ที่สุดแห่งทุกข์


ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

วันนี้ได้อ่านหนังสือ "สำหรับผู้เห็นปัญญา นิกายเซน" โดย รศ.ดร.บุรัญชัย จงกลนี มีตอนสั้นๆ ตอนหนึ่งเรื่อง "ความคิดปรุงแต่ง" ซึ่ง ดร.บุรัญชัย คัดมาจากหนังสือ "วิถีแห่งมหายาน" สำนักพิมพ์สุขภาพใจอีกทีหนึ่ง เป็นตอนที่อ่านแล้วตรงใจ เขียนไว้ว่า

จงเฝ้าดูตัวของเธอเอง

จากความนึกคิดอันเคยชินที่ว่า

"สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นเลว"

สิ่งที่เธอควรจะใส่ใจแต่เพียงประการเดียว

ก็คือการถามตัวเองอยู่เสมอว่า

"อะไรคือสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นของคู่ทั้งสอง"

พออ่านแล้ว ก็ทำให้นึกถึงเรื่องทิฏฐิ มานะที่เคยเขียนไว้ทันที รวมถึงเรื่อง โลกแห่งความคิดและความเห็น ด้วย  

การมีสติ รู้สึกตัว ไม่ปล่อยให้ความคิดนำพาไปสู่ทุกข์เป็นเรื่องสำคัญจริงๆ

ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้โปรดพาหิยทารุจีริยะผู้ซึ่งสำเร็จพระอรหันต์หลังจากที่ได้รับฟังธรรมจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ว่าไว้ในพาหิยสูตรว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น

เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง

เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ

เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

ดูกรพาหิยะ ในกาลใดแล

เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น

เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง

เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ

เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี

ในกาลใด ท่านไม่มี

ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง

นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

หมายเลขบันทึก: 234950เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2009 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

มาชม อ่านดูแล้วได้เห็นแง่มุมคิดดีนะ...

เพียงสักว่ารู้เท่านั้น.....สาธุ

วันเสาร์ที่ 17 นี้ถ้าพี่ว่าง ขอเชิญไปร่วมบุญด้วยกัน เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของหลวงปู่ครับ.....สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบพระคุณค่ะ "จะเฝ้าดูตัวเอง" ต่อไปค่ะ

ขอบคุณ คุณ umi และคุณ Sila Phu-Chaya ที่เข้ามาเยี่ยมชมนะคะ

สวัสดีน้องกบ (ข้ามสีทันดร)

ได้ข่าวทางอีเมล์แล้วค่ะ แต่ไปไม่ได้เช่นเดิม ติดภารกิจส่วนตัวในช่วงดังกล่าวพอดี อย่างไรพี่ฝากโมทนาบุญด้วยนะคะ ขอบคุณทีแจ้งข่าวเสมอค่ะ ^ ^

เจริญพร โยมอาจารย์กมลวัลย์

อาตมาว่าที่มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นนั้นก็เพราะ

ตัวทิฏฐิ มานะนี้แหละโยมอาจารย์

 

เจริญพร

สวัสดีค่ะ

ไม่พบกันนานมากนะคะ

ขอบคุณธรรมะ

ที่นำมาฝาก

อาจารย์สบาดีหรือเปล่าคะ

อากาศหนาวมากช่วงนี้

รักษาความอบอุ่นร่างกายด้วยค่ะ

ระลึกถึงเสมอ

บางกอก .. อากาศหนาวไหมครับ อาจารย์ :)

เข้าหลักธรรมไม่ได้ ขอเข้าอากาศแทนแล้วกันนะครับ

เชียงใหม่หนาวมาก

กราบนมัสการท่านพระปลัด

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเจ้าค่ะว่าทิฎฐิมานะเป็นเหตุหลักประการหนึ่งจริงๆ ทำให้คิดถึงขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นองค์ประกอบตามไปด้วยทันที

ส่วนตัวแล้วคิดว่าการเป็นปุถุชนคงหลีกเลี่ยงความคิดเปรียบเทียบได้ยากค่ะ เห็นอะไรๆ ก็เปรียบเทียบทันที แต่ที่สำคัญคือเปรียบเทียบแล้วไปยึดไว้ว่ามันเป็นจริงเป็นจัง มีกิเลสประกอบก็เลยไปกันใหญ่ค่ะ

ตัวเองจะชอบที่พระองค์ท่านโปรดท่านพาหิยะ รู้สึกว่าลึกซึ้งและเรียบง่าย เป็นจริงไปพร้อมๆ กัน และก็เป็นทางออกทางหนึ่งจริงๆ

สวัสดีค่ะคุณหมอตันติราพันธ์

ตัวเองหายไปนานจริงๆ แหละค่ะ เข้ามาเขียนแล้วก็ไม่ค่อยได้ติดตามนัก ^ ^

ช่วงนี้อากาศเย็นจริงๆ ค่ะ ได้เห็นความเป็นไปของสังขารดีค่ะ ร่างกายพออายุมากขึ้นก็เป็นไปตามสภาพค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาทักทายกันนะคะ

ธรรมรักษาค่ะ ^ ^

สวัสดีค่ะอ.วสวัตฯ

อากาศที่กรุงเทพเย็นพอควรค่ะ

แต่คงสู้ทางเหนือไม่ได้แน่นอน คงจะหนาวกว่ามาก ปีนี้รู้สึกว่าจะหนาวนานและเย็นกว่าปีก่อนๆ ต้องรักษาสุขภาพพอสมควร จะได้เข้าอากาศได้ค่ะ ^ ^

เวลาเดินไปเห็น ต้นไม้ ดอกไม้ ดารา สวยๆ ก็สักแต่ว่าเห็น อย่าไปถ่ายมันเลยรูป ต้นไม้ ดอกไม้ ดารา สวยๆ

เวลาเดินไปได้ยินเสียงเพลงเพราะ/ไม่เพราะ ก็สักแต่ว่าได้ยิน อย่าไปฟังมันเลยคอนเสิร์ต ฯลฯ อย่างนี้ใช่มั้ยครับ  

คงจะไม่ใช่แบบนั้นค่ะคุณกวิน

เห็นได้ ฟังได้ แต่ให้สักแต่ว่าเห็น ได้ยิน ทราบ ฯลฯ ค่ะ

อธิบายเพิ่มอีกสักเล็กๆ ได้มั้ยพี่ แบบว่ายังงงนิดหน่อยค่ะ อยากทราบความหมายที่ไม่ใช่แบบที่อ่านตีความไม่แตกแล้วสรุปเอง เดี๋ยวจะเข้าใจสับสนต่อไปเรื่อยๆ กลัวจะเข้าตำราฟังไม่ศัพท์จับไปกระเดียดค่ะพี่ ถือว่าเมตตาศิษย์น้องเด้อ ^ ^

  • เวลาที่รู้ตัว "ไม่ทุกข์" นี่ เป็นความสุขมากกว่าได้ทานอาหารรสชาติอร่อย อีกนะคะ
  • แวะมาอีกรอบค่ะ เข้ามาทีไรก็เตือนใจเราทุกที จริงไหมคะ

สวัสดีจ้าศิษย์น้อง

ตอนที่เขียนนั้นคิดถึงเรีืองประมาณว่า คนเรานั้นอดคิดเปรียบเทียบไม่ได้ (ทิฎฐิ) โดยมี subject เป็น เรา/เขา/อื่นๆ โดยเทียบว่าดีกว่า เสมอ หรือเลวกว่า   เวลาเห็น/ได้ยิน/ได้สัมผัสปุ๊บ มักจะมีความคิดเปรียบเทียบเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทันที

ประเด็นคือเวลาเวลาเห็น/ได้ยิน/ได้สัมผัสแล้ว ความคิดเกิืดขึ้นแล้ว ดันไปยึดความคิดนั้น เช่น ฉันไม่สวย เขารวย ฉันเก่ง ฯลฯ มาเป็นจริงเป็นจัง อันนี้เขาเรียกว่าเป็นอุปาทาน (มานะ)  พอยึดความเห็นเหล่านั้นไว้ก็จะเป็นทุกข์/สุขทันที ซึ่งในทางธรรมท่านว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแค่ความคิด มันไม่จริง มันไม่เที่ยง (นำมาสู่ทุกข์)   

ดังนั้นที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาสอนท่านพาหิยะไว้จึงสอดคล้องกันพอดี เพราะท่านว่า เห็นก็สักว่าเห็น อย่าไปยึดเอาไว้ สวยก็คือสวย งามก็คืองาม ชื่นชมได้ แต่อย่ายึดไว้ 

เวลาได้ยินก็คือได้ยิน อย่าไปยึดเอาไว้  จะเป็นเสียงเพลง เสียงชม หรือเสียงด่า ก็ไม่ต้องไปยึดสิ่งเหล่านั้นไว้ ทำนองนั้นจ๊ะ

ถ้าทำได้ตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนตลอด ก็จะทำให้อัตตาเราหายไป (ไม่มี) ตัวตนเราหายไป เป็นอนัตตานั่นเองจ๊ะ

ไม่รู้ว่าเขียนอธิบายแล้วจะทำให้ชัดเจนขึ้นบ้างหรือเปล่า แต่ก็ลองดูจ๊ะ ^ ^

ขอบคุณคุณSila Phu-Chaya นะคะ ที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมกันอีกครั้ง ^ ^

ฮ่อๆๆ เข้าใจแล้ว ทำได้แบบนั้นสบายใจแน่นอน ไอ้ที่คนเราเครียดกันมากมายทุกวันนี้ก็เพราะยึดติดนี่ล่ะ ไม่ยึดติดอะไรใจมันก็ไม่ทุกข์ เห็นเขามีเราก็ยินดีด้วย เห็นเขาสวยเราก็ว่าดูแล้วสบายตา แบบนี้นะสุขภาพจิตดีแน่นอน

เอ่อ ถ้าเลือกได้ ขอบรรลุธรรมแบบ อื่นดีกว่า ไม่อยากมีจุดจบแบบ ท่าน พาหิยทารุจีริยะ นะครับ ^ ^''

ดีจ้าศิษย์น้อง พอดีในบันทึกพี่เขียนสั้นไปหน่อย ตอนนั้นกำลังรีบออกไปประชุมพอดี เลยไม่ได้ขยายความมากนัก

เรื่องการยึดติดนี่เป็นปัญหามากๆ เพราะบางคนไม่รู้ตัวว่าตัวเองยึดติดมากๆ พี่ก็พยายามระวัง ต้องสำรวจตัวเองอยู่เสมอ กลัวเส้นผมบังภูเขา ^ ^ แต่รับรองได้อย่างที่น้องว่า ปฏิบัติได้ตามนี้มีสุขภาพจิตและสุขสงบแน่นอน

สวัสดีค่ะคุณกวิน

ถ้ามีโอกาสก็ควรเลือกบรรลุธรรม หรือปฏิบัติอย่างท่านพาหิยะที่ดั้นด้นมาแสวงหาพระพุทธองค์เพราะอยากจะบรรลุธรรม ยุคสมัยนี้พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้ว แต่เรายังมีพระธรรมเป็นแนวทางอยู่ ดังนั้นโอกาสก็มี ก็ควรปฏิบัติไปเรื่อยๆ แต่เรื่องการเลือกวิธีตายหรือเวลาที่จะตายคงเป็นไปไม่ได้ แล้วแต่บุญกรรมหรือเหตุปัจจัยที่สร้างไว้ค่ะ

ซินเจียยู่อี่  ซินนี้ฮวดไช้    ครับ

                   

อาจารย์ กมลวัลย์  ครับ ... เรียนเชิญอาจารย์แสดงความคิดเห็นที่บันทึก ชื่อหัวข้อวิจัยเหมือนกันเกือบทุกตัวอักษร แต่เปลี่ยน "ตัวแปร" บางตัว ก็เป็นเรื่องใหม่ คิดอย่างไร ?  หน่อยครับ

อยากได้รับความคิดเห็นจากอาจารย์ครับ :)

สวัสดีค่ะคุณสิทธิรักษ์

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ เช่นเดียวกันค่ะ ^ ^

เฮงๆ นะคะ

สวัสดีค่ะอ.วสวัตฯ

ไว้จะแวะไปนะคะอาจารย์ แวะเข้ามาตอนพักเที่ยงค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ

เข้ามาอ่านบันทึกรอบที่สองแล้วครับ...

ขอบพระคุณครับที่นำมาแบ่งปัน

 

อยาก (แต่เห็นนะครับ)...  ให้ท่านอาจารย์นำมาเเบ่งปันกัลยาณมิตร  เพื่อนนักเดินทางอยู่เรื่อยๆนะครับ

 

เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ...

  

เมื่อเห็น จักเป็นสักว่าเห็น

เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง

เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ

เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ดูกรพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล

...อ่านแล้วมันสะเทือนความรู้สึก  แบบอธิบายไม่ถูกครับ...

สวัสดีค่ะน้องหมอสุพัฒน์

บางทีก็อยากแลกเปลี่ยนอยู่บ้างเหมือนกัน แต่บางครั้งสถานการณ์ก็ไม่อำนวยค่ะ ^ ^ แต่ถ้ามีเรื่องเล่าน่าสนใจ จะนำเข้ามาเขียนในบันทึกแน่นอนค่ะ

คนที่เล่าเรื่องพระพาหิยะให้ฟังเป็นคนแรกคือ อ.ศิริศักดิ์ค่ะ เสร็จแ้ล้วก็ไปตามอ่านในพระไตรปิฎกออนไลน์อีกที ตรงที่น้องคัดมานั้นเป็นส่วนที่พี่อ่านแล้วรู้สึกอย่างบอกไม่ถูกเหมือนกันค่ะ ธรรมะเป็นเช่นนี้เสมอ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ปฏิบัติแล้วเห็นผลจริงค่ะ

ปรากฎการณ์ใด ความรู้สึกใดที่เกิดขึ้นในใจ ให้มองตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องมีข้อสมมุติฐานคืออย่านำเอาอคติหรือความรู้ลัทธิใดๆเข้าไปทรอดแทรกและตีความ

แล้วเราจะมองเห็นความเปลี่ยนแปรที่เกิดขึ้นอย่างนิ่มนวลขอรับอาจารย์

เมื่อไม่อยากทุกข์ลองอย่าสุขเกินไปเวลาได้สิขอรับอาจารย์

หากเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ทุกขณะที่หายใจเข้าออก..แล้วจะรู้ว่าที่ว่าสุดทุกข์คืออะไรขอรับ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท