เรื่องเล่าวันที่ ๑๐ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๒(ตอน ๑)


เล่าเรื่องที่เมืองเพชร

 

วันที่ ๑๗  มกราคม  ๒๕๕๒
เรียน  เพื่อนครู ผู้บริหารที่เคารพรักทุกท่าน

 

วันที่ ๑๐  มกราคม  ๒๕๕๑  ออกจากบ้านเมืองนนท์ก่อนเที่ยงเล็กน้อย ไปแวะเปลี่ยนลมยางเป็นลมไนโตรเจนร้านยางหน้าหมู่บ้าน เพราะเมื่อวานยางรั่ว ช่างเขานำไปปะให้แล้วเติมลมแบบทั่วไปให้  เดินทางลงเพชรบุรี  การจราจรคับคั่ง ทนหิวไปจนถึงเพชรบุรี แวะไปทานข้าวที่ร้านเปลญวน เขตอำเภอบ้านลาด อิ่มแล้วลัดเลาะคลองส่งน้ำมาลอดถนนใกล้ ๆ ท่ายาง  เข้าบ้านพักมีแขกมาหารายแรก เป็นครูอยู่โรงเรียนป่าเด็งวิทยา กำลังจะจัดแข่งขันนกกรงหัวจุก ในเดือนกุมภาพันธ์  ๒๕๕๒  เพื่อหารายได้พัฒนาโรงเรียน คาดว่าจะเป็นงานแข่งนกที่ใหญ่ของเพชรบุรีอีกงานหนึ่ง  ผมได้ให้ถ้วยรางวัลตามที่เขาขอไว้   กลุ่มที่สองเป็นครูมาจากเพชรบุรี  มาสวัสดีปีใหม่ รายที่สามมาจากในเขต  นอกนั้นมีเจ้าหน้าที่นำเอกสารมาให้ลงนามอีก ๒-๓ แฟ้ม เวลา ๑๘.๓๐ น. เดินทางไปโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม  อำเภอบ้านลาด  ระหว่างเดินทางได้รับโทรศัพท์จากทีมชุมพรที่กลับจากสอบ ผอ.สพท.   มี ผอ.ชาญวิทย์  ยิกุสังข์   ท่านรองฯ วิมาน  ดีทองหลาง และท่านรองฯ สมศรี  เทพประชา ว่ากำลังกลับชุมพร จึงนัดหมายเจอกันที่ทางแยกเข้าอำเภอบ้านลาด ถามทุกข์สุขกันพอหายคิดถึงจึงแยกย้ายกันเดินทาง   โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านลาด การจัดงานวันเด็กจึงจัดร่วมกับเทศบาลต่อเนื่องมาหลายปี  ที่ขาดไม่ได้คือหลวงพ่อเจ้าอาวาสมีส่วนร่วมอย่างมากในการหาขอรางวัลมาแจกเด็ก ๆ  ท่านนายกเทศมนตรีอภิชาต  แก้วโกศล นำทีมเทศมนตรีและสมาชิกร่วมงานพร้อมหน้า  ท่าน ผอ.เผียน  วงศ์ทองดี ผอ.รร. ได้เชิญคุณธิวรรณรัตน์  อังกินันท์  ภริยานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรีมาเป็นประธานเปิดงาน ผมทำหน้าที่รับมอบเงินบริจาคต่าง ๆ และกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทั้งหลาย  เห็นแววตาเด็ก ๆ มีความสุขและความหวังในวันของเขา ผู้ใหญ่อย่างพวกเราก็มีความสุขไปด้วย  กลับจากโรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม มาแวะโรงเรียนบ้านท่ายาง(ประชาสรรค์) เพราะมีผู้มีจิตศรัทธาจะมอบเงินสร้างถาวรวัตถุให้กับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและนักเรียนขาดแคลนในวงเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท  ผมเสนอแนะโรงเรียนบ้านป่าเด็ง เพราะกำลังปรับปรุงโรงอาหาร ขาดกระเบื้องมุงหลังคาอยู่ พรุ่งนี้จะให้ ผอ.รร. พาไปดูความเหมาะสม   กลับเข้าบ้านพักเกือบ ๔ ทุ่ม เก็บสัมภาระเสร็จเดินทางกลับนนทบุรีถึงเที่ยงคืนพอดี  

 

วันอาทิตย์ที่ ๑๑  มกราคม  ๒๕๕๒   ตื่นเช้าตั้งใจจะทำงานเอกสารที่ต้อง ตอบ ก.ค.ศ. ให้แล้วเสร็จ  หากไม่เสร็จตั้งใจจะไม่ไปไหน  ทั้งค้นทั้งคิดทั้งพิมพ์จนตาลาย  ดูเวลาเกือบ ๔ โมงเย็นจึงแล้วเสร็จ  จึงเก็บสัมภาระขึ้นรถเดินทางกลับเพชรบุรี  กลางคืนถนนโล่งแต่สายตาก็มีปัญหาเพราะนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์มาทั้งวัน  มาแวะทานบะหมี่ที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. บ้านคลองโคน  ถึงบ้านพักประมาณ ๒ ทุ่ม  นั่งแก้ไขงานและพิมพ์งานออกมา มีผิดมีพลาดบ้างเหมือนกัน แต่จะใช้ปากกาขีดฆ่าคำผิดเอาและเขียนแทนเพราะเบื่อที่จะแก้ไข  เข้านอนเวลา ๒๓.๐๐ น.

 

                                                                            
วั
นจันทร์ที่ ๑๒  มกราคม  ๒๕๕๒  ตื่นเวลา ๐๔.๓๐ น.  อาบน้ำแต่งเครื่องแบบปฏิบัติราชการแขนยาว รถมารับเวลา ๐๕.๓๐ น. เดินทางเข้ากรุงเทพฯ  ถึงกระทรวงมหาดไทยเวลา ๐๘.๓๐ น.  ขึ้นไปห้องประชุมชั้น ๕  สถาบันดำรงราชานุภาพ    สมาชิก  นปส.  ๕๓ เพิ่งทยอยเดินทางกันมาทั้งมาเองและมารถบัสจากวิทยาลัยที่บางละมุง  เวลา ๐๙.๐๐ น.  ศาสตราจารย์ ดร.ชาติชาย  ณ เชียงใหม่ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับหลักสูตรและการเรียนการสอน เวลา ๑๐.๓๐ น. ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพีรพล  ไตรทศาวิทย์  เดินทางมาถึงและกล่าวเปิดการอบรม  ท่านย้ำว่าหลักสูตร นปส. เป็นหลักสูตรที่มีมาก่อนหลักสูตรอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น นบส. ของ ก.พ. หรือ วปอ. ของทหาร  เป็นหลักสูตรที่ ก.พ. รับรองในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งต่าง ๆ  ฉะนั้น  ขอให้นักศึกษาตั้งใจเรียนและปฏิบัติตามกติกาที่วิทยาลัยกำหนด  ให้ได้ทั้งระเบียบวินัย ความเป็นแบบอย่าง และความรู้ที่นำไปใช้ได้ เพื่อความผาสุกของประชาชน   พิธีเปิดเสร็จก่อนเที่ยง เขาเลี้ยงอาหารกลางวัน ผมเองตัดสินใจเดินทางกลับเพชรบุรี  มาแวะทานอาหารกลางวันที่สมุทรสงคราม  ตั้งแต่เปลี่ยน พ.ศ. ใหม่ยังไม่เคยแวะเข้าสำนักงานเลยด้วยมีราชการต้องไปต่างจังหวัด  วันนี้จึงแวะขึ้นห้องทำงานและทักทายเพื่อนข้าราชการกลุ่มงานต่าง    เวลา ๑๔.๐๐ น. เดินทางไปโรงแรมโกลเด้นบีช  ชะอำ สถานที่พักของ นปส. ๕๓  ลงชื่อเข้าห้องพัก ได้ห้อง ๑๒๑๔  คู่กับนายอำเภอไพศาล  ศิลปะวัฒนานันท์ บัดดี้เก่าที่วิทยาลัยมหาดไทย  เวลา ๑๖.๐๐ น.  คณะที่เดินทางด้วยรถบัสจากกรุงเทพฯ เดินทางมาถึงจึงเข้าห้องประชุมทรายทอง ๑  ฟังผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายชาย  พานิชพรพันธุ์ บรรยายพิเศษให้ฟัง ต่อด้วย พ.ต.ท.นพคุณ บำรุงพงษ์ รองผู้อำนวยการโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จน ๑๗.๐๐ น.จึงเดินทางกลับบ้านพักที่ท่ายาง เพราะนัดหมายเรื่องงานกันไว้ 

วันอังคารที่ ๑๓  มกราคม  ๒๕๕๒   ออกจากบ้านตั้งแต่เช้าไปโรงแรมโกลเด้นบีช ชะอำ ทานกาแฟก่อนขึ้นรถคันที่ ๑ เดินทางไปศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ถนนเพชรเกษมสายใหม่เลี่ยงเมืองชะอำ-หัวหิน  ตำบลสามพระยา  พวกเรารับฟังการบรรยายจากรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ  พ.ต.ท.นพคุณ บำรุงพงษ์ ซึ่งเมื่อวานไปต้อนรับพวกเราที่โรงแรมมาแล้วครั้งหนึ่ง  เป็นการบรรยายที่ละเอียดลงลึกถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ในอดีตพื้นที่แห่งนี้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  มีสัตว์ป่ามากมายโดยเฉพาะเนื้อทรายอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ชื่อว่า “ห้วยทราย” อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำ ลำธาร เป็นแหล่งอาหารของราษฎรพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศเป็นเขต พระราชนิเวศน์มฤคทายวันและห้ามมิให้ทำอันตรายสัตว์ในพื้นที่ห้วยทราย เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๖๗ต่อมาราษฎรได้เข้ามาอาศัยทำกิน บุกรุกแผ้วถางป่า ประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไร่สับปะรดและใช้สารเคมีอย่างผิดวิธี ส่งผลให้ระบบนิเวศน์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๔๐ ปี ป่าไม้ได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงจนมีลักษณะเป็นพื้นที่อับฝน ดินขาดการบำรุงรักษาจนเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติ เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินค่อนข้างสูง สภาพดินเกิดความเสื่อมโทรม พืชพันธ์ไม้ที่ปลูกไม่สามารถเจริญเติบโตได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ เมื่อวันที่๕ เมษายน ๒๕๒๖  ทรงพบเห็นสภาพปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นทรงมีรับสั่งความตอนหนึ่งว่า

“หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด”

จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการพัฒนาพื้นที่ใน ๓ ขอบเขตใหญ่ๆ ดังนี้
                         ๑. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                         ๒. การพัฒนาแหล่งน้ำ
                         ๓. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร
โดยยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงพระราชทานให้ไว้เป็นหลักปฏิบัติด้วยความร่วมแรงร่วมใจสานพลังเป็นหนึ่งเดียวทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้พื้นที่ที่มีสภาพเกือบเป็นทะเลทรายกลับกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีป่าอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นำความชุ่มชื่นและปริมาณฝนมาสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งหมู่สัตว์ต่างๆที่เคยละทิ้งไปอยู่ที่อื่น ได้กลับคืนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุขอีกครั้ง อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของศูนย์รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งด้านการศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ เป็นการปูรากฐานของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง นับเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานไว้ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคนแนวทางพระราชดำริ  “หญ้าแฝก” พืชจากพระราชดำริ สู่ทฤษฎีการป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน   “ฝายแม้ว” ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วนโดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้างต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขียวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ   “คันดินกั้นน้ำ”  คือการสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียง (ลาดเท) ในบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขาทำการขุดพื้นที่บางส่วนให้เป็นแอ่งขยายให้กว้าง มีลักษณะคล้ายอ่างน้ำขนาดเล็กใช้ในการเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ สร้างความชุ่มชื้นและน้ำบางส่วนสามารถซึมลงสู่ใต้ดินช่วยรักษาระดับน้ำใต้ดินแล้วทำการปลูกป่าเสริมรอบๆ บริเวณแอ่งน้ำหรือเหนือคันดินกั้นน้ำ เพื่อสร้างป่าขึ้นมาใหม่   “คันดินเบนน้ำ” คือการขุดดินให้เป็นร่องหรือบางส่วนยกระดับคันดินให้สูงขึ้น สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อกับคันดินกั้นน้ำทั้งสองด้านเข้าหากัน เมื่อมีฝนตกและปริมาณมากน้ำสามารถไหลกระจายไปตามแนวคันดินเบนน้ำได้ทั้งสองด้านได้อย่างทั่วถึง ถ้าปริมาณน้ำเกินความจุของแอ่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำในแนวระดับจะมีท่อลอดต่อผันน้ำไปยังแนวคันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำด้านล่างที่เป็นแนวถัดไป สามารถควบคุมน้ำให้กระจายไปในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง คันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำสามารถใช้เป็นถนนสัญจรไปมาและยังใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย “ปลูกป่า ๓ อย่างเพื่อประโยชน์ ๔ อย่าง”  การปลูกป่า ๓ อย่าง แต่ให้ประโยชน์ ๔ อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง ๔ อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่อแล้ว ยังสามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย  “ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก”  ทิ้งป่านั้นไว้ 5 ปี ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านั้น สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง   “ป่าเปียก”  วิธีการแรก ทำระบบป้องกันไฟไหม้ป่า โดยใช้แนวคลองส่งน้ำและแนวพืชชนิดต่างๆ ปลูกตามแนวคลองนี้  วิธีที่สอง สร้างระบบการควบคุมไฟป่าด้วยแนวป้องกันไฟป่าเปียก โดยอาศัยน้ำชลประทานและน้ำฝน วิธีที่สาม  โดยการปลูกต้นไม้โตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นและแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟป่าจะเกิดขึ้นง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น  วิธีที่สี่โดยการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือที่เรียกว่า Check Dam ขึ้น เพื่อปิดกั้นร่องน้ำหรือลำธารขนาดเล็กเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วน โดยน้ำที่เก็บไว้จะซึมเข้าไปสะสมในดินทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายเข้าไปทั้งสองด้านกลายเป็น “ป่าเปียก”  วิธีที่ห้าโดยการสูบน้ำเข้าไปในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วปล่อยน้ำลงมาทีละน้อยให้ค่อยๆ ไหลซึมดินเพื่อช่วยเสริมการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในรูป “ภูเขาป่า” ให้กลายเป็น “ป่าเปียก” ซึ่งสามารถป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย  วิธีที่หกปลูกต้นกล้วยในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นช่องว่างของป่า ประมาณ 2 เมตร หากเกิดไฟไหม้ป่าก็จะปะทะต้นกล้วยซึ่งอุ้มน้ำไว้ได้มากกว่าพืชอื่น ทำให้ลดการสูญเสียน้ำลงไปได้มาก“ทฤษฎีใหม่” และ “เศรษฐกิจแบบพอเพียง”  พวกเราไปศึกษาในพื้นที่ตามแปลงสาธิตต่าง ๆ จะเห็นพระอัจฉริยภาพของพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง  ก่อนเที่ยงคณะขึ้นรถเดินทางไปยังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ซึ่งอยู่เลยเข้าไปตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา ในเนื้อที่ 340 ไร่ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์แห่งนี้ดำเนินการโดยมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ การทำฟาร์มผสมผสานที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น ที่เคยแห้งแล้งเนื่องจากการบุกรุกถางป่า และได้รับการพัฒนาฟื้นฟู ให้กลับคืนความสมบูรณ์ด้วยการ จัดหาแหล่งน้ำควบคู่กับการเพาะปลูกพืช และนำผลการทดลองที่ประสบผลสำเร็จ นำไปขยายผลสู่เกษตรกร เป็นแนวทางสู่เกษตรยั่งยืน  พวกเราทานอาหารกลางวันใต้ร่มไม้ เป็นข้าวสวยห่อใบบัว  มีปลาทูทอด ๑ ตัว ขาไก่ทอด ๑ ขา และน้ำพริกกะปิ ๑ ถุงเล็ก ๆ พร้อมผัก  อิ่มแล้วไปฟังการบรรยายของหัวหน้าศูนย์ฯ ก่อนลงพื้นที่ชม พิพิธภัณฑ์มีชีวิตจนเย็น  กลับโรงแรมและเดินทางไปทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารชายหาด อยู่จน ๒ ทุ่มจึงกลับที่พัก

                                                                                                              อ่านต่อตอนที่ ๒

เพลง : ตลอดเวลา
ศิลปืน : พงษ์สิทธิ์  คำภีร์

 

หมายเลขบันทึก: 235689เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2009 07:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท