วงจรชีวิตผีเสิ้อ


วงจรชีวิตผีเสื้อ

วงจรชีวิตของผีเสื้อ
Nature and life


ชีวิตของผีเสื้อเริ่มจาก ไข่ แล้วไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอน ซึ่งเรามักเรียกกันว่า ตัวแก้ว ต่อมาตัวแก้วจะหยุดกินอาหาร และไม่เคลื่อนไหว กลายสภาพเป็น ดักแด้ และในไม่ช้าดักแด้จะกลายสภาพเป็น ผีเสื้อ สีสวยเที่ยวบินว่อนอยู่ตามดงดอกไม้ ซึ่งเป็น ตัวเต็มวัย ชีวิตของผีเสื้อจึงแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ
อย่างไรก็ดี เราไม่อาจบอกได้ว่า ชีวิตของผีเสื้อในแต่ละระยะคงอยู่เป็นเวลานานเท่าไร ก่อนที่มันจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกระยะหนึ่ง

ทั้งนี้เพราะระยะเวลาในแต่ละระยะของผีเสื้อแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป ไม่แน่นอน และยังขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และสภาพภูมิอากาศในแต่ละท้องที่อีกด้วย
แม้กระนั้น เคยมีนักวิชาการบันทึกไว้ว่า ผีเสื้อในเขตร้อนของโลกนั้น จะคงอยู่ในระยะของ ไข่ ราวแค่ 3 วันเท่านั้น ระยะ ตัวแก้ว เป็นเวลาถึง 8 วัน และระยะ ดักแด้ เป็นเวลาราว 7 วัน ดังนั้น กว่าผีเสื้อจะได้มีชีวิตบินร่อนไปร่อนมา เพื่อหาน้ำหวานจากดอกไม้ มันต้องใช้เวลารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 18 วัน นับจากเริ่มเป็นไข่

ส่วนในเขตอบอุ่นนั้น ระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเป็นไข่ จนกระทั่งกลายเป็นผีเสื้อ เป็นเวลาราว 8 สัปดาห์ สำหรับผีเสื้อชนิดที่เจริญเติบโตเร็ว แต่สำหรับผีเสื้อชนิดที่เจริญเติบโตช้า ระยะเวลาของวรจรชีวิตจะนานกว่านี้ และมีผีเสื้อหลายชนิดทีเดียวที่มีวงจรชีวิตเท่ากับระยะเวลาหนึ่งปีเต็ม ด้วยเหตุนี้ อย่างน้อยระยะใดระยะหนึ่งของมันจะต้องอยู่ในสภาวะ " จำศีล" ในฤดูหนาว ที่เรียกกันว่า hibernation สำหรับในประเทศเขตร้อนนั้น ผีเสื้อบางชนิด บางทีบางระยะหนึ่งของมันอาจต้อง " จำศีล" ในฤดูร้อน ที่เรียกกันว่า aestivation ด้วย

ถึงแม้ว่า ผีเสื้อคู่หนึ่งๆ สามารถผลิตไข่หรือให้กำเนิดลูกหลานได้ถึง 3,000,000 ตัวในฤดูหนึ่งของปีก็ตาม แต่โอกาสที่จะมีชีวิตเหลือรอดออกมาเป็นผีเสื้อแสนสวยมีน้อยมากทีเดียว เฉลี่ยแล้ว ผีเสื้อคุ่หนึ่งๆ ให้กำเนิดลูกหลานที่เหลือรอดออกมาเป็นผีเสื้อได้ราว 2-3 ตัวเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะผีเสื้อมีศัตรูมากนั่นเอง คอยทำลายทุกระยะ ตั้งแต่ยังเป็นไข่ จนกลายมาเป็นตัวแก้ว ดักแด้ หรือ แม้แต่ผีเสื้อที่โตเต็มวัยแล้ว และยังมีศัตรูคอยล่ากิน และมีมนุษย์คอยล่าเพื่อเก็บสะสมอีกด้วย นอกจากนี้ มันยังได้รับภัยจากโรคระบาด และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจนมันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นต่อไปได้

 


เมื่อผีเสื้อตัวเมียมีท้องแก่ มันจะบินไปหาต้นพืชซึ่งตัวแก้วของมันจะใช้เป็นอาหารได้ ตามปกติ ผีเสื้อแต่ละกลุ่ม แต่ละวงศ์ จะวางไข่ไว้บนต้นพืชคนละชนิดกัน เมื่อมันเลือกต้นพืชที่มันต้องการได้แล้ว มันจะเริ่มวางไข่ไว้ตามส่วนต่างๆ ของต้นพืชนั้น

ผีเสื้อบางชนิดชอบวางไข่ไว้ตามก้านดอกไม้ แต่บางชนิดวางไข่ไว้บนยอดอ่อนของพืช ชนิดที่วางไข่ไว้บนกลีบดอกไม้ก็มี มีบางชนิดวางไข่ไว้ตามซอกเปลือกไม้ตรงโคนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งมีพืชที่จะเป็นอาหารของตัวแก้วขึ้นอยู่ใกล้ๆ หลังจากตัวแก้วฟักออกจากไข่แล้ว จึงจะไต่มายังพืชอาหารของมัน

ตามปกติผีเสื้อมักวางไข่ฟองเดียวโดดๆ หรือ เป็นกลุ่มเล็กๆ มีน้อยชนิดที่วางไข่ไว้เป็นกลุ่มใหญ่ กลุ่มไข่นี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของผีเสื้อ บางชนิดจะวางไข่ติดกันเป็นเส้นห้อยลงมา คล้ายกับลูกปัทม์ที่นำมาร้อยต่อกัน มีน้อยชนิดที่วางไข่เรี่ยราดไว้ตามพื้นดิน

ไข่ของผีเสื้อแต่ละชนิดมีขนาด รูปร่าง สีสัน และลวดลายแตกต่างกันออกไป โดยปกติ ไข่ของผีเสื้อจะเล็กมาก ผีเสื้อชนิดที่มีไข่โตที่สุดนั้น ไข่ของมันจะมีขนาดพอๆ กับหัวเข็มหมุดหัวโตเท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้ การตรวจสอบไข่ของผีเสื้อ จึงจำเป็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ ( microscope) เท่านั้น
จากภาพที่มองผ่านเลนส์ของกล้องจุลทรรศน์ เราจะเห็นว่า ไข่ของผีเสื้อบางชนิดมีลักษณะตั้งยาวสีขาวหรือสีเหลือง แต่ไข่ของผีเสื้อบางชนิดมีลักษณะกลม มีรอยบั้ง และมีสีเขียว แต่บางชนิดมีไข่กลมแบนสีขาวหรือสีออกเทา และมีรอยบุ๋ม หรือไม่ก็มีไข่แบนเกือบเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้า ออกสีขาวหรือสีเหลือง ไข่ของผีเสื้อหางแฉกที่เรียกกันว่า ผีเสื้อหางติ่ง (Swallowtail) นั้น มีลักษณะกลมมาก เรียบ และโตกว่าไข่ของผีเสื้ออื่นๆ และมักมีสีเหลือง สีสันของไข่นี้มักเป็นสีที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เพื่อพรางตาศัตรู

เปลือกไข่ประกอบด้วยสารที่เรียกว่า ไคติน ( chitin) เช่นเดียวกับเปลือกลำตัวของผีเสื้อ และแมลงอื่นๆ โดยทั่วๆ ไป ไข่ผีเสื้อมักมีลักษณะโปร่งแสง เมื่อไข่สุก เราสามารถมองดูการเจริญเติบโตของตัวอ่อนภายในไข่ได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ ทางด้านบนหรือด้านข้างของไข่จะมีรูเล็กๆ เป็นรูอากาศอยู่ 1 รู เรียกว่า ไมโครพาย ( micropyle) ซึ่งตัวอ่อนจะหายใจเอาก๊าซออกซิเจนจากอากาศที่ผ่านเข้ามาทางรูนี้
ในเวลาที่ผีเสื้อตัวผู้ผสมพันธุ์กับผีเสื้อตัวเมียนั้น เชื้อตัวผู้จะเข้าไปผสมกับไข่ในท้องของตัวเมียได้ โดยผ่านเข้าไปทางรูนี้เช่นเดียวกัน ไมโครพายจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากของไข่

ตามปกติ ของเหลวภายในไข่มักมีลักษณะใส แต่ต่อมา พอตัวอ่อนในไข่เริ่มเจริญเติบโตขึ้น ของเหลวในไข่จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้นทุกที จนบางทีก็เป็นสีดำ ซึ่งแสดงว่า ตัวหนอนได้เจริญเติบโตเต็มที่ และพร้อมที่จะออกมาจากไข่แล้ว ตัวหนอนในไข่จะกัดกินไมโครพายทางด้านในให้ทะลุ แล้วก็คลานออกมา หลังจากนั้น มันจะกินเปลือกไข่ของมันจนหมดหรือเกือบหมด ก่อนที่จะกินพืชอาหารของมัน

ตัวหนอนจะต้องกินเปลือกไข่ของมันเสมอ เพราะมีไคตินที่ประกอบเป็นเปลือกไข่ ซึ่งเป็นสารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายของมันมาก ถ้าหากตัวหนอนถูกกีดกันไม่ให้กินเปลือกไข่ มันอาจตายได้ แม้ว่าจะได้กินพืชอาหารก็ตาม ซึ่งนับว่าแปลกมากทีเดียว


ตัวแก้วหรือตัวหนอนของผีเสื้อ มีลำตัวยาว มีขาจริง 3 คู่ และมีขาเทียม ( prolegs) ที่ส่วนท้องอีกหลายคู่ ไช้สำหรับเดินทั้งสิ้น ซึ่งผิดกับหนอนของแมลงอื่นๆ เช่น หนอนแมลงวัน หรือ ลูกน้ำ ซึ่งไม่มีขาเลย ไม่ว่าจะเป็นขาจริงหรือขาเทียม เมื่อมันกลายเป็นผีเสื้อแล้ว ขาเทียมจะหดหายไป ส่วนขาจริงจะเจริญไปเป็นขาของผีเสื้อ ดังนั้น ส่วนของตัวแก้วที่มีขาจริง คือ ส่วนที่จะเจริญไปเป็นส่วนอก ( thorax) ของแมลงนั่นเอง

ส่วนหัวของตัวแก้วมีปากชนิดกัดกิน ( biting type) ใช้กัดกินใบพืชอาหารของมัน ทำนองเดียวกับปากของตั๊กแตน จิ้งหรีด หรือ แมลงสาบ ซึ่งผิดกับเมื่อตอนที่มันกลายเป็นผีเสื้อแล้ว ซึ่งปากจะเปลี่ยนไปเป็นปากชนิดดูดกิน (siphoning type)

ตัวแก้วส่วนมากไม่มีขนยาวรุงรัง ถ้าหากเราพบหนอนที่มีลักษณะลำตัวยาว มีขาจริง 3 คู่ มีขาเทียม และมีปากชนิดกัดกิน แต่มีขนยาวรุงรังแล้ว เราแน่ใจได้ทันทีเลยว่า เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน ( Moth) ไม่ใช่หนอนของผีเสื้อ ( Butterfly) ปกติ หนอนของผีเสื้อกลางคืนนั้น ชาวบ้านมักเรียกกันว่า บุ้ง ไม่เรียกว่า ตัวแก้ว หนอนของผีเสื้อบางชนิดเท่านั้นที่มีขนสั้นๆ สีต่างๆ ที่ลำตัว

สีสันของตัวแก้วนี้ ตามปกติจะเข้ากับสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่ได้เป็นอย่างดี จึงล้วนแต่เป็นสีพรางตาศัตรูทั้งสิ้น เพื่อให้รอดพ้นจากศัตรู โดยเฉพาะนก ตัวแก้วที่หากินอยู่ตามต้นหญ้าจะมีลำตัวผอมยาว หัวท้ายแหลม มีลายเขียวๆ เป็นทางยาว เข้ากับใบหญ้าได้ดี ตัวแก้วบางชนิดมีลำตัวรี แบน และเกาะแน่นอยู่ใต้ใบไม้ และสีสันยังเข้ากับใบไม้อีกด้วย ตัวแก้วที่หากินอยู่ตามต้นถั่วมีรูปร่างยาวรีและมีสีสันคล้ายฝักถั่ว บางชนิดดูคล้ายมูลนกที่ติดอยู่ตามใบไม้ ตัวแก้วที่มีสีสันเข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ มักเป็นตัวแก้วที่นกชอบกิน

ตัวแก้วของผีเสื้อบางชนิดมีสีสวยสดแลเห็นเด่นชัด เช่น ตัวแก้วของผีเสื้อหนอนใบรัก ในสกุล Danaus มีลายสีเหลืองและสีดำเด่นชัดมาก จัดเป็นสีเตือนภัย ( warning colour) เพื่อให้นกแลเห็นได้ชัดๆ จะได้ไม่เผลอเข้ามากิน เพราะรสชาติของมันไม่เป็นที่โปรดปรานของนก ตัวแก้วที่มีสีสันเช่นนี้ นกจึงไม่ชอบกิน และไม่กล้าเข้ามาแตะต้อง ตัวแก้วของผีเสื้อหางติ่ง ( Swallowtail) มีสีเตือนภัยเช่นกัน แต่บางชนิด ตัวแก้วในระยะแรกๆ มีสีสันคล้ายคลึงกับสภาพแวดล้อม แต่พอเจริญเติบโตขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นสีเตือนภัย หนอนบางชนิดมีขนซึ่งเมื่อถูกผิวหนังจะเกิดอาการผื่นคัน


การเปลี่ยนแปลงร่างกายจากตัวแก้วมาเป็นดักแด้ (pupa) นั้น เป็นสิ่งมหัศจรรย์มาก เพราะตัวแก้วหากินอยู่เสมอและกินจุ แต่ดักแด้อยู่นิ่งกับที่และไม่กินอะไรเลย การลอกคราบจากตัวแก้วในระยะสุดท้ายมาเป็นดักแด้นั้น คล้ายคลึงกันมาก กับการลอกคราบในแต่ละครั้งของตัวแก้ว เพียงแต่ว่าในระยะนี้ ผิวหนังใหม่ใต้ผิวหนังเก่าเป็นผิวหนังของดักแด้ และมีรูปร่างเป็นดักแด้
เมื่อตัวแก้วลอกคราบออกมาเป็นดักแด้ใหม่ๆ ผิวหนังของดักแด้ยังอ่อนนิ่มอยู่ แต่นานๆ ไป หลายชั่วโมง ผิวหนังของมันจึงแข็งขึ้น และมีรูปร่างและสีสันเป็นดักแด้มากขึ้น จนกลายเป็นดักแด้ที่สมบูรณ์

ถ้าเราสังเกตตั้งแต่เริ่มแรก เราจะเห็นว่า เมื่อถึงเวลาที่ตัวแก้วในระยะสุดท้ายจะลอกคราบเป็นดักแด้ มันจะเริ่มหยุดนิ่ง ใช้ส่วยท้ายสุดของลำตัว หรือ " หาง " เกาะติดกับวัตถุ เช่น กิ่งไม้ หรือใบไม้ด้วยเส้นใย ต่อจากนั้น ผิวหนังเก่าของมันจะเริ่มลอกออกจากท่อนหัวไปยังท่อนหาง พอลอกถึงปลายหาง มันจะดึงหางออกจากวัตถุ เพื่อให้คราบเก่าหลุดออกไป แล้วใช้หางทิ่มเกาะติดที่เดิมอย่างรวดเร็ว โดยมันไม่ตกจากกิ่งไม้หรือใบไม้ ได้อย่างน่าอัศจรรย์
ดักแด้ของผีเสื้อนี้ ในทางกีฏวิทยาจัดเป็น obtected pupa คือเป็นดักแด้ที่มีขาและปีกติดเป็นเนื้อเดียวกับลำตัว และนิยมเรียกกันว่า chrysalis แต่การคงอยู่ในสภาพดักแด้ของผีเสื้อแต่ละชนิดนั้นจะแตกต่างกัน ซึ่งอาจจำแนกออกได้ 3 แบบ

แบบแรก ดักแด้ห้อยแขวนตัวอยู่กับกิ่งไม้ หรือ วัตถุใดๆ โดยใช้ส่วนที่เป็นตะขอของ " หาง" ซึ่งเรียกว่า cremaster เกาะติดกับเส้นใยที่ติดอยู่กับกิ่งไม้หรือวัตถุนั้นๆ เช่น ดักแด้ของผีเสื้อในวงศ์ Nymphalidae แบบแรกนี้เรียกกันว่า suspensi

แบบที่สอง ดักแด้ใช้ส่วนที่เป็นตะขอของ " หาง" เกาะติดกับเส้นใยที่ติดกับวัตถุเช่นกัน แต่ยังมีเส้นใยปั่นออกมาล้อมรอบส่วนอก และยึดติดกับวัตถุด้วย จึงยึดติดกับวัตถุทั้งที่ท่อนอกและที่ส่วน " หาง" เช่น ดักแด้ของผีเสื้อในวงศ์ Papilionidae วงศ์ Lycaenidae และวงศ์ Pieridae แบบนี้เรียกกันว่า succincti

แบบที่สาม ดักแด้จะวางหรือนอนอยู่บนพื้นดินหรือซ่อนอยู่ในที่มิดชิด เช่น ดักแด้ของผีเสื้อในวงศ์ Satyridae และวงศ์ Hesperiidae แบบนี้เรียกกันว่า involuti
ดักแด้ของผีเสื้อนี้ต้องมีการเกาะยึดกับวัตถุอื่นอย่างเหนียวแน่น หรือ ซ่อนอยู่อย่างมิดชิด มีสีสันพรางตาศัตรูได้เป็นอย่างดี และทนต่อความผันแปรของสภาพดินฟ้าอากาศ และอุณหภูมิได้ดีด้วย มิเช่นนั้นอาจตายได้ ดักแด้ของผีเสื้อบางชนิดต้องอยู่ในสภาพนั้นตลอดฤดูหนาว

นอกจากนี้ แม้ว่ามันจะถูกฝังอยู่ใต้หิมะหรืออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำถึง - 20 องศาซี หรือ -12 องศาเอฟ มันก็ยังทนอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นดักแด้ของผีเสื้อในเขตอบอุ่นหรือเขตร้อน

ความแตกต่างระหว่างเพศของตัวแก้วนั้น ยากนักที่ใครจะบอกได้ แต่ความแตกต่างระหว่างเพศของดักแด้นั้น ผู้ที่มีความชำนาญอาจบอกได้ โดยใช้แว่นขยายที่ขยายได้หลายเท่าส่องดูที่ส่วนท้ายของลำตัวดักแด้ ตามปกติตรงปล้องที่ 5 ของตัวผู้ นับจากส่วนปีกลงไปจะมีปุ่มนูนๆ ยื่นออกมา แต่ของตัวเมียจะอยู่ที่ปล้องที่ 4 นับจากส่วนปีกลงไป

เมื่อตัวแก้วลอกคราบกลายเป็นดักแด้นั้น มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายในร่างกายของดักแด้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อให้มันลอกคราบมาเป็นผีเสื้อที่สมบูรณ์ แต่ระบบย่อยอาหาร ระบบประสาท และอวัยวะสำคัญอื่นๆ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ถึงแม้ตัวแก้วนั้น ไม่มีความแตกต่างทางเพศ แต่ในระยะสุดท้ายก่อนที่จะกลายเป็นดักแด้ อวัยวะที่บ่งบอกเพศจะเริ่มปรากฏให้เห็น และจะเจริญดีมากในดักแด้
อวัยวะส่วนอื่นๆ ของผีเสื้อจะเจริญมาจากกลุ่มเซลเล็กๆ ที่เรียกกันว่า imaginal buds เซลเหล่านี้จะเริ่มแบ่งตัวและจะมารวมกันเป็นกลุ่มเซลเล็กๆ ดังกล่าว และค่อยเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของผีเสื้อทีละน้อยๆ

รูปร่างของดักแด้นั้น ธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้รับกับการเจริญขึ้นของส่วนปีก ( wingcases) ขา ปากแบบดูดกิน หนวด และตา ซึ่งดักแด้ที่เจริญมากแล้ว เราจะแลเห็นอวัยวะเหล่านี้ภายในดักแด้ได้ชัดขึ้น ต่อมาจะเริ่มปรากฏขนบนหัว อก ท้อง ขา และปีก
ต่อจากนั้น จะเริ่มปรากฏเกล็ดเล็กๆ บนปีก แต่ยังไม่มีสีสันใดๆ ในระยะสุดท้าย ส่วนปีกของมันจะมีรงควัตถุ ( pigment) มาแทรกซึมจนทั่ว ทำให้เกล็ดบนปีกมีสีสันขึ้น ปีกของมันจะมีสีสันและลวดลายแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของผีเสื้อ ในระยะสุดท้ายนี้ ผิวหนังของดักแด้จะโปร่งแสง ทำให้แลเห็นอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะลวดลายและสีสันบนปีกได้ชัดเจนมากขึ้น

ในระยะนี้ ตัวผีเสื้อได้เกิดขึ้นอยู่ภายในดักแด้แล้ว รอเวลาที่จะออกมาจากคราบดักแด้เท่านั้น ตัวผีเสื้อภายในดักแด้จะแห้งขึ้นเล็กน้อย แล้วปลอกดักแด้จะเริ่มปริออกตรงส่วนอก เปิดเป็นช่องให้ผีเสื้อคลานออกมาเกาะอยู่ที่ข้างนอกปลอกดักแด้ หรือที่กิ่งไม้ใกล้ๆ มันจะต้องเกาะอยู่ตรงที่เหมาะๆ เพื่อกางปีกออก และผึ่งปีกของมันให้แห้งเต็มที่ มันจึงจะกลายเป็นผีเสื้อที่สมบูรณ์



เมื่อผีเสื้อลอกคราบออกมาจากดักแด้นั้น ในระยะแรก มันจะปล่อยของเหลวสีชมพูจางๆ ที่เรียกว่า meconium ออกมา meconium นี้เป็นสิ่งขับถ่ายที่สะสมอยู่ในระยะที่มันเป็นดักแด้ เพราะดักแด้นั้นไม่มีปากสำหรับกินอาหาร และไม่มีช่องสำหรับขับถ่าย สิ่งขับถ่ายจึงต้องสะสมเอาไว้ก่อน และมาปล่อยออกในระยะที่มันเป็นผีเสื้อแล้ว

ผีเสื้อที่ลอกคราบออกมาใหม่ๆ ปีกยังเล็กอยู่และค่อนข้างยับยู่ยี่ มันจะต้องไต่ไปเกาะกิ่งไม้หรือวัตถุใดๆ ที่ไม่มีอะไรมาเกะกะ เพื่อมันจะได้แผ่ปีกได้เต็มที่ ถ้าหากมีอะไรมาเกะกะ ปีกของมันอาจฉีกขาดได้ มันจะเกาะนิ่งๆ ไม่เคลื่อนไหว ปล่อยให้อากาศเข้าไปทางปากแบบดูด และรูหายใจ ( spiracles) อากาศจะเข้าไปสะสมอยู่ภายในลำตัวบริเวณอกและท้อง

โดยการหดตัวของกล้ามเนื้อ จะผลักดันให้โลหิตเข้าไปหล่อเลี้ยงภายในปีกเล็กๆ ที่ยับยู่ยี่ของมัน แล้วปีกของมันจะค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นทุกที และบางมากขึ้นจนกระทั่งโตได้ขนาดเต็มที่ และมีความบางเต็มที่ ผิดกับเมื่อตอนมันลอกคราบออกมาใหม่ๆ ซึ่งมีปีกเล็กและยังหนาอยู่

อย่างไรก็ดี ผีเสื้อในระยะนี้ยังไม่พร้อมที่จะบินไปไหนมาไหน มันยังต้องเกาะอยู่นิ่งๆ โดยแผ่ปีกออกเล็กน้อย อีกราว 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปีกของมันแห้งเต็มที่ มันจึงจะบินไปไหนมาไหนได้ สำหรับการขยายปีกของมันนั้น ใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น ปีกของมันก็กางออกเต็มที่แล้ว

ข้อมูลจาก   www.savebutterfly.com

หมายเลขบันทึก: 240017เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2009 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะสาระที่ดีๆ  เกี่ยวกับ...วงจรชีวิตผีเสื้อ

สวัสดีค่ะ คุณ natadee

แล้วแวะมาเยี่ยมชมใหม่นะคะ

ขอบคุณค่ะ

ภาพผีเสื้อน่ารักมีสาระD

แต่อยากได้ภาพ

วงจรผีเสื้อที่ไม่มีสี

มาดูมั่งจังคร่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท