ถอดรหัสชุมชนหนองสาหร่าย (ตอนที่ ๑) ชุมชนเข้มแข็งคือชุมชนแห่งการเรียนรู้


หนองสาหร่ายไม่ได้แตกต่างไปจากชุมชนชนบททั่วไปของประเทศที่ยังคงตกอยู่ในวังวนของ “โศกนาฏกรรมสยาม” ว่าด้วยเรื่อง “วงจรอุบาทย์ของโครงสร้างภาคการเกษตร” ....

เพื่อนพ้องน้องพี่

ตลอดจนผู้สนใจ

ติดตามงานเขียนทาง Blog ได้ส่งข่าวคราวผ่านมาทางเมล์บ้าง โทรศัพท์บ้าง ให้ช่วยถ่ายทอดเรื่องราวของวิถีชุมชนจากการทำงานจริงในพื้นที่ เพื่อจะได้เป็นแหล่งข้อมูลและชุดประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...จริง ๆ แล้วก็ตั้งใจเช่นกันค่ะที่จะ “คิดดังๆ” หรือ “เขียนเล่า” เรื่องราวต่าง ๆ ที่ตัวเองได้พานพบประสบมาลงใน Blog เพื่อสื่อสารกับผู้คนในสังคมผ่าน G2K

 

ทว่า ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาที่มีอยู่ กอรปกับการที่ตัวเองพิมพ์งานได้ช้ามาก อีกทั้ง ระบบ Net ที่มีอยู่ไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก จึงทำให้การเขียนบอกกล่าวเล่าเรื่องไม่ต่อเนื่องอย่างที่ตั้งใจ... ก็จะพยายามหาเวลาและโอกาสเขียนเล่าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วกันนะคะ

 

ก่อนที่จะเข้าเรื่องราวของชุมชน ขอส่งกระแสบุญใส ๆ มาให้ชาว G2K ทุกท่านได้ร่วม "อนุโมทนาบุญ" ด้วยค่ะ เนื่องในวาระวันบุญใหญ่คือ วันมาฆบูชา... วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ได้มีโอกาสไปวัดปฏิบัติธรรมมาค่ะ โดยเริ่มวันใหม่แต่เช้าตรู่ด้วยการใส่บาตร ถวายปัจจัยไทยธรรม ช่วงสาย ได้สวดมนตร์ เจริญสมาธิภาวนา ช่วงใกล้เที่ยง ได้ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ช่วงบ่าย ร่วมพิธีมุทิตาผู้ชนะเลิศการสอบแข่งขันโครงการธรรมะ “ทางก้าวหน้า” และยามค่ำได้จุดโคมมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชา...ขอให้ทุกท่่านได้มีส่วนแห่งบุญนี้ร่วมกันนะคะ

.........

 

ตัวเองได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสวิถีชุมชนในช่วงที่เป็นคณะทำงานกองทุน "SIF" หรือ กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund) ซึ่งได้ทำหน้าที่หนุนเสริมขบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยอาศัยทุนทางสังคมในท้องถิ่น ผ่านการบริหารจัดการกองทุนฯ ภายใต้การดูแลของสำนักงานกองทุนเพื่อสังคม (Social Fund Office) ...ทำให้ได้มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาดูงานชุมชน ซึ่งหากจะนับชุมชนต้นแบบในยุคต้น ๆ ของขบวนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งแล้ว ชื่อของ...ชุมชนไม้เรียงและน้ายงค์ ชุมชนคลองเปียะและลุงอัมพร เครือข่ายอินแปงและเครือข่ายปราชญ์อิสาน บ้านสามขาและหนานชาญจ่าชัย ชุมชนวัฒนธรรมคลองขนมจีนและลุงรินทร์ บ้านหนองกลางดงและผู้ใหญ่โชคชัย บ้านเปร็ดในและผู้ใหญ่อัมพร...ล้วนอยู่ในความทรงจำ

 

ตลอดระยะเวลา 40 เดือนของอายุกองทุน SIF ที่พวกเราคนทำงานจิตอาสาได้ร่วมด้วยช่วยกันหนุนเสริมขบวนการชุมชนเข้มแข็ง ได้มีโอกาสลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแกนนำชุมชนและสมาชิกชุมชนในทั่วทุกภาคของประเทศนั้น เราได้ค้นพบความจริงที่สำคัญประการหนึ่งว่า...ชุมชนเข้มแข็งคือชุมชนแห่งการเรียนรู้...

 

มา ณ วันนี้ ชื่อของ “หนองสาหร่ายและพี่ศิวโรฒ” นับเป็นชุมชนต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วประเทศ ในแต่ละเดือนมีผู้เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชนที่หนองสาหร่ายหลากหลายคณะ ทั้งที่เป็นกลุ่มนักพัฒนา กลุ่มนักวิชาการ คณาจารย์และนิสิตนักศึกษา ตลอดจนกลุ่มแกนนำชุมชนด้วยกันเอง

 

ทำไมหนองสาหร่าย ตำบลเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีจึงเป็นสถานที่ที่ผู้คนสนใจเดินทางมาเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับเรา...ซึ่งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนหนองสาหร่ายมานานนับ 10 ปี คิดว่า “เสน่ห์” และ “ความโดดเด่น” ของหนองสาหร่าย ไม่ได้อยู่ที่เรื่องราวของ "สถาบันการเงินชุมชน" และ "กองทุนสวัสดิการชุมชน" ซึ่งเป็นประเด็น “ฮิต” และ “ฮอท” ของสังคมไทยในช่วงนี้เท่านั้น ทว่า ชุมชนหนองสาหร่ายยังมีมิติ “เฉพาะตัว” อื่น ๆ ที่น่าสนใจเรียนรู้อีกมาก

 

แม้ในความเป็นชุมชนต้นแบบ... หนองสาหร่ายไม่ได้แตกต่างไปจากชุมชนชนบททั่วไปของประเทศที่ยังคงตกอยู่ในวังวนของ “โศกนาฏกรรมสยาม” ว่าด้วยเรื่อง “วงจรอุบาทย์ของโครงสร้างภาคการเกษตร” ....ชุมชนหนองสาหร่ายมีรายได้ปีละ 76 ล้านบาท มีรายจ่ายปีละ 74 ล้านบาท ดูเสมือนว่าชุมชนแห่งนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะรายรับของชุมชนมากกว่ารายจ่าย...ทว่า หนี้สินสะสมของชุมชนที่มีอยู่ถึง 86 ล้านบาท ซึ่งลำพังเฉพาะค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต่อปีนั้นก็สูงกว่ารายเหลือที่เกิดขึ้นของชุมชน

 

สภาพ “วัวพันหลัก” หรือที่พวกเราคนทำงานด้าน “วิธีคิดกระบวนระบบ (System Thinking)” ใช้คำศัพท์ว่า “โคตรแบบยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง” หรือ “fix that back fires” นั้นได้เคยเกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้   การต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าวได้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของผู้คนในชุมชนหนองสาหร่าย

 

จากวันนั้น...วันที่ 15 กรกฎาคม 2533 ที่ตำบลหนองสาหร่ายได้แยกตัวออกจากตำบลดอนเจดีย์ จนมาถึงวันนี้...วันที่หนองสาหร่ายประกาศตัวเป็น “ประเทศหนองสาหร่าย” และได้ปรับฐานะจากตำบลมาเป็น “เทศบาลตำบล” เมื่อวันที่ 19 สค.2551

 

เส้นทางเดินของชุมชนหนองสาหร่ายเป็นมาอย่างไร?

 

โปรดติดตามตอนต่อไป....

 

 

หมายเลขบันทึก: 241539เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2009 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

มันยากนะค่ะที่จะทำให้ชุมชนได้มีการเรียนรู้ แค่ทำมาหากินก็หมดเวลาแล้ว แต่ก็สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้นะครับ คงต้องปูพื้นกันตั้งแต่ระดับประถม มัธยม นะค่ะ

ชุมชนเข้มแข็งคือชุมชนแห่งการเรียนรู้

เป็นบทสรุปที่เยี่ยมมากค่ะ..เห็นด้วยเต็มร้อย

อาจารย์ตุ้มคะ ลืมบอกไปว่า ครูแสงจันทร์กับพี่อารี ฝากความระลึกมาให้ บ่นว่าไม่เจอและติดต่ออาจารย์ตุ้มไม่ได้เลย

พี่อารีถามปัทว่าจะเอาผ้าห่มทิพวัลย์ที่เก็บไว้ให้อาจารย์ตุ้มไปแจกได้ไหม เกรงว่าผ้ามันจะเก่าเปื่อยเสียก่อน ปัทก็เลยอนุญาตแทน บอกว่า อาจารย์ตุ้มคงดีใจที่ผ้าห่มเป็นประโยชน์กับผู้รับ

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

อ.ตุ้ม ครับ

สวัสดีครับ

คงจะสรุปได้แล้วกระมังว่าชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้นสามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้จริง นครศรีธรรมราชเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เต็มที่ ใช้การเรียนรู้แทรกปนในทุกมิติ ประเด็น กิจกรรม และในทุกขณะ ศัพท์วาทกรรมชุมชนเรียนรู้ของเราคือ ชุมชนอินทรีย์ ครับ ชุมชนที่มีความเป็นอินทรีย์คือชุมชนที่มีชีวิต(ชีวา) ตรงกันข้ามชุมชนอนินทรีย์คือชุมชนที่ไม่มีชีวิตชีวา หรือชุมชนที่แห้งแล้ง....ตายแล้ว จะเป็นแบบอินทรีย์หรือไม่อนินทรีย์ ก็อยู่ที่ความเข้มเข้มหรือความเจือจางของกิจกรรมการเรียนรู้นั่นเอง

ขอรับเอาบุญกุศลที่ อ.ตุ้มประกอบแล้วในวันมาฆบูชาด้วยคนครับ สาธุครับ

สวัสดีค่ะคุณ Jasmin

สังคมไทยคงต้องปรับ "วิธีคิด"และ "วิธีการ" ในการเรียนรู้...ซึ่งคงต้องใช้เวลาค่ะ และเป็นเช่นที่คุณ Jasmin พูดถึงคือ ต้องปูพื้นฐานเรื่องนี้กันตั้งแต่เยาว์วัยค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาให้ข้อคิดเห็นนะคะ

อาจารย์ครับ

หนองสาหร่าย -คุณแรม และหลายท่านที่นั่น เป็นความประทับใจมาก

ผมทำงานประเด็น public health policy และได้มีโอกาสเรียนรู้กับคนที่หนองสาหร่าย ...พื้นที่นี้ น่าจะเป็นพื้นที่ สำหรับเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆได้

อาจารย์ตุ้ม คะ

ยังคงประทับใจ ความเป็นชุมต้นแบบของชุมชนหนองสาหร่าย พั่ศิวโรฒ คุณแรม และชาวบ้าน อยู่มิรู้ลืม

ตอนนี้ย้ายมาประจำจ.สมุทรปราการ เลยแนะนำ พี่น้องที่นี่ ให้ไปดูงานที่หนองสาหร่าย วันที่ 28 ก.พ.52 จำนวน 3 องค์กร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับการสร้างกระบวนการกลุ่ม ให้เกิดความเข้มแข็ง ของพี่น้องที่สมุทรปราการ

เคารพรัก

แหม่ม

สวัสดีค่ะอาจารย์ปัท

ถ้าอยากเห็นเมืองไทยแข็งแรง สังคมไทยแข็งแรง เรามาร่วมด้วยช่วยกันสร้าง "ชุมชนแห่งการเรียนรู้"กันนะคะ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่พวกเราทำงาน พี่คิดว่ายังมี "วงเรียนรู้" น้อยเกินไป...คงต้องช่วยกันคิดเครื่องมือเพื่อเสริมหนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในทุกระดับค่ะ ซึ่งก็คงขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กรด้วยค่ะ

ชุมชนที่ร่วมด้วยช่วยกันบนฐานของ "วัฒนธรรมชุมชน" ย่อมเข้มแข็งกว่าการร่วมด้วยช่วยกันบนฐานของ "วัฒนธรรมสั่งการ" ค่ะ

ขอบคุณนะคะสำหรับข่าวคราวของพี่น้องชุมชนหนองอ้อ พี่และพี่แสงจันทร์ได้มีโอกาสโทรหากันเป็นระยะ ๆ ค่ะ ส่วนพี่อารีไม่ค่อยได้ส่งข่าวโดยตรงกันเท่าใด เพราะส่วนใหญ่พี่จะติดต่อกับทางแกนนำชุมชนคืออ.สง่าค่ะ อาทิตย์ที่แล้วพี่ก็เพิ่งลงพื้นที่หนองอ้อมาค่ะ

รักษาสุขภาพเช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะครูนง

แนวคิดและวิธีปฏิบัติเรื่อง "ชุมชนอินทรีย์" ของนครศรีธรรมราชนับเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่น่าสนใจเรียนรู้มากค่ะครูนง พระอาจารย์ภีมเล่าเรื่องนี้ให้ตุ้มฟังบ่อย ๆ ...มีโอกาสไปใต้ครั้งหน้า คงได้ติดตามครูนงไปร่วมเวทีชุมชนอินทรีย์บ้างนะคะ :)

ส่งความเคารพรักและระลึกถึงผ่านมาให้ครูนงทาง G2K นะคะ ขอให้บุญรักษาครูนงค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

คุณจตุพรคะ สวัสดีค่ะ

เป็นเช่นที่คุณจตุพรกล่าวค่ะ หนองสาหร่ายเป้นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ ในหลาย ๆ เรื่องค่ะ มีผู้คนมาศึกษาดูงานที่หนองสาหร่ายเพิ่มขึ้นทุกวันค่ะ

เมื่อวันจันทร์ที่แล้วลงพื้นที่หนองสาหร่าย ยังหารือกับพี่ศิวโรฒ คุณแรม อ.ยุทธภัณฑ์และคุณบุญพออยู่เลยค่ะ เสนอกันว่าพวกเราน่าจะให้ชุมชนหนองสาหร่ายมี "ปิดเทอม" บ้างสัก 2 เดือน เพื่อชุมชนจะได้มีช่วงเวลาทำการบ้านคือทบทวนตัวเองเพิ่มขึ้นค่ะ

สวัสดีค่ะคุณแหม่ม

ดีใจที่ได้ข่าวคราวคุณแหม่มค่ะ

แม้ย้ายไปที่สมุทรปราการ ก็ยังทำงานเข้มแข็งเหมือนเดิมนะคะ... ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจค่ะ พวกเราทำงานได้ทุกที่...ขอเพียงให้มี"ธงชาติไทย" ใช่ไหมคะ

วันที่ 28 กพ.พี่มีประชุมของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ที่กทม. เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปดูแลพี่น้องจากสมุทรปราการ ...คงได้พบกันในโอกาสต่อไปนะคะ

ขอให้บุญรักษา ขอให้คุณแหม่มมีความสุขกายสุขใจตลอดเวลาค่ะ

อาจารย์ตุ้มคะ

แหม่มไม่ได้ไปหนองสาหร่าย พี่น้องไปกันเอง เนื่องจาก สนญ.จัดประชุมกระทันหัน 27 ก.พ.- 1 มี.ค. 52 แต่พยายามเตรียมการโดยการสรุปข้อมูลของชุมชนให้พี่น้องได้อ่านและฟัง

พี่น้องที่สมุทรปราการ ประทับใจชุมชนหนองสาหร่ายมาก เห็นถึงกระบวนการสร้างกลุ่ม นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

คงจะมีอะไรดีๆๆๆๆ ในส.ปราการ ในอนาคตอย่างแน่นอน

ขอบคุณในสิ่งดีๆๆ ที่มาจากอาจารย์ตุ้มค่ะ

แหม่ม

  • ตามมาทักทายพี่ก่อน
  • อยู่ใกล้บ้าน
  • ยังไม่มีโอกาสไป
  • คิดว่าไม่นานจะได้ไปครับ

หนูแหม่ม

วันที่ 13 มีนาคม มีประชุมบอร์ดกฟก.ที่กระทรวงเกษตรฯค่ะ

หากหนูแหม่มเข้าประชุมด้วยคงได้เจอกันนะคะ

หากมีโอกาสเหมาะๆ พี่จะขอแวะไปลงพื้นที่เยี่ยมเยียนหนูแหม่มและพี่น้องที่สมุทรปราการ แล้วนัดกันอีกทีค่ะ

สวัสดีค่ะอ.น้องแอ๊ด

ใช่แล้ว หนองสาหร่ายอยู่ติดกับหนองขาวเลยค่ะ

ไว้พี่ลงพื้นที่ในครั้งต่อไป จะโทรบอกนะคะ

ถ้าน้องแอ๊ดไม่ติดอะไรก็ไปร่วมวงลปรร.ด้วยกันค่ะ

เรียนอาจารย์ตุ้ม

ได้ข่าวจากเพื่อนพ้อง ที่สนญ. ว่า อ.ตุ้มไปเป็นวิทยากรให้ ทุกคนได้รับคุณประโยชน์ผ่านการพูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ อย่างมากมาย ดีจัง

แหม่มกำลังชวนพี่น้องเกษตรกร ส.ปราการ พื้นที่ อ.บางบ่อ และอ.บางพลี ชวนกันคิดว่า วันนึง พื้นที่การเลี้ยงปลาสลิด หมดไปจากส.ปราการ จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อพื้นที่สีม่วง น้ำเสียจากโรงงาน จากการขยายตัวของชุมชน อย่างขาดการวางแผน เข้ามาลุกล้ำพื้นที่การผลิต การเกษตร จะเกิดอะไรขึ้น และอนาคตถ้าจะกินปลาสลิด ต้องนำเข้าจากต่างปท. หรือเปล่า

จนพี่น้องมีข้อสรุปกันว่าพวกเราต้องช่วยกำหนดพื้นที่ อนุรักษ์การเลี้ยงปลาสลิด ปลาต่างๆ และจะช่วยกันทำวิจัยเชิงปฏิบัติการการเลี้ยงปลาสลิดอย่างยั่งยืน อย่างมีส่วนร่วม PAR

แล้วจะเขียนเล่าให้ฟังต่อในภายหน้า จะดีใจมากและ ยินดีมาก หากอ.ตุ้มจะแวะมาหนุนเสริม ให้องค์ความรู้ อื่นๆอีกมากมาย กับพี่น้องในพื้นที่ค่ะ

เคารพรัก แหม่ม ส.ปราการ

หนูแหม่มคะ

วงชวนคิด ชวนคุย จะทำให้เราค้นพบความหมายใหม่ ๆ ทางออกใหม่ ๆ ...ที่สำคัญคือ การฝึกตั้ง "คำถาม" ที่นำไปสู่วิธีคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เป็น "แผ่นเสียงตกร่อง" ค่ะ

การให้พี่น้องกองทุนฟื้นฟูฯฝึกวิทยายุทธด้วยกระบวนการ PAR เป็นสิ่งที่ดีมากค่ะ ในแวดวงคนทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสกว.พวกเรามักเรียกกระบวนการนี้กันเล่น ๆ ว่า "พาไป- พามา" ค่ะ ...ไม่ได้พากันไปไหน แต่พากันไป "เรียนรู้" ค่ะ

มีโอกาสคงได้ลงพื้นที่สมุทรปราการของหนูแหม่ม อยากชวนพี่น้องคุยหลายเรื่องค่ะ โดยเฉพาะวิธีคิดเรื่องการพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเองของชุมชนค่ะ ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนแบบนี้ คงต้องช่วยกันทำให้พี่น้องได้รับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น...จะได้ "รับมือ" ทันค่ะ

ช่วงเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ไปช่วยเป็นวิทยากรให้สำนักจัดการหนี้ค่ะ ต้องหนุนเสริมและเชื่อมโยงงานกันและกันค่ะ ที่สำคัญ...คนดีและคนเก่งในสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯนั้นมีอยู่ไม่น้อยค่ะ...อยากให้มาช่วยกันรวมใจร่วมพลัง เพื่อที่พี่น้องเกษตรกรจะได้รับอานิสงค์จากการทำงานที่เข้มแข็งของพวกเราค่ะ

บุญรักษาหนูแหม่มนะคะ

  • เป็นชุมชนต้นแบบที่น่าสนใจมากค่ะ  และเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ
  • ชุมชนเข้มแข็งคือชุมชนแห่งการเรียนรู้...
  •  อนุโมทนาบุญด้วยนะคะสำหรับการปฎิบัติธรรม...ชื่นชมจากใจค่ะ
  • จะมาติดตามตอนต่อไปนะคะ

 

อาจารย์ตุ้ม คะ

ช่วงนี้ประเทศไทย วุ่นวายน่าดู ต้องได้แต่ภาวนาให้ความสงบ สันติ คลอบคลุมประเทศไทย ตอนนี้แหม่มกำลังช่วยพี่น้อง ส.ปราการ ทำแผนแม่บทองค์กร อยู่ ยิ่งเข้าไปคลุกคลี ยิ่งเห็นความน่ารักของคนน้ำเค็ม คนเลี้ยงปลาสลสิด อ.ตุ้ม รู้จัก "พร้าหวด "มั้ยคะ

เป็นภูมิปัญญา ของคนส.ปราการ เหมือนเคียว หรืออะไรบางอย่างสำหรับการตัดหญ้า ใช้ตัดหญ้าในน้ำ จะโค้งงอ และแข็งแรงมาก เป็นความเหมาะสมในบริบทท้องถิ่น

รอโอกาสที่อ.ตุ้ม จะมาลงพื้นที่ ส.ปราาการเพื่อมาหนุนเสริม การพึ่งพาตนเองของพี่น้อง ของชุมชน

เคารพรักค่ะ

แหม่ม

สวัสดี ครับ ผม กลิ้ง (DJกลิ้ง) นายหนึ่ง โอแก้ว อายุ17 ปี ครับ ทำงาน 7-11 เฃเว่น ELEVEN เบอโทรศัพ 0820873404 ทรูมูฟ ผมกำลัง ตามหา จอย เขาอยู่ปากช่อง ครับ ผมรักเขามาก แต่แล้ว เขาก็ไปจากผมโดยไม่มีเหผล เลย หากใครรู้จัก คนชื่อ จอย ช้วยติดต่อกลับ ด้วยนะครับ จอย เคา"ผู้หญิง"อายุ17 ปี เรียนอย่ และ เป็นนักแข่งรถจักรยานยนต์มอเตอคอป เธอรู้จัก DJหวาน ที่เครื่อนวิทยุ 102.75 FM ที่ปากช่อง ที่บ้านเธอมี"อู่"ฃ้อมรถด้วย ครับ ข้อมูล ผมก็มีแค่นี้ ครับ โอกาสได้เจอกันอีกแทบไม่มีเลย ผมจะทำยังไงดี ครับ... (กลิ้ง) ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท