ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

เสียงแว่ว นิคมอุตสาหกรรม กำลังจะเกิดที่เมืองคอน


"เราอยู่บายดีแล้ว รวมพลังไม่เอานิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อ.ท่าศาลา อ.สิชล อ.ขนอม"

 

 

เสียงแว่ว นิคมอุตสาหกรรม

กำลังจะเกิดที่เมืองคอน

เรื่อง : ทรงวุฒิ พัฒแก้ว, ชัยพงศ์ เมืองด้วง ภาพ : รุสณี หวันเด็น

วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11258 มติชนรายวัน หน้า 8

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way01010252&sectionid=0137&day=2009-02-01


ขับรถออกจากตัวเมืองนครศรีธรรมราช ตามเส้นทางไปสุราษฎร์ธานี บนสะพานลอยก่อนถึง อ.ท่าศาลา มีป้ายรณรงค์ใหญ่สีแดง ข้อความว่า "เราอยู่บายดีแล้ว รวมพลังไม่เอานิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อ.ท่าศาลา อ.สิชล อ.ขนอม" เมื่อจอดรถใกล้สะพานลอย สังเกตว่าผู้คนไม่น้อยสนใจกับข้อความที่ปรากฏเด่น

สอบถามข้อมูลเบื้องต้น จากเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา แกนนำบอกว่า

คนแถวนี้รับทราบเรื่องนิคมอุตสาหกรรมและอีกหลายโครงการที่มาลงในพื้นที่นครศรีธรรมราช ไม่ว่าจะเป็นฐานปฏิบัติขุดเจาะน้ำมันของ บริษัท เชฟรอนโดยสร้างท่าเรือที่ ต.กลาย อ.ท่าท่าศาลา สร้างสถานีขนส่งทางอากาศ ที่ ต.ปากพูน โดยมีเครื่องบินขึ้นลงวันละ 20-30 เที่ยว แต่นั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจเท่ากับโรงฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังสำรวจ ตั้งแต่อำเภอขนอม สิชล และท่าศาลา รวมทั้งท่าเรืออุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ ต.สิชล ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล และ ต.กลาย อ.ท่าศาลา

"ไม่รู้อะไรต่ออะไรมาลงที่บ้านเราทั้งหมด" เขาบอกพร้อมหัวเราะแบบประชดนิดๆ

ที่ร้านน้ำชา ชายทะเล ต.สิชล มองออกไปทางทิศเหนือ เป็นแหลมบ้านคอเขา ซึ่งตามแผนที่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในร้านมีชาวบ้านนั่งอยู่กันประมาณ 10 กว่าคน ผมให้สลาม (การจับมือตามประเพณีการเคารพของพี่น้องมุสลิม) "อัสลามูอาวะลัยกุม" เป็นคำกล่าวทักทายสั้นด้วยความเคารพและเป็นมิตรกับพี่น้องมุสลิม เรียกรอยยิ้มได้พอสมควร เนื่องจากบางคนเจอกันบ้าง และที่ร้านน้ำชานี้ผมเคยมานั่งแล้วเมื่อไม่นานมานี้มขับรถผ่านเห็นที่สะพานลอยท่าศาลา ขึ้นป้ายไม่เอานิคมอุตสาหกรรม ทางนี้ทราบบ้างยัง ผมถามหลังจากนั่งสนทนาเรื่องอื่นไปได้สักครู่


"อ๋อ กลุ่มเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่ท่าศาลาใช่ไหม เราเพิ่งจัดเวทีเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี่แหละ โดยมีพี่น้องแถวนั้นมาร่วมด้วย" ชาวบ้านคนหนึ่งตอบ

จากนั้นในวงต่างช่วยกันเล่า ช่วยกันสนทนา เรื่องนิคมอุตสาหกรรมอย่างออกรส

แม้ว่าความชัดเจนเกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่าเรืออุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ชาวบ้านจะรับรู้ข้อมูลยังไม่มากนัก เนื่องจากมีหลายองค์กร หลายหน่วยงานเข้ามาในพื้นที่และในรูปแบบที่ต่างกัน แต่ทุกคนสนใจสิ่งที่กำลังจะเข้ามาใหม่ในพื้นที่ใกล้บ้านพวกเขาอย่างมาก

"เราไม่รู้เลยว่าเขามาทำอะไรกัน บ้างบอกว่ามาสำรวจนิคมอุตสาหกรรม สำรวจสิ่งแวดล้อมทางทะเล สำรวจน้ำ บางทีมยังจ้างชาวประมงลงเรือไปสำรวจก็ยังมี

"บางทีมลงมาถามความเห็นชาวบ้านว่าถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบไหม หลายคนตอบไปว่าไม่มีผลกระทบ" ชาวบ้านคนหนึ่งบอกพร้อมหัวเราะ เนื่องจากไม่ทราบว่านิคมอุตสาหกรรมที่เขากล่าวถึงนั้น คืออะไร

"แต่ตอนนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าโครงการทั้งหมด ต้องเกี่ยวข้องกัน เพราะมาใกล้เคียงกันมาก แต่หน่วยงานที่เข้ามาบอกว่าไม่เคยรู้จักกัน ไม่เคยรับรู้ เราชาวประมงกินปลาพอฉลาดบ้าง แม้ไม่มีความรู้ก็พอเดาได้ อย่ามาหลอกง่ายๆ" พี่น้องร้านน้ำชาเล่าไปหัวเราะไปแต่สีหน้าความเป็นกังวลอยู่บ้าง

บังโกบ ซึ่งเป็นเจ้าของแพกุ้ง รับซื้อผลผลิตทางการประมงมายาวนานและมีเรือประมงที่รับซื้อกุ้งอยู่นับร้อยลำ บอกวว่า ชาวประมงทำอาชีพนี้มาแต่บรรพบุรุษ จะให้เปลี่ยนอาชีพไม่ได้ ให้ไปเป็นยามเป็นแม่บ้าน ก็ไม่มีใครเอา

บังเด ประธานกลุ่มชาวประมงเรือเล็กชายฝั่ง บอกว่าส่วนตัว ทราบข้อมูลมาบ้าง จากการเข้าประชุมร่วมกับสมาคมชาวประมง อ.สิชล และคัดค้านมาตลอด ตั้งแต่มีคนเข้ามาสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและเคยบอกคนกลุ่มนั้นไปว่าการทำแบบนี้จะรบกวนการทำมาหากินของพี่น้องประมง แต่ไม่มีใครรับฟัง

 
"ประเด็นที่พี่น้องมุสลิมยอมไม่ได้ คือ การปรับสภาพ เปลี่ยนแปลง หรือ ทำลายมัสยิด และกุโบร์ (หลุมฝังศพพี่น้องมุสลิม) ซึ่งเป็นดินวะกัฟ (ที่ดินอุทิศให้พระเจ้าเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ) เป็นเรื่องหลักการของศาสนา ใครจะมาทำอะไรไม่ได้อย่างเด็ดขาด ตอนนี้เราอยากเจอสภาพัฒน์ อยากเจอการนิคมอุตสาหกรรม หรืออยากเจอองค์กรต่างๆ ที่เข้ามา มาบอกความจริงกับเราตรงๆ ว่าจะให้เราทำอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ใช่บอกว่าไอ้นี่ขององค์กรนี่ ไอ้นั้นของโครงการโน่น สุดท้ายอยากให้มาพร้อมๆ กันจะได้ถามทีเดียว เราจะได้ตัดสินใจ นี่ก็เครียดมากๆ แล้ว" เขาระบายอย่างอัดอั้น

ตอนเย็นผมย้อนกลับมาที่ท่าศาลาอีกครั้ง เจอกับบังมุ แกนนำเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ซึ่งห่างจากพื้นที่เกิดการนิคมประมาณ 30 กิโลเมตร เขายืนยันเหมือนกันเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอ่าวท่าศาลา

"ในอ่าวแถวนี้ ถือว่ามีสัตว์น้ำชุกชุม ตั้งแต่ อ.ขนอมถึงหัวไทร ชาวประมงไม่มองว่าทะเลเป็นของใครแต่มองเป็น ทรัพย์สินส่วนรวม สัตว์น้ำอยู่ตรงไหนก็ไปตรงนั้น เฉพาะหมู่บ้านที่นี่ที่เดียวมีเรือประมงประมาณ 400 ลำ เรือลำเดียวเลี้ยงคนได้ทั้งครอบครัว เรากลัวผลกระทบ เรื่องน้ำ เรื่องอากาศ เพราะถามว่าหากมีผลกระทบใครจะปิดอากาศหรือกั้นน้ำเสียไม่ให้มีการแพร่กระจายได้"

บังมุบอกว่า หากสร้างท่าเรือน้ำลึกต้องมีการทำลายกองปะการังซึ่งเป็นที่อยู่อันอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำเพราะอาจไปขวางการเดินทางของเรือ อีกทั้งการเดินเรือของอุตสาหกรรมต่างๆ จะกระทบการทำมาหากินโดยตรง คือ อวนลอยของชาวบ้านที่ผิวน้ำ และเรือขนส่งจำนวนมากจะรบกวนการอาศัยของสัตว์น้ำแถบนี้ทั้งหมด ชาวประมงมีแต่เสียกับเสีย

"ตอนนี้เราเริ่มเคลื่อนไหวกันแล้ว ไม่ว่าโครงการจะมาเมื่อไหร่ เราต้องตั้งรับไว้ก่อน เราเป็นยามรักษาทะเลมายาวนาน จะทำอะไรต้องถามยาม ถามคนรักษาก่อน ไม่ใช่ว่าทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าให้เป็นยามเฝ้านิคมอุตสาหกรรม ยอมตายตั้งแต่วันนี้ดีกว่า เพราะถ้ามีนิคมอุตสาหกรรมเราตายแน่นอน"

เป็นคำยืนยันของลูกทะเล ผู้ทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าทะเลมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

วิทยา อาภรณ์ นักวิชาการสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกว่า เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขยายเกือบเต็มที่แล้ว ดังนั้น ในปี 2560 จึงต้องย้ายฐานผลิตมาที่นครศรีธรรมราช หรือพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้ ประกอบกับมีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมมหาศาลในอ่าวไทย นิคมอุตสาหกรรมก็มาแน่ๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง เนื่องจากนครศรีธรรมราชอยู่ใกล้ทะเล ใกล้แหล่งน้ำดิบ และใกล้แหล่งปิโตรเลียม

"ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้าน และพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะถ้าชุมชนรวมพลังกันเหนียวแน่น และยืนยันว่าไม่เอา ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักถ้าจะดำเนินการ" อาจารย์วิทยากล่าวทิ้งท้ายเหมือนจะยอมรับและให้ความหวังอยู่ในที

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ว่าจะเป็นเสียงแว่ว หรือเสียงจริงก็ตาม คงต้องสร้างความเข้าใจและยอมรับของชุมชนอีกมาก แต่สุดท้ายการตัดสินใจจะเอาไม่เอาจะอยู่ที่ชุมชนหรือรัฐบาล อีกไม่นานจากนี้คงได้คำตอบ เพราะทุกฝ่ายต่างมีเป้าหมายอยู่ในใจอยู่แล้ว


 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 239262เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท