เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๒๔ - ๓๐ มกราคม ๒๕๕๑(ตอนที่ ๒)


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

วันพุธที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๒  อาหารเช้าวันนี้เป็นกระเพาะปลา  ๑ ถ้วย  ขึ้นห้องประชุมมีการแนะนำตัวเองของเพื่อนสมาชิก  ฟังผู้อำนวยการวิทยาลัยชี้แจงการเรียน การศึกษาดูงาน การจัดทำรายงาน และการจบการศึกษา  ภาคเช้าไม่มีวิทยากรมาบรรยาย  หลังทานอาหารกลางวัน ดร.สุรพล  กาญจนะจิตรา  มาบรรยายเรื่องเทคนิคการทำวิจัย เป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำวิจัย ซึ่ง นปส. จะต้องทำ IS กันทุกคนจึงจะจบหลักสูตร  การวิจัย คือ กระบวนการหาคำตอบให้กับปัญหาการวิจัย โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดี(เชื่อถือได้และเที่ยงตรงมากที่สุด)   องค์ประกอบการวิจัย ความรู้ทั่วไป  ทฤษฎี หลักและวิธีการวิจัย การฝึกทำการวิจัย   ขั้นตอนการวิจัย  การกำหนดปัญหา การตรวจสอบเอกสาร  การตั้งสมมติฐานในการวิจัยและการกำหนดตัวแปร  การรวมรวมข้อมูล(ประชากร  กลุ่มตัวอย่าง  เครื่องมือ วิธีการรวบรวม)  การจัดระเบียบข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล  การรายงานผล  ประเภทของการศึกษาวิจัย   Exploratory studies การค้นพบสิ่งที่รู้แล้วหรือรู้น้อย แต่อยากรู้เพิ่ม   Descriptive  studies  การศึกษาในสิ่งที่ไม่เคยศึกษามาก่อน  Test of  Hypothesis  การศึกษาแบบทดสอบสมมติฐาน  รูปแบบการวิจัย  การวิจัยแบบไม่มีการทดลอง (Non – experimental  design)  การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi – experimental  design) การวิจัยแบบทดลอง (Experimental  design)  ศัพท์ในการวิจัย  Assumption คือข้อกำหนดเบื้องต้นที่กำหนดล่วงหน้าว่าจะเชื่อถือทฤษฎีอะไร  Hypothesis  คือ การหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ๒ ตัวว่ามีความสัมพันธ์กันหรือไม่  Propositionคือ สมมติฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง     Theory คือ แนวคิดที่ชัดแจ้งและได้รับการพิสูจน์แล้ว  การวิจัยต้องคำนึงถึง  ความรู้ของผู้ที่จำทำการวิจัย งบประมาณ วัสดุ เครื่องมือ เวลา  ขั้นตอนกำหนดปัญหาของการวิจัย  จุดสนใจ  ศึกษาค้นคว้า  ปัญหาการวิจัย  ข้อคำนึงในการกำหนดปัญหาการวิจัย  ปัญหาต้องชัดเจนและมีข้อมูลยืนยัน  กำหนดขอบเขตของปัญหาให้ชัดเจน การวิจัยจะได้ประโยชน์หรือไม่ ไม่ควรทำตามคนอื่น  กลุ่มประชากรที่จะศึกษาจะให้ข้อมูลได้มากน้อยเพียงใด ทฤษฎีมีความสำคัญต่อการวิจัย  เป็นเครื่องกำหนดขอบเขตของการวิจัย  ทฤษฎีช่วยในการตั้งสมมติฐาน ช่วยในการตีความสิ่งที่ค้นพบ   สมมติฐาน คือ ปรากฏการณ์ที่นักวิจัยกำลังจะพิสูจน์ว่าเป็นความจริง (ความหมายในเชิงความคิด –Conceptualized  Definition)  หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตั้งแต่ ๒ ตัวขึ้นไปและกำลังจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความสัมพันธ์กัน (ความหมายในเชิงปฏิบัติการ -Operationalized  Definition)  ข้อกำหนดในการตั้งสมมติฐาน  อธิบายปรากฏการณ์ที่ต้องการจะยืนยันว่าเป็นจริง  หลักในการตั้งสมมติฐาน  ต้องไม่คลุมเครือ ต้องมาจากทฤษฎี ต้องเฉพาะเจาะลง ต้องวัดได้พิสูจน์ได้  ตัวแปร (Variable) คือการจัดค่าของข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่ไม่ซ้ำกัน  โดยจะแบ่งออกเป็นอย่างน้อย สองหมวดหมู่ขึ้นไป  ระดับในการวัดของตัวแปร  ตัวชี้วัด วัดอะไร  ตัวชี้  เกณฑ์มาตรฐาน เป้าหมาย  ข้อมูล มี ข้อมูลปฐมภูมิ ข้อมูลทุติยภูมิ ข้อมูลที่ถูกต้อง  ต้องได้จากเครื่องมือที่มีความเที่ยงตรง(Validity) และเชื่อถือได้(Reliability)  ประชากร(Population) มวลรวมของสิ่งที่นักวิจัยจะทำการศึกษา  ตัวอย่าง (Sampling) คือ ตัวแทนของประชากรที่ต้องการศึกษาโดยมีวิธีการ กำหนดขนาด และวิธีการสุ่มตัวอย่าง  ขนาดของตัวอย่าง  ประชากรต่ำกว่าร้อย ศึกษาทั้งหมด  หลักร้อย  ๒๕ % หลักพัน ๑๐ % หลักหมื่นขึ้นไป ๑ %   เครื่องมือ  นิยมกันมากได้แก่ แบบสอบถาม   ขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล  การลงรหัส การประมวลผล การอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลทางตาราง การตีความข้อมูล การเขียนรายงานการวิจัยบทนำ  การตรวจสอบเอกสาร  ระเบียบวิธีวิจัย ผลการวิจัยและการตีความ สรุปและข้อเสนอแนะ   เรียนจนถึงเวลา ๑๗.๐๐ น. จึงเลิกเรียน การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพก็เลยงด 

 

วันที่ ๒๙  มกราคม  ๒๕๕๒  เช้านี้ลงไปห้องอาหารทานสลัดผัก ๑ จาน แล้วขึ้นไปเรียนเรื่อง การตัดสินใจและเทคนิคการแก้ปัญหา มี รศ.ดร. มณีวรรณ  ฉัตรอุทัย  คณะบริหารธุรกิจ  นิด้า เป็นวิทยากร  แนวคิดหลักจากการเรียนเรื่องนี้ ความเป็นผู้ใหญ่ คือการกล้าตัดสินใจเลือกและยอมรับผลจากการเลือกนั้นอย่างกล้าหาญ  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเหมือนภูเขาน้ำแข็ง   ส่วนที่ซ่อนอยู่ใต้น้ำ ได้แก่ บทบาท (จุดยืน) ผลลัพธ์/ประโยชน์  คุณลักษณะ (บุคลิกภาพ) ค่านิยม  อุดมการณ์  ความเชื่อ  แวดล้อมด้วยกระแสสังคม  ส่วนปัจจัยที่โผล่พ้นน้ำที่คนส่วนใหญ่สังเกตเห็น ได้แก่ ข้อมูล  ข้อเท็จจริง  ทักษะ  ตรรกะ  ประสบการณ์  W. Edwards Deming  กล่าวว่า “Experience  without theory, teaches nothing.” ประสบการณ์ที่ปราศจากทฤษฎีหลักการ(ที่ถูกต้อง)แทบไม่สอนอะไร    ประสบการณ์อาจไม่ใช่ครูที่ดีนัก เพราะมักจะออกข้อสอบโดยไม่ได้สอนก่อน  ทฤษฎีหลักการที่ไม่สามารถนำไปปฏิบัติย่อมไม่ต่างอะไรจากฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง   ประสบการณ์บางอย่างติดอยู่กับตัวคน (Tacit) เช่นแม่ครัวที่เก่งเวลาปรุงอาหารก็ไม่ได้ชั่งตวงวัดอะไร แต่อาหารก็ออกมาอร่อยทุกครั้ง  เป็นหน้าที่ของนักทฤษฎี (Explicit) ที่จะต้องค้นหาประสบการณ์นั้นมาทำเป็นทฤษฎีและหลักการขึ้น  ศึกษาวิธีคิดแบบ Deductive (ใหญ่ ไปหาย่อย) และ Inductive (จากย่อยไปหาใหญ่)  การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือทัศนคติต่อเรื่องใด ต้องเปลี่ยนความเชื่อเป็นอันดับแรก เมื่อเปลี่ยนความเชื่อได้  ก็จะเปลี่ยนค่านิยม   เป็นทัศนคติ และแสดงออกถึงพฤติกรรม  เช่น ดอกลั่นทม เป็นไม้ที่นิยมปลูกไว้ที่วัด พอเปลี่ยนชื่อเป็นลีลาวดี ปล่อยข่าวที่มาของชื่อที่เป็นมงคล คนก็เปลี่ยนทัศนคติมาชอบ มีพฤติกรรมที่ขวนขวาย สั่งซื้อตระเวนหามาปลูก  มีการทดสอบบุคลิกภาพเพื่อวัดแบบของผู้นำ MBTI ของ Harvard University  ผมมีแนวโน้มอยู่ในประเภท NT นักคิดอิสระ แก้ปัญหา รอบรู้ ช่างสงสัย ไม่ติดยึด (เป็นผู้นำมีวิสัยทัศน์)  นักบริหารของไทย ศาสตราจารย์ ดร.สังเวียน อินทรวิชัย  กล่าวว่า สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง  แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น “Right-doing is always right though nobody does it. Wrong-doing is always wrong thought every body does that. อย่างไรก็ตามมนุษย์เรามีกลไกการทำผิดโดยไม่รู้สึกผิด เช่น อ้างความชอบธรรม (Moral justification) .ใช้ภาษาสวย (Euphemistic labeling) เปรียบเทียบแบบได้ประโยชน์ (Advantageous comparison) ไม่ใส่ใจผลที่ได้รับ (Distortion of consequences) เห็นคนไม่ใช่คน (Dehumanization) กระจายความรับผิดชอบมั่วนิ่มใช้กฎหมู่ (Diffusion responsibility) อ้างหน้าที่ความรับผิดชอบ (Displacement of  responsibility) และปัดความรับผิดชอบ โยนความผิด (Attribution of blame)      จากนั้นได้เรียนการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมตามทฤษฎีของ Lawrence  Kohlberg    และมีกรณีตัวอย่างให้ศึกษาอีก หลายกรณี   เวลา ๑๖.๐๐ น. มีการปฐมนิเทศการอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือในวันที่ ๙ ๑๕  กุมภาพันธ์   ๒๕๕๒  ที่ค่ายวชิราวุธ  จากนั้นก็ไปออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอีก ๑ ชั่วโมง  มีการนัดประชุมในกลุ่ม กป.๓ เพื่อเตรียมงานในวันพรุ่งนี้  กลับห้องพักทำงานจนดึก

วันที่ ๓๐  มกราคม  ๒๕๕๒  วันสุดท้ายของสัปดาห์พวกเราก็เหมือนเด็กนักเรียนประจำ ที่จะถูกปล่อยกลับบ้าน เตรียมเก็บข้าวของตั้งแต่กลางคืน เช้าดูอีกรอบ ลงไปทานข้าวต้มที่ห้องอาหาร แถมกาแฟอีกถ้วย ก่อนไปเข้าแถวเคารพธงชาติและสวดมนต์   วิชาแรกของวันนี้ เรียนเรื่อง เทคนิคการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  มีอาจารย์อภัยชนม์  วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านประสานกิจกรรมสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นวิทยากร นำเสนอมุมมองใหม่ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ ของผู้บริหารระดับโลก  พวกเราฟังอย่างตั้งใจ แนวคิดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ไปไกลกว่าที่คนทั่วไปจะตามทัน การปรับกระบวนทัศน์จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการบริหารบ้านเมืองในปัจจุบันและอนาคต  บทบาทและความรับผิดชอบของ CEO ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สำคัญ คือการกำหนดวิสัยทัศน์และการสื่อสารข้อมูลในองค์การ สร้างภาวะผู้นำที่มอบหมายอำนาจการตัดสินใจ สร้างพลังอำนาจความสัมพันธ์ที่ดี เรียนรู้สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้จัดการที่สามารถซึ่งรับผิดชอบต่อองค์การ ชุมชนและสังคมประเทศชาติ ภาคบ่าย ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย  ณ  เชียงใหม่ แบ่งกลุ่มพวกเราศึกษาและสร้างความสัมพันธ์เนื้อหา ๒ หัวข้อแล้วนำอภิปราย กว่าจะเสร็จเกือบ ๑๗.๐๐ น. รีบเก็บของขึ้นรถ ขับเข้ากรุงเทพฯทางถนนบูรพาวิถี ในกรุงเทพฯรถติดมาก  กว่าจะถึงบ้านเกือบ ๓ ทุ่ม

         ก่อนจากกัน คิดถึงนิทานเชิงบริหารของฝรั่งเรื่องโยนเหรียญ ๑ เพนนี มีบริษัทแห่งหนึ่งผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายหลายชนิด ที่ติดตลาด  ยอดขายเป็นที่ชื่นชมของลูกค้าและกรรมการบริหารบริษัทคือชุดลายครามที่คลาสสิค ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือนจึงจะได้สินค้า  อีกชิ้นหนึ่งที่ขายดีคือช้อนกระเบื้องเครือบ ราคาขายไม่แพงเป็นที่นิยมเหมือนกัน แต่ราคาขายก็ปกติเหมือนของบริษัทอื่น ๆ กรรมการบริหารไม่ได้สนใจสินค้าชิ้นนี้นัก  วันหนึ่งเจ้าของบริษัทเสียชีวิตมรดกจึงตกทอดมาสู่ลูกชายซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่  ในการประชุมบริษัทกรรมการบริหารอาวุโสต่างเสนอความเห็นในการผลิตสินค้าที่เน้นต้องเดินตามเถ้าแก่ที่ตายไป แต่ทุกคนก็ไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของเถ้าแก่น้อย  เมื่อทุกคนได้พูดจนหมดเรื่องที่จะเสนอแนะแล้ว เถ้าแก่น้อยก็ถามที่ประชุมว่า กำไรต่อหน่วยของชุดลายครามใครทราบบ้างว่าเท่าไหร่  ที่ประชุมเงียบ  เขาโยนเหรียญเพนนีลงไป ๑ เหรียญ แล้วบอกว่า นี่คือกำไรต่อหน่วยของสินค้าที่บริษัทเราภูมิใจและทุ่มทุนมากมายในการผลิต  แต่สำหรับช้อนกระเบื้องเครือบ กำไรต่อหน่วยคือ ๕ เพนนี เป็นสินค้าที่ผลิตง่ายขายคล่อง   อุทาหรณ์ของเรื่องก็คือบางครั้งเราลืมคิดถึงกำไรต่อหน่วยในการผลิตชิ้นงานจึงทุ่มเททรัพยากรมากกว่าชิ้นงานที่เป็นตัวทำกำไรที่แท้จริง  ในวงการศึกษาก็ทำนองเดียวกันเรามุ่งวิธีการมากกว่าผลลัพธ์ นอกจากจะไม่สามรถแก้ปัญหาแล้วกลับเพิ่มปัญหาให้สังคมมากขึ้น

กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพชรบุรี เขต ๒

อ่านตอนที่ ๑  

เพลง : ตลอดเวลา

ศิลปิน : พงษ์สิทธิ์  คำภีร์

 

หมายเลขบันทึก: 238562เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2009 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท