข้อเสนอต่างๆของสยามบนเรือปืน โดยส่งเรือรบ เลอ ลูแตง (Le Lutin) จอดรอคำตอบของรัฐบาลสยามหน้าสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๓๖และส่งทหารเข้าบุกรุกดินแดนต่างๆบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดการปะทะ กับของกำลังฝ่ายไทยตามจุดต่างๆ ซึ่งเมื่อเกิดความเสียหายฝรั่งเศสก็นำมาเป็นข้อเรียกร้องเอากับรัฐบาลสยามให้ยอมตาม มิฉะนั้นจะถอนคณะทูตออกจากกรุงเทพฯและส่งเรือรบอีกลำเข้าสมทบกับเรือลูแตง

            ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ รัตนโกสินทร์ศกที่ ๑๑๒ เวลาใกล้ค่ำ เรือรบของฝรั่งเศส ๒ ลำได้แล่นเข้าสู่ปากน้ำ เมืองสมุทรปราการ  จนเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้นระหว่างเรือรบของฝรั่งเศสกับ สยาม ยังผลให้เกิดความเสียหายขึ้นทั้งสองฝ่าย เรียกว่า วิกฤตกาณ์ ร.ศ.๑๑๒ ฝรั่งเศสฉวยโอกาสความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่กองเรือฝรั่งเศสนี้ยื่นคำขาดในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ให้รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยอมจำนนต่อข้อเรียกร้องหลายประการ โดยให้ตอบภายใน ๔๘ ชั่วโมง มิฉะนั้น เรือรบฝรั่งเศสทุกลำจะถูกสั่งให้ระดมยิงพระบรมมหาราชวังอย่างไม่ปราณี[7] ทั้งนี้ โดยเรียกร้องให้ไทยเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงของเกาะต่างๆตั้งแต่ ภาคเหนือของลาว ไปจนถึงพรมแดนเขมร รื้อถอนด่านทั้งหลายบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ลงโทษ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่มีส่วนยิงปืนที่ปากน้ำ ชดใช้เงินค่าเสียหายแก่ชาวฝรั่งเศส ๒ ล้านฟรังค์ และต้องวางเงินประกันทันทีว่าจะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้งหมด ๓ ล้านฟรังค์ .. รัฐบาลไทยตกลงตามข้อเรียกร้องทั้งหมดเว้นแต่ข้อแรก  ฝรั่งเศสจึงนำเรือรบปิดอ่าวไทยและตั้งข้อเรียกร้องเพิ่มเติม

ในเวลาต่อมา ฝรั่งเศสใช้กลยุทธเรียกร้องข่มขู่และกดดันรัฐบาลสยาม จนมีการลงนามใน หนังสือสัญญากรุงสยามกับฝรั่งเศส แต่วันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๒ อันมีผลให้ไทยสูญเสียดินแดนบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเกาะต่างๆในแม่น้ำนั้น ซึ่งหมายถึงราชอาณาจักรลาวเกือบทั้งหมดในปีนั้นเอง นอกจากนี้ฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลสยามจะรีบปฏิบัติตามสัญญาทุกประการแล้ว ฝรั่งเศสก็ยังคงยึดจันทบุรีไว้ต่อไปอีกนานถึง ๑๐ ปี และใช้จันทบุรีเป็นเครื่องต่อรองในการเข้าครอบครองดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงอีกในเวลาต่อมา

ในที่สุดได้มีการลงนามใน หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ (ค.ศ.๑๙๐๔)[8] ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗  เพื่อแลกกับการที่ฝรั่งเศสจะถอนทหารจากจันทบุรีแต่สยามต้องสละสิทธิทั้งหมดเหนือดินแดนบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ได้แก่ เมืองหลวงพระบาง มโนไพร  และจำปาศักดิ์ ดินแดนทางใต้ของเทือกเขาดงรัก ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้เองที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารและมีข้อกำหนดในการกำหนดเส้นเขตแดนในส่วนนี้ว่าต้องยึดสันปันน้ำเป็นเกณฑ์[9] และไม่เพียงแต่เท่านั้น เพื่อเป็นการประกันว่ารัฐบาลสยามจะยอมยกอธิปไตยเหนือดินแดนบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้ เมื่อถอนทหาร    ออกจากจันทบุรีแล้ว  กองกำลังฝรั่งเศสก็เข้ายึดตราดเป็นประกันแทนต่อไปอีก

 

รัฐบาลในองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงจำต้องยก พระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณ (เขมรส่วนใน - มณฑลบูรพา)ให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับอธิปไตยของสยามเหนือตราด ด่านซ้าย และเกาะต่างๆที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดที่ฝรั่งเศสเข้าครอบครองไว้คืนให้แก่สยาม โดยการลงนามใน หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ (ค.ศ.๑๙๐๗)[10] พร้อมสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดนติดท้ายหนังสือสัญญาลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ.๑๒๕ ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้เองที่เป็นที่มาของคณะกรรมการปักปันเขตแดนที่จัดทำ แผนที่ ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ขึ้น และต่อมากัมพูชาใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าในแผนที่นี้ปราสาทพระวิหารและเขาพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา[11] 

 

สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสสองฉบับสุดท้ายที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ กล่าวคือ หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ณ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒ (ค.ศ.๑๙๐๔) และ หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๕ (ค.ศ.๑๙๐๗) นี้ มีความเกี่ยวพันและมีความสำคัญในการพิจารณาเขตแดนอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ด้วยหนังสือสัญญาฉบับแรก ซึ่งลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔)นั้น ในข้อ ๑ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเส้นเขตแดนว่าให้ใช้แนวสันปันน้ำ(Watershed)[12]เป็นเกณฑ์ และเพื่อประโยชน์ในการกำหนดเขตแดนเช่นว่านั้น ข้อ ๓ ของหนังสือสัญญาดังกล่าวก็ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งตั้งคณะกรรมการผสมในการกำหนดเขตแดนขึ้นด้วย[13]

คณะกรรมการผสมประกอบขึ้นด้วยสมาชิกฝรั่งเศสและสยาม มีหน้าที่ปักปันเขตแดนในท้องที่หลายแห่งรวมทั้งด้านตะวันออกของทิวเขาดงรักที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหารด้วย โดยคณะกรรมการผสมดังกล่าวได้มีการสำรวจปักปันและกำหนดเส้นเขตแดนเสร็จสิ้นแล้วโดยไม่ปรากฎว่าใช้สิ่งใดเป็นเส้นกำหนดเขตแดนนั้น อีกทั้งคณะกรรมผสมชุดนี้ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการปักปันเขตแดนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารก็ยังมิได้จัดทำแผนที่ขึ้นแต่อย่างใด[14]

ต่อมา โดยผลของหนังสือสัญญาฉบับที่สอง ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๐ (ค.ศ.๑๙๐๗) พร้อมสัญญาว่าด้วยปักปันเขตร์แดนติดท้ายหนังสือสัญญา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปักปันผสมขึ้นอีกเป็นชุดที่สองซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปักปันเขตแดนเกี่ยวกับทิวเขาดงรักทั้งหมดจากจุดหนึ่งในซีกตะวันตกตลอดไปทางตะวันออกของเขาดงรัก ในส่วนของบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารนั้นคณะกรรมการปักปันผสมชุดนี้ไม่ได้ดำเนินการปักปันด้วยเพราะคณะกรรมการปักปันผสมชุดแรกตามหนังสือสัญญา ค.ศ.๑๙๐๔ ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว เมื่อดำเนินการปักปันเขตแดนเสร็จสิ้นแล้ว รัฐบาลสยามซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้เพียงพอในการจัดพิมพ์แผนที่ได้ร้องขออย่างเป็นทางการให้พนักงานสำรวจพื้นที่ของฝรั่งเศสจัดทำแผนที่อาณาบริเวณนี้ขึ้น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ดำเนินการจัดทำแผนที่นี้แต่ฝ่ายเดียวมีทั้งสิ้น ๑๑ ฉบับ ซึ่งครอบคลุมถึงเขตแดนส่วนใหญ่ระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยมีแผนที่ฉบับหนึ่งเกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหาร เรียกว่า แผ่นดงรัก โดยมีเส้นเขตแดนที่มิได้เป็นไปตามเส้นสันปันน้ำอันส่งผล ให้ บริเวณปราสาทพระ วิหารทั้งหมดรวมทั้งเขตปราสาทอยู่ทางด้านกัมพูชา[15] ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๐๒ รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นแผนที่ฉบับนี้มาพร้อมกับคำฟ้องในคดีปราสาทพระวิหาร ณ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งอ้างเป็น แผนที่ภาคผนวก ๑ หรือ Map Annex I”



[1] โปรดดู  ธิดา สาระยา, เขาพระวิหาร, พิมพ์ครั้งแรก,(กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ, ๒๕๓๕), หน้า ๙๖

[2] อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาลับฉบับดังกล่าวเป็นอันต้องตกเป็นโมฆะในภายหลัง โดยผลของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับฝั่งเศส ฉบับลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๐ ซึ่งจะกล่าวต่อไป (ผู้เขียน)

[3] หอสมุดแห่งชาติ, จดหมายเหตุ ร. ๔, เลขที่ ๑๑๔ เรื่องสัญญาทางพระราชไมตรีเมืองเขมร,  จ.ศ. ๑๒๒๕  อ้างถึงใน เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตย สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม), พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๒๘๙

[4] ... ข่าวการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่าง เซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตอังกฤษกับราชสำนักไทย เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๘ ล่วงรู้ไปถึง กงต์ เดอ วาลูว์สกี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยนั้น ทางการฝรั่งเศสจึงเกิดความกังวลใจ จึงแต่งตั้ง ชาร์ล เดอ มงตีญี เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มมาเจรจากับไทย ในปีเดียวกัน... โปรดดู เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตย สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม), พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๑๕

[5] A. BerjoanLe,  Siam et les accords franco-siamois, p ๕๙ อ้างถึงใน เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตย สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม), พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๑๕

[6]...เมื่อฝรั่งเศสยึดญวณได้แล้ว จึงฉวยโอกาสเรียกร้องแคว้นสิบสองจุไทและหัวพันทั้งห้าทั้งหกโดยอ้างว่าตนเป็นผู้สิบสิทธิญวณอีกต่อหนึ่ง... ดู เพ็ญศรี ดุ๊ก, การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตย สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม), พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๔๔), หน้า ๔๘

 

[7] ไกรฤกษ์ นานา, ประวัติศาสตร์นอกพงศาวดารรัชกาลที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงในโลกตะวันตก, พิมพ์ครั้งที่ ๒, (กรุงเทพ : มติชน, ๒๕๔๗), หน้า ๗๓

[8] หนังสือประชุมกฎหมายประจำศก เล่มเพิ่มเติม หน้า ๑๒๑

[9] ข้อ๑ หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ทำเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๒ ...เขตร์แดนในระหว่างกรุงสยามกับกรุงกัมพูชานั้น ตั้งต้นแต่ต้นปากคลองสดุงโรลูออสข้างฝั่งซ้าย ทะเลสาปเปนเส้นเขตร์แดนตรงทิศตะวันออก ไปจนบรรจบถึงคลองกระพงจามตั้งแต่นี้ต่อไปเขตร์แดนเป็นเส้นตรง ทิศเหนือขึ้นไปจนบรรจบถึงภูเขาพนมดงรัก ต่อนั้นไป เขตร์แดนเนื่องไปตามแนวยอดภูเขาปันน้ำ...

คำสำคัญ (Tags): #ปราสาทพระวิหาร
หมายเลขบันทึก: 244530เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ ถึงรูปจะไม่มีแต่ตั้งใจนำเสนอสาระที่ได้จากการค้นคว้าอย่างดีที่สุดนะครับ.. ว่าแต่ มีใครอ่านแล้วเกลียดฝรั่งเศสบ้างมั้ยครับ .. อยากเรียนว่านั่นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากบริบททางการเมืองในยุคสมัยนั้นนะครับ .. ในปัจจุบันถ้าหากจะมีประเทศใดมารุกรานเราก็คงไม่ชัดเจนเท่าที่ปรากฎในบทความนี้แล้ว สิ่งที่ดีที่สุด คือ คนไทยรู้รักสามัคคี หันหน้าปรับความเข้าใจกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดนะครับ ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท