เสริมสร้างพลังอำนาจให้ตา-ยาย...ผ่อนคลายจากซีโอพีดี


โปรแกรมการพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพไม่สามารถดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหวังได้กับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ความแปรปรวนทางสุขภาพ

การดำเนินการโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดโดยอาศัยความรู้เชิงประจักษ์ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ในเขตรับผิดชอบอำเภอท่าวังผา  จังหวัดน่านได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีการขยายสู่ผู้ป่วย COPD  จำนวน 252 รายในปี 2550  โดยอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรทุกระดับทั้งในโรงพยาบาลและสถานีอนามัย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ปัญหาและอุปสรรคที่พบคือ  ผู้ป่วยบางรายมีความแปรปรวนทางสุขภาพ ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมพยาบาลและไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง  เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ  บางรายอาศัยอยู่คนเดียวตามลำพัง ไม่สามารถปฏิบัติการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถพ่นยาขยายหลอดลมได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งแบบฉุกเฉิน 1-2 ครั้ง/เดือน และอัตราการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลโดยไม่ได้รับการวางแผนภายใน 28 วันร้อยละ 9.60   ดรรชนีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ  คะแนนรับรู้พลังอำนาจพลังอำนาจในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง น้อยกว่าร้อยละ  50  มีรายงานผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนเหล่านี้  จำนวน 15 ราย

จากสภาพปัญหาดังกล่าวโรงพยาบาลท่าวังผาจึงได้นำ    กระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจแบบกลุ่ม  เพื่อเพิ่มพลังอำนาจในตนเองแก่ผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาควบคุมภาวะหายใจลำบากของตนเองซึ่งจะส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ดำเนินการระหว่างเดือน เมษายน กรกฎาคม 2551  ตามแนวคิดที่เสนอโดยกิบสัน (Gibson, 1993) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนได้แก่ 

1. การค้นพบสภาพการณ์จริง  (Discovering reality )  เป็นการทบทวนเกี่ยวกับโรคและการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดที่ผู้ป่วยปฏิบัติที่ผ่านมา

2. การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ  (Critical reflection)  ให้ผู้ป่วยวิเคราะห์ตนเองถึงสาเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดได้  ทบทวนผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้น

3. การตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสม (Taking change)  เรียนรู้จากต้นแบบโดยการรับฟังการเล่าประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดจากตัวอย่างผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีปัญหาซับซ้อน   ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เป็นผู้มีคุณภาพชีวิตที่ดี   ให้ผู้ป่วยวิเคราะห์ตนเอง โดยการเปรียบเทียบการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดที่ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นต้นแบบ  ให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด

4. การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ (holding on)  การติดตามการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องที่บ้าน มีการเล่าประสบการณ์ความสำเร็จ ปัญหา  อุปสรรคในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดให้กลุ่มรับฟัง ร่วมกันเสนอแนะแนวทางแก้ไข

     ผลการดำเนินการพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อาการหายใจลำบากลดลง  จำนวนครั้งของการมารักษาแบบฉุกเฉินลดลง  การนอนรักษาในโรงพยาบาลลดลง และสามารถดำรงชีวิตกับครอบครัวที่บ้านได้

ข้อเสนอแนะ โปรแกรมการพัฒนาคุณภาพบริการเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพไม่สามารถดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์ตามคาดหวังได้กับผู้ป่วยทุกรายเสมอไป   เนื่องจากบางรายที่ความแปรปรวนทางสุขภาพ มีปัญหาซับซ้อน จึงต้องดำเนินการที่แตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่มปกติโดยอาศัยทฤษฎีทางการพยาบาลและความร่วมมือจากบุคลากร ญาติ ในการเพิ่มพลังอำนาจให้ผู้ป่วยเหล่านั้นสามารถปฏิบัติกิจกรรมพยาบาลและได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้    (ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสภาการพยาบาล

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 243761เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2009 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ปัญหาผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุบ้านเรา ซับซ้อนจริงๆค่ะ รพ.น่านเองก็กำลังพยายามเช่นกันค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ

ดีใจที่มีวิธีการดีดี ที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้ เพราะเห็นเวลาที่มีอาการหอบแล้วสงสารค่ะ

เห็นผลงานพี่น้อยหน่าแล้ว คงเหนื่อยมากนะคะค่ะ น้องๆ APN ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ชื่มชมและเป็นกำลังใจให้กับพี่น้อยหน่านะคะ พี่หน่าเป็นแบบอย่างของ APN ในการทำงานของน้องๆโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัวค่ะ

อยากทราบปัจจัยเสี่ยงของผป.กลุ่มนี้ด้วย

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาทักทาย

ปัจจัยเสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

1. การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยสำคัญที่พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคนี้มีประวัติการสูบบุหรี่

2. การสูดควันพิษ เช่น ฝุ่นละออง สารมีพิษ ก๊าซต่าง ๆ

3. อายุ เพศ เชื้อชาติ สภาพแวดล้อมทางสังคมและอาหาร

4. จากการสูดควันโดยที่ไม่ได้สูบบุหรี่

5. อาชีพการงาน จะพบในบุคคลที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่โรงสีข้าว เผาถ่านหิน หรือช่างเชื่อม

6. การตอบสนองไวเกินของหลอดลม (hyperresponsive airways)

7. จากกรรมพันธุ์ ในคนที่พร่อง แอลฟา 1 แอนติทริฟซิน (Alpha 1 antitrypsin)

8. การติดเชื้อ พบว่าการติดเชื้อจากแบคทีเรียหรือไวรัสของทางเดินหายใจบ่อย ๆ

คุณตา คุณยาย คงมีพลังอีกมากครับ

แวะมาชื่นชมค่ะ..คุณน้อยหน่า

เป็นการทำงานจิตวิญญาณจริงๆค่ะ รู้สึกชื่นชมค่ะ

  • เป็นกระบวนการฟื้นฟูสุขภาพแบบยั่งยืนจริง ๆ ค่ะ
  • ไม่ว่าโรคไหน ๆ ก็อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก
  • โปรแกรมนี้น่าจะนำไปใช้ทั่วทุกสถานพยาบาลนะคะ

โครงการดีมากครับ น่ายกย่อง

จะเฝ้ามองคุณเดินไปข้างหน้าช้าๆอย่างมั่นคงด้วยความห่วงใย

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับข้อมูล พอดีคุณพ่อกำลังป่วยด้วยโรคนี้ อยู่พอดี ได้ความรู้เยอะเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท