ใบความรู้เรื่องอักขรานุกรมชีวประวัติ


วิชาการใช้ห้องสมุด ท 40216

อักขรานุกรมชีวประวัติ(Biographical Dictionaries)

               อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical dictionaries) คือหนังสืออ้างอิงทางชีวประวัติ ซึ่งรวบรวมชีวประวัติของบุคคลหลายคนไว้ในเล่มเดียวกัน จัดเรียงตามลำดับอักษรชื่อเจ้าของประวัติเพื่อสะดวกแก่การค้นหาและการใช้

        อักขรานุกรมชีวประวัติ  คือ หนังสืออ้างอิงที่รวบรวมชีวประวัติบุคคลสำคัญโดยเรียงตามลำดับอักษรชื่อเจ้าของประวัติ แต่ละรายการจะให้รายละเอียดเกี่ยวกับ  วัน  เดือน ปีเกิดและปีตาย  (ถ้าตายแล้ว)  ภูมิลำเนา การศึกษา  ตำแหน่งหน้าที่การงานและผลงานที่สำคัญ เป็นต้น

        ความสำคัญของอักขรานุกรมชีวประวัติ

                     อักขรานุกรมชีวประวัติ เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีความสำคัญดังต่อไปนี้คือ

                     1) เป็นการบันทึกเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียงไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาแบบอย่าง   ที่ดี

                     2) การอ่านชีวประวัติของบุคคลสำคัญ ช่วยให้เกิดความจรรโลงใจในการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับส่วนรวม

                     3) เป็นบันทึกเรื่องราวของบุคคลที่มีเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูลและของประเทศ

                     4) เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบุคคลที่ได้กระทำคุณประโยชน์ต่อสังคม

                     5) เป็นบทเรียนของชีวิตที่คนรุ่นหลังสามารถศึกษาทั้งในด้านความสำเร็จและ            ความล้มเหลวจากเจ้าของประวัติได้

                     6) เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

                     7) เป็นการถ่ายทอดอุดมการณ์จากบุคคลรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหนึ่ง อันจะนำไปสู่การพัฒนาทั้งทางด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

                     8) ช่วยให้เกิดการสืบทอดอารยธรรมตั้งแต่อดีตมาจนกระทั่งในปัจจุบัน และต่อไปนอนาคต

               ประโยชน์ของอักขรานุกรมชีวประวัติ

                     อักขรานุกรมชีวประวัติ เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีประโยชน์หลายประการในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวบุคคลสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องนี้  วิลเลียม  เอ  แคทส์ (William  A.  Katz) ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์เบื้องต้นของหนังสืออ้างอิงประเภทนี้ไว้ 4  ประการ  คือ

1)     เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของบุคคล

      2) เป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสะกดชื่อและตำแหน่ง

                     3) เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนายจ้างในการพิจารณาจ้างบุคคลเข้าทำงาน หรือการเชิญวิทยากรมาบรรยายในโอกาสต่าง ๆ

                     4) เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับช่วยนักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดีในการหาข้อมูลย้อนหลังในอดีต

         วิธีใช้อักขรานุกรมชีวประวัติ

                     1) พิจารณาดูว่าชีวประวัติที่ต้องการเป็นบุคคลประเภทใด  ดังนี้

                          1.1)  บุคคลทั่วไป  บุคคลเฉพาะกลุ่ม  เช่น เชื้อชาติ  ศาสนา  อาชีพเดียวกัน  เป็นต้น

                          1.2)  บุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่

                          1.3)  บุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว

                     2) เลือกใช้อักขรานุกรมชีวประวัติให้ถูกต้องตรงกับเรื่องที่ต้องการค้น

                     3) ก่อนใช้อักขรานุกรมชีวประวัติควรอ่านวิธีใช้ก่อน

อักขรานุกรมชีวประวัติจำแนกได้ 3  ประเภท  คือ

               1. อักขรานุกรมชีวประวัติบุคคลทั่วไป เป็นอักขรานุกรมชีวประวัติบุคคลสำคัญโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  หรืออาชีพ จะให้เรื่องราวโดยย่อของบุคคลที่สำคัญเป็นจำนวนมาก

               2. อักขรานุกรมชีวิประวัติบุคคลชาติใดชาติหนึ่ง หรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง

               3. อักขรานุกรมชีวประวัติบุคคลอาชีพเดียวกัน จะรวบรวมประวัติบุคคลำคัญในสาขาวิชาชีพเดียวกัน หรือบุคคลสำคัญในสาขาวิชาเดียวกัน

 

อักขรานุกรมชีวประวัติที่ควรรู้จัก

               1. ใครเป็นใครในประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

               2. ประวัติครู โดยคุรุสภา

               3. ประวัตินักเขียนไทย โดย  บุหลง  ศรีกนก

               4. Who’s  who in  Thailand

 

สรุป

                 อักขรานุกรมชีวประวัติ เป็นหนังสืออ้างอิงสำหรับค้นหาความรู้โดยสังเขป เกี่ยวกับชีวประวัติบุคคลสำคัญ แต่ละเล่มจะรวมชีวประวัติบุคคลไว้หลายคน ส่วนมากจะจัดลำดับตามอักษรชื่อของเจ้าของประวัติ ยกเว้นบางเล่มที่จัดลำดับอย่างอื่นก็จะมีแจ้งไว้ในคำนำ แต่ละชีวประวัติจะมีข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับปีเกิด (และปีตาย)  คุณวุฒิ  ตำแหน่ง  หน้าทีและผลงาน เป็นต้น

แหล่งที่มา

 

นันทา วิทวุฒิศักดิ์. สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :ดี.ดี.บุ๊คสโตร์, 2536.

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. การใช้บริการห้องสมุดและการเขียนรายงานการค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 8.

               กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช, 2535. 

สุนิตย์ เย็นสบาย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎ

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2543.

______ สารนิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า.  กรุงเทพฯ :ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะวิชา

               มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2539.

 

หมายเลขบันทึก: 233862เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีใหม่ ขอให้มีความสุขมาก ขอให้สมหวังทุกสิ่งนะครับ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท