17.คิดถึง...เมืองแม่ฮ่องสอน(3) : เยือนบ้านห้วยเสือเฒ่า


บ้านห้วยเสือเฒ่า บ้านของคนกระเหรี่ยงคอยาว ที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การไปทำงานวิจัยที่แม่ฮ่องสอนครั้งนั้น  วางแผนไปค่อนข้างดี  มีการนัดหมายผู้ให้ข้อมูลไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนออกจากกรุงเทพฯ   และสามารถประสานงานกันได้ทันทีที่ไปถึงพื้นที่  ทำให้การทำงานทริปนี้เสร็จได้อย่างรวดเร็ว  วันสุดท้ายจึงมีเวลาเหลือพอ
ที่จะให้รางวัลกับคนทำงาน เลยเข้าไปที่บ้านห้วยเสือเฒ่า ตำบลผาบ่อง  อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมือง
ประมาณ 12 กิโลเมตร  เป็นหมู่บ้านของชาวกระเหรี่ยงคอยาวที่ใกล้ตัวเมืองมากที่สุด  การเดินทางสะดวก
ถนนเรียบ วิวสวยงาม

 

อ้อ! ลืมบอกเคล็ดลับเวลาลงทำงานในพื้นที่ว่า เราควรจะหาเช่ารถและคนขับรถในพื้นที่ เพื่อให้ได้
คนที่เชี่ยวชาญเส้นทาง สามารถทำเวลาให้กับเราได้ รู้ทางลัด และไปทันเวลานัดหมาย  อีกทั้งยังรู้ว่า
ถ้าเรามีเวลาเหลือเท่าไร ควรจะแวะชม แวะเที่ยวที่ไหนได้บ้าง เป็นการเก็บเกี่ยวเรื่องราว และ
ความสุขตามประสาคนต่างถิ่นที่อยากรู้ซะทุกเรื่อง

เวลาเดินทางจะพยายามไม่นั่งหลับ ถ้าไม่เพลียจริงๆ เพราะจะได้ดูวิวระหว่างทาง และเผื่อเห็นอะไร
น่าสนใจก็จะได้ลงไปถ่ายรูป  เพราะงานวิจัยชุมชน ถ้าจะให้สนุกน่าจะมีรูปประกอบด้วย
ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้นด้วย แถมยังทำให้งานเราน่าอ่าน เป็นที่สนใจ

บ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นพื้นที่ที่รัฐจัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวกระเหรี่ยงคอยาว เห็นหลังคาบ้านซ้อนๆ กัน
ตอนมองจากข้างบน ทำให้รู้ว่าอยู่กันแออัดพอควร  เมื่อเดินลงไปจะเห็นบ้านของชาวกระเหรี่ยง
เรียงรายอยู่สองข้างทางของหมู่บ้าน ตรงกลางปล่อยว่างเป็นทางเดินกว้างพอควร เพื่อให้เหมาะกับที่
นักท่องเที่ยวจะเดินชมวิถีชีวิต และร้านค้าในหมู่บ้าน

หน้าบ้านของเกือบทุกหลังจะเปิดเป็นร้านขายของที่ระลึก จำพวกผ้าพันคอ กระเป๋า เสื้อผ้า
ที่ทำจากผ้าทอลายกระเหรี่ยง แต่ดูๆ แล้วคล้ายกับรับมาขายอีกทอดหนึ่ง เพราะเหมือนกับ
สินค้าที่วางขายในเมือง สอบถามแล้วก็พบว่าใช่  แต่งานฝีมือที่ทำเองในหมู่บ้านก็น่าจะเป็นผ้าพันคอ
ที่ทอด้วยเครื่องทออย่างง่ายๆ ใช้เท้าและมือนั่งทอไปด้วย เลี้ยงลูก และขายของไปด้วย

ที่บ้านห้วยเสือเฒ่าจะมีบ้านที่รับนักท่องเที่ยวเข้าพักแบบโฮมสเตย์ด้วย คืนละประมาณ
200-300 บาท แล้วแต่ตกลงกันว่าจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น อาหารเช้า  อาหารกลางวัน
เป็นการพักบ้านเดียวกับเจ้าของบ้านเลย เพียงแต่แยกห้องนอนเท่านั้น เข้าไปขอดูห้องพัก มีเพียง
ที่นอน หมอน มุ้ง ให้เท่านั้น  ถ้านอนค้างคงหนาวน่าดู

ที่หมู่บ้าน เราจะเห็นกระเหรี่ยงผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  ยกเว้นจะมีคนเฒ่าคนแก่ผู้ชายอยู่บ้าง
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะสวมห่วงทั้งที่คอ แขน และขา  ส่วนผู้ชายไม่ต้องสวมห่วงคอ  โดยผู้หญิง
จะเริ่มสวมห่วงทองเหลืองตามร่างกายตั้งแต่อายุราว 10 ขวบ  แต่สมัยใหม่นี้เด็กบางคนก็เลือก
ที่จะไม่สวมห่วงได้ แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็จะให้สวม (เคยรู้มาว่า เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ของรัฐ ถ้าใครสวมห่วงจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐ)

การสวมห่วงจะมีการปรับขนาดของห่วงไปตามการเติบโตของร่างกาย เราเห็นบางคนก็เกิด
ระบมตามร่างกายจนเป็นไข้ ตอนเปลี่ยนห่วงที่สวมใหม่ๆ  เพราะการสวมต้องนำห่วง
ทองเหลืองไปเผาไฟให้ร้อนเพื่อให้อ่อนตัว แล้วดัดให้พอดีกับร่างกาย  ต้องใช้เวลาในการดัด
และต้องอาศัยความชำนาญของคนดัดห่วง ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำเป็น

วันที่เราเข้าไป บังเอิญพบกันฝรั่งคนหนึ่งเดินทางเข้าไปขอให้ชาวบ้านช่วยสวมห่วงที่คอให้
และจะพักค้างคืนอยู่ที่นั่นสัก 3-4 วัน เพราะอยากเรียนรู้ความรู้สึกของชาวกระเหรี่ยงที่ต้อง
สวมห่วงอยู่ตลอดเวลาว่าเป็นอย่างไร  เราเลยได้มีส่วนร่วมในการดูวิธีการสวมห่วง  แต่
การทำอะไรในสมัยนี้ ก็ต้องเสียเงิน  ชาวกระเหรี่ยงก็คิดค่าใช้จ่ายในการสวมห่วงให้กับฝรั่ง
รายได้ มากพอดูทีเดียว ฝรั่งขอให้พวกเราช่วยกันต่อรองราคากันอยู่สักพัก เพราะพูดกันไม่ค่อย
เข้าใจ สุดท้ายก็ตกลงกันได้  เราดูอยู่สักพักก็ต้องล่ำลาและอวยพรให้ฝรั่งคนนั้นโชคดีและมี
ความสุขกับสิ่งแปลกใหม่ในชีวิต (เอาใจช่วย)  โดยฝากฝังให้ผู้ใหญ่บ้านที่นั่นช่วยดูแล

อ้อ
! อีกเรื่องคือ เราสงสัยว่าทำไมเราไม่เห็นชาวกระเหรี่ยงคอยาวไปเที่ยวหรือไปขายของ
ในเมืองเลย ทั้งๆ ที่หมู่บ้านอยู่ไม่ไกลจากเมืองเท่าไร และน่าจะขายของในตลาดกลางคืน
ที่เราชอบเดินได้นะ  ผู้ใหญ่บ้านบอกว่ารัฐไม่อนุญาตให้เข้าไปขายในเมือง  การออกจาก
หมู่บ้านต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน  เราเลยรู้สึกว่าชาวกระเหรี่ยงถูกดูแลจากรัฐคล้ายๆ
ค่ายอพยพ หรือถูกจำกัดพื้นที่ให้กลายเป็นวัตถุเชิงการค้าเพื่อการท่องเที่ยว มากกว่าที่จะ
คำนึกถึงความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์สักเท่าไร  พวกเขาเคยหลบออกไปโชว์ตัว
นอกพื้นที่หมู่บ้านแล้วถูกจับได้ด้วย ก็ต้องมีการไปประกันตัวกันออกมา

เดินทางออกมาจะพบโรงเรียนบ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นโรงเรียนที่เด็กกระเหรี่ยงคอยาวเรียนร่วม
กับเด็กอื่นๆ  เลยออกมาอีกหน่อยเราจะเห็นพื้นที่เล็กๆ แห่งหนึ่งมีไม้เสาสูงๆ ช่วงบนทำเป็น
หัวกลมๆ และมีแขนยื่นออกมา ขนาดสูงกว่าตัวคน ปักอยู่หลายๆ อัน แวะถามเขาบอกว่าเป็น
การทำพิธีคล้ายๆ ไหว้ผีของหมู่บ้าน (ดูรูปด้านล่างประกอบค่ะ)

วิ่งรถกลับเข้าเมือง ไม่น่าเชื่อ เราเห็นอูฐอยู่ 3-4 ตัว กำลังเล็มหญ้าอยู่ในผืนหญ้าริมถนน
เลยแวะถ่ายรูปอูฐกลับมายืนยันให้เพื่อนพ้องประหลาดใจ

มีรูปมาฝากด้วยค่ะ


 ทางไปมีป้ายแบบนี้ แสดงว่าคดเคี้ยวน่าดู ขับรถระวังๆ

 
   ป้ายบอกทาง อ่านไม่ออก ก็ดูรูปรู้เรื่อง


  ปากทางเข้าหมู่บ้าน  มีหุ่นกระเหรี่ยงคอยาวยืนต้อนรับอยู่


  สภาพบ้านเรือน ถ่ายจากข้างบน










  ร้านขายของที่ระลึกตลอดสองข้าทางของหมู่บ้าน


 ยายกระเหรี่ยงเลี้ยงหลานจ๊ะ

 
 เด็กรุ่นใหม่เลือกได้ว่าจะสวมห่วงหรือไม่สวม


  เด็กน้อยที่สวมห่วงคอ  น่ารักเชียว




 ฝรั่งที่เข้าไปอยากลองใส่ห่วงที่คอ แขน และขา
 ดูเขาสนุกกับการเรียนรู้ชีวิตจัง


  ไหว้ผีหมู่บ้าน แวะถ่ายภาพตอนขาออกจากหมู่บ้าน ห้วยเสือเฒ่า


   รูปอูฐจ๊ะ  ถ่ายมาจากทางกลับเมืองแม่ฮ่องสอน



 

หมายเลขบันทึก: 237589เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2009 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท