๕๐. ศิลปวัฒนธรรมเพื่อชุมชนเรียนรู้นานาชาติ


"....การใส่แนวคิด และการออกแบบกระบวนการให้สร้างสรรค์ลงไป ก็จะทำให้กิจกรรมง่ายๆ ธรรมดาๆ กลายเป็นการสร้างแหล่งประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีความหมาย อีกทั้งมีความเป็นบูรณาการ ทำให้กลุ่มนักศึกษานานาชาติ สามารถข้ามกรอบความแตกต่างกันมากมายหลายมิติ ..."

           สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มีหลักสูตรการศึกษาหลักสูตรเดียว แต่เป็นหลักสูตรที่ได้รับการประเมินว่ามีสัดส่วนของนักศึกษานานาชาติมาเรียนสูงที่สุดของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหลักสูตรปริญญาโทนานาชาติ สาขาการบริหารการสาธารณสุขมูลฐาน จัดการศึกษาเข้มข้น 12 เดือน มีการศึกษาเรียนรู้ภาคสนาม และมีการทำวิทยานิพนธ์ รับนักศึกษาที่เป็นแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือสาขาอื่นๆ ที่จะพิจารณาเป็นรายกรณี

           ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาไทยไม่เกิน 5 คน นอกนั้นจะเป็นนักศึกษาต่างประเทศจากทุกภูมิภาคของโลก โดยเฉลี่ยปีละ 20-30 คน โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเราในเอเชียตะวันออก อินโดจีน และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน

           การเป็นชุมชนทางวิชาการและชุมชนเรียนรู้นานาชาติ ทำให้การจัดการศึกษา ตลอดจนการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม และสิ่งเอื้ออำนวยสำหรับการใช้ชีวิตศึกษาเรียนรู้อย่างเข้มข้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาต่างๆ อย่างดีที่สุด มีหลายเรื่องที่แตกต่างจากการจัดการศึกษาสำหรับคนท้องถิ่น หรือคนในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมเดียวกัน

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเป็นชุมชนการเรียนรู้และส่งเสริมความเป็นสิ่งแวดล้อมทางวิชาการให้กันและกันของกลุ่มนักศึกษา ซึ่งมีช่องว่างและความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม  เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวิถีปฏิบัติต่างๆในชีวิตประจำวัน 

          สิ่งเหล่านี้  ไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวและใช้ชีวิตทางการศึกษาได้อย่างมีความสุขตลอดการศึกษาของแต่ละคนเท่านั้น ทว่า จะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมนานาชาติ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงทรรศนะทางวิชาการอันกว้างขวางที่ต้องให้ความเข้าใจไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

          องค์ประกอบดังกล่าวนี้ ผมได้ศาสตราจารย์อาวุโสเป็นพี่เลี้ยงและหนุนให้ผมพัฒนาขึ้นตามความสนใจ ซึ่งทำให้ได้การเรียนรู้มากเป็นที่สุด คือ หากเป็นหัวข้อที่ผมต้องสอนและบรรยาย ผมจะให้ความสำคัญและออกแบบให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นักศึกษาจะมีโอกาสแสดงทรรศนะและนำเอาเรื่องเดียวกัน แต่จากประสบการณ์ของแต่ละประเทศ มานำเสนอ วิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อนทรรศนะไปตามจุดยืนที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งทำให้สามารถสร้างมิติการศึกษาเรียนรู้หลายด้านให้ผสมผสานอยู่ในกระบวนการเดียวกัน

          ทั้งการสร้างความรู้ขึ้นจากกรณีที่แตกต่างกันของนานาประเทศ 

          การได้สัมผัสทรรศนะและฟังเสียงหัวใจที่แตกต่าง (Voice of differrences)

          การเสริมทฤษีและองค์ความรู้เข้ากับพื้นฐานที่นักศึกษามีอยู่ตามประสบการณ์ทางสังคมของเขา

          การสร้างภาวะผู้นำทางวิชาการ  ในการนำเสนอ ปฏิสัมพันธ์ และสร้างการเรียนรู้ให้กับตนเองในท่ามกลางทรรศนะที่แตกต่าง เหล่านี้เป็นต้น

          กระบวนการอย่างนี้ นักศึกษาจะทำท่ากลัวๆและเกี่ยงให้คนอื่นทำก่อนในตอนเตรียมตัว แต่หลังจากตนเองเป็นผู้นำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในหัวข้อต่างๆแล้ว ทักษะการปฏิสัมพันธ์เชิงวิชาการ รวมทั้งทักษะการแสดงทรรศนะทางวิชาการและการเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ โดยเฉพาะการทำวิทยานิพนธ์เป็นทีมกับทีมอาจารย์สหสาขา จะดีขึ้นมาก

         แต่เมื่อเร็วๆนี้  ผมได้ร่วมกิจกรรม การทำอาหารและงานเลี้ยงเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม (Internetional Cultural Change) ซึ่งกลุ่มนักศึกษา กับฝ่ายหลักสูตรการศึกษาของสถาบันจัดขึ้น หลังจากการเรียนคอร์สเวิร์คของนักศึกษาเกือบหมดและเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการทำวิทยานิพนธ์ เป็นกิจกรรมที่ง่าย แต่มีความหมายและให้พลังต่อการสร้างสรรค์ชุมชนเรียนรู้นานาชาติเป็นอย่างยิ่ง

         วิธีการและกระบวนการก็คือ นักศึกษาแต่ละชาติ ต่างก็ช่วยกันจัดรายการอาหารของแต่ละประเทศ รวมทั้งเตรียมกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ มาให้เพื่อนๆได้มีส่วนร่วมในงานจัดเลี้ยง ซึ่งจะจัดขึ้นในมื้อเที่ยงจนเลยไปถึงยามบ่ายของวันสุดสัปดาห์

         แต่กลุ่มของแต่ละประเทศ ต่างก็จัดหาวัตถุดิบและปรุงอาหารด้วยตนเอง  จากนั้นก็เตรียมตัวแนะนำและพรรณามิติต่างๆ  ให้เพื่อนๆและผู้ร่วมงานได้เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมของตนที่อยู่ภายใต้อาหารที่เตรียมมา 

         ทุกคนจากทุกประเทศ  จัดเตรียมอย่างจริงจังและทำกันอย่างสุดฝีมือ 

         จากนั้นก็มีคณะทำงาน  เตรียมบรรยากาศ  เตรียมรายการเวที  เชิญแขก ครูอาจารย์ จัดงานขึ้นได้อย่างเต็มที่เท่าที่ตนเองอยากสร้างสรรค์โดยมีพวกเราชาวสถาบันคอยสนองตอบและให้การสนับสนุน

         พอถึงวันจัดเลี้ยง เมื่อทุกคนพร้อมในงาน  นักศึกษาแต่ละกลุ่ม ของแต่ละประเทศ  ก็ออกมาชวนเชิญให้เพื่อนๆและทุกคนได้รู้จักอาหารของตน  ได้เรียนรู้มิติสังคมและวัฒนธรรมทั้งของท้องถิ่นและของชาติตนที่สะท้อนอยู่ในอาหารนั้นๆ 

         แต่ละกลุ่มต่างบอกเล่ามิติคุณค่าและความหมายต่อจิตใจที่ได้ทำและนำมาให้ทุกคนได้ร่วมรับประทาน หมุนเวียนจนครบทุกประเทศ

         จากนั้น ก็รับประทานอาหารด้วยกัน โดยแต่ละคนจะตักอาหารของทุกประเทศรวมไปบนจานเดียวกัน แล้วก็พูดคุยแบบสบายๆ 

          เป็นทั้งกระบวนการกลุ่ม ให้ความรื่นรมย์ใจ สร้างความบันดาลใจ สร้างความผ่อนคลาย (Stress Management) หลังการเรียนคอร์สเวิร์คอันเหนื่อยหนักของนักศึกษา และสร้างเสริมความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้นานาชาติ ที่สร้างสรรค์ เรียบง่าย และมีพลังเป็นอย่างยิ่ง

           การใส่แนวคิด และการออกแบบกระบวนการให้สร้างสรรค์ลงไป  ก็จะทำให้กิจกรรมง่ายๆ ธรรมดาๆ กลายเป็นการสร้างแหล่งประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีความหมาย อีกทั้งมีความเป็นบูรณาการ ทำให้กลุ่มนักศึกษานานาชาติ สามารถข้ามกรอบความแตกต่างกันในหลายมิติมาเป็นชุมชนทางวิชาการ และศึกษาเรียนรู้ด้วยกันในบรรยากาศความเป็นนานาชาติ หลากหลาย แตกต่าง แต่งดงาม และต่างเคารพความเป็นกันและกัน

          ลดภาวะความกดดัน สามารถเป็นกัลยาณมิตร และต่างก็เป็นสิ่งแวดล้อมทางวิชาการให้กันและกันได้เป็นอย่างดี  เชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สามารถประสบความสำเร็จสูง

          หลายคนออกไปเป็นผู้นำและผู้บริหารระดับสูงในประเทศของตน และมีจำนวนไม่น้อย ที่ออกไปเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายการพัฒนาสุขภาพในระดับนานาชาติ ตามภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแอฟริกา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียนและเอเชีย.

 

หมายเลขบันทึก: 240011เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2009 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท