ความรู้ที่แนบมากับปฏิทินปีใหม่ (ตอนที่ 2)


ถือว่า...เป็นกลยุทธ์ในการเผยแพร่ความรู้...รวมถึงวิธีป้องกัน

ความรู้ที่แนบมากับปฏิทินปีใหม่ ต่อจากครึ่งปีแรก ลองมาดูความรู้ในครึ่งปีหลังนี้ว่ามีความรู้ด้านโรคมะเร็งที่น่าสนใจ รวมถึงวิธีป้องกันที่น่าสนใจ

เดือนกรกฎาคม...มะเร็งสำไส้และทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม พบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราใกล้เคียงกัน โดยส่วนมากจะพบในวัยกลางคน อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (เพิ่มเติมที่นี่ )

สาเหตุ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ยังไม่เป็นที่ทราบอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม อาหาร และพันธุกรรม

อาการ ผู้ป่วยในระยะแรก อาจไม่มีอาการใดๆหรืออาจมีอาการปวดท้อง แน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะ เมื่อโรคเป็นมากขึ้นอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเดิน มีลักษณะในการขับถ่ายที่เปลี่ยนไป อาจมีการอุดตันของลำไส้ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมูกปนเลือดหรือมีเลือดออกในอุจจาระเป็นเวลานาน ทำให้มีภาวะซีดได้

การวินิจฉัย เนื่องจากในระยะแรกผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ การตรวจเลือดในอุจจาระและการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ อาจจะทำให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้มี่โอกาสรักษาให้หายขาดได้ แนะนำให้เริ่มตรวจด้วยวิธีดังกล่าวตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป

การรักษา  กรณีมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่ลำไส้ใหญ่และต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ จะรักษาโดยการผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก ส่วนมะเร็งที่เกิดบริเวณทวารหนักจะใช้การฉายแสงร่วม กรณีมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง การใช้เคมีบำบัดหลังการผ่าตัดหรือฉายแสง จะช่วยเพิ่มอัตราการหายขาดจากโรคได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะได้รับยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลา 6 เดือน

การป้องกัน  การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากเช่น ผัก ผลไม้ และอาหาที่มี    แคลเชี่ยมสูง อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้

เดือนสิงหาคม...ทำอย่างไร?...เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง...

ทำอย่างไร?....เมื่อรู้ว่าเป็นมะเร็ง  เมื่อผู้ป่วยทราบว่าป่วยเป็นมะเร็ง มักจะเริ่มมีปัญหาทางจิตใจ และดูโดยรวมเหมือนทรุดลง แต่เมื่อทำใจได้สักระยะก็จะยอมรับได้และจัดการชีวิตไปตามสถานการณ์

สภาพจิตใจหลังทราบว่าเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยจะมีท่าทีหลังทราบผลได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วย แต่อาจพอสรุปได้ดังนี้

- ไม่ยอมรับ   -  อารมณ์เสีย  -  วิตกกังวล  -  ซึมเศร้า

คำแนะนำสำหรับสุขภาพจิตผู้ป่วย 

1.      ยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

2.      อย่าเพิ่งมองไกลไปข้างหน้า

3.      เราไม่ได้อยู่บนโลกนี้เพียงคนเดียว

4.      ยึดสิ่งที่ควรยึด ปล่อยสิ่งที่ควรปล่อย

5.      หากหวังให้ถูกเรื่อง ความหวังก็สมหวังได้เสมอ

คำแนะนำสำหรับญาติผู้ป่วยมะเร็ง

1.      ให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจ

2.      ช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จะมาถึง

3.      ช่วยให้จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ดีงาม

4.      ช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ

5.      ช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสิ่งต่างๆ

6.      สร้างบรรยากาศแห่งความสงบ

7.      กล่าวคำอำลาในวาระสุดท้าย

เดือนกันยายน...มะเร็งโรคร้ายที่ป้องกันได้

มะเร็งโรคร้ายที่ป้องกันได้  การป้องกันมะเร็งจึงเป็นสิ่งที่วงการแพทย์ยุคปัจจุบันเห็นว่ามีความสำคัญมากกว่าการรักษา วิธีการป้องกันประกอบด้วย 3 วิธีที่สำคัญคือ

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม...เพื่อป้องกันมะเร็ง  มะเร็งหลายชนิดมีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับพฤติกรรมบางอย่างของคนเรา ดังนั้นการเลิก หลีกเลี่ยงหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตบางอย่าง จะช่วยลดความเสี่ยงหรือลดโอกาสในการเกิดมะเร็งบางชนิดได้ ชนิดของมะเร็ง / วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

                - มะเร็งปอด  เลิกหรือลดการสูบบุหรี่

                - มะเร็งตับ    หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกปลาร้า ปลาส้ม การดื่มสุรา

                -  มะเร็งปากมดลูก  หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยมีคู่นอนคนเดียวและใช้ถุงยางอนามัย

                 -  มะเร็งผิวหนัง  หลีกเลี่ยงแสงแดดที่ร้อนจัดเป็นเวลานานๆ

                 -  มะเร็งช่องปาก  หลีกเลี่ยงการกินหมาก ให้ความสำคัญในการรักษาความสะอาดในช่องปาก

                -  มะเร็งลำไส้  หลีกเลี่ยงอาหารประเภทปิ้งย่าง ที่ไหม้เกรียม รับประทานอาหารที่มีกากและเส้นใย

          2. การตรวจหามะเร็ง...ก่อนลุกลามหรือแพร่กระจาย  ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งบางชนิด อาจต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติม  ชนิดของมะเร็ง / วิธีตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

               - มะเร็งเต้านม  ตรวจเต้านมด้วยตนเองหรือโดยแพทย์ ตรวจแมมโมแกรม

               - มะเร็งปากมดลูก  ตรวจแปปสเมียร์

                -  มะเร็งลำไส้  ตรวจหาเลือดในอุจจาระ

                -  มะเร็งปอด  เอ็กซเรย์ปอด

               -  มะเร็งตับ  ตรวจอัลตราซาวด์ตับในคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็ง เช่นพาหะตับอักเสบบี

          3. วัคซีน...ป้องกันมะเร็งได้  ปัจจุบันมีมะเร็งสองชนิดที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน คือ เชื้อที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง / ภาวะก่อนเกิดมะเร็ง / ชนิดของมะเร็ง

        - ไวรัสตับอักเสบ  พาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี  มะเร็งตับ

        - ไวรัสฮิวแมนแปปปิโลมา (เอชพีวี)  ภาวะการติดเชื้อเอชพีวี ชนิดก่อมะเร็งแบบเนินนาน  มะเร็งปากมดลูก

          เดือนตุลาคม...การตรวจเต้านมค้นหามะเร็ง

          มะเร็งเต้านม  เป็นโรคที่พบมากเป็นอันดับสองในสตรีไทยและมีแนวโน้มพบสูงขึ้น สตรีทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม แนวทางที่ดีที่สุดในการลดอัตราตายจากโรคมะเร็งเต้านมคือ การค้นหาและการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมให้ได้ในระยะเริ่มแรก มะเร็งรักษาจะได้  ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก  (เพิ่มเติมที่นี่     

          การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำให้รู้ลักษณะเต้านมที่ปกติเป็นอย่างไร และสามารถค้นพบสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาจะได้ผลดีมาก ก้อนที่เต้านมไม่ใช่เป็นมะเร็งทั้งหมด อาจเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดาก็ได้ 

วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ท่าที่ใช้ในการตรวจ 3 ท่า การดู การคลำ สังเกตสิ่งผิดปกติของเต้านม โดยตรวจอย่างละเอียด 4 ขั้นตอน

ท่าที่ 1  ยืนหน้ากระจก

1.      วางแขนไว้ข้างลำตัว ดูรูปร่างขนาดของเต้านม ระดับของหัวนมและสีผิวของเต้านม

2.      ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ดูขนาด รูปร่างและลักษณะผิดปกติของเต้านม

3.      วางมือทั้ง 2 ข้างไว้บนสะโพกและกดน้ำหนักลงหรือเกร็งหน้าอกและดูสิ่งผิดปกติ

4.      โน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อตรวจดูสิ่งผิดปกติ ของเต้านมทั้งสองข้างได้ชัดเจนมากขึ้น

ท่าที่ 2  ท่านอน

1.      นอนหงาย ใช้หมอนเล็กๆสอดใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ เช่นตรวจข้างขวา ยกแขนขวาขึ้น

2.      ใช้นิ้วมือข้างซ้ายทั้ง 3 นิ้วคือนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ใช้ปลายนิ้วตรวจเต้านมข้างขวา

3.      กดเบาๆ กดแรงขึ้นและกดหนักขึ้นเป็น 3 ระดับ ให้ทั่วเต้านมและรักแร้ เพื่อค้นหาก้อนที่อยู่บริเวณใต้ผิวหนังและก้อนบริเวณเต้านม

4.      บีบหัวนมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบหัวนมเบาๆดูสิ่งคัดหลั่งว่ามีน้ำเลือดไหลไหม

ท่าที่ 3  ตรวจขณะอาบน้ำ

1.      ตรวจขณะที่ตัวเปียกหรือฟอกสบู่ จะทำให้ผิวหนังลื่นตรวจได้ง่าย ตรวจเต้านมข้างขวาให้ยกมือขวา ขึ้นวางบนศีรษะใช้นิ้วมือซ้าย 3 นิ้วตรวจเช่นเดียวกับท่านอน

2.      ตรวจเต้านมด้านซ้าย ด้วยวิธีเดียวกัน

3.      ตรวจบริเวณรักแร้เพื่อดูสิ่งผิดปกติว่าพบก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองโตหรือไม่?

4.      บีบหัวนมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบหัวนมเบาๆ ดูสีคัดหลั่งว่ามีน้ำเลือด น้ำเหลืองไหลออกมาหรือไม่?

เดือนพฤศจิกายน... 5 ทำ 5 ไม่...ห่างไกลมะเร็ง

1.      ออกกำลังกายเป็นนิจ

2.      ทำจิตแจ่มใส

3.      กินผัก ผลไม้

4.      อาหารหลากหลาย

5.      ตรวจร่างกายเป็นประจำ

เดือนธันวาคม... 5 ทำ 5 ไม่...ห่างไกลมะเร็ง

6.      ไม่สูบบุหรี่

7.      ไม่มีเซ็กซ์มั่ว

8.      ไม่มัวเมาสุรา

9.      ไม่ตากแดดจ้า

10.  ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ

สาระและความรู้มากมายที่ได้จากปฏิทิน ซึ่งมีความหมายมากกว่ามาเปิดดู...วันเวลาที่ล่วงผ่านเลยไป การหันมามองดูสุขภาพทำให้เตือนใจในการไม่ประมาทในการดูแลตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีๆที่นำมาฝากจากปฏิทินประจำปี 2552 สถาบันมะเร็งแห่งชาติค่ะ (....ท่านสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โทร. 02 3547025 หรือ สายด่วนมะเร็ง 1668   หรือ www.nci.go.th   ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) สวัสดีปีใหม่...ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพดีและห่างไกลโรคมะเร็งทุกท่านเทอญ.



ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

  • ดีใจมากๆ เลยค่ะ ที่ได้เข้ามาอ่าน รับความรู้ และ นำไปปฏิบัติได้ด้วย
  • ครูอ้อย ขอเก็บความรู้นี้ไว้ในห้องสมุดของครูอ้อยนะคะ

ขอบคุณค่ะ มีความสุขมากๆๆ และ นานๆๆนะคะ

  • กลัวตัวเองเป็นมะเร็งลำไส้ครับ แม่เสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม เข้าไปอ่านเพิ่มเติมแล้ว
  • โลกเรามีอีกหลายโรคที่น่ากลัวมาก มะเร็งก็คือหนึ่ง..
  • ขอบคุณความรู้ดีๆครับ

สวัสดีค่ะครูอ้อย แซ่เฮ(คนสวยอารมณ์ดี)

·       ยินดีมากเลยค่ะ ที่ครูอ้อยแวะมาเยี่ยมและนำความรู้ที่ได้ไปทำประโยชน์ต่อค่ะ.

·       ขออวยพรให้มีความสุขเช่นกันค่ะ

                    

สวัสดีค่ะครูธนิตย์

·       โรคมะเร็งนั้นกรรมพันธุ์มีส่วนด้วยเช่นกัน กันไว้ดีกว่าแก้...ตรวจเช็คสุขภาพประจำปีบ้างนะคะ เนื่องจากอาจารย์ก็มีปัจจัยเสี่ยง

·       เห็นด้วยกับอาจารย์มากเลยค่ะว่าโรคมะเร็งน่ากลัว ซึ่งสิ่งแวดล้อมรวมถึงผัก ผลไม้ที่มียาฆ่าแมลงตกค้าง อาหารปิ้งย่างและปัจจัยเสี่ยงสูงกว่าสมัยก่อนเยอะเลยค่ะ ดูแลสุขภาพซึ่งกันและกันนะคะ ขอให้สุขภาพแข็งแรงค่ะ.

·       ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมค่ะ.

                                     

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท