ชีวิตที่พอเพียง : ๖๙๖. ยอมรับว่าล้าหลัง


 

          โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วเกินกว่าผมจะตามทัน   ผมจึงเจียมตัวและยอมรับ ว่าตนเองเป็นคนล้าหลัง   และผมคิดว่า นี่คือสัจจธรรมของชีวิตของคนทุกคน   รวมทั้งชีวิตขององค์กรด้วย  

          ผมช่วยตัวเองด้วยการตะเกียกตะกายสุดชีวิต   ที่จะไม่ให้ตัวเองล้าหลังจนหมดสภาพ ไม่มีประโยชน์อีกต่อไป   ลงทุนซื้อเครื่องมือสื่อสารและฝึกใช้   สำหรับค้นหาความรู้จากแหล่งที่หลากหลาย และติดต่อสื่อสาร    นอกจากนั้น ยังลงทุนซื้อหนังสือดีๆ มาอ่าน   แค่นี้ก็หมดแรงหมดเวลาหนึ่งวันไปอย่างรวดเร็ว    ผมโชคดีมีคนช่วยขับรถ   จึงใช้เวลาบนรถในการตะเกียกตะกายได้    ผมสังเกตว่า รายการทีวีต่างๆ ให้ประโยชน์น้อย   จึงเลิกดูทีวีเสียเลย    เอาเวลามีตะเกียกตะกายทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงอย่างสนุกสนาน  

         เอาเรื่องนี้มาเล่า เพื่อจะบอกว่า สังคมต้องมีระบบช่วยเหลือผู้คนไม่ให้ล้าหลัง     ย้ำ คำว่าระบบนะครับ   คือต้องมีนโยบายและมาตรการอย่างเป็นระบบ   และที่จริงมันก็คือระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) นั่นเอง    ผมมองว่า “อุตสาหกรรม” เรียนรู้ตลอดชีวิต นี้มีขนาดใหญ่มาก    และเป็นโอกาสของระบบอุดมศึกษาจะเข้ามาทำหน้าที่รับใช้สังคมในมิติใหม่    คือมองว่าบัณฑิตที่จบไปเพียง ๕ – ๗ ปี ก็จะต้องการการ retooling หรือติดอาวุธใหม่ๆ    เพื่อให้มี competency สำคัญในการทำงาน  

          ที่จริงนี่คือหลักการของระบบ CME (Continuting Medical Education) ที่วงการแพทย์ไทยฮือฮาเอามาใช้ระยะหนึ่งแล่วก็ซาไป   แต่วงการพยาบาลนำเอา มาใช้อย่างต่อเนื่อง    เกิดการกระตุ้นให้พยาบาลตื่นตัวเข้าประชุมต่างๆ ที่ให้คะแนนการศึกษาต่อเนื่อง    สร้างความก้าวหน้าทางวิชาการให้แก่วงการพยาบาลไทยเป็นอันมาก 

          ในวงการมหาวิทยาลัยต่างประเทศเขาตระหนักในปรากฏการณ์ล้าหลังนี้มานานหลายสิบปีแล้ว    ดังกรณีที่เขามีกติกาว่า อาจารย์ที่ทำงานมาเกิน ๗ ปี มีสิทธิ์ขอลาไปเพิ่มพูนความรู้หรือประสบการณ์ ที่เรียกว่า sabbatical leave   คล้ายๆ การไปเติมประจุวิชาการใหม่ๆ หรือที่เราเรียกว่า ชาร์จ แบตเตอรี่   ซึ่งถ้าเอาไปใช้เป็นช่วงเวลาของการแสวงหาเทคนิคหรือความรู้ใหม่ๆ อย่างมีแผน   ก็จะช่วยให้การทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมีชีวิตชีวาสนุกสนาน 

          แต่ผมโชคดีกว่านั้น   ผมมี sabbatical leave ตลอดปี มาเป็นเวลากว่า ๑ ปีแล้ว    โดยจัดระบบชีวิตตัวเองให้ “ทำงานแบบไม่ทำงาน”   คือทำงานกำกับดูแล ไม่ทำงานบริหาร ไม่ลงมือทำงานระดับปฏิบัติ   ไม่เป็นเจ้าของงาน   หรืออาจกล่าวว่าไม่เตะฟุตบอลล์ แต่ทำหน่าที่ปรบมือเชียร์อยู่ริมสนาม  

 

         โชคดีจริงๆ ในการทำหน้าที่เช่นนี้ ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับน้องๆ (และลูกๆ) ที่เก่งอย่างหาตัวจับยาก   การทำหน้าที่กองเชียร์ให้แก่คนเก่งเช่นนี้เอง   เป็นตัวช่วยไม่ให้ผมล้าหลัง

 

วิจารณ์ พานิช
๘ ก.พ. ๕๒

 

หมายเลขบันทึก: 244093เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบคำสอนของอาจารย์ ค่ะ

เรียนศาสตราจารย์วิจารณ์ที่เคารพ

อาจารย์ไม่เพียงปรบมือเชียร์เท่านั้นค่ะ แต่อาจารย์หาสนาม และเกมส์ดี ๆ ที่เล่นแล้วคะแนนในการเล่นนั้นมีความหมายต่อสังคมวงกว้างมาให้ผู้เล่นแบบหนูด้วย นอกจากเล่นอย่างสนุก (เมามัน)แล้วเกิดความสุข ปิติ และพัฒนาได้อีกด้วยค่ะ นี่หนูก็เพิ่งกลับมาจากราชภัฎกำแพงเพชร ไปติดอาวุธทางปัญญาให้ครูปฐมวัยมาค่ะ และทำให้ครูปฐมวัยรับปากว่าจากนี้จะพัฒนากันเองต่อไปเพียงขอให้หนูมาเป็นโคชให้คำปรึกษา นี่คือผลลัพท์ style การทำงานของอาจารย์ที่สุดท้ายเขาจะต้องพึ่งตนเองได้เป็นสำคัญ คือการยั่งยืนโดยไม่ต้องมีโจทย์ยั่งยืนมาเป็นตัวนำค่ะ

ด้วยความศรัทธาค่ะ

ประภาพรรณ

ชอบงานเขียนของอาจารย์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท