ใบความรู้เรื่องนามานุกรม


วิชาการใช้ห้องสมุด ท 40216

นามานุกรม(Directories)

               นามานุกรมเป็นหนังสืออ้างอิงประเภทให้คำตอบทันที (Ready Reference) ที่ผู้ใช้ห้องสมุดต้องการใช้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องสมุดประชาชน  ทั้งนี้ก็เพราะว่า ในชีวิตประจำวันนั้นบุคคลในทุกวงการมีการติดต่อสื่อสารกันบ่อยๆ  ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีคู่มือสำหรับใช้ค้นหาชื่อ  ตำแหน่ง  สถานที่อยู่  เขตไปรษณีย์  เบอร์โทรศัพท์  ตลอดจนรายการจำเป็นอื่นๆ ของบุคคล หน่วยงาน ห้างร้าน บริษัท และองค์การต่างๆ ู่มือที่มีประสิทธิภาพสำหรับค้นข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ก็คือ นามานุกรม

 ความหมายของนามานุกรม

               นามานุกรม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  “ทำเนียบนาม” แปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า  “Directory” ซึ่งมีความหมายตามที่ปรากฏใน  ALA  Glossary  of  Library  and  Information  Science  ดังนี้

               นามานุกรม  คือ รายการเกี่ยวกับบุคคลหรือหน่วยงานที่นำมาจัดเรียงลำดับอย่างเป็นระเบียบ โดยทั่วไปจะเรียงตามลำดับอักษร  แต่ละรายการจะให้ชื่อ  ที่อยู่ ตำแหน่งงานของบุคคลและให้ชื่อ ที่อยู่ของหน่วยงานต่างๆ

               นามานุกรม  คือ หนังสือที่ให้รายชื่อบุคคล  รายชื่อขององค์การ  ห้างร้าน หรือรายชื่อของสถาบันต่างๆ โดยมีการจัดเรียงรายชื่ออย่างมีระเบียบ  อาจจัดตามลำดับอักษร จัดตามลำดับชั้นหน้าที่การงาน จัดตามประเภทของกิจกรรมหรือจัดแบบอื่น ๆ

               นามานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมรายชื่อบุคคลหรือรายชื่อองค์การ มีการจัดระบบเพื่อความสะดวกในการค้นหา โดยทั่วไปมักจะเรียงตามลำดับอักษรหรือชั้น  ให้ชื่อบุคคล  ชื่อองค์กร  ที่อยู่  สถานที่ทำงาน  หน้าที่  หรือรายละเอียดอื่น ๆ  ที่จำเป็น

 วัตถุประสงค์ของนามานุกรม

               วัตถุประสงค์โดยทั่วไปของนามานุกรมนั้น  วิลเลียม  เอ  แคทส์  ได้เสนอแนะไว้ดังนี้

               1.เพื่อใช้ค้นหาที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลและหน่วยงาน

               2. เพื่อใช้หาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับชื่อเต็มของบุคคล  ห้างร้าน  และองค์การ

               3. เพื่อใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของผลิตภัณฑ์  อุตสาหกรรม  และบริการ

               4. เพื่อใช้ค้นหาชื่อประธานบริษัท  หัวหน้าสถานศึกษา ผู้รับผิดชอบของหน่วยงานและอื่นๆ

               นอกจากวัตถุประสงค์ทั่วไปทั้ง  4  ประการดังกล่าวแล้วในบางโอกาสเราสามารถใช้นามานุกรมเพื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติในปัจจุบัน ตำแหน่งผู้บริหารปัจจุบันของบริษัทและหน่วยงาน  ตัวอย่างเช่น  ชื่อประธานบริษัท บางครั้งยังสามารถใช้ค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติและข้อมูลสถิติของสถาบัน บริษัท ห้างร้าน พรรคการเมือง ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติการจัดตั้ง  และจำนวนสมาชิก    เป็นต้น

 ประโยชน์ของนามานุกรม

               นามานุกรม เป็นหนังสืออ้างอิงที่มีประโยชน์ในฐานะเป็นคู่มือค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ

               1. ชื่อบุคคลและสถานที่อยู่

               2. ชีวประวัติที่ทันสมัย  เช่น ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน

               3. ชื่อหน่วยงาน องค์การต่างๆ และสถานที่ตั้ง

               4. เรื่องราวเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน  องค์การนั้น ๆ  เช่น  ปีที่จัดตั้ง  จำนวนสมาชิก จำนวนบุคลากรของหน่วยงาน วัตถุประสงค์และหน้าที่ กิจกรรมและสถิติในด้านต่างๆ

               5. ใช้ประโยชน์ในการคัดเลือกและรวบรวมรายชื่อห้างร้าน  บริษัท  หน่วยงาน  สมาคม  ฯลฯ  พร้อมทั้งสถานที่ตั้ง เพื่อการติดต่องานธุรกิจการค้าหรือการติดต่อเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

               จะเห็นได้ว่า หนังสือนามานุกรมเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันของบุคคลทุกคน และของหน่วยงานทุกหน่วยงาน ทั้งที่เป็นของรัฐบาลและของเอกชน

 ประเภทของนามานุกรม

               การแบ่งประเภทของนามานุกรมนั้น  พิมลวรรณ  ประเสริฐวงษ์  เรพเพอร์  ได้แบ่งไว้เป็น  5  ประเภท  คือ

               1. นามานุกรมท้องถิ่น(Local Directories)

               2. นามานุกรมสถาบัน (Institutional Directories)

               3. นามานุกรมรัฐบาล (Government Directories)

               4. นามานุกรมบุคคลในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง (Professional Directories)

               5. นามานุกรมด้านธุรกิจการค้า (Trade and Business Directories)

               การนำเสนอรายละเอียดในที่นี้จะได้กล่าวถึงนามานุกรมทั้ง  5  ประเภท  คือ

               1.นามานุกรมท้องถิ่น เป็นนามานุกรมที่จัดทำขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ  เช่น  สมุดโทรศัพท์ของเมืองนั้นๆ ของจังหวัด ของรัฐ หรือของภาค ทำเนียบนามโรงเรียนในท้องถิ่น  ในจังหวัดเขตการศึกษา    เป็นต้น

               2.นามานุกรมสถาบัน เป็นนามานุกรมที่รวบรวมรายชื่อของสถาบัน  สมาคม  มูลนิธิ  โรงพยาบาล  พิพิธภัณฑ์  ห้องสมุด  และองค์การ  เช่น ทำเนียบวัดแห่งประเทศไทย  รวม  76  จังหวัด

               3.นามานุกรมรัฐบาล เป็นนามานุกรมที่รวบรวมรายชื่อที่อยู่ของหน่วยงานของรัฐบาล เช่น ทำเนียบข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ

               4.นามานุกรมบุคคลในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง เป็นนามานุกรมที่รวบรวมรายชื่อบุคคลในอาชีพต่างๆ นามานุกรมแต่ละเล่มมักรวบรวมรายชื่อบุคคลในอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น ทำเนียบสมาชิกสมาคมแพทย์ ทำเนียบนามนักวิจัยการศึกษา

               5.นามานุกรมด้านธุรกิจการค้า เป็นนามานุกรมที่รวบรวมรายชื่อบริษัท  โรงงานอุตสาหกรรม  ธุรกิจการค้า จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อและประสานงาน  เช่น ทำเนียบโรงงานอุตสาหกรรม

               นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถค้นหาชื่อและที่อยู่ของบุคคลและหน่วยงานได้จากหนังสืออ้างอิงประเภทอื่นๆ ที่มีภาคหนึ่งเป็นนามานุกรม  คือ

               หนังสือรายปี เช่น  The World Almanac, Whitaker’s Almanac มีนามานุกรมของสถาบัน สมาคม หน่วยงานต่างๆ และประวัติบุคคลสำคัญโดยย่อ

               สารานุกรม ให้เรื่องราวของ สถาบัน สมาคม และบุคคลสำคัญ

               อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ หนังสือนำเที่ยว หนังสือแผนที่ ล้วนให้ความรู้เกี่ยวกับที่ตั้งและความสำคัญของชื่อเมือง  สถาบัน  พิพิธภัณฑ์  บริษัท  ห้างร้าน  โรงงานอุตสาหกรรม  เป็นต้น

               สิ่งพิมพ์รัฐบาล จัดพิมพ์โดยกระทรวง ทบวง  กรม  กอง ล้วนให้ความรู้เกี่ยวกับหน่วยงานในสังกัดและชื่อของเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานแต่ละแห่ง ใช้ค้นคว้าอ้างอิงได้ดี

 นามานุกรมที่ควรรู้จัก

  โทรศัทพ์แห่งประเทศไทย, องค์การ. สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์.  กรุงเทพฯ :ชินวัตรไดเร็คทอรีส์ จำกัด,

               2535.

               เป็นหนังสือนามานุกรมที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุด  ให้รายชื่อบุคคล  หน่วยงาน/องค์การ ทั้งของรัฐและรัฐวิสาหกิจ  สมาคม  มูลนิธิ และบริษัทห้างร้านที่ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

               หนังสือนามานุกรมชุดนี้แบ่งออกเป็น  6  เล่ม  แยกตามเขต / ภาค  ต่างๆ  ของประเทศไทย  ได้แก่

               1) สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เขตโทรศัพท์นครหลวง(กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ)

               2) สมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองเขตโทรศัพท์นครหลวง (Yellow Pages)

               3) สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เขตภาคกลาง

               4) สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เขตภาคเหนือ

               5) สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เขตภาคใต้

               6) สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สรุป

               นามานุกรม ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ  ชื่อบุคคล  หน่วยงาน  องค์กร  ฯลฯ  พร้อมทั้งสถานที่อยู่  จัดเรียงรายการต่างๆ ตามลำดับอักษรหรือตามหมวดหมู่   เพื่อช่วยในการค้นหาให้สะดวกยิ่งขึ้น

 

  แหล่งที่มา

 

นันทา วิทวุฒิศักดิ์. สารนิเทศและการศึกษาค้นคว้า.  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ :ดี.ดี.บุ๊คสโตร์, 2536.

พรรณพิมล กุลบุญ และชลทิชา สุทธินิรันดร์กุล. นามานุกรมห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศ.  กรุงเทพฯ :

               คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2534.

สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์. การใช้บริการห้องสมุดและการเขียนรายงานการค้นคว้า. พิมพ์ครั้งที่ 8.

               กรุงเทพฯ :ไทยวัฒนาพานิช, 2535. 

สุนิตย์ เย็นสบาย. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎ

บ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2543.

______นิเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า. กรุงเทพฯ :ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์  คณะวิชา

               มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,2539.

 

 

หมายเลขบันทึก: 233861เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2009 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2018 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆค่ะ

รักนะ P วรรณ จุ๊บ....จุ๊บ....

ความรู้มากมายได้สาระครับ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท