ชีวิตที่พอเพียง : ๖๙๕. อย่าแสร้งทำเป็นว่ารู้


ความ “รู้ว่าไม่รู้” คือเคล็ดลับในชีวิต

 

          นั่นคือวลีที่ผมใช้เตือนตัวเอง   ยิ่งเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ตำแหน่งที่ชวนให้คิดว่ามีอำนาจมากขึ้น คนเราอาจจะต้องทำตัวเป็น “ผู้รู้” ให้สมภูมิ   หรือให้สอดคล้องกับคนรอบข้างที่เข้ามาป้อยอ

          แต่ผมเป็นคนขวางโลก   ผมไม่ยอมให้ตัวเองหลงคำป้อยอหรือท่าทางซูฮก (จริงหรือวะ!?)   ผมบอกตัวเองว่างานต่างๆ ที่ผมทำอยู่นี้   คุณค่าเพิ่มของผมอยู่ที่ “ความไม่รู้จริง” ของผมนี่แหละ   ทำให้บทบาทของผมเป็นบทบาทของผู้ให้คำถาม มากกว่าบทบาทของผู้ให้คำตอบ หรือกำหนดวิธีการต่างๆ  

          ผู้ให้คำตอบหรือกำหนดกติกาคือผู้รู้ หรือทำตัวเป็นผู้รู้   แต่ผมเป็นผู้ไม่รู้จริง หรือเป็นคนขี้สงสัย ไม่เชื่อว่าตัวเองรู้จริง   จึงไม่ชอบทำหน้าที่กำหนดกติกา    แต่พออายุมากเข้า ก็หนีหน้าที่นี้ไม่พ้น  

          ผมไม่ค่อยสนใจตัวกติกามากนัก   แต่สนใจว่าจะมีการนำเอากติกาไปใช้ในบริบทที่แตกต่างกันอย่างไร   จึงจะได้ประโยชน์ต่อองค์กร และต่อสังคม อย่างแท้จริง    ในหลายกรณีผมพบว่าตัวกติกาหรือกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ    เพราะจะมีคนตีความแบบศรีธนญชัยหลบเลี่ยงกติกาจนได้    หรือมิฉนั้นก็ใช้วิธีโกงซึ่งหน้า 

          ในชีวิตการทำงานของผม ตัวความรู้เชิงทฤษฎี หรือ explicit knowledge ไม่เพียงพอ   ต้องการความรู้เกี่ยวกับบริบทนั้นๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย    กิจการงานจึงจะบรรลุผลอย่างแท้จริง

          เมื่อค่ำวันที่ ๗ ก.พ. ๕๒ ลูกชายพาแม่กับพ่อไปเลี้ยงอาหารทะเลที่ร้านเบียร์หิมะ ใกล้ๆ ตลาด บองมาเช่ ก่อนที่เขาจะขึ้นรถทัวร์ไปเชียงราย    ลูกชายถามเรื่องงานที่ผมทำ    เขาตั้งข้อสังเกตว่า “พ่อต้องเข้าใจนะ ว่าพ่อไม่รู้เรื่องรายละเอียดของงานที่พ่อกำลังทำอยู่”    โอ้โฮ! ลูกไม่เคยคุยกับพ่อเรื่องงานของพ่อเลยในชีวิต    คุยครั้งแรกก็ให้ข้อสังเกตสุดยอดเคล็ดลับในการทำงาน 

          ความ “รู้ว่าไม่รู้” คือเคล็ดลับในชีวิต 

วิจารณ์ พานิช
๘ ก.พ. ๕๒


หมายเลขบันทึก: 244090เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2009 10:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความไม่รู้เป็นประตูเปิดไปสู่การเรียนรู้...ประตูนี้จึงเปิดอยู่เสมอ..นี้เป็นความคิดของยายธีค่ะ...

เห็นด้วยครับ ทุกวันนี้ยิ่งอ่านหนังสือมากเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งรู้สึกตัวว่า ตัวเองมีสิ่งที่ยังไม่รู้เพิ่มขึ้นทุกวัน เป้าหมายในการอ่านหนังสือของผมในทุกวันนี้จึงไม่ใช่ “อ่านเพื่อให้ฉลาดขึ้น” แต่เปลี่ยนเป็น “อ่านเพื่อลดความไม่รู้” ของตัวเอง

ผมเชื่อว่ายังมีคนอีกมากไม่รู้ว่าทำไมตู้เย็นจึงเย็น ไม่รู้เสียงของเราไปดังอีกซีกโลกได้อย่างไรในการโทรศัพท์ ไม่รู้ว่าทำไมตู้เอทีเอ็มนับเงินให้เราถูกต้องเวลาไปกดเงิน

ชีวิตประจำวันของผู้คนมากมายในทุกวันนี้เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่รู้หรือรู้เพียงเล็กน้อย แล้วเราก็คลุกคลีกับสิ่งดังกล่าวอย่างกลมกลืน...โดยไม่เคยสงสัยถึงที่มาที่ไปของมันอีกต่อไป

ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า...ถ้าเราอยากรู้ทุกรายละเอียดในทุกสิ่งที่คลุกคลีด้วย จะเกิดอะไรขึ้น?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท