เครือข่าย สพช. (11) เวทีเติมสาระ แบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อระบบการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ ... ฐานออกกำลังกาย 14 ท่า


 

ฐานนี้คือ ฐานออกกำลังกาย 14 ท่า ที่คัดสรรมาแล้ว ว่าเหมาะกับผู้สูงอายุ มาดูกันว่า ฐานนี้เขามีอะไรกัน น้องพจนีย์ เป็นผู้สรุปมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

ผู้ดำเนินการฐานนี้ก็คือ พี่ปุ๊ ศิริกาญจน์ พี่แหวว ภคพิมล คุณเอนก และคุณณัฐดนัย ค่ะ

รูปแบบและกระบวนการ ก็คือ

ใช้การบรรยายและฝึกปฏิบัติ โดยวิทยากรกล่าวนำ ถึงความสำคัญของการออกกำลังกายของผู้สูงอายุเพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการหกล้ม และเป็นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่ช่วยในการยืน การเดิน การทรงตัว การเคลื่อนไหว และข้อต่อต่างๆ ของผู้สูงอายุ  จากนั้นให้ผู้เข้ารับการอบรมฝึกปฏิบัติพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งมีผู้สาธิตการออกกำลังกายอยู่ด้านหน้า จำนวน 2 ท่าน

สาระสำคัญจากการนำเสนอในที่ประชุม

วิทยากรบรรยายถึงประโยชน์จากการออกกำลังกาย 14 ท่า พร้อมฝึกปฏิบัติ ได้แก่

  1. การบริหารร่างกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ และข้อต่อในผู้สูงอายุ
    หากผู้สูงอายุได้บริหารร่างกายเป็นประจำทุกวัน จะมีส่วนช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกาย ทำได้กระชับกระเฉงขึ้น ลดการปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ และข้อต่อ ที่เกิดจากการทำงานต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ และลดการใช้ยาแก้ปวด ซึ่งจะมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยมีท่าออกกำลังกาย จำนวน 8 ท่า ได้แก่ เหยียดคอ ยกแขน กรรเชียง เหยียดหลัง เหยียดเข่า เตะเท้า เหยียดข้อเท้าและนั่งสวนสนาม โดยการนั่งออกกำลังกายบนเก้าอี้ที่มีความแข็งแรงและไม่มีล้อเลื่อน
  2. การบริหารร่างกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ
    หากผู้สูงอายุทำเป็นประจำ จะมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยในการยืน การเดิน การทรงตัวจะมีความแข็งแรงมากขึ้น อุบัติการณ์ของการพลัดตกหกล้ม หรือลื่นล้มจะลดน้อยลง โดยมี ท่าการออกกำลังกาย จำนวน 6 ท่า ได้แก่ เหยียดน่อง เขย่งปลายเท้า-สลับยืนบนส้นเท้า เหวี่ยงขาออกข้าง ย่อเข่า งอและเหยียดสะโพกและโยกลำตัว (บางท่าใช้มือจับที่พนักเก้าอี้เพื่อการทรงตัวของร่างกาย)

วิทยากรได้สอดแทรกประโยชน์ของการบริหารร่างกายแต่ละท่า เช่น ท่าย่อเข่า จะช่วยผู้สูงอายุให้มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่มั่นคงมากขึ้น (ขาไม่สั่น) มีประโยชน์ในการขึ้น-ลงบันได และการเข้าห้องน้ำ ท่าเหยียดคอเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ เป็นต้น

สรุปประเด็นที่มีการตั้งคำถาม อภิปรายแลกเปลี่ยน

  1. หากผู้สูงอายุไม่สามารถออกแรงบริหารร่างกายได้ ตามรูปแบบในบางท่าบริหารร่างกาย
    ... แนะนำให้ผู้สูงอายุออกแรงเท่าที่จะทำได้ และหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถออกแรงได้ตามรูปแบบการบริหารร่างกาย
  2. จำนวนครั้งของการบริหารร่างกายที่เหมาะสม
    ... แนะนำให้ออกกำลังกายในแต่ละท่าบริหาร ประมาณ 10-12 ครั้ง เนื่องจากการอบรมครั้งนี้มีเวลาจำกัดจึงใช้การสาธิตและฝึกปฏิบัติบริหารร่างกายท่าละประมาณ 2-3 ครั้ง

ข้อมูลความเห็นอื่นๆจากผู้บันทึกวิชาการ

  1. วิทยากรมีการนำเสนอข้อมูลที่โดดเด่น สามารถทำให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความสนใจในการเรียนรู้  รวมทั้งสร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เข้ารับการอบรม เช่น การแจกวีซีดี
  2. วิทยากรอาจจะปรับรูปแบบจากการบรรยาย ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลเชิงวิชาการ หรือเป็นผู้สาธิตการออกกำลังกายบ้าง
  3. การฝึกปฏิบัติผู้อบรมที่อยู่ด้านหลัง ไม่ค่อยได้ยินเสียงและมองไม่เห็นผู้สาธิต เนื่องจากข้อจำกัดด้านสถานที่ ควรจะปรับวิธีการนั่งจากแบบคลาสรูมเป็นแบบครึ่งวงกลม

รวมเรื่อง ภาคีร่วมพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัย

  

หมายเลขบันทึก: 237670เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท