นิราศซิดนีย์ 2: First thing first


First thing first

ทำอันที่ควรทำก่อน

ผมบิน (นั่งในเครื่อง) ทั้งหมดประมาณ 9.30 ชม.กว่าๆ มี late นิดหน่อย แต่ด้วยความที่เวลาที่ซิดนีย์ล้ำหน้ากว่าเราไป 4 ชั่วโมง ตอนเครื่องบินลงถึงสนามบิน เวลาท้องถิ่นประมาณ 6.40 น. ผมก็ต้องตื่นมารับประทานอาหารเช้าตั้งแต่ก่อนหน้านั้นประมาณ 2 ชั่วโมง สรุปแล้ว คือทานข้าวเช้าประมาณๆแถวๆเที่ยงคืนพอดี แม้ว่าจะพยายามบังคับตัวเองให้หลับให้ลงตั้งแต่ขึ้นเครื่อง (ทำตัวเป็นกลางคืน) แต่ด้วยความที่เป็นคนนอนดึกมาแต่ไหนแต่ไร ก็เลยหลับหลังจากดูภาพยนต์จบไป 1 เรื่องและฟังเพลงอีกประมาณ 3-4 อัลบัมได้

ตอนรอกระเป๋าก็ปรากฏว่ามีลุงหนวดหน้าตาใจดีมากระแซะ เหลือบไปเห็นในมือมีกระดาษปากกาขยุกขยิก เราก็เดาได้ว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่สนามบิน เขาก็ถามถึงสิ่งต้องห้ามต่างๆ

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ health-concern ขึ้นสมอง เขาจะห้ามนำเข้าของหลากหลายมาก พืชพันธุ์ผักผลไม้สัตว์ห้ามหมด แม้กระทั่ง artifact ไม้แกะสลัก เผ่าไหนๆก็ตาม จะต้อง declare ให้ custom หมด นี่ดีที่ไม่พาเอาข้าวตังจอมพลที่คุณแม่ (ยาย) จะฝากมาให้กินเล่นอีกหลายกระปุก ไม่งั้นก็จะกลายเป็นอาหารว่างของบรรดาเจ้าหน้าที่ศุลกรกรให้เราเจ็บใจ พอเราปฏิเสธไปทั้งหมดโดยทำหน้าบริสุทธิ์ใจ ลุงหนวดก็เซ็นแกร๊กออก fast pass ให้เลย ดีจริงๆ

สักประเดี๋ยวมีสาวใหญ่อีกคนมาสะกิด (คนแถวนี้สะกิดเยอะจัง) หันไปดู เอ๋อ มีจูงหมามาด้วย แกพูดอะไรรัวๆมาชุดนึง เห็นเราทำดวงตาว่างเปล่าใส่ เลยพูดช้าลงอีกรอบ อ๋อ เขาให้วางกระเป๋าสะพาย กับกระเป๋ากล้องถ่ายรูปลงบนพื้น จะให้เจ้าตูบดม ผมก็วางผลุงลงไป เจ้าตูบเมินหน้าผงะไปเล็กน้อย (สงสัยจะโดนกลิ่นถุงเท้าที่ใส่นอน เก็บไว้ในกระเป๋า) จนเจ้าหน้าที่ต้องดุ (หมา) พลางกดหัว (ของหมาอีกนั่นแหละ) ไปดมกระเป๋าของผมจนได้ เจ้าตูบ (ผู้หน้าสงสาร) ก็เดินครางหงิงๆหนีไป เป็นอันเสร็จหน้าที่

พอได้ของผมก็เดินตัวปลิวออก fast pass เลย ออกมาปุ๊บก็เจอ Dr Meera Agar ที่เป็น Programme Director ของ Palliative care อยู่ที่ Braeside Hospital มายืนรอรับอยู่แล้ว ผมก็ยิ้มออกทันที

Meera อุตสา่าห์มารับ เธอบอกว่าบ้านอยู่ใกล้สนามบินนี่เอง เสร็จแล้วพอ load ของขึ้นรถหมด เราก็ออกเดินทาง ทำให้ผมสังเกตเห็นว่า เรากำลังขับรถไปในทิศทางตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ พอผมตั้งข้อสังเกต Meera ก็ช่วยยืนยันว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้ว นั่นคือคนส่วนใหญ่กำลังเข้า Sydney แต่เรากำลังหันหน้าออกจากเมือง

Fairfield Hospital อยู่ชานเมือง Sydney ขับรถออกมาเกือบ 45 นาทีแน่ะ ส่วน Braeside Hospital นั้นอยู่ติดๆกัน share รั้วด้านหนึ่งด้วยกัน เนื้อที่มากพอสมควร เพราะสิ่งก่อสร้าง และบ้านแถวนี้ ทาง council จะไม่ยอมให้สร้างอะไรสูงๆมากนัก และตามกฏหมาย อาคารหลังไหนที่สูงถึงสามชั้น จะต้องมีลิฟต์ไว้ให้ด้วย และมีทางหนีไฟ ดังนั้นขนาด รพ.เอง ก็ยังขยายออกไปด้านข้าง มากกว่าด้านสูงๆ

เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าสร้างบ้าน หรืออาคารสูงๆ จะโดนเพื่อนบ้านรุมฟ้อง นัยว่าเราไป "บัง" ทิวทัศน์บ้านเขา ซึ่งเป็น "คุณภาพชีวิต" อีกด้านหนึ่งของเขา เขายอมไม่ได้

ด้วยความอยู่ไม่สุข ผมก็เลยเกิด mental rehearsal (ซ้อมคิด ซ้อมฝัน) ว่า ถ้าบทสนทนาทำนองนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย อาจจะได้คำตอบแบบไหนบ้าง

  • ก็เราไม่มีเงินซื้อที่ดินเยอะๆแบบนี้นี่
  • คนของเราเดิน 3 ชั้น ไม่มีปัญหาหรอก แข็งแรงจ้ะ แข็งแรง
  • ตึกสูงๆสิ เห็นทัศนียภาพดีๆ
  • วิวเป้็นของใครด้วยเหรอ ทำใจบ้างเถอะ บ้านเมืองจะพัฒนามีตึกสูงๆ อย่าเห็นแก่ตัวมากนัก
  • ขอโทษด้วยทีบัง ทีหลังก็บังผมมั่งสิ จะได้หายกันเนอะ
  • สร้างบ้านแบนๆเตี้ยๆสิ ทำลายธรรมชาติ ต้องตัดต้นไม้เยอะกว่า ในปริมาณเนื้อที่ตึกที่จะได้เท่ากัน
  • ฯลฯ
แต่ประเด็นสำคัญนั้น ไม่ได้อยู่ที่เหตุผลที่เราอ้างเลย.....

 ประเด็นอยู่ที่ใด?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เราทำอะไรได้ หรือไม่ได้ มีงบ/ไม่มีงบ แต่อยู่ที่การคิด และการกระทำ ณ ตอนนั้นๆ เรา "กำลังคิดอะไรอยู่" บ้าง? จริงๆแล้ว?

และถ้าเราคิด เราคิดโดยเอา "ใคร" เป็นโจทย์ ใครเป็นตัวตั้ง ใครเป็นตัวดำเนินเรื่อง?

เพราะสิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นก็คือ การคิดเพื่อคนอื่น และเผื่อคนอื่น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางความคิด และออกมาในภาคปฏิบัติ ภาคพฤติกรรม จนในที่สุดออกมาในระดับเป็นตัวบทกฏหมายเลยทีเดียว ตรงนี้ที่ผมเป็นว่าเป็นต้นทุนของสังคมนั้นๆ

ถ้าเราคิดถึงการสร้างตึก โดยระมัดระวังเรื่องการทำให้สูงเกินไป เรื่อง security และ service ที่จะทำเผื่อคนแก่ คนเฒ่า คนพิการแล้ว แต่งบประมาณไม่พอ เลยต้องออกมาอย่างที่เห็น ผมว่าก็ยังดี แต่ประเด็นก็คือ ถ้าไม่ได้กำลังพูดเรื่องนี้อยู่ คนเขียนแบบ คนออกเงินสร้าง เจ้าของตึก ฯลฯ มีเรื่องทำนองนี้ผุดขึ้นมาสักแวบหรือไม่ ผุดออกมาแล้วเราคิดใคร่ครวญหาทางออกไม่ได้ จนปัญญา ก็เลยจำเป็นต้องทำ

หรือว่าไม่มีนึกถึงเรื่องนี้เลย?

หรือเรื่อง "วิว" เป็นของใคร นี่ก็เช่นกัน บางครั้งเราอาจจะหยาบกระด้าง ไม่ละเอียด จนไม่เข้าใจว่า การตื่นเช้ามา เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติออกไปไกลสายตานั้น มันเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต คุณภาพจิตใจได้เหมือนกัน เราก็จะไม่ตอบประชดประชันไปทำนอง "ทิวทัศน์เป็นของใคร หรือมีใครเป็นเจ้าของด้วยเหรือ"

หรือตรรกะประเภท ขอโทษที่ทำร้่ายจิตใจเธอ เอางี้ ฉันอนุญาตให้เธอทำร้่ายชั้นบ้าง เป็นอันว่าหายกัน ตัวอย่างที่ยกมานี้ ตั้งใจจะยกให้ขันๆ แต่ผมเขียนๆไป เกรงว่าสังคมในปัจจุบัน เกิดกลไกการคิดแบบใหม่ทำนองนี้ ที่ทำให้การทำผิดกลายเป็นทำถูก หรือ "หายกัน" ด้วยการเชื้อเชิญให้ทุกฝ่ายมาทำผิด มาทำร้่ายกัน ทุกคนเลวหมด ก็คือไม่มีใครเลว!!!!

ผมเคยเจอคนที่สติปัญญาเฉลียวฉลาดมากๆ แต่ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นค่อนข้างแปลกในสายตาของผม มีอยู่ครั้งหนึ่ง เหตุผลที่ถูกอ้างมาใช้ก็คือ "ผมเป็นคนไม่ดี เป็นคนเลว ไม่สมบูรณ์แบบ ผมยอมรับ ผมถึงทำอย่างนี้" อันนี้จะน่ากลัว และเป็นการ mock values ของสังคมไปได้อย่างง่ายๆ คนเดียวนี้ยอมด่า ชิงตำหนิตนเอง เป็นตั๋วฟรีในการกระทำชั่วโดยไม่มีความละอายต่อบาป ตอนที่พูดว่่าผมไม่ดี ผมไม่สมบูรณ์นั้น ไม่ได้มีเสียงสำเนียง remorse หรือ สำนึกเลย เป็นเพียงสะบัดสำนวนล้อเลียนอะไรเชยๆ อย่่างทำความดีเท่านั้น ทำนองว่า ไอ้ที่แกว่าดี ว่างาม ว่าเป็นมงคลนั้น กูไม่ได้ care อะไรเลย จะทำอย่างเนี้ย มีอะไรไหม

ที่จริงว่าจะเขียนเรื่อง First thing first เรื่องอื่น แต่แวะมาเรื่องข้างทางนี่แทน แต่เห็นว่ายังเป็น first thing first ได้อยู่ ก็เลยไม่เปลี่ยนชื่อเรื่อง

สมกับเป็นนิราศจริงๆ คือ ต้องแวะข้างทางบ่อยๆ อิ อิ อิ

First thing first ในที่นี้ก็คือ ถ้าจะเปลี่ยน ไม่ต้องไปเปลี่ยนกฏหมาย ไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ในมาปรับเปลียน "วิธีคิด" หรือ "เปลี่ยนวัฒนธรรมการคิด" เสียก่อน สำคัญที่สุด เพราะจะเป็นรากเหง้า ที่มา ของทุกสิ่งทุกอย่างที่สังคมนิยามว่านี่ดีงาม ถูกต้อง

หมายเลขบันทึก: 239167เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2009 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 12:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีครับ..

ชวนติดตามมากเลย

รออ่านตอนต่อไปแล้วครับ

สร้างอาคารเกิน 3 ชั้น ต้องมีลิฟต์ให้ด้วย

ประเทศไทย จะสร้างตึกกี่ชั้น จะบดบังทัศนียภาพ เท่าใด

คนถือครองที่ดิน นายทุน..คิดไม่เป็นจริง ๆ ในเมืองใหญ่ มีแต่ตึกสูงระฟ้าเต็มไปหมด

ผมเข้าประเด็นหรือเปล่าครับ อิอิ..

คุณเอกราช P ครับ

ว่าเป็นประเด็นก็ต้องเป็นแน่นอนครับ อิ อิ เรียกว่าเรา sensing กันอ่ะครับ

ทฤษฎีชิงด่าตัวเองก่อนนี่น่ากลัวจริงค่ะ คล้ายกับเรื่องฉันการศึกษาน้อยและจนฉันเลยต้องยอมขายเสียงที่เคยเห็นในบ้านเรา

ปล. สงสารเจ้าตูบนะคะ ^ ^

คุณ little Jazz ครับ

ที่จริงคนเราทุกคนอยากเป็นคนดีทั้งนั้น

แต่ที่ยากกว่าก็คือ การเริ่มยอมรับว่าเราไม่ค่อยดีแล้วเรา "ควร" จะปรับเปลี่ยน

เพราะเราจะต้องยอมเปราะบาง และเจ็บปวดจริงๆ ตอนที่เราใคร่ครวญและค้นพบว่าเราไม่ค่อยจะดีอย่างที่เคยคิด

แต่ถ้าเรามองเห็นตัวเราว่ามีข้อบกพร่่อง กลับใช้เรื่องนั้นเป็นข้ออ้างที่จะบกพร่องต่อไป แสดงว่าเรายังสวมเกราะสนิม ป้องกันจิตบริสุทธิ์ไว้ ไม่ยอมอ่อนแอ ไม่ยอมเปราะบาง ไม่ยอมเจ็บปวด เป็นการกล่าวอ้างเพียงพื้นผิวเท่านั้น

การทำกฏหมายให้สอดคล้องกับจริยธรรมนั้นยาก แต่ความยาก ไม่ได้แปลว่าเป็นไปไม่ได้ เพียงเป็นตัวทดสอบว่า ที่ที่เราคิดว่า "ควร" นั้น ควรได้แค่ไหน เอามาวัดกันตอนลงแรงลงใจ ว่าเราคิดว่ามีค่าแค่ไหน หรือเป็นเพียงแค่ lip service คือปากว่า ตาขยิบเฉยๆ

 

ก็คงจะมีออสเตรเลียนี่มั๊ง ที่ Professor ที่เราไปอยู่ด้วย มารับถึงสนามบิน แถมมาช่วยยกกระเป๋าอีกต่างหาก

อากาศเป็นไงบ้างครับ

 แหะๆ มารับเฉยๆครับ ไม่ถึงกับช่วยยกกระเป๋า (เพราะผมขนไป 30+ kg) เดี๋ยวจะทำ supervisor บาดเจ็บเสียก่อน แต่ถ้าไม่มารับ คงจะเลือดตากระเด็นตั้งแต่วันแรก เพระาถ้าขนขึ้นรถไฟเองก็คงอ่วม ถ้าขนนั่ง taxi ก็เสียเกือบร้อยดอลล่าแน่ๆ ไกลเหลือเกิน

อากาศร้อนพอคลั่งได้ สงสัยจะต้องซักผ้าบ่อยกว่าที่ตั้งใจไว้ (ถึงขนไปเยอะไง)

ตึกใหญ่ๆ บังวิว ไม่พอ ยังบัง ทิศทางลม แสงแดด อีกด้วย

คงฟ้องลำบาก

ต้องไป ถาม กทม อนุญาต ตึก อาคาร โดย ไม่ควบคุม คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม

ชาวบ้าน จะไปฟ้อง ตึกใหญ่ๆ ก็คงลำบาก

ประเทศ ออสซี่ กฏหมายเข้มแข็ง กฏหมายของเราเป็น "เบาหวาน" คือ ชราภาพ และ "ไม่แข็ง"

อาจารย์คะ อ่านนิราศ ๔ ก่อนแล้วกลับมาอ่านตอน ๒ และ ๓ใหม่คะ

รับรู้ ความรู้สึกอย่างที่อาจารย์เขียนได้ดีทีเดียว First thing ที่อาจารย์เห็นว่าต้องเปลี่ยนนี่แหละคะ สำคัญ เราจะต้องเริ่มจากกลุ่มเล้กๆ ขยายไปเรื่อยๆ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยนะ

อ่านเรื่องของอาจารย์นี่ได้ทั้ง อรรถรส สนุกสนาน ชวนขัน และที่สุดคือความรู้คะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท