บันทึกเศรษฐกิจอเมริกัน : บันทึกทำความเข้าใจฟองสบู่แห่งความโลภ


• วิกฤตซับไพรม์ (การให้กู้ซื้อบ้านแก่ลูกค้าเกรด บี) เริ่มมาปีเศษ  เป็นการแตกของฟองสบู่เศรษฐกิจ ที่ค่อยๆ รุนแรงขึ้น เกิดโดมิโนของวาณิชธนกิจขนาดยักษ์ ได้แก่ แฟนนี่ เมย์, เฟรดดี้ แม็ค, แบร์ สเติร์นส,  เลห์แมน บราเธอร์ส, เมอร์ริล ลินซ์, เอ.ไอ.จี.


• ที่มาของวิกฤติเริ่มไม่ถึง ๑๐ ปี   เมื่อมีการคิดนวัตกรรมวิธีทำให้หนี้เกรด บี กลายเป็นหนี้เกรด เอ   ด้วยระบบที่เรียกว่า CDS = Credit Default Swap (ตราสารอนุพันธ์ชนิดประกันความเสี่ยงจากการผิดชำระหนี้)  ซึ่งเวลานี้ประมาณว่ามีมูลค่าถึง ๖๒ ล้านล้านดอลล่าร์   ทำให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าเกรด บี ได้เหมือนเป็นลูกค้าเกรด เอ


• นวัตกรรมนี้คือระบบกระจายความเสี่ยง   ในการสร้างความร่ำรวยจากสินเชื่อด้อยยคุณภาพ   ความเสี่ยงนั้นจริงๆ แล้วกระจายไปทั่วโลก ผ่านการลงทุนไขว้กันไปไขว้กันมา   ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย    แต่นับได้ว่าประเทศไทยแค่ถูกหางเลขนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น ไม่ถึงกับเกิดบาดแผล 


• แต่เงื่อนไขของการกู้ไปผ่อนส่งบ้าน/อสังหาริมทรัพย์ของลูกค้าเกรด บี ที่เรียกว่า subprime mortgage ไม่ร้ดกุม เปิดช่องให้มีการเบี้ยวหนี้ ปล่อยให้ยึดบ้าน โดยตนเองเจ็บน้อย   การเบี้ยวหนี้กลายเป็นโรคระบาด   เมื่อระบาดมากเข้า ความเสี่ยงไปตกที่สถาบันการเงินไหนมาก ก็ล้ม   ผลก็ลามไปที่สถาบันอื่นที่ค้ำประกัน หรือซื้อตราสารไว้   เกิดเป็นโดมิโน  


• ผลดีจากนวัตกรรมกระจายความเสี่ยง (แทนที่จะใช้หลักป้องกันความเสี่ยงอย่างที่เคยใช้) คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ    สถาบันการเงินชอบ   อุตสาหกรรมก่อสร้าง  อุตสาหกรรมพัฒนาที่ดิน  ชอบ   และรัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้น    เมื่อเกิดความผิดพลาดของระบบก็จำเป็นต้องโอนความรับผิดชอบให้แก่ผู้เสียภาษี    รัฐบาลสหรัฐต้องใช้เงิน ๘๕,๐๐๐ ล้านเหรียญ ช่วย แบร์ สเติร์น   และต้องใช้อีก ๗๐๐,๐๐๐ ล้านเหรียญ (๕% ของ จีดีพี) ซื้อหนี้เน่าของสถาบันการเงิน    เพื่อพยุงระบบเศรษฐกิจเอาไว้   มีผู้ศึกษาพบว่าในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา การกู้วิกฤติการเงินของประเทศต่างๆ ใช้เงินโดยเฉลี่ย ๑๖% ของ จีดีพี 


• บทความใน ดิ อีโคโนมิสต์ บอกว่า ที่ผ่านมาสหรัฐแก้ปัญหาแบบ tactical คือแก้ทีละเปลาะ   เขาบอกว่าจะยิ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา    ต้องหันไปใช้แนวทาง strategic คือแก้ทั้งระบบ หรือแก้อย่างเป็นระบบ


• กรณีวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ปี ๒๐๐๗ - …  และของไทยปี ๑๙๙๗ – ๒๐๐๐   น่าจะเป็นกรณีศึกษาและเปรียบเทียบทางวิชาการของนักวิชาการด้านการเงิน   ที่เอาไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้หลายคน   ตั้งโจทย์ทั้งด้านสาเหตุ   กระบวนการเยียวยาระหว่างเกิดอาการ   และวิธีการรักษาโรคและฟื้นสภาพ   ที่จริงหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยน่าจะจัดเป็นชุดโครงการวิจัย   เพื่อสร้างความรู้เอาไว้ใช้ในอนาคต   เพราะเรื่องฟองสบู่เศรษฐกิจนี้ ไม่นานก็คงจะกลับมาอีก ในอีกอวตารหนึ่ง  

วิจารณ์ พานิช
๒๒ ก.ย. ๕๑

                  

หมายเลขบันทึก: 232676เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2008 16:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หนูก็เสนอให้มีนักศึกษานิติศาสตร์ที่ศึกษากฎหมายการเงินและการลงทุนมาทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องประมาณนี้เสมอมา

แต่ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก

ค่านิยมของคนอาสามหาบัณฑิตทางนิติศาสตร์ มักจะเรียนเพื่อให้ตัวเองได้มาซึ่งสิทธิเข้าสอบสนามเล็กในการสอบผู้พิพากษาหรืออัยการ

ดังนั้น ก็ไม่นิยมทำหัวข้อที่ยากไป กล่าวคือ คิดเองทั้งหมด นับหนึ่งใหม่ จะนิยมที่จะวิเคราะห์จากงานที่มีอยู่แล้ว

หันไปพิจารณาจากการทำวิจัย ก็ค่อนข้างน้อย เพราะประชาคมวิจัยในเรื่องนี้ไม่ค่อยเกิดค่ะ คนที่อยากทำ พอโดดเดี่ยวมากๆ ก็เหี่ยว เฉา และหมดแรงใจ...........

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท