เมื่อวานนี้ 18 เม.ย. 49 ดิฉันได้รับเกียรติและโอกาสอันดีอีกคราหนึ่ง ในการทำหน้าที่เป็น คุณ FA ที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มน. ทั้งวัน ตั้งแต่ เวลา 9.30 - 16.00 น.
อาจารย์ ดร.กรองกาญจน์ ชูทิพย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลพื้นฐานแก่ดิฉัน เพื่อเตรียมการเบื้องต้นก่อนถึงวันจริงว่า คาดหวังจะให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งคราวนี้จัดให้เฉพาะอาจารย์ เข้าใจความหมายของ KM โดยจัดให้ดิฉันบรรยายพร้อมทั้งซักถามครึ่งวันเช้า ส่วนช่วงบ่ายอยากให้จัด Work shop KM เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
ดิฉันบอกไม่ถูกเหมือนกันว่า ความคาดหวังในผลสัมฤทธิ์ของการทำหน้าที่เป็น FA ครั้งนี้ มากน้อยแค่ไหน มันก้ำกึ่ง ประมาณ 50 : 50
50 แรก หมายถึง ดิฉันคาดว่าน่าจะทำให้อาจารย์เข้าใจได้ดี เพราะคณะนี้ เป็นที่เลื่องลือ และยอมรับกันทั้ง มน. ว่าเป็นคณะที่มีพื้นฐานด้านประกันคุณภาพการศึกษาดีมากถึงดีที่สุด ประกอบกับคณาจารย์ล้วนเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาสูง อีกทั้งวัยวุฒิ ก็ถือว่าเป็นช่วงวัยที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีวุฒิภาวะสูง
50 หลัง เป็นความรู้สึกตรงกันข้าม คือ คาดว่าอาจไม่สามารถทำให้อาจารย์เข้าใจได้ และก็ด้วยเหตูผลเดิม คือเกรงว่า ความเชื่อมั่นและยึดมั่นในสิ่งที่เป็นอยู่ มีอยู่ จะขวางกั้นตั้งแต่ ความรู้สึกสนใจ หากสนใจแล้ว ยังอาจขวางกั้นการฟัง หากฟังแล้วก็อาจมีผลต่อการทำความเข้าใจในที่สุด
ลองเดาซิค่ะว่า อาจารย์ท่านใดเอ่ยที่มาในที่ประชุมเป็นท่านแรก?
แขกผู้ไม่ได้รับเชิญ ผู้ซึ่งสร้างความปิติ ยินดียิ่ง แก่ผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน นับตั้งแต่ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ "ผศ.ดร.รสรินทร์ วิไลรัตน์" รองคณบดีฝ่ายวิชาการ อาจารย์ ดร.กรองกาญจน์ ชูทิพย์ เรื่อยจนมาถึงดิฉันเองด้วย ท่านผู้นั้นก็คือ ท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ "ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร" นั่นเอง
ช่วงเช้า ดิฉันใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในการบรรยาย ที่จริงไม่อยากใช้คำว่าบรรยาย เพราะดูเป็นวิชาการมากเกินไป อยากจะใช้คำว่าเล่าให้ฟังมากกว่า เพราะเรื่องที่ดิฉันเล่า ไม่มีในตำราเล่มไหนๆ ดิฉันสร้างเรื่องจากประสบการณ์ทั้งการอ่าน การฟัง การพูดคุย การคิดและการเขียน มาช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่ยาวนานนักที่ได้รู้จักกับ KM รวมกับเรื่องของ QA ที่ดิฉันรู้จักมายาวนานกว่า ให้เป็นเรื่องเดียวกันที่มีความสัมพันธ์กัน ผู้รับฟังคะเนว่ามีประมาณ 30 ท่าน
แม้ว่าเรื่องที่เล่าจะจบพอดีเวลาเที่ยง แต่ดูเหมือนผู้ฟังซึ่งมีธรรมชาติของผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เช่นอาจารย์ทั้งหลาย ยังไม่ยอมหยุด มีคำถามยิงเข้ามาถามวิทยากร ตูมๆ อีก คำถามดีๆทั้งนั้น อย่างที่น้อยครั้งดิฉันจะเคยประสบ เป็นช่วงที่ดีเหลือเกิน ตัวอย่างเช่น
เรียนถามท่านวิทยากร ค่ะ
" ถ้าเราฟังแบบ Deep Listening โดยไม่ต้องตัดสิน ไม่วิเคราะห์ ไม่โต้ตอบ แล้วเรื่องนั้นๆ จะได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร? "
เป็นคำถามที่ดีจริงๆ เท่าที่จำได้ ดิฉันตอบไปว่า " ต้องขอโทษด้วย ที่ดิฉันลืมเน้นไปว่า ในการฟังแบบ Deep listening ขณะมีผู้กำลัง Story telling เราพึงระลึกเสมอว่า เรื่องที่เล่า ไม่ควรเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา แต่ให้เล่าเรื่องความสำเร็จ ดังนั้นเราต้องตั้งใจฟังว่า ความสำเร็จนั้นเกิดได้ด้วยเหตุใด วิธีใด เพื่อนำประเด็นความสำเร็จนั้น ลองกลับไปปฏิบัติด้วยตนเอง การปฏิบัติด้วยตนเอง การปรับใช้ความรู้นั้นให้เหมาะกับบริบทของตนเอง จะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด " นอกจากนี้ ท่านอาจารย์วิบูลย์ ยังได้ช่วยเสริม ช่วยขยายความในประเด็นนี้ให้ชัดเจนขึ้นอีก ถ้าอาจารย์ยังจำได้ หรือท่านที่ฟังในวันนั้นยังจำได้ ดิฉันขอความกรุณาเพิ่มเติมในข้อคิดเห็นด้วยนะคะ
อีกคำถามหนึ่ง ว่า " In practice & from your own experience, when you use "Dialogue" in manangement, How do you overcome cultural barrier of Thai people, in term of respect and being non-judgemental to other? I found that people are still too shy or scare to talk or giving comments when higher authorities are present, and being judgemental of other seem to happen all the time away of Thai. How do you go about and take care of those attitudes? "
ดิฉันไม่ได้ตอบเป็นภาษาอังกฤษนะค่ะ (ไม่สามารถจริงๆ) ดิฉันตอบไปว่า "ในฐานะผู้บริหารอย่างดิฉัน ดิฉันใช้อยู่ 2 วิธี คือ
ช่วงบ่าย มีอาจารย์หลายท่านเริ่มติดภารกิจ ซึ่งนั่น นับเป็นโชคสำหรับ FA เพราะการจัดกระบวนการกลุ่มกับคนจำนวน 10 คน (ที่สนใจจริงๆ) เป็นเรื่องที่สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ง่าย เหมือนกับการสอนนิสิตกลุ่มเล็ก อาจารย์ย่อมสามารถดูแลถ่ายทอด ได้ดีกว่าดูแลนิสิตกลุ่มใหญ่ หรือหลายกลุ่ม ดังนั้น สิ่งที่เกินคาด สำหรับการทำหน้าที่เป็น FA ของดิฉันในวันนั้นจึงเกิดขึ้นจริงๆ
ขั้นแรกสุด ดิฉันเริ่มด้วยการให้เข้าล้อมวงเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันหา KV (what is the main issue you have to deal with ? ) เพราะหัวข้อ การใช้ KM เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ที่กำหนดไว้แต่แรกมันกว้างเกินไป ดิฉันขอให้อาจารย์ทุกท่านเขียนสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นปัญหามากที่สุดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนลงในกระดาษ (ให้เวลาคิดด้วยตนเอง) เมื่อทุกท่านเขียนเสร็จ ดิฉันขอให้แต่ละท่านนำเสนอแก่วงประชุม ปรากฏว่า เรื่องที่เป็นปัญหาตรงกันแทบทุกท่าน คือ "การจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มใหญ่ 100 - 500 คน เป็นปัญหามากที่สุด
จากนั้น ดิฉันขอให้กลุ่มช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร อาจารย์ทุกท่านต่างทราบดีว่า ไม่มีทางปรับกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มเล็กได้แน่ สถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ทราบจะทำอย่างไร? ดิฉันจึงตั้งคำถามใหม่ว่า ภายใต้สถานการณ์อย่างนี้ อาจารย์เห็นบ้างไหมว่า มีอาจารย์ท่านใดที่สามารถรับมือได้เป็นอย่างดี และเป็นที่พึงพอใจของนิสิตด้วย ทุกท่านต่างเอ่ยชื่อ อาจารย์ท่านหนึ่งขึ้นมา (เสียดายอาจารย์ท่านนั้นไม่ได้เข้าร่วมเสวนาด้วย) ดิฉันจึงเสนอแนะว่า ถ้างั้น เรื่องที่เราจะคุยกัน เป็นเรื่อง เทคนิคการสอนนิสิตกลุ่มใหญ่ จะดีไหมค่ะ อาจารย์ทุกท่าน get ทันที ดิฉันจึงทวนอีกหน่อยแก่ทุกท่านว่า การ Dialogue ที่ดี เมื่อหาหัวข้อได้ตรงกับกลุ่มเสวนาแล้ว ขอให้ทุกท่านเล่าความสำเร็จของแต่ละท่านในการสอนนิสิตกลุ่มใหญ่ ขอให้ผู้ฟังตั้งใจฟัง และขอให้มีคุณลิขิตด้วย ซึ่งอาจารย์กรองกาญจน์ยินดีรับหน้าที่นี้
โอ! ดิฉันไม่ทราบจะกล่าวได้อย่างไรถูกว่า เสียดาย เสียดาย จริงๆ ที่ไม่ได้บันทึกวีดีโอเทป การสนทนาในวันนั้นไว้ มันช่างวิเศษสุด อาจารย์แต่ละท่านพรั่งพรูเทคนิคการสอนของตนออกมาอย่างมากมาย อย่างต่อเนื่อง และอย่างเป็นธรรมชาติ มากๆ จนแม้กระทั่ง หากมีใครลืมตัว เผลอพูดสิ่งที่เป็นปัญหาออกมา ก็จะมีผู้เตือนว่า เรากำลังพูดคุยเรื่องความสำเร็จนะ ไม่ใช่พูดปัญหา ดิฉันในฐานะ FA รู้สึกปลื้มสุดๆ อาจารย์จึงนับป็นกลุ่มบุคลากรที่สอนง่ายจริงๆ (ทั้งเกินคาด ทั้งผิดคาด) ดิฉันขอร้องให้อาจารย์กรองกาญจน์ เผยแพร่เคล็ดลับวิชาที่ได้ใน Blog ด้วย เพราะดิฉันเชื่อแน่ว่า จะมีผู้สามารถต่อยอดความรู้นี้ได้อีก จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้อีกมากมายมหาศาล
มันเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากว่า ทำไม Tacit จะไหลเข้าสู่ Tacit ในทางตรง (direct) ได้ดีกว่า จาก Tacit ผ่าน Explicit สู่ Tacit (ดิฉันหมายถึงต้องฟังเอง จดบันทึกให้อ่านอย่างไรก็ไม่เหมือน) สิ่งที่เราได้สัมผัสเองจริงๆ ในช่วงเวลาของการ Dialogue (สุนทรียสนทนา) ไม่ใช่เฉพาะความรู้แต่มันผสมกับความรู้สึกด้วย ความรู้สึกที่เข้าถึงความรู้นั้น ช่วยเพิ่มคุณค่าที่ควรแก่การจดจำและนำไปใช้งาน
ท้ายที่สุด ดิฉันขอให้ทุกท่านทำ AAR ด้วย ประเด็นที่ดิฉันจับความได้ชัดเจน คือ อาจารย์ทุกท่านต่างมีใจตรงกันที่ว่า ความรู้ KM ที่ผ่านการปฏิบัติจริง ช่วยให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ มีอาจารย์หลายท่านที่สัญญาว่า จะลองเขียน Blog ด้วย
ดิฉันยังรอ รออยู่ด้วยใจจดจ่อ รอว่า Knowledge asset ที่ได้ในวันนั้น จะได้เผยแพร่บน Blog อาจารย์ที่ไม่สามารถเข้าร่วมในวันนั้น จะได้รับทราบบ้าง พร้อมๆ กับเป็นวิทยาทานแก่อาจารย์และผู้สนใจท่านอื่นๆ ในโลกนี้.................
เรียนท่านอาจารย์มาลินีครับ
สวัสดีค่ะ อาจารย์สมลักษณ์
กลับมาแล้วหรือค่ะ สนุกไหมค่ะที่บ้านผู้หว่าน ชาว Blog คิดถึงทุกคนเลยค่ะ
แหม ! มาพร้อม idea บรรเจิดเลยนะค่ะ ดิฉันเองก็คิดว่า หากมีวง เทคนิคการสอนนิสิต จะเป็นวง Cop ที่ดีมากเลยค่ะ ช่างประจวบกันพอดีกับกิจกรรม KM ที่ มน. อ.ดร.กรองกาญจน์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ที่ทั้ง อ.วิบูลย์ และดิฉัน เห็นพ้องต้องกันว่า เป็นผู้ที่มีแววระยิบระยับ ที่จะเป็นโต้โผในเรื่องนี้ได้ และดิฉันยังค้นพบดาวจรัสแสงอีกหลายดวง ณ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะฉะนั้น คณะนี้ น่าจะเป็นจุดตั้งต้นที่ดีค่ะ
เป็นบันทึกแห่งความสำเร็จของคุณเอื้อ มน. คะ :)
ดิฉันชอบที่อาจารย์ตอบผู้ฟังเรื่อง deep listening มากคะ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมักจะฟังไปและคิดไปในแง่มุมมองของตนเอง ไม่มองเข้าไปในใจของผู้พูด แล้วบ่อยครั้งก็จะโต้แย้งและนำเสนอในมุมของตนเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่ deep listening
พูดๆ ไปแล้ว deep listening นี่ก็เหมือนกับการที่แฟนเราพูดกับเรา เราก็มักจะพยายามตั้งใจฟังด้วยใจปิติ และยิ่งถ้าเป็นแฟนกันใหม่ๆ ก็จะถาม เช่น ทำไมถึงชอบฉันละ ชอบฉันตั้งแต่เมื่อไร อะไรทำนองนี้ :) ดิฉันว่า deep listening นี่คงใช้ในการทำ couple therapy แน่ๆ เลยคะ :)
ดิฉันเจอ link เกี่ยวกับ deep listening ดีๆ คะ เลยนำมา share ให้คะ http://www.refresher.com/!deeplistening.html
อาจารย์จันทวรรณต่อยอดความรู้ความเข้าใจได้ดีจริงๆค่ะ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบกับเรื่องของความรักในวัยหนุ่มสาว
ช่วยเตือนสติดิฉันในแง่ตัวอย่างเปรียบเทียบ เพราะดิฉันมักเปรียบเทียบในมุมมองของคนที่ผ่านวัยหนุ่ม สาว มาแล้ว ว่า
"เหมือนเวลาที่ท่านคุยกับคนที่บ้าน ถ้าพูดกันทีไร เถียงกันทุกที แสดงว่า ท่านต้องฝึก Deep Listening แล้วละค่ะ"
ต่อไป ถ้าผู้ฟังเป็นคนหนุ่ม คนสาว ต้องขอยกตัวอย่างของ อ. จันทวรรณ น่าจะ get กว่า
ถ้ารุ่นราวคราวเดียวกับดิฉัน ตัวอย่างอย่างหลัง ถึงจะ work นะค่ะ
อาจารย์วัลลภคะ เขียนแบบนี้ ใช้ได้หรือยังค่ะ?