มุ่งสู่โลกกว้าง “นี่แหละชีวิต”


ขอเพียงเปิดใจกว้าง ไม่ติดยึดกับคำที่เคยฟัง นักศึกษาคงจะเข้าใจได้ว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่ประสบพบเห็นมันก็เป็นอย่างนี้ “นี่แหละชีวิต”

                ประมาณเก้าโมงเช้าของวันศุกร์ที่ ๒๓  มกราคม  ๒๕๕๒ คณะเดินทางคณะแรกเริ่มออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยพายัพมุ่งสู่อุทยานแห่งชาติขุนตาน จังหวัดลำพูน

                มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมมุ่งสู่โลกกว้างให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ทุกปี ด้วยมุ่งหวังว่า กิจกรรมนี้จะมีส่วนสร้างเสริม้นักศึกษามีความพร้อมในการเผชิญโลกกว้างเมื่อจบการศึกษา ะแรกที่จะพิชิตยอดดอยด้วยกันประกอบด้วย คณะนิติศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิทยาลัยดุริยศิลป์ และวิทยาลัยพระคริสตธรรมแม็คกิลวารี ในความเป็นจริงแล้ว ถ้านักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของทุกคณะที่ว่านี้ขึ้นไปทั้งหมด ที่พักบนดอยคงรับไม่ไหวแน่ๆ และเป็นที่น่าเสียดายว่าทุกคนไม่ได้ขึ้นไป มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ขึ้น เพราะกิจกรรมนี้ไม่ได้บังคับให้นักศึกษาต้องเข้าร่วม ป้าต๊อกเดาเอาเองว่า ทางมหาวิทยาลัยคงอยากจะบังคับเหมือนกัน ตามประสาผู้ใหญ่ที่มองว่า นี่คือสิ่งที่ดี ที่นักศึกษาควรจะได้รับ อย่างไรก็ตาม อีกมุมมองหนึ่ง เราก็อยากให้นักศึกษาได้ใช้วิจารณญาณในการเลือกสิ่งต่างๆ ให้กับชีวิตตัวเอง

                ปีนี้ คณะนิติศาสตร์มีนักศึกษาเข้าร่วมเพียง ๒๐ กว่าคน น้อยกว่าปีที่แล้วมาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะป้าต๊อกไม่ได้มีเวลาเข้าไปพูดคุยชักชวนด้วยตัวเองเหมือนปีที่แล้ว เป็นหนึ่งข้อบกพร่องที่ต้องปรับแก้ในปีหน้า แต่ก็มีอาจารย์ไผ่ไปเป็นเพื่อนด้วย ไม่เหมือนปีที่แล้วที่ลุยเดี่ยว

               

                แนวคิดหลักที่นำเสนอในครั้งนี้คือ นี่แหละชีวิต (This is life หรือ C’est la vie ในภาษาฝรั่งเศส) ขออนุญาตไม่ขยายความ เพราะยังมีอีกหลายคณะที่ยังไม่ได้ขึ้นดอย เดี๋ยวเกิดมาอ่านเข้าก่อน ก็จะรู้ไต๋หมด แต่อาจจะมีใครเดาได้ก็ได้นะ ว่า...เอ๊ะ...นี่แหละชีวิตมันเป็นยังไง

                สิ่งที่แตกต่างจากปีที่แล้วที่พอจะบอกได้คือ เรามี walk rally ระหว่างทาง กำหนดเวลากันนิดนึงว่า แต่ละกลุ่มไม่ควรขึ้นถึงที่หมาย คือ ย. ๓ ก่อนเวลา ๑๕.๐๐ น. และไม่ควรใช้เวลาเกิน ๑๕.๐๐ น. มิฉะนั้นจะถูกหักคะแนน เพราะฉะนั้น เวลาค่อนข้างจะเหลือเฟือในการเดินขึ้น ซึ่งผู้จัดหวังว่า นักศึกษาจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสานความสัมพันธ์ ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แต่อย่างที่บอกว่า รอบนี้เป็นรอบแรก ดังนั้นจึงมีความขลุกขลักอยู่บ้าง โดยเฉพาะเวลาที่กำหนดไว้ ปรากฏว่าทุกทีมขึ้นไปถึงก่อนเวลา แม้จะไม่เร่งรีบกันเลยก็ตาม ทำให้ผู้จัดต้องอนุญาตให้เข้าที่พักได้ก่อนเวลา และไม่ตัดคะแนน ไม่เช่นนั้น ก็จะเห็นทุกกลุ่มนั่ง ยืน เดิน รออยู่ที่ทางเข้าที่พัก (ไม่แน่นะ ถ้าให้รอจริงๆ อาจมีคนนอนรอก็ได้..ฮ่าๆ)

 

                จากเก้าโมงเช้า กว่าที่รถทุกคันจะนำผู้ร่วมคณะมาถึง ย. ๑ ก็เกือบ ๑๑ โมง ผู้จัดแจกข้าวเหนียวเนื้อย่าง บางคนอาจจะได้ข้าวเหนียวหมูหวาน น้ำพริกตาแดง น้ำ ๑ ขวด บราวนี่ ๑ ชิ้น และส้ม ๑ ลูก (ใครอยากกินอีกก็เดินไปขอเพิ่มได้) กินกลางวันให้เรียบร้อย แล้วผู้จัดก็ค่อยๆ ทยอยปล่อยขึ้นเขากันครั้งละ ๑ ทีม ห่างกันซัก ๕ นาทีได้ ป้าต๊อกถูกจัดให้เป็นอาจารย์ประจำกลุ่มสีขาว  ซึ่งถูกปล่อยเป็นกลุ่มสุดท้าย  ลูกทีมมี ๑๒ คน มีทั้งนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์  คณะสังคมศาสตร์ฯ  วิทยาลัยพระคริสตธรรมฯ และแน่นอนคณะนิติศาสตร์ ป้าต๊อกบอกกับลูกทีมว่า เขาให้เป็นอาจารย์ประจำกลุ่มเฉยๆ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือใดๆ ได้ ได้คำใบ้มาก็ต้องคิดกันเอง หากันเอง แต่อาจารย์จะเดินไปด้วย ที่สำคัญ ห้ามทิ้งกันนะ ต้องดูแล รับผิดชอบอาจารย์ด้วย พอบอกถึงตอนนี้ เด็กๆ ทำหน้างง เอ๊า...ก็ป้าต๊อกไม่แน่ใจกำลังขาของตัวเองนี่นาว่าจะไหวซักแค่ไหน

                ระหว่างทาง เด็กๆ ก็ช่วยกันทำกิจกรรม walk rally ดีมาก และไม่ลืมที่ป้าบอกอีกต่างหาก ช่วยกันดูแล ผลัดกันเดินนำ เดินตามป้าต๊อกกันเป็นระยะๆ ขอบใจจั๊ดนักเจ้า ^_^

 

                ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะไม่ถูกบังคับด้วยเวลาที่ต้องทำนั้นทำนี่จนเกินไป นักศึกษามีเวลาสบายๆ ที่จะชื่นชมธรรมชาติ พูดคุยเล่นหัวกันเอง รวมถึงถ้าใครอยากขึ้น ย. ๔ ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดก็สามารถไปได้ จะไปดูพระอาทิตย์ตกในเย็นนี้ หรือไปดูพระอาทิตย์ขึ้นตอนรุ่งเช้าของพรุ่งนี้ก็ได้ ไม่มีใครบังคับ หลังจากพักเหนื่อยพักใหญ่ๆ ป้าต๊อกก็อยากทดสอบความอึดของร่างกายอีกหนึ่งระลอกว่าจะเดินไป ย. ๔ ไหวมั้ย เลยถามเด็กๆ ว่าใครจะขึ้น ย. ๔ บ้าง เด็กๆ ตอบว่า ถ้าอาจารย์ขึ้น พวกผมก็ขึ้นครับ ป้าก็ตอบกลับเด็กๆ ว่า ถ้าพวกเราขึ้น อาจารย์ก็ขึ้นเหมือนกัน ...ฮ่าๆๆ... สรุปว่า ขึ้น มีทั้งหมด  ๕ หนุ่มนิติศาสตร์  ๒ หนุ่มสาขาจิตวิทยา ๑ อาจารย์วิทยาลัยดุริยศิลป์ และ ๑ ป้าต๊อก

                จาก ย. ๓ ไป ย. ๔ ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ครึ่งกิโลเมตรแรกเดินสบายๆ ครึ่งหลังมีพักหนึ่งระยะ และมีป้ายเขียนว่า เนินวัดใจ เอิ๊กส์...มันเป็นเนินวัดใจจริงๆ ด้วย วัดใจว่าไหวมั้ย สู้หรือเปล่า พอถึงเนินนี้ ป้าต๊อกพูดไม่ออก หอบอย่างเดียว อาจารย์ดุริยศิลป์ให้กำลังใจว่าอีกนิดเดียว เห็นยอดดอยแล้ว เอ้า...จนอย่างนี้แล้วก็ต้องกัดฟัน ก้มหน้าก้มตาเดินไปให้ถึงจุดหมาย พอถึงจุดสูงสุดของดอยขุนตานก็มีป้ายเขียน ระบุว่าถ้าไปฝั่งซ้ายจะไปจังหวัดลำพูน และถ้าไปฝั่งขวาจะเจอจังหวัดลำปาง นั่นก็เพราะเขาลูกนี้ตั้งอยู่คาบเกี่ยวของสองจังหวัด ใครแม่นภูมิศาสตร์คงนึกออก

                ณ จุดสูงสุด ก็เจออาจารย์ดุริยศิลป์อีก ๑ คนและนักศึกษาดุริยศิลป์อีกคนหนึ่ง แสดงว่ามีคนอยากทดสอบความอึดเหมือนกันนะนี่ เราขึ้นมากันเร็วไปนิด แดดเลยยังแรงอยู่ แม้จะอยากอยู่ดูพระอาทิตย์ตก แต่เวลากินข้าวเย็นที่กำหนดไว้ตอนห้าโมงเย็นทำให้เราอยู่นานกว่านี้ไม่ได้ ขาลงเราใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาทีเอง ไม่เหนื่อยเลย...นี่ไม่ได้โม้นะ... ผิดกับขาขึ้นลิบลับที่ใช้เวลาประมาณ ๔๕ นาที และเหนื่อยถึงขั้นหอบเลยหละ

                ค่ำนั้นมีกิจกรรมต่างๆ   ที่เป็นการเสริมสร้างจิตใจ  ตรงนี้คงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย  ว่าจะคิด  จะเข้าใจไปอย่างไร รับสารที่อาจารย์สื่อไปได้มากน้อยแค่ไหน

 

                อเพียงเปิดใจกว้าง ไม่ติดยึดกับคำที่เคยฟัง นักศึกษาคงจะเข้าใจได้ว่า ทั้งหลายทั้งปวงที่ประสบพบเห็นมันก็เป็นอย่างนี้ นี่แหละชีวิต

หมายเลขบันทึก: 237787เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท