เปิดกรอบแนวคิดพัฒนาคน 'SCG' ด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ


เปิดกรอบแนวคิดพัฒนาคน 'SCG' ด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ (อ้างจาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์)
เปิดกรอบแนวคิดพัฒนาคน 'SCG' ด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 8 มกราคม 2552 00:25 น.
     ๐ กรณีศึกษาที่ทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาคนด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ
       
       ๐ ผ่ากรอบความคิด "SCG" ประยุกต์ทฤษฎี "Constructionism" ผนึกหลักการสร้างวินัยของ LO และวัฒนธรรมองค์กร 5 กล้า
       
       ๐ กระบวนการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตอย่างกลมกลืนกับองค์กร และต่อสู้กับการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์
       
       ๐ เชื่อมโยงเครื่องมือสร้างแรงกระตุ้นจากภายในส่งทอดสู่การทำงานอย่างบรรลุผล

       
       ขณะที่ความต้องการของลูกค้าปรับเปลี่ยนไปทุกวัน และสิ่งสำคัญในปัจจุบันคือต้องการของแปลกใหม่ ทำให้ต้องมี "นวัตกรรม" (Innovation) ซึ่งจะได้มาต้องมาจาก "คน" ดังนั้น ความจำเป็นในการสร้าง "นวัตกร" (Innovator) จึงเกิดขึ้นในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของเครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG ซึ่งมองว่าปัญหาความไม่สะดวกของลูกค้า ต้องได้รับการตอบสนอง โดยทิศทางคือต้องตอบสนองความต้องการในเรื่องบ้านของลูกค้าแบบมาที่เดียวแล้วได้ครบทุกอย่าง หรือ "The Home Solution" ซึ่งหมายถึง "คน"ที่อยู่ในองค์กรต้องเป็นผู้ตอบสนองนั่นเอง
       
       จากงานเสวนาเรื่อง “การพัฒนาคนด้วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ร่วมกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนเดช เพ็ญวารี กระบวนกร (Co-Facilitator) โครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบบูรณาการ บริษัท เซรามิกอุตสาหกรรมไทย จำกัด บรรยายว่า การพัฒนาบุคลากรของ SCG ให้เป็นนวัตกร เริ่มมาจากการมีวัฒนธรรมองค์กร โดยสร้างให้คนมีพฤติกรรม 5 กล้า หรือInno People ซึ่งประกอบด้วย 1.Open Minded 2.Thinking out of the Box 3.Assertive 4.Risk Taking และ5.Eager to Learn
       
       โดยจะต้องมีการสร้างองค์กรเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) สำหรับ SCG ได้นำทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionsm) ของ Prof.Seymour Papert มาใช้ด้วยการปรับประยุกต์เพื่อการพัฒนาคนในองค์กร โดยกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ว่า "ต้องเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยรู้เรียนเป็นศูนย์กลางและเรียนรู้จากการปฏิบัติในองค์กร เพื่อสนับสนุนการเป็นองค์กรนวัตกรรม"
       
       หลักการของทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา คือ ทำอย่างไรให้คนได้คิด แล้วลงมือทำ แต่สิ่งสำคัญต้องมีการทบทวนอยู่ในกระบวนการนี้ด้วย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่แต่ละคนทำอะไรแล้วต้องทำให้คนนั้นหันมามองสะท้อนตนเองหรือตกผลึกความคิดให้ได้
       
       "ทฤษฎีนี้ไม่สามารถลอกแบบกันได้ ต้องนำแกนมาศึกษาวิเคราะห์ แล้วต้องเข้าใจในบริบทหรือวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร เพื่อสร้างกรอบความคิดขึ้นมา สำหรับเราพบว่าหลักของเราเพื่อให้คนเกิดการเรียนรู้เพื่อจะเป็นนวัตกร เรามี สติและสมาธิ เป็นแกนกลาง และใช้วินัย 5 ประการตามหลักการ Learning organization กับ Inno People เป็นตัวกำกับ"
       
       ๐ ส่องกระบวนการเพาะเมล็ดพันธุ์
       
       สำหรับ “โครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้แบบบูรณาการ” ที่ทำขึ้นเพื่อพัฒนาคนตามกรอบความคิดดังกล่าว เริ่มด้วยการตัดเลือกคนที่มีศักยภาพซึ่งเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์มาเข้าโครงการในช่วง 6 เดือน และเพราะพนักงานส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานเป็นอุตสาหกรรม ลักษณะเป็นการทำงานตามคำสั่ง ดังนั้น ใน 2 เดือนแรกจึงมุ่งไปที่การให้คิดเอง ทำเอง และมีการทบทวน ด้วยการใส่ module เป็นแคมป์ต่างๆ ส่วน 4 เดือนที่เหลือใช้ Project Based Learning เข้ามาพัฒนาพนักงาน โดยใช้งานที่ทำอยู่แล้วบูรณาการสิ่งที่เรียนรู้เข้าไป แต่ที่สำคัญต้องรู้จักนำเรื่องของจิตใจ คือเรื่องพุทธศาสนาเข้ามาร่วมด้วย
       
       โดยมีบุคลากรที่เรียกว่า facilitator หรือครูพันธุ์ใหม่ ที่พร้อมจะเป็น learner ด้วย ซึ่งบทบาทสำคัญคือการเป็นกระจกที่ช่วยสะท้อนให้ผู้เรียนเห็นการพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์การพัฒนาคนขององค์กรต่างๆ ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร โดยต้องมีการหาบุคลากรหลัก หรือ Core Person เพื่อเข้าไปพัฒนาก่อน ในส่วนของบริษัทฯ เป็นระดับซุปเปอร์ไวเซอร์ที่เข้ามาในโครงการ
       
       ยกตัวอย่าง เครื่องมือการเรียนรู้ (Learning Tool) ที่นำมาใช้เป็นเรื่องของ “การเจริญสติ” เพราะต้องการให้คนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เชื่อมโยง วิธีคิด มุมมองต่างๆ ในเรื่องของการมีสติ เพื่อให้กล้าเปิดใจรับฟัง ซึ่งต้องมีการวิเคราะห์คนของแต่ละองค์กร เพราะแม้ว่าจะเป็นการเจริญสติเหมือนกันแต่มีหลายวิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งเหมาะกับคนแตกต่างกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการต่อต้าน เช่น เมื่อพนักงานส่วนใหญ่เป็นช่าง จึงเริ่มด้วยการพูดถึงหลักการทำงานของร่างกายและจิตใจในเชิงวิทยาศาสตร์ ค่อยๆ ให้ทำสมาธิจากการไม่ต้องนั่งทำสมาธิ จนถึงการนั่งสมาธิแบบง่ายๆ หรือเครื่องมือที่เรียกว่า Happy Life & Work ให้เชื่อมโยงชีวิตทั้งเรื่องการงานและครอบครัว ด้วยการใช้ Mind Map และ Dialogue ซึ่งทำให้เกิดการตั้งใจฟังอย่างมีสติ มีการไตร่ตรองอย่างลุ่มลึกกับกระบวนการคิดของตนเอง
       
       จากนั้น มีอีกแคมป์ที่เรียกว่า "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" ด้วยการไปอยู่กับชาวบ้านซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ คือชุมชนบ้าน 3 ขา จังหวัดลำปาง ที่มีการใช้ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา โดยไม่รู้ตัว เพราะจะเห็นว่าชาวบ้านมีวิธีคิด ลงมือทำลองผิดลองถูก แล้วทบทวน รวมทั้ง ใช้เวทีชาวบ้านในการพูดคุยกัน ซึ่งหมายความว่าเมื่อเข้าใจแก่นของทฤษฎีนี้จะสามารถนำไปใช้พัฒนาคนได้ทุกกลุ่ม
       
       ส่วนเครื่องมือหลักที่นำมาจาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) มี 2 ตัว คือ 1. Micro World ซึ่งเป็นการฝึกให้ทำงานผ่านการเขียนโปรแกรมที่ต้องต่อสู้กับความรู้สึกของตนเอง ทำให้เห็นภาวะจิต เช่น เบื่อหน่าย ซึ่งตรงกับการเจริญสติ ผลสัมฤทธ์คือการทำให้จินตนาการเกิดเป็นภาพขึ้นมา กับ 2. LEGO ซึ่งแตกต่างกับ Micreo World ตรงที่ทำแล้วสามารถเห็นชิ้นงานออกมา แต่ในระหว่างประกอบจะทำให้เห็นว่าการเรียนรู้เป็นทีมและการแก้ไขปัญหามีประโยชน์อย่างไร
       
       ๐ พัฒนาจากแรงบันดาลใจสู่งาน
       
       จากนั้น เข้าสู่ Project Based Learning มี 2 โครงการต่อเนื่องกัน คือ1. Cricket Workshop เป็นเครื่องมือให้จินตนาการแล้วสร้างเป็นรูปธรรมจากการหาเศษวัสดุมาประกอบเป็นโมเดลจำลองในการสร้างชิ้นงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่เขาทำอยู่หน้างาน ซึ่งนอกจากสร้างแล้ว ยังได้เรียนรู้หลักอื่นๆ เช่น การดูงบประมาณ ความเป็นไปได้ ความคุ้มทุน เป็นการบูรณาการการเรียนรู้ โดยจำลองโครงการด้วยเวลาสั้นๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อซ้อมมือก่อนจะทำโครงการที่ใหญ่กว่า
       
       และ2.ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนกว่า ต้องกลับไปดูงานในหน่วยงานว่าต้องการปรับปรุงส่วนไหนแล้วใช้เป็นตัวตั้ง ตามด้วยการบูรณาการสิ่งที่ต้องเรียนรู้ โดยต้องเชื่อมโยงทฤษฎีหรือหลักการเข้าไปในแต่ละการเรียนรู้ให้ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้การสร้างทีมจากผู้ร่วมงานจริงๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม การดึงผู้บังคับบัญชามาร่วม การใช้ทักษะการพูด โดยผู้เรียนกับ facilitator จะช่วยกันให้เกิดการเรียนรู้ ฯลฯ
       
       "ตลอดกระบวนการ 6 เดือนในแคมป์ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ facilitator นำมาใช้ เช่น Ground Rule ทำให้รู้วินัยกลุ่ม Ckeck In เป็นการให้เกิดการคุยกันในตอนเช้าเพื่อให้ผ่อนคลายก่อนจะปรึกษางานกัน Show&Share เป็นเวทีให้แสดงและแลกเปลี่ยนสิ่งที่เรียนรู้มา แต่ความยากคือการปรับใช้เครื่องมือต่างๆ ให้เข้ากับผู้เรียน ซึ่งแต่ละองค์กรต้องเรียนรู้เหมือนกัน"
       
       นอกจากนี้ ยังมีการสร้างหลักเกณฑ์ในการประเมินเพื่อให้มี Self Assesement เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ซึ่งเป็นการประเมินแบบ 360 องศา โดยไม่กระทบกับ Rewards ส่วนการทำ Field Trip คือการลงภาคสนามให้เห็นของจริง และ Movie Learning สามารถเรียนรู้ได้หมด เช่น เรื่องภาวะผู้นำ การวางแผน ฯลฯ Book Briefing การแบ่งกันอ่านหนังสือแล้วมาเล่าสู่กันฟัง และStory Telling ฝึกเล่าเรื่อง โดย facilitator ต้องมีทีมงานที่ช่วยกันคิด
       
       อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีคนที่ผ่านโครงการแล้ว 56 คน มีการประเมินผลที่เรียกว่า I -K-R คือ Inno People Assessment / Knowledge Assesment และ Learning Assessment เช่น ในแง่ของ Inno People Assessment มีการแยก learning skill ว่าการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง มีแบบฟอร์มให้ประเมินตัวเอง เพื่อให้เห็นตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
       
       "ผมสังเกตุว่าเมื่อเราเอาเครื่องมืออะไรไปใช้จะเริ่มจากตัวองค์อยากได้ ซึ่งหลายครั้งทำให้พนักงานในหลายองค์กรรู้สึกไม่อยากทำ แต่การเรียนรู้ของเราเกิดจากการได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิด contribution ออกมาเอง ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของ SCG มองเหมือนๆ กันว่า ถ้าคนมีความสุข ครอบครัวมีความสุข จะเกิด productity ซึ่งคนดีเป็นเรื่องของการมีแรงบันดาลใจภายใน เราจึงใช้โครงการนี้เหมือนการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ แล้วส่งกลับเข้าไปในการทำงาน โดยมีการทำสร้างการสื่อภาษาเดียวกันให้กับระดับหัวหน้ามาเรียนรู้ Module หลักๆ แบบใช้เวลาสั้น ทำให้เป็น Internal Facilitator ได้ เพราะถ้าไม่ทำภาพของ Learning Environment เพื่อให้เกิดการบูรณาการทั้งองค์กร" ธนเดช
       
       ผลสุดท้าย เมล็ดพันธุ์ใหม่เหล่านี้จะประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เรียนรู้มาได้เอง หลังจากที่ผ่านการพัฒนาการเรียนรู้อย่างบูรณาการมาแล้ว
คำสำคัญ (Tags): #constructionism#scg
หมายเลขบันทึก: 234800เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2009 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเก็บเล็กผสมน้อยอีกไม่นานก็เพิ่มพูน สำหรับความรู้ควรเก็บเล็ก ๆ น้อย ๆ และเก็บให้นาน ๆ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท