การสอนแบบโครงการ


การสอนแบบโครงการ

การสอนตามหลักการสอนแบบโครงการ

 

                การสอนแบบโครงการ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึก ศึกษาลงไปในรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ จนพบคำตอบที่ต้องการ  เรื่องที่นักเรียนศึกษานั้นเป็นเรื่องที่นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเองตามความสนใจของตน ประเด็นที่ศึกษาก็เป็นประเด็นที่นักเรียนตั้งคำถามขึ้นมาเอง การศึกษาจะเป็นการศึกษาในลักษณะของการให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่ศึกษานั้น ในการศึกษาจะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานอย่างเพียงพอที่จะให้นักเรียนได้ค้นพบคำตอบ และคลี่คลายความสงสัยใคร่รู้ เมื่อนักเรียนค้นพบคำตอบที่เป็นความรู้ที่ต้องการแล้วจะนำความรู้นั้นมานำเสนอในรูปของงานที่นักเรียนเลือกเองอาจจะเป็นงานเขียน งานวาดภาพระบายสี การสร้างแบบจำลอง การเล่นสมมุติ ละคร การทำหนังสือ หรือรูปแบบอื่นๆเพื่อนำเสนอต่อเพื่อนๆและคนอื่นๆ อันจะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของกระบวนการศึกษาของตน

 

 

 

กระบวนการการเรียนการสอน

                การสอนแบบโครงการเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก แต่ก็มีขั้นตอนในการสอนที่ชัดเจน ตลอดโครงการหนึ่งใดๆที่นักเรียนเลือกทำจะใช้เวลาในการทำโครงการ วันละ 50-70 นาที       ตลอดโครงการบางทีอาจจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ หรือ 3 สัปดาห์ หรือ 4 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน ขึ้นอยู่กับหัวข้อโครงการที่นักเรียนเลือกและขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่นักเรียนเลือกปฏิบัติเพื่อค้นหาคำตอบและนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนั้น ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามรูปแบบการสอนแบบโครงการมี 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

 

 

 

การวางแผนโครงการ

เป็นการเลือกหัวข้อโครงการโดยครูและนักเรียนร่วมกัน หัวข้อโครงการมาจากความสนใจของนักเรียนเป็นหลัก แต่ครูก็ต้องมีส่วนในการแนะนำการเลือกหัวข้อโครงการโดยครูพิจารณาเกณฑ์ในการเลือกหัวข้อโครงการ ดังนี้

1.   เป็นเรื่องที่มีอยู่จริงและเป็นไปได้ มีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

2.   เป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจ

3.   นักเรียนพอมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนั้นอยู่บ้าง

4.   เป็นเรื่องที่นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

5.   มีแหล่งทรัพยากรในการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น

6.   เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมมือกันในการทำโครงการ

7.   เป็นเรื่องที่เปิดโอกาสนักเรียนได้สร้างสิ่งต่างๆและมีโอกาสเล่นสมมุติ

8.   นักเรียนได้พัฒนาการครบถ้วนทุกด้านตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

9.   เป็นเรื่องที่นักเรียนสามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมอื่นๆ

10. เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ

11.เป็นเรื่องที่ไม่กว้างเกินไป จนทำให้ไม่สามารถศึกษาลึกลงไปใน

รายละเอียดได้

 

ขั้นที่ 1เริ่มต้นโครงการ

ขั้นนี้เป็นการทบทวนความรู้เดิมของนักเรียนที่มีเกี่ยวกับหัวข้อของโครงการแล้วแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้นั้นแก่นักเรียนคนอื่นๆ และเป็นการสร้างความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับหัวข้อโครงการในรายละเอียดลึกลงไป

ครูอภิปรายร่วมกับนักเรียนเกี่ยวกับหัวข้อโครงการและช่วยกระตุ้นให้นักเรียนนำเสนอความรู้และประ สบการณ์ เดิมของตน

นักเรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เดิมเกี่ยวกับโครงการกับเพื่อนๆโดยการอภิปราย และนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ เช่นการวาดภาพระบายสี การทำงานศิลปะอื่นๆ การเขียน การทำแผนภูมิ

ครูตรวจสอบและบันทึกความรู้ประสบการณ์ที่นักเรียนมีอยู่เดิม

ครูช่วยนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อของโครงการเพื่อทำการศึกษาอย่างลึกและละเอียดต่อไป

ครูจดบันทึกคำพูด คำถามของนักเรียนแล้วเลือกนำมาจัดแสดงในห้องเรียนเพื่อช่วยให้นักเรียนได้ตรวจสอบประเด็นคำถามที่นักเรียนต้องการศึกษา

 

 

 

 

ขั้นที่ 2 พัฒนาโครงการ

ในขั้นนี้นักเรียนจะได้ทำงานภายใต้การดูแลแนะนำของครู เป็นทั้งการทำงานเดี่ยว งานกลุ่มเล็กๆของคนที่มีความสนใจตรงกันหรือกลุ่มใหญ่ งานที่ทำเป็นการนำเสนอการเรียนรู้ที่เป็นผลของการศึกษาหาคำตอบตามคำถามในขั้นที่ 1 โดยแสดงออกในรูปของการสร้างสิ่งต่างๆ งานศิลปะ การเล่นสมมุติ และเป็นขั้นที่นักเรียนจะได้ออกไปศึกษาข้อเท็จจริงโดยการมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้นๆ

ครูดำเนินการให้นักเรียนได้ออกไปศึกษาจากแหล่งความรู้จริงๆ ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับแหล่งความรู้ที่เป็นสิ่งของ สถานที่กระบวนการหรือบุคคลด้วยตนเอง ให้เกิดประสบการณ์ตรง

นักเรียนเข้าไปสำรวจ สังเกตและสัมภาษณ์ อย่างใกล้ชิด

ค้นหาคำตอบที่ต้องการ และตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นขึ้นใหม่ให้ได้รายละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น

                     ครูจัดเตรียมแหล่งความรู้ต่างๆสนับสนุน เช่น หนังสือ ของจริง หุ่นจำลองเพื่อที่นักเรียนจะได้ตรวจสอบความรู้ของตน และครูเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆสำหรับการออกไปแสวงหาความรู้ให้นักเรียน

                     นักเรียนนำความรู้ใหม่ที่ได้มานำเสนอในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างแบบจำลอง การวาดภาพระบายสี การทำแผนภูมิ การทำหนังสือ การเล่นสมมุติ

 

ขั้นที่ 3 รวบรวมสรุป

 

ขั้นนี้ครูจัดเตรียมสถานะการณ์เพื่อรวบรวมผลการศึกษาตามโครงการจัดนำเสนอแก่คนอื่นๆ เช่น นักเรียนในชั้นเรียนอื่นๆ บุคลากรในโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง

ครูช่วยนักเรียนเลือกและจัดเตรียมผลงานที่จะนำเสนอ

นักเรียนประเมินผลงานของตนเองและเลือกผลงานที่จะนำเสนอ

                  ครูแนะนำให้นักเรียนนำความรู้ใหม่ที่ได้นำเสนอในรูปแบบต่างๆเช่น งานศิลปะ การแสดงละคร เพลง แต่งเป็นนิทานหรือทำหนังสือ

                  ครูอาจจะช่วยนักเรียนตั้งประเด็นความสนใจขึ้นใหม่สำหรับโครงการต่อไป

 

 

 

 

กิจกรรมหลักของการสอนแบบโครงการ

                แม้ว่าการสอนแบบโครงการจะมีลักษณะยืดหยุ่นสูงกิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักเรียน ครูเป็นผู้คอยสังเกตบันทึกความคิดและคำถามตามความสนใจของนักเรียนแล้วจัดกิจกรรมสนองตอบความต้องการเหล่านั้นก็ตาม แต่ก็ยังมีกิจกรรมหลักๆ ที่ใช้ในทุกขั้นของการสอนในแบบนี้ กิจกรรมหลักดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ใช้ในขั้นการสอนทั้ง 3 ขั้นตลอดโครงการ กิจกรรมดังกล่าวคือ

1.การอภิปราย ในเด็กเล็กๆระดับชั้นอนุบาลการอภิปรายในกลุ่มเล็กๆจะช่วย

นักเรียนให้ได้มีโอกาสสนทนากับครู ครูได้ตรวจสอบ บันทึกความรู้และความสนใจของนักเรียน และเป็นการช่วยพัฒนาความคิดของนักเรียน เมื่อนักเรียนมีโอกาสได้สนทนากับครูเกี่ยวกับหัวข้อของโครงการในกลุ่มเล็กๆก่อน จะเป็นการช่วยให้นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นในการอภิปรายกลุ่มใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น

2.การทัศนศึกษา ในที่นี้หมายถึงการที่นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงทุกๆอย่าง ไม่ได้หมายความถึงการเดินทางออกไปศึกษายังสถานที่ต่างๆนอกโรงเรียนเพียงอย่างเดียว  แต่รวมถึง การได้พูดคุยสัมภาษณ์บุคคลต่างๆไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือคนอื่นๆ การสำรวจ สังเกตสิ่งต่างๆอย่างใกล้ชิดนอกห้องเรียนในบริเวณโรงเรียน หรือแม้กระทั่งการได้สังเกตการทำงานโครงการของเพื่อนร่วมชั้นอย่างใกล้ชิด การทัศนศึกษาจะทำให้นักเรียนสร้างความรู้และเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง นักเรียนจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อเขามีโอกาส ได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัส ได้ดมกลิ่น ชิมรส สิ่งที่เป็นจริงที่เขาสนใจ ในเด็กเล็กๆ การทัศนศึกษาควรอยู่ในละแวกใกล้ๆโรงเรียน ไม่ควรต้องใช้เวลาในการเดินทางมากจนเกินไป ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นข้อพึงพิจารณาของครูในการเลือกหัวข้อของโครงการด้วย

3.กิจกรรมการนำเสนอ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำเสนอความรู้ ทั้งที่เป็นความรู้เดิมก่อนการเริ่มโครงการ หรือความรู้ที่ได้จากการทำโครงการ ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปคิดและรวบรวมความรู้และความคิดที่เขามีอยู่อันจะนำไปสู่การตั้งข้อคำถามที่จะทำการค้นหาคำตอบต่อไป วิธีการที่จะนำเสนอในเด็กเล็กๆจะออกมาในรูปของการวาดภาพระบายสี การเขียนโดยการช่วยเหลือของครู การเล่นสมมุติ การสร้างของจำลอง การทำแผนภูมิ

4.กิจกรรมการศึกษาค้นคว้า นักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าหาคำตอบของคำถามที่เขาสนใจได้จากแหล่งความรู้หลากหลาย ไม่ว่าจะจากบุคคล สิ่งของ สถานที่ หรือหนังสือ ด้วยการสัมภาษณ์ หรือสังเกตอย่างใกล้ชิด การสัมผัสจับต้อง การบันทึกรวบรวม

5.การจัดแสดง เป็นงานนำผลงานของนักเรียนที่เกิดขึ้นในกระบวนการของโครงการตั้งแต่ขั้นที่ 1เริ่มต้นโครงการ มาจัดแสดงในห้องเรียน ในรูปของการติดบนป้ายนิเทศ บนผนังห้องเรียน ในกรณีที่เป็นภาพวาด งานเขียน ภาพถ่าย หรือจัดแสดงบนโต๊ะหรือมุมใดมุมหนึ่งของห้องเรียน การจัดแสดงผลงานจะเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างนักเรียนกับเพื่อนคนอื่นๆในห้องเรียน เป็นการแสดงให้เห็นความก้าวหน้าในการทำโครงการของนักเรียน เป็นการย้ำนักเรียนให้เห็นถึงประเด็นที่นักเรียนกำลังศึกษา และยังเป็นการแสดงให้บุคคลภายนอกเห็นถึงเรื่องราวของโครงการที่นักเรียนศึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 233013เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2009 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท