อ่านถูก...อ่านผิด...ยิ่งคิด..ยิ่งเครียด


อ่านถูก...อ่านผิด...ยิ่งคิด..ยิ่งเครียด

     ผมเป็นครูที่เรียนวิชาเอกภาษาไทยมาแต่กำเนิด...ตั้งแต่ ป.กศ.สูง ,ค.บ. หรือ ศษ.บ. แม้เรียนปริญญาโทก็ยังเรียนสาขาจารึกภาษาไทยเมื่อเป็นครูก็เป็นครูสอนภาษาไทยมาตลอด เรียกว่าสอนตรงความถนัดตรงวิชาเอก

     ปัญหาที่ผมกำลังพบก็คือปัญหาการสอนอ่าน ผมสอนในระดับมัธยมศึกษา ปัญหานักเรียนอ่านหนังสือไม่ออก พอมีให้เห็นบ้าง แต่ปัญหาส่วนใหญ่คืออ่านไม่ถูก เท่าที่ผมรวบรวมได้คือ

     ๑. นักเรียนรัวลิ้น ตัว ร ฤ ฤา ไม่ค่อยได้ ลิ้นแข็ง

     ๒. ปัญหาที่ตามมาคือ การออกเสียงควบกล้ำ ไม่ว่าจะควบกับ ร กับ ล หรือ กับ ว  นักเรียนออกเสียงไม่ค่อยชัดเจน บางทีก็ไม่ควบเสียเลย

     ๓. อักษรควบไม่แท้ นักเรียนกลับ ออกเป็นควบแท้ เช่น จริง สร้าง ที่จริงต้องออกเสียง พยัญชนะต้นตัว จ ตัว ส เท่านั้น

     ๔. นักเรียนออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ถูกต้อง ผันผิดเสียง เช่น เยิ่นเย้อ ออกเป็น เหยิ่นเย่อ

     ๕. ออกเสียงอักษร ว ควบกล้ำเป็น สระอัว เช่น ขวนขวาย ในคำ ขวน ต้องออกเสียงกล้ำ ขว สระโอะ ลดรูป สะกดด้วย ตัว น ไม่ใช่ ข สระอัว น สะกด

     ๖. ออกเสียงผิดจากหลักของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เช่น โฆษณา ต้องอ่าน โคด-สะ-นา ไม่ใช่ โค-สะ-นา

      ปัญหาของผมที่ทำให้เครียดก็คือปัญหาข้อ ๖ นี่แหละครับ เพราะหลักของพจนานุกรม.....เริ่มหวั่นไหว..แปรปรวน...จากหลักเกณฑ์ทางภาษา....มาสู่หลักความนิยม....หลักความสะดวก....เหมือนกับว่า...อะไรที่เคยผิด....ถ้ามีคนผิดมากๆก็อาจถูกได้

     ที่ผมสังเกตมาตั้งแต่ต้นมีหลายคำ...แต่ก่อนผมเคยออกข้อสอบว่าเป็นตัวเลือกที่อ่านผิด..เดี๋ยวนี้ถูกเสียแล้ว เช่น

อะลุ้มอล่วย           เดิมอ่านว่า อะ-ลุ้ม-อะ-หล่วย

เดี๋ยวนี้ อ่าน อะ-ลุ่ม-อะ-หล่วย ก็ได้ เพราะคนอ่านแบบนี้กันมาก

ขะมักเขม้น          เดิมอ่านว่า ขะ-มัก-ขะ-เม่น

เดี๋ยวนี้ อ่าน ขะ-หมัก-ขะ-เม่น ก็ได้

     พวกคำสมาส(แบบไม่มีสนธิ) สมัยก่อนต้องอ่านกันตามหลักการอ่านคำสมาส คือต้องออกเสียงสระท้ายของคำหน้าที่นำมาสมาสกัน จะมียกเว้นบ้างก็ไม่มาก เดี๋ยวนี้อ่านกันได้ตามสะดวก เช่น ประวัติศาสตร์ เดิมต้องอ่าน ประ-หวัด-ติ-สาด เดี๋ยวนี้ประวัติศาสตร์ อ่าน ประ-หวัด-สาด ก็ได้

พืชมงคล แต่ก่อน ต้อง พืด-ชะ-มง-คน เดี๋ยวนี้ พืด-มง-คน ก็ได้

    คำว่า วุฒิ สมัยก่อนต้องออกเสียง วุด-ทิ เดี๋ยวนี้ยอมให้ออก วุด แล้ว

    คำที่เคยอ่านเรียงพยางค์ก็ยอม

เช่น ถาวรวัตถุ แต่ก่อน อ่าน ถา-วะ-ระ-วัด-ถุ,ถา-วอ-ระ-วัด-ถุ

เดี๋ยวนี้ อ่าน ถา-วอน-วัด-ถุ ก็ได้

กรกฎาคม เดี๋ยวนี้ อ่าน กะ-รัก-กะ-ดา-คม ก็ได้

   มีตัวอย่างอีกมากมาย ที่ก่อนเคยอ่านอย่างนั้นผิดเดี๋ยวนี้อ่านได้แล้ว นับตั้งแต่ สัปดาห์ ที่สมัยก่อนครูเคยสอนว่า ต้องอ่าน สับ-ดา ใครอ่าน สับ-ปะ-ดา ยังล้อว่า เป็นคน สัปดน เดี๋ยวนี้ก็สัปดน กันเป็นปกติแล้ว

คำว่า ปรัชญา แต่ก่อนต้องอ่าน ปรัด-ยา เดี๋ยวนี้อ่าน ปรัด-ชะ-ยา ได้

คำว่า อาชญากรรม แต่ก่อน อ่าน อาด-ยา-กำ เดี่ยวนี้ อ่าน อาด-ชะ-ยา-กำ ก็ได้

   ผมจึงมีความรู้สึกว่า..คำที่เราว่าอ่านผิดในวันนี้พรุ่งนี้ก็อาจจะเป็นคำที่อ่านถูก ถ้าคนอ่านผิดกันมากๆเข้า...ราชบัณฑิตยสถานท่านก็อาจต้องยอม

   คำที่ผมห่วงอยู่ตอนนี้..ว่าจะเป็นดังที่ผมพูดคือ

๑. ขวนขวาย ผมกลัวว่า จะอ่าน ขวน-ฝาย

๒. บังสุกุล ผมกลัวว่า จะอ่าน บัง-สะ-กุน

๓. ประสบการณ์ ผมกลัวว่า จะอ่าน ประ-สบ-พะ-กาน

     แต่ท่านเชื่อ ไหม คำว่า ปริตร ที่หมายถึงพระพุทธมนต์ ปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานท่านให้อ่าน  ปะ-หริด ผมเห็นใครๆก็อ่าน ปะ-ริด กัน ตอนนี้ยังถือว่าผิดนะครับ ถ้าใครอ่าน ปะ-ริด แต่พรุ่งนี้ไม่แน่ เพราะคำว่า ปริต ที่แปลว่า น้อย ปัจจุบัน ราชบัณฑิตยสถานก็ให้อ่านว่า ปะ-ริด

     จะว่าไปแล้วการอ่านคำไทยก็มีอะไรแปลกๆอีกมาก คำว่า ฉกษัตริย์ เราต้องอ่านว่า ฉอ-กะ-สัด หรือ ฉ้อ-กะ-สัด เพื่อความเหมาะสม ฉ จะอ่าน ฉะ ก็ฟังไม่เพราะ

     วิธีแก้ปัญหาตอนนี้นอกจากสอนหลักการอ่านแล้ว ก็ต้องซื้อหนังสืออ่านอย่างไร เขียนอย่างไร ของราชบัณฑิตยสถานฉบับแก้ไขปรับปรุงล่าสุดให้นักเรียนศึกษา กันหละครับท่าน

    

คำสำคัญ (Tags): #อ่านถูก อ่านผิด
หมายเลขบันทึก: 238408เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2009 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (27)
  • เห็นด้วยค่ะ
  • เพราะจากการไปทดลองใช้ คำอ่านกับนักเรียนเพื่อกำหนดเวลาที่เขตอื่น
  • พบปํญหาเช่นเดียวกับที่อาจารย์ว่าทุกประการ
  • ที่พบอีกอย่างคือคำที่มี รร นักเรียนจะอ่านไม่ถูก
  • และคำที่เล่นอักษร เดียวกันในคำเดียวกันเด็กก็มักอ่านผิดด้วย
  • ทั้งที่เป็นคำง่ายๆ

สวัสดีครับ

เจอเหมือนกันครับ

พยายามจะไม่เึครียดครับ ;)

นอกจากนี้ก็มีชื่อเฉพาะที่ควรรู้ ชื่อบุคคล ชื่ออำเภอ จังหวัด ก็เรียกผิดๆ ถูกๆ ตลอดเลย

สวัสดีครับอาจารย์  ผมเป็นนักเรียน ยุค ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ครับ อาจารย์ อิ อิ

  • บางทีก็งง ๆ ครับ..อันไหนถูกอันไหนผิด..
  • ครูสบายดีนะครับ

สวัสดีค่ะ

* เอาใจช่วยยยยยยยยด้วยค่ะ

* อิอ วันนี้แจกปังขาไก่คนละ 3 อัน....อ่านออกเขียนได้เร็วพลัน

* กลับบ้านครูดวงจันทร์บอกเด็ก 1/4 ขอทำการบ้านครูพรรณาก่อนอ้างว่าเยอะเหลือเกิน....ซะงั้น

* สุขกายสุขใจนะคะ

รออ่านวิธีแก้ครับ ^_^

ขอบพระคุณ หัวหน้าศน.ลำดวน..มากครับที่นำปัญหามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

ขอบคุณ อ.ธวัชชัย ครับ สิ่งที่ผิดในวันนี้..อาจเป็นสิ่งที่ถูกในวันพรุ่งนี้ก็ได้ครับ..อนิจจัง ครับ

ขอบคุณ หนุ่มกร สมัยป้ากับปู่ อ่านหนังสือเก่งกว่าเดี๋ยวนี้นะครับ..จะบอกให้

ขอบคุณ คุณเกษตร ถ้างง..ต้องซื้อพจนานุกรม..เล่มยักษ์..(๒๕๔๒) มานั่งเปิดดูครับ

ขอบคุณครูพรรณา ที่สามารถใช้แรงจูงใจแก่นักเรียนได้ดีครับ

ขอบคุณ น้องวีร์ วิธีแก้ ก็ต้องสอนหลักการ ฝึกอ่านและบอกแหล่งค้นคว้า คือราชบัณฑิตยสถาน นั่นแหละครับ

ปัญหาคือ..อ่านถูกกับอ่านผิด..ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญค่ะอาจารย์...

นั่นคือจะอ่านถูกหรืออ่านผิดคำๆนั้นความหมายยังเหมือนเดิม..???

ถ้าไม่ใช่..คำๆนั้นยังต้องมีการอ่านให้ถูกตรงตามความหมายต่อไปค่ะ..

ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ใช่..คำนั้นๆคงจะเพี้ยนไปเรื่อยๆค่ะ..

ดิฉันคนชอบ(เรียน)วิชาภาษาไทยค่ะ

แก้ไขค่ะ..ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่ใช่.. คือจะอ่านถูกหรืออ่านผิดคำๆนั้นความหมายยังเหมือนเดิม...คำนั้นๆคงจะเพี้ยนไปเรื่อยๆค่ะ..

สวัสดีค่ะ

  • คนอื่นอ่านผิดเป็นภัยไม่ร้ายแรง
  • ถ้าครูและสื่ออ่านผิด..เป็นภัยร้ายแรงค่ะ
  • เป็นกำลังใจให้นะคะคุณครู

ขอบคุณ คุณลดาครับ ที่ให้ความรู้ ความจริงผมก็เรียนภาษาศาสตร์มาหลายรหัสวิชา แต่พอมีปัญหาทีไรก็มาลงที่ครูภาษาไทย..จึงอดบ่นไม่ได้ครับ

ขอบคุณครูคิม....เห็นด้วยครับ..เพราะสองอาชีพนี้...ถือเป็นแม่พิมพ์...ของเยาวชน.....ผมได้ยิน...คำมหา...ลัย..ทางสื่อทีไร...ทำให้ผมปวดศีรษะ..อยากเข้า....โรง..บาล.ครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์พิสูจน์

อาจารย์สอนภาษาไทย

ช่วยใยมดหน่อยสิค่ะ

ใยมดหาคำนี้ไม่เจอความหมายเลยค่ะ

คำว่า ผัสสะวดี

แปลว่าอะไรค่ะ

หากอาจารย์ทราบช่วยตอบใยมดด้วยน่ะค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

โชคดีมีความสุขน่ะค่ะ

สวัสดีครับภาษาไทยมีเสน่ห์นะครับ

สวัสดีค่ะคุณพ่อน้องจิ ..

ครูพิสุจน์ สบายดีนะคะ

เรื่อง ร เรือ ล ลิง เด็กๆ มีปัญหาหลายค่ะ

รร. ปู เพิ่งพูด หัด ร ลิ้น กันได้ ตอน ป. ๖

แต่เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยมีปัญหา สังเกตจากหลาน

....

ภาษาไทย มีเสน่ห์ และ พลิกได้ ไพเราะ

อย่างเวลาสอนคนต่างชาติ พูดไทย ได้ขำ ๆ ค่ะ ครู

....

อิ่มอรร่อย และมีความสุข ฝันดีล่วงหน้านะคะ

สวัสดีค่ะ รักประเทศไทย รักภาษาไทย อ่าน เขียน ภาษาไทยให้ถูกต้องค่ะ

ขอบคุณ ใยมด ขอตอบคำถามเลยนะครับ ผัสสะวดี อธิบายตามศัพท์เลยนะครับ

ผัสสะ แปลว่า การกระทบ หรือ การถูกต้อง หรือ การที่ตา หู จมูก ลิ้นและกาย กระทบกับรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่รับรู้ได้ทางกาย

วดี มีสองความหมาย หมายถึง รั้ว กำแพง หรือหมายถึง มี

ผัสสะวดี อาจหมายถึง มีการกระทบ หรือมีผัสสะ

หรือผัสสะวดี อาจหมายถึง กำแพงแห่งการกระทบ

ลองประสมความหมายดูเองก็ได้ครับ

ขอบคุณเบดูอิน....จริงครับภาษาไทยมีเสน่ห์...และเล่ห์กลอีกมากมายครับ...ยกตัวอย่างเช่นคำผวนเป็นต้น

ขอบคุณ ปูมากครับ ภาษาไทยเรามีทั้งศาสตร์และศิลป์ที่น่าสนใจจริงๆครับ..แม้คำว่า"ใช่" ยังแปลว่า "ไม่ใช่" เช่นผมใช่จะเก่งภาษาไทย

ขอบคุณ มีนา เห็นด้วยครับ รักภาษาไทย ต้องสืบสานภาษาไทย ให้ถูกต้อง งดงามครับ

เนื้อหาดีมากๆค่ะ

อยากได้คำที่อ่านถูกต้องในปัจจุบัน เพราะไปดูหนังหลายเล่มแล้ว แต่ละเล่มอ่านไม่เหมือนกันเลย จึงไม่รู้ว่าอันใหนถูก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท