นิราศซิดนีย์ 6: Ward Round (2) Stories


Ward round (2): stories

สิ่งสำคัญในการราวน์ หรือดูคนไข้ palliative care (หรือจริงๆแลัว คนไข้อื่นๆด้วยก็ตาม) ก็คือ ไม่มีอะไรที่ routine จริงๆเลยสักวันเดียว เพราะคนไข้แต่ละคนนั้น มีชีวิตจริงๆ มีเรื่องราว มีความคาดหวัง และทั้งคนไข้และครอบครัว กำลังเข้าไปอยู่ในระยะที่ทดสอบความสัมพันธ์ ความหมายต่างๆของชีวิตอยู่ทุกวัน ทุกชั่วขณะ

เราเห็นความแตกต่างด้านความเชื่อ ด้านวัฒนธรรม ด้านภาษา และความต้องการของคนไข้ทุกวันๆ ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของทั้งทาง biology of disease และ social context

มีคนไข้ชายคนจีนคนหนึ่ง อยู่ในห้อง terminal มาหลายวันแล้ว ตอนเราไปราวน์ แกจะตื่นสะลึมสะลือ ที่ข้างๆตัวจะมีภรรยา ซึ่งพูดภาษาอังกฤษน้อยมาก แต่ก็มาดูทุกวัน ภรรยาแกนอนค้างอยู่ที่ รพ.นี่ เนื่องจากแกไม่ทราบจะทำอะไรได้มากนัก สิ่งที่เราเห็นทุกวันก็คือ ภรรยาจะถือถ้วยน้ำและหลอดเล็กๆเกือบตลอดเวลา สักเดี๋ยวๆก็จะป้อนน้ำให้สามีทุกๆสองสามนาที

(ที่ซิดนีย์ตอนผมมาอาทิตย์แรกนี่ อุณหภูมิดุเดือดมาก ประมาณ 42-44 องศาเซลเซียสทีเดียว ที่เมลเบิร์นยิ่งดุเดือดกว่า ประมาณ 48 องศา ตอนไฟไหม้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า bushfire ปีนี้เลยดุเดือดมาก เพราะแห้่งแล้ง แถมออสเตรเลียมีต้นยูคาลิปตัสเยอะ ต้นนี้มีน้ำมันเยอะในตัว พอไฟไหม้ก็เลยเหมือนไหม้ถังน้ำมันเลยทีเดียว บวกลมพัดแรงมาก พายุไฟไปด้วยความเร็วประมาณ 100 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับรถหนีบางทียังไม่ทันเลย เหลือแต่ยางรถละลายและรถไหม้เกรียมทั้งคันทั้งคน)

ตัวคนไข้จะลืมตามาดูหมอเป็นพักๆเวลาเราไปราวน์ และถามว่า "what happens to my body?" "what is happening to me?" ซึ่ง Roheela ก็ตอบแกไปว่าตอนนี้โรคของแกกำลังลุกลามมากขึ้น ทำให้อวัยวะ ร่างกายแกอ่อนแอลง เราจะให้ยามากที่สุดที่จะทำให้แก pain-free ให้ได้ case นี่เราจะมาดูว่าแกขอ rescue dose แค่ไหน และปรับยาแก้ปวดมากขึ้นๆเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้แกทรมาน

Roheela และ Dr Meera จะอธิบายกับภรรยาและลูกชายแกทุกวัน ว่าเกิดอะไรขึ้น และเรากำลังทำอะไรกับคนไข้อยู่บ้าง ที่จริงในระยะนี้ ญาติและเพื่อนๆคนไข้ทุกคนจะรู้สึก hopeless กันเป็นส่วนใหญ่ และจะรู้สึกสบายขึ้่นเมื่อทราบว่าหมอกำลังช่วยคนไข้อยู่ มิฉะนั้นจะเกิดความเครียดและเป็นทุกข์มาก บางคนจะไม่คุ้นเคยกับสภาพร่างกายของคนไข้่ในระยะ terminal นี้ ขอ IV ขออาหารอะไรเพิ่มเติม เราก็จะต้องมีหน้าที่อธิบายว่าอะไรคือ goals of care ณ stage นี้ เราไม่สามารถจะทำให้คนไข้อ้วน หรือมีแรงได้อีกต่อไป เพราะ cancer จะ consume อาหาร และผลิตสารที่ทำให้คนไข้ weak ลงไปเรื่อยๆมากขึ้นทุกวัน เราจะเน้นไปที่การควบคุมอาการแทน

Terminal is crucial phase

คนไข้ในระยะสุดท้าย (เหลือเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน) จะเป็นระยะที่สำคัญ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ และเราจะต้องดูแลญาติ และเพื่อนๆของคนไข้ที่มาเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข่าวสาร เรื่องอาการต่างๆที่กำลังจะเกิดขึ้น ปัญหาที่พบบ่อยเช่น อาการหายใจลำบาก เพราะเสมหะเยอะ และปอดเริ่มจะไม่สามารถขับเสมหะออกมาได้ effective สักเท่าไร

มีคนไข้ผู้หญิง เป็นมะเร็งหลอดอาหารและแพร่กระจาย คนไข้ค่อนข้าง unconscious และในที่สุดก็มี aspiration pneumonia (ปอดอักเสบจากการสำลัก) มีเสียงเสมหะดังค่อนข้างเยอะ เราให้ยาลดเสมหะ (กลุ่ม hyoscine) เพื่อให้คนไข้สบายขึ้น ลองให้ antibiotic อยู่ระยะหนึ่ง คนไข้ไม่มีไข้ แต่มีเสมหะค่อนข้างเยอะ ลองคุยกับญาติ ญาติไม่ต้องการ intubate หรือ suction (การดูดเสมหะ) เราต้องอธิบายให้ทราบว่าเสียงเสมหะพวกนี้อาจจะฟังดูน่ากลัว แต่เนื่องจากคนไข้น่าจะเหลือเวลาอีกไม่นาน ตอนนี้ก็ไม่รู้สติแล้ว เราจะพยายามทำให้แกหายใจได้ไม่ลำบากแต่จะไม่ใส่ท่อหายใจ เราจัดเตียงให้คนไข้นอนหัวสูง เอียงศีรษะไปข้างหนึ่ง เอาผ้ากอซแห้งคอยซับในกระพุ้งแก้มด้านที่เอียงลด เพื่อซับเอาน้ำลายออก จะได้ไม่มีเสียงเสมหะเยอะนัก

ญาติคนไข้อีกคนมาเยี่ยมก็รู้สึกเสียงหายใจคนไข้น่ากลัว คอยออกมาตามหมอ ตามพยาบาลให้ไปช่วย เราก็พยายามอธิบายให้แกเข้าใจ สักประเดี๋ยว อีกไม่กี่นาที คนไข้ก็หมดลมหายใจ

เราก็ปิดห้อง ให้ญาติได้อยู่กับคนไข้่ตามลำพัง

ในการราวน์ palliative care คนไข้ที่ admit เราจะถามคนไข้และญาติทุกคนเสมอว่า Is there any questions about anything you'd like to ask? มีคำถาม มีปัญหา มีอะไรที่ concern หรือกังวลไหม และเราจะราวน์ไปช้าๆ ใช้เวลาค่อนข้างเต็มที่ในแต่ละเตียง มีอยู่วันหนึ่ง เราเริ่มราวน์เช้า 8.30 น. ราวน์เสร็จตอนบ่ายโมงพอดี!!! พยาบาลก็ตามมาเก็บ order จากรถไปเรื่อยๆ เริ่มให้ยา ให้ medication ไปพลางๆ ไม่ต้องราวน์เสร็จหมด

Terminal patient still has life to live!

ที่น่าสนใจก็คือ คนไข้ palliative care ใน ward ของเรานั้น มักจะมี request อะไรเหมือนคนธรรมดาๆทั่วๆไป และระบบของที่นี่ค่อนข้างผ่อนคลาย เน้น patient and family-centred มากพอสมควรทีเดียว มีอยู่รายหนึ่ง มาอยู่นานแล้วและ bed-ridden ไปไหนมาไหนลำบาก ชื่อป้า Connie เป็นมะเร็งตับบวกมะเร็งเต้านม ทุกวันเราจะต้องไปราวน์เรื่องวันนี้ป้า Connie จะเอากายภาพไหม หรือไม่ไหวไม่เอา แต่มีอยู่อาทิตย์นึง แกตั้งอกตั้งใจมาก ปรากฏว่าวันเสาร์จะเป็นวันแต่งงานของหลานสาวแก และแกต้องการขอลากลับไปร่วมพิธี พวกเราก็เลยพลอยตื่นเต้นไปด้วย ลุ้นว่าแกจะนั่งได้ไหม จะประคองตัวได้ไหม ทั้งญาติ ทั้งพยาบาล ทั้งหมอ ทั้งนักกายภาพก็ช่วยกันให้กำลังใจ จนในที่สุดแกก็ได้ลากลับบ้านไปครึ่งวัน

ป้า Connie กลับมายิ้มแป้น เราก็ถามว่างาน OK ไหม แกบอกว่า "Beautiful!" เราถามว่าหลานสาวเป็นไงบ้างล่ะ แกก็ตอบมาอีกว่า "Beautiful!" บ่ายวันนั้นปรากฏว่าหลังราวน์ เราก็มีถาดขนมเค้กหนึ่งถาดมาวางไว้ที่ counter พยาบาล เขียนไว้ว่า My niece's wedding cake from Connie เราก็เลยได้กินเค็กงานแต่งงานของหลานป้า connie กันทุกคนเปรมปรีด์ไปเลย ตอนเราไปราวน์ ลูกๆของป้า connie ก็รายงานว่า ป้า connie กำลังชมดีวีดีงานแต่งงานหลานสาวอยู่ บนทีวีปลายเตียง (ทุกเตียงมีทีวีแขวนไว้ให้ชม) แกจะได้ติดตามขั้นตอนต่างๆทั้งหมดที่แก miss ไปจากงานได้ ป้า connie กำลังทานขนมเค้กอยู่ ยิ้มแป้นที่ได้ชมดีวิดี

This is the best medicine there is!!

หมายเลขบันทึก: 241173เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2009 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อาจารย์คะ " There is very beautiful medicine there is!!!!

พี่เคยถูฏห้ามไม่ให้เยี่ยมคุณยายที่นอนICU เพียงเพราะว่ามาช้าไป๑๐ นาทีคะ( ควรมาตรงเวลาเท่านั้น) แต่เมื่อต้องใช้ สัญญลักษณ์ สถาบันฯ ขอเข้าไปได้ ปรากฏว่าคุณยายถึงกับร้องไห้ เพราะคิดว่าวันนี้ไม่มีใครมาเยี่ยมแล้ว

แม่ต้อย P ครับ

ระวังนะครับ ไปๆมาๆสัญญลักษณ์สถาบันนั่นเอง อาจจะเป็น primary source ที่ทำให้เขา "ประกันคุณภาพ" เวลาเยี่ยมแบบที่ว่า ฮึ ฮึ ฮึ

อาจารย์คะ พิมพ์คำว่าคนไข้ผิดหน้า weak ค่ะ พอดีเห็นเลยแจ้งให้ทราบ : )

เจออีกคำ "มีคนไข้ผู้หญิง" ที่เป็นตัวอักษรเขียวค่ะ

โอ้โฮ มองเห็นได้ไงเนี่ย มันเป็นไม้ ้ ซ้อนกับไม้ ่ เชียวนะ

เอ่อ...ตรวจปรู๊ฟเป็นอาชีพเก่าค่ะ - - " มันติดนิสัย อ่านทีไรก็อดไม่ได้ต้องดูไปด้วยทุกที วรรณยุกต์ เว้นวรรค คำผิด ดูโม้ดดดด อิ อิ จริงๆ แอบเห็นหลายบันทึกนะคะ แต่ไม่ได้บอกไว้ ของคนอื่นใน GotoKnow นี่ก็เห็นเยอะมาก แต่เกรงใจค่ะ อ่านเอาความรู้ นอกเสียจากว่าผิดแล้วทำให้ความหมายมันเปลี่ยนจนน่าหวาดเสียวก็จะกระซิบบอกค่ะ : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท