จารุวัจน์ شافعى
ผศ.ดร. จารุวัจน์ ชาฟีอีย์ สองเมือง

ประชาที่ไม่อยากให้คม


คืนนี้งานที่ตั้งใจจะทำมีสองอย่างครับ กะเวลาไว้ทีแรกคิดว่าจะเลยเที่ยงคืน แต่ปรากฏว่า สองชิ้นเสร็จอย่างรวดเร็วครับ ก็ว่าจะไปนอนเอาแรง พรุ่งนี้ต้องไปเป็นวิทยากรอบรมที่ปัตตานีอีก แต่เสียดายว่า แค่เที่ยงคืนคงไม่เป็นไร เขียนบล็อกเล่าสู่กันฟังไอ้ที่เป็นสาระบ้างก็ดี (หลายวันมานี้บ่นให้ฟังเป็นส่วนใหญ่)

วันนี้ผมไปนั่งพัฒนาโจทย์วิจัยท้องถิ่นครับ กับเครือข่ายที่บาโงซีแน อ.ยะหา จ.ยะลาครับ ได้รับฟังข้อคิดดีๆ เยอะครับ ทำให้รู้สึกมั่นใจตัวเองมากขึ้นครับว่า ถ้าเราคิดที่จะทำดีต่อคนอื่นแล้ว ความบริสุทธิ์ใจจะสร้างให้เกิดพลังและความสำเร็จครับ

ผมให้การบ้านไปกับทีมวิจัยครับว่า วันนี้จะต้องมาเล่าเรื่องของงานที่ทำอยู่ให้ผมฟัง แล้วช่วยบอกหน่อยว่า ปัญหามันคืออะไร ปรากฏว่าไม่ผิดหวังจริงๆ ครับ เนื่องจากเมื่อทีมชาวบ้านกลับไปนั่งคิดทบทวนประสบการณ์ตนเองใหม่ ประเด็นมันเกิดและชัดขึ้นจากเดิมมากครับ

ครั้งที่แล้ว ถามว่าอะไรคือปัญหา คำถามคือ ผมจะทำวิจัยเรื่องนี้แหละครับ อาจารย์ อยากทำเหมือนที่นั่น เหมือนที่นี่ ที่ได้ไปดูมา ซึ่งอันนี้ผมไม่อยากให้เป็น เราไปเห็นที่อื่นทำวิจัยแล้วสำเร็จ เราก็อยากทำเหมือนเขา มันไม่ได้ครับ เราต้องทำแบบของเรา ปัญหาของเรา

การบ้านที่ผมให้ไปจึงออกฤทธิ์ครับ ทีมวิจัยเขียนมา แล้วก็เอามาเล่าสู่กันฟัง แล้วก็มีการซักถามกัน ต้องเรียกว่า "ยกใหญ่" ครับ ที่น่าทึ่งคือ ผมไม่ใช่เป็นคนถาม กลับกลายเป็นสมาชิกที่มาร่วมคุยเป็นคนซักเป็นคนถาม จนตกผลึก แล้วก็เป็นโครงการที่น่าสนใจมากครับ

ภาพบนนี่คือ ว่าที่นักวิจัยท้องถิ่นคนใหม่ครับ ไปเรียนรู้มาหลายที่แล้ว รอบนี้คุยกันในชุมชนจนได้ประเด็นที่สำคัญเพื่อการทำวิจัยแล้วครับ ทีแรกท่านจะวิจัยกีรออาตีย์ครับ แต่คราวนี้ พอสร้างมุมมองใหม่ด้วยตัวเองจากการกลับไปทบทวนปัญหาของชุมชน ท่านก็ชัดว่า การส่งเสริมให้ผู้ใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการอ่านอัลกุรอานน่าจะต้องเริ่มด้วยกระบวนการอื่น ที่ไม่ใช่แค่การสอนให้อ่านออกครับ

ผมไม่แน่ใจว่า ท่านในภาพข้างบน ครั้งที่แล้วได้ร่วมคุยกับผมหรือเปล่าครับ แต่รอบนี้ท่านมาด้วยการเป็นแรงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ครับ แล้วก็มีคำแนะนำดีๆ ให้กับหลายคน

ก๊ะนิเดาะห์ ผู้มากด้วยประสบการณ์ครับ ทักษะการเขียนโครงการของท่านดีอยู่แล้วครับ ผมเลยชวนคุยทำให้ประเด็นความต้องการแก้ไขปัญหามันแคบลง เพื่อให้วิจัยได้เสร็จและตรงประเด็นครับ แล้วก็ฝากงานท่านว่า ท่านเขียนโครงการได้เลยครับ ไม่ต้องทำอะไรต่อให้ยุ่งยากมากความ

มีประเด็นที่ก๊ะเดาะพูดน่าสนใจหลายประเด็นครับ ประเด็นหนึ่งซึ่งผมเอาไปตั้งเป็นชื่อหัวข้อคือ การทำประชาคม ท่านบอกว่า คนของรัฐใช้กระบวนการประชาคมในหลายงาน ทุกชุมชนต้องทำงานโดยผ่านประชาคม จนทำให้ขาดข้อมูลแห่งความจริง ประการที่หนึ่ง คนส่วนหนึ่งที่สามารถคุมความเป็นไปในชุมชนจะเป็นคนทำให้ประเด็นที่ได้จากประชาคมเป็นไปตามสิ่งที่เขาต้องการ ประการต่อมาคือ คนอื่นๆ ไม่ค่อยอยากจะเสนอความเห็นในเวทีใหญ่ คนเยอะๆ แถมด้วยอยากให้มันจบเร็วๆ ดังนั้นข้อมูลหลายอย่างไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาจากเวทีประเภทนี้ ประการต่อมา มันกลายเป็นเวทีแห่งการเชือดเฉือนกันของคนในชุมชน แล้วก็นำมาสู่ความแตกแยกกันเองในชุมชน ในขณะที่ข้าราชการเอาข้อมูลไปแล้ว แค่คนในชุมชนมองหน้ากันไม่ติด ฮือ ก็เพราะความคมของประชานี้แหละครับ

ดังนันสำหรับก๊ะเดาะห์ ท่านบอกว่า เวลาที่ท่านจัดเวทีประชาคม ท่านจะขอให้แบ่งเป็นกลุ่มย่อย คุยกันในกลุ่มย่อย ผมถามว่า ทำไม คำตอบคือ หากเราแบ่งเป็นกลุ่มย่อยสิบกลุ่ม ก็แสดงว่า อย่างน้อยก็มีคนได้พูดแสดงความเห็นแล้วสิบคน สองคือ เมื่อเห็นกลุ่มอื่นใกล้เสร็จ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างยังไม่เสร็จ ความร่วมมือในการแสดงความคิดเห็นก็จะพรั่งพรูออกมาครับ

 

ภาพสุดท้ายนี้ไม่เล่าต่อแล้วครับ ดึกแล้ว ไปนอนดีกว่า

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยท้องถิ่น
หมายเลขบันทึก: 237590เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2009 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท