การวิจัยในชั้นเรียน : ใบความรู้ที่ 2


ใบความรู้ที่ 2 : ลักษณะและกระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน

ใบความรู้ที่ 2
ลักษณะและกระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน

                 การวิจัยในชั้นเรียน เป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้และ/หรือคุณลักษณะของผู้เรียนให้มีศักยภาพเหมาะสมและดีขึ้น อย่างมีระบบ  สามารถประมวลสาระสำคัญจากใบความรู้ที่ 1 ได้ตามแผนภูมิต่อไปนี้
             ใคร           ครูผู้สอน 
             ทำอะไร     เก็บข้อมูลเพื่อสะท้อนผลและหาวิธีการแก้ไข 
             ที่ไหน        ตามสภาพที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน 
             เมื่อไร        ในขณะจัดการเรียนการสอน 
             อย่างไร      ด้วยกระบวนการวิจัยที่เชื่อถือได้ 
             เพื่ออะไร     เพื่อแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนา 
             เกี่ยวกับอะไร    การจัดการเรียนการสอน  
                                   การพัฒนาหลักสูตร 
                                   การบริหารจัดการเรียนการสอน 
            โดยการวิจัยในชั้นเรียนมีลักษณะและกระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน ดังนี้

ลักษณะการวิจัยในชั้นเรียน
ขอบเขตการวิจัยในชั้นเรียน จะให้ความสำคัญกับการคิดค้นนวัตกรรม
เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนการสอน แบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
1. สื่อการเรียนการสอนที่เป็นสิ่งประดิษฐ์
2. กิจกรรมการพัฒนาหรือเทคนิคการสอน
ลักษณะการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนนั้น เริ่มต้น จากการปฏิบัติงานการจัดการเรียน
การสอนของครูแล้วเกิดปัญหาข้อสงสัยขึ้น ครูต้องคิดค้นพัฒนาวิธีแก้ปัญหา โดยพยายาม
แสวงหาข้อมูลมาพัฒนาและทดลองใช้ จนได้วิธีการหรือนวัตกรรม แล้วนำไปใช้
ในการปฏิบัติงานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  สามารถนำเสนอดังแผนภูมิดังนี้


ขั้นที่ 1 ลงมือปฏิบัติ เกิดปัญหา / ข้อสงสัย
           ขั้นที่ 2  คิดค้นพัฒนา                 แสวงหาข้อมูลพัฒนา / ทดลอง         
           ขั้นที่ 3  ลงมือปฏิบัติ                  นำไปปฏิบัติ  


     กระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน
     กระบวนการทำวิจัยในชั้นเรียน จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง สามารถประมวลผลกำหนดเป็นขั้นตอนการดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนได้ 5 ขั้นตอน ดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 สำรวจและวิเคราะห์ปัญหา
          ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวิธีการในการแก้ปัญหา
          ขั้นตอนที่ 3 พัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรม
          ขั้นตอนที่ 4 นำวิธีการหรือนวัตกรรมไปใช้
          ขั้นตอนที่ 5 สรุปผล
     การดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน มีรายละเอียดสามารถอธิบายได้ดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 สำรวจและวิเคราะห์ปัญหา เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ

          ในการวางแผนแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้ครูพบปัญหาที่ต้องแก้ไขหรือพัฒนา โดยครูสามารถดำเนินการได้หลายลักษณะ เช่น การวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการสอนในแง่มุมต่างๆ การตรวจสมุดแบบฝึกหัด การสำรวจพฤติกรรมของผู้เรียน ข้อมูลจากการประเมินคุณลักษณะ ข้อมูลจากการสังเกตของครูเป็นต้น ครูจะพบปัญหาหรือข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นจากผู้เรียนหรือครูหรือกระบวนการเรียนการสอน เช่น
               1. ผู้เรียนขาดทักษะการคิดวิเคราะห์
               2. ผู้เรียนไม่เคยปฏิบัติตนเกี่ยวกับความรับผิดชอบให้เป็นนิสัย
               3. ผู้เรียนขาดทักษะในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง
               4. ครูใช้สื่อไม่เหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความสามารถของผู้เรียน
               5. ครูไม่ได้จัดโอกาสให้ผู้เรียน ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงด้วยตนเอง
               6. กระบวนการเรียนการสอน ไม่สนับสนุนต่อทักษะการสืบค้นความรู้
          เมื่อครูพบปัญหาจากการสำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาแล้ว หากมีหลายปัญหา ครูควรจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยพิจารณาจากความรุนแรงของปัญหาว่า ปัญหาใดควรได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาก่อน เพราะเหตุใด ขั้นตอนนี้จะนำไปสู่ปัญหาของการวิจัย


          ขั้นตอนที่ 2 การกำหนดวิธีการในการแก้ปัญหา เมื่อครูได้วิเคราะห์ปัญหาจากการศึกษาขั้นตอนที่ 1 เพื่อจะได้วิธีการในการแก้ปัญหา ในขั้นตอนนี้ครูต้องศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น วารสาร บทความ ตำรา คู่มือ งานวิจัย แนวคิดทฤษฎีต่างๆ หรือข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านทางอินเตอร์เน็ท ตลอดจนประสบการณ์ของครูเอง ซึ่งจะทำให้ครูทราบว่า ปัญหาที่คล้ายกับปัญหาของเรามีผู้ใดศึกษาไว้บ้าง มีการใช้วิธีใดในการแก้ปัญหา ผลการแก้ปัญหาเป็นอย่างใร จะทำให้ครูเห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้น ขั้นตอนนี้ จะนำไปสู่ขอบเขตของการวิจัย ประโยชน์และผลที่คาดว่าจะได้รับ


          ขั้นตอนที่ 3 พัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรม จากขั้นตอนที่ 2 ครูจะได้ทางเลือกในการแก้ปัญหาในการพัฒนาการ ซึ่งอาจเป็นวิธีการหรือนวัตกรรมที่เป็นไปได้ ในขั้นตอนนี้ ครูต้องกำหนดวิธีการหรือสร้างนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนา แล้วดำเนินการหาคุณภาพของวิธีการหรือนวัตกรรมจากผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ เช่น ครูกำหนดพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ เมื่อครูศึกษาแนวคิดทฤษฎีต่างๆ หรือข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่างๆ แล้วนำมาออกแบบจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ควรนำแผนการจัดการเรียนรู้นั้นไปใช้ผู้รู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ศึกษา ให้ข้อคิดเห็น เพื่อนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปปรับปรุงแก้ไข และเตรียมนำไปใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนาต่อไปตามขั้นตอนที่กำหนด


           ขั้นตอนที่ 4 นำวิธีการหรือนวัตกรรมไปใช้ ในขั้นตอนนี้ เป็นขั้นตอนที่ครูนำวิธีการหรือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นในขั้นตอนที่ 3 ไปใช้ โดยระบุขั้นตอนปฏิบัติว่า จะใช้กับใคร เมื่อไร อย่างไร มีการเก็บข้อมูลก่อน ระหว่าง และหลังการใช้วิธีการหรือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นอย่างไร ในขั้นตอนนี้ ครูต้องกำหนดวิธีการจัดเก็บข้อมูล จัดทำเครื่องมือเพื่อการจัดเก็บข้อมูล รวมทั้ง แนวทาง การวิเคราะห์ข้อมูล


           ขั้นตอนที่ 5 สรุปผล เมื่อทำการรวบรวมข้อมูลได้แล้ว ให้นำข้อมูลมา วิเคราะห์โดยเลือกใช้สถิติที่เหมาะสมกับข้อมูลที่รวบรวมได้ แล้วสรุปการวิเคราะห์ข้อมูล หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตามที่ต้องการ ก็ต้องทำการปรับปรุงแก้ไข โดยย้อนกลับไปหาวิธีการหรือนวัตกรรมใหม่ แล้วพัฒนาวิธีการหรือนวัตกรรม ตลอดจนวิธีการหรือนวัตกรรมไปใช้อีก จนกระทั้งสามารถ เป็นการกระทำซ้ำจากขั้นตอนที่ 2 ถึงขั้นตอนที่ 4 ใหม่ จนกระทั้งสามารถแก้ปัญหาได้ตามที่ต้องการ แล้วเขียนรายงานสรุปผลการดำเนินงานตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1จนถึงขั้นตอนที่ 4 จะทำให้ครูได้ผลงานการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนหรือการแก้ปัญหาต่อไป


เอกสารอ้างอิง


           กรมวิชาการ. วิจัยเพื่อการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2542. 
           กาญจนา  วัฒานยุ. การวิจัยในชั้นเรียน เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน.   
                   นครปฐม : สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา, 2544. 
           เบญจนี  บุญอบ. เอกสารประกอบการฝึกอบรม เรื่อง การจัดทำแผนการเรียนรู้. 
                   อัดสำเนา, 2548.
           ประวิต  เอราวรรณ์. การวิจัยในชั้นเรียน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 
                   2542. 
           มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี. การวิจัยในชั้นเรียน (ออนไลน์). แหล่งที่มา : 
                   www.kru.ac.th/commit/education/e-training/e-training.html.
                   8 มีนาคม 2549.

 


คำสั่ง  เมื่อทำการศึกษาสาระตามใบความรู้ที่ 2 เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทางไกล ทำกิจกรรมตามแบบฝึกปฏิบัติที่ 2 เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ส่งผลการปฏิบัติกิจกรรมได้ที่ [email protected]  ภายใน วันที่ 19 เมษายน 2549

                   
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24085เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2006 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท