แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) กับการประยุกต์ใช้ (1) : เริ่มนำสู่กลุ่มงานวิสัญญี มข.


หลายกลุ่มงานขยันมาก ปรับกิจกรรมคุณภาพที่คาดว่าจะได้ผลดีอยู่ตลอดเวลา แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ยังไม่ดีเลย ทำให้ผู้ดำเนินกิจกรรมท้อแท้...

ท่านที่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพจะพบว่า ผลลัพธ์ของงานมักมุ่งประเด็นไปที่ตัวเลข ที่เรียกกันว่า ผลลัพธ์หรือตัวชี้วัด  ซึ่งมักจะกำหนดกันขึ้นมาเองภายในกลุ่มทำงาน และตามมาด้วยคำถามว่า เชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหน 

การใช้ตัวเลขเป้าหมายสำหรับการเทียบเคียงอาจเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่ม  ระยะเริ่มต้นมักไม่มีตัวเลขอะไรเลย  ก็เพียงดูคร่าวๆจากข้อมูลเก่าๆ  พอผ่านไปนานปีก็เริ่มเทียบเคียงได้กับ รพ.หรือหน่วยงานที่มีศักยภาพพอๆกัน  หรืออาจมีมาตรฐานกลางของวิชาชีพที่กลุ่มวิชาชีพจัดทำขึ้น...

สุดท้าย... คุณภาพที่ได้รับจะยั่งยืนหรือไม่  ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบอยู่ดี

 

การประเมินผลลัพธ์ที่แท้จริงในบางเรื่องมีความยากเพราะบางโครงการ/กิจกรรมนั้นผลลัพธ์ที่ปรากฏต้องใช้เวลานาน   ผู้เขียนเองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมของคณะกรรมการคุณภาพวิสัญญี รพ.ศรีนครินทร์ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน หลายกลุ่มงานได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้วแต่พอห่างการติดตามผลลัพธ์ที่ว่าดีก็กลับลดลง  หลายกลุ่มงานขยันมาก ปรับกิจกรรมคุณภาพที่คาดว่าจะได้ผลดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ผู้ดำเนินกิจกรรมท้อแท้ เห็นแล้วออกจะสงสารน้องๆที่พบปัญหาเช่นนี้

เหตุเพราะการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพที่ดีได้ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมจริงๆ และที่สำคัญคือทำอย่างไรจะให้คุณภาพที่ได้รับนั้นคงความยั่งยืนสืบไป

 

หัวหน้าของผู้เขียน ศ.นพ.สมบูรณ์ เทียนทอง ได้ให้หนังสือมาอ่านเล่มหนึ่ง  แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) : การสร้างการเรียนรู้และการสะท้อนกลับในแผนงานพัฒนา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า  ตรงใจในการแก้ไขปัญหาที่ผู้เขียนกำลังประสบ ซึ่งเดิมขาดแผนการติดตามผลลัพธ์อย่างใกล้ชิด ไม่อาจเข้าช่วยเหลือแนะนำโดยทีมที่ปรึกษาในทันที  รวมถึงขาดการประเมินผลลัพธ์ที่แสดงถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของผู้ปฏิบัติที่มีความสม่ำเสมอ  ซึ่งนั่นคือสิ่งจำเป็นที่จะสร้างความมั่นใจว่า  ผลลัพธ์คุณภาพที่ได้เกิดจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่นำมาซึ่งความยั่งยืนของคุณภาพอย่างแท้จริง

        

       การคิดที่จะประยุกต์ใช้ "แผนที่ผลลัพธ์" เพื่อติดตามผลลัพธ์การดูแลระบบคุณภาพบริการวิสัญญี โดยทีมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพจึงน่าจะเกิดประโยชน์ต่อองค์กรวิสัญญีเราได้มากขึ้นในระยะยาว

....ท่านผู้สนใจลองศึกษาดูนะคะ....

 

หมายเลขบันทึก: 242333เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2009 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เป็นความรู้ใหม่สำหรับผมเลยครับ น่าสนใจมาก ขอบพระคุณมากครับ

สวัสดีครับ น่าสนใจนะครับที่ตัวเลขกับผลชี้วัด

สวัสดีค่ะ อ.บวร  บวร

  • ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ
  • เป็นเครื่องมือใหม่ในบ้านเราที่ยังไม่ค่อยเห็นผลงานการใช้มากนักค่ะ  ทีมวิสัญญี มข.เรากำลังประยุกต์ใช้ค่ะ..ไม่มีใครเคยมีประสบการณ์เลย เพียงตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าจะเอามาเป็นแผนการติดตามงานกลุ่มเพื่อให้เห็นกันและกันอยู่เสมอๆ  จะได้ไม่โดดเดี่ยวเวลาทำงาน...
  • ตอนนี้ให้ทุกๆคนในทีมศึกษาร่วมด้วยค่ะ  จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ช่วยกันทำ
  • ...นี่ประชุมปรึกษากันไปครั้งหนึ่งแล้วค่ะ...กำลังให้ทุกกลุ่มทบทวนประวัติศาสตร์ของตนเอง แล้วจะมาสร้างวิสัยทัศน์ พันธกิจด้วยกัน...
  • หนังสือเล่มนี้อ่านยากสักหน่อยค่ะเพราะไม่ค่อยเข้าใจภาษาที่ใช้ (นี่ก็อ่านไป อ่านมาหลายรอบแล้ว...)  แต่คิดว่าน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีได้ค่ะ   อย่างน้อยก็เป็นตัวช่วยการบันทึกพฤติกรรมการทำงานในกลุ่มเอาไว้เรียนรู้ได้
  • ขอบคุณนะคะ

สวัสดีค่ะ คุณ เบดูอิน

  • เวลาจะดูว่าสิ่งที่พัฒนาดีขึ้นมั้ย..มักถามหาตัวเลขซึ่งดูง่ายในการเปรียบเทียบความแตกต่าง(ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้)ค่ะ  การวัดพฤติกรรมเป็นนามธรรมที่วัดยาก...นี่กำลังจะลองกันเนี่ยค่ะ...ว่าผลลัพธ์พึงประสงค์คือพฤติกรรมที่อยากให้เปลี่ยนไปนั้น...ทางทีมงานจะช่วยกันคิดออกมาได้ในรูปไหน...
  • ...งานนี้ท้าทายมากๆค่ะ...
  • ขอบคุณนะคะ
  • สวัสดีค่ะ
  • ช่วยแชร์ให้ด้วยนะคะหลังลอง เนื่องจาก  เคยทำโครงการการควบคุมอุณหภูมิทารกป้องกันตัวเย็น แล้วตั้งวัตถุประสงค์ไว้  ว่า เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบุคลากร ในการควบคุมอุณหภูมิกายทารกแรกเกิด ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น   ความจริงแล้วเห็นชัดเจน  ว่า  จากที่เคยวัดอุณหภูมิเวรละ  1 ครั้ง  ในทารกแรกคลอด  24  ชั่วโมง  เป็นวัด  ทุก  4 ชั่วโมงและ  ลงบันทึกให้ในแบบเก็บข้อมูลทุกครั้งพร้อมทั้งปฏิบัติตามแนวทางที่ระบบวางไว้
  • แต่ใช้เวลาค่อนข้างยาวนานถึง 1 ปี  กว่าจะเห็นได้ชัดและต้องย้ำบ่อยๆ ค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณสุธิดา หมูหวาน

  • ขอบคุณมากๆเลยค่ะที่ได้แชร์ประสบการณ์ให้รับทราบ
  • สิ่งที่เราวางแผนจะทำ "แผนที่ผลลัพธ์" นี้...ด้วยเพราะ "แผนที่ผลลัพธ์"มีหลักคิดดังนี้ค่ะ

...แผนที่ผลลัพธ์ถูกพัฒนาขึ้นมาบนหลักคิดที่ว่า  ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแผนงานพัฒนาเป็นผู้ "ควบคุม" การเปลี่ยนแปลงที่พึงเกิดจากการพัฒนา.....การให้ความสำคัญที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องในแผนงานพัฒนา  ไม่ได้หมายความว่าแผนงานเป็นผู้ตัดสินว่าคนเหล่านั้นจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเปลี่ยนแปลงไปทำไม  แต่ต้องเป็นความต้องการของคนเหล่านั้นเอง  ที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ของเขาเอง....(พิกุล สิทธิประเสริฐกุล, 2548)

  • กิจกรรมที่ทีมวางแผนจะทำเป็นการดูภาพรวมของระบบคุณภาพวิสัญญีที่ประกอบด้วยกลุ่มงานหลายๆกลุ่ม(ที่มีการประกันคุณภาพกลุ่มซึ่งทำกันอยู่แล้วค่ะ)  เรามาดูความเชื่อมโยง   ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มที่ส่งเสริมกันและกันให้เกิดการเรียนรู้  และทำให้ได้ตามแผนที่ที่เรากำลังจะร่างด้วยกัน
  • ...แล้วจะทยอยเล่าให้ทราบค่ะ  เพราะเชื่อว่าคงมีอะไรให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย บน...ความไม่รู้สู่การทดลองปฏิบัติจริง... ค่ะ...และก็เชื่อว่ากว่าจะสำเร็จ สมบูรณ์ ก็น่าจะเป็นปีเหมือนกันค่ะ  :)
  • ขอบคุณมากๆนะคะ

หนูมาเริ่มทำงานที่ใหม่เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด60เตียง หนูกำลังเริ่มทำงานด้านคุณภาพซึ่งที่นี้ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนเพราะส่วนใหญ่มาอยู่กันไม่นานก็ลาออกหนู้ต้องเริ่มต้นจากอะไรก่อนดีค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณมดแดง [IP: 125.26.55.156]

  • เริ่มต้นจากการอ่านหนังสือมากๆๆให้ซึ้งงงง....กับคำว่าคุณภาพก่อนค่ะ  แล้วมาวกดูว่าเรารับผิดชอบคุณภาพของหน่วยงาน หรือของโรงพยาบาล  แล้วประเมินตนเองก่อนค่ะว่าเราต้องทำอย่างไรในส่วนต่าง ..มาตั้งฝันด้วยกันว่าอยากจะทำอะไร 
  • ค่อยๆศึกษาไปค่ะ มีข้อมูลและเทคนิคมากมาย  อ่านเพิ่มเติมได้ที่  www.ha.or.th ของ พรพ.ค่ะ  ....เขาไม่หวงเลย...
  • ..จำไว้ว่า คุณภาพนั้นๆต้องปรับให้เหมาะกับ รพ.และวัฒนธรรมของเราค่ะ
  • โชคดีนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท