ครูรุ่นใหม่เตรียม....เฮ สพฐ.เล็งรื้อโครงสร้างเงินเดือนครูรุ่นใหม่


ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือน เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพมากขึ้น


        

สพฐ.เล็งรื้อโครงสร้างเงินเดือนครูรุ่นใหม่

ดร.สมเกียรติ ชอบผล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ. เป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการครูในสังกัด สพฐ.เนื่องจากขณะนี้อัตราเงินเดือนครูที่เข้าใหม่ต่ำมาก โดยครูที่มีวุฒิปริญญาตรีจะได้รับเงินเดือนประมาณ 7,600 บาท ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ครูจะได้รับเงินเดือนสูงกว่านี้ และที่ผ่านมาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ก็ได้นำร่องเพิ่มเงินเดือนแรกเข้าให้แก่ครู ซึ่งทำให้โรงเรียนได้คนเก่งมาเป็นครู ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเงินเดือน เพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพมากขึ้น
 
“ประเทศมาเลเซีย ได้กำหนดเงินเดือนครูที่เข้าใหม่ และครูที่เกษียณอายุราชการห่างกันประมาณ 1.5 เท่า แต่ประเทศไทย เงินเดือนแรกเข้าจะได้ 8,000 แต่เกษียณฯจะได้ 35,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างกันมาก ดังนั้นถ้าปรับเพิ่มเป็นแรกเข้า 12,000 บาท เมื่อเกษียณฯได้ 35,000 บาทเท่าเดิมก็จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของครูดีขึ้น ซึ่งผมคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีกว่าการให้ค่าตอบแทนครูในรูปแบบอื่น ส่วนงบประมาณที่จะนำมาใช้นั้น คงมีสัดส่วนการใช้งบฯเพิ่มไม่มากนัก และถ้าจัดระบบให้ดี โดยยุบโรงเรียนขนาดเล็กและจัดขนาดห้องเรียนให้เหมาะสม คือ จัดให้ได้อย่างน้อยเด็ก 20 คนต่อครู 1 คน ก็คงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอจะต้องมีการศึกษาและทดลองนำร่องต่อไป โดยในปี 2552 จะดำเนินการเพิ่มเงินเดือนแรกเข้าให้ครูในโรงเรียนจุฬาภรณ์ 3 แห่ง ส่วนการให้เงินวิทยฐานะแก่ครูนั้น ผลที่ออกมาก็ยังไม่เป็นรูปธรรม เพราะยังไม่ได้คนเก่งเข้ามาเป็นครู” ดร.สมเกียรติ กล่าว
 
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังเห็นว่าในอนาคตต้องมีการกำหนดเส้นทางอาชีพครูเหมือนกับอาชีพอื่นๆ เพื่อให้ครูมีคุณภาพมากขึ้น ไม่ใช่สอนหนังสือไปวันๆ โดยแบ่งเป็น ระยะการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัย ระยะเริ่มแรกของการเป็นครู ช่วง 1-5 ปี ซึ่งระยะนี้ต้องมีครูที่เป็น ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารเข้ามาเป็น  พี่เลี้ยง เพื่อให้ครูมีการพัฒนา และระยะการเป็นครู 5-15 ปี จะเป็นการพัฒนาวิชาชีพให้เป็นครูเชี่ยวชาญ ชำนาญการ และชำนาญการพิเศษต่อไป ซึ่งในระยะนี้จะทำให้ทราบเลยว่าครูคนใดต้องเร่งเข้าไปช่วยดูแล และเมื่อผ่านจุดนี้ไปได้ก็จะเป็นระยะที่จะไปถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ครูใหม่ต่อไป.

Daily News Online

หมายเลขบันทึก: 243289เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่ต้องไปรอเรื่องเงินเดือนหลอก เอาตัวเข้าแลก ง่ายกว่าเยอะ หลายคนเคยใช้อยู่แล้ว งานก็ไม่ทำ แต่เงินเดือนขึ้นเยอะกว่าคนอื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท