รพ.มวล. : เรียนรู้จากโรงพยาบาลใหญ่ (๒)


ตอนที่

ช่วงก่อนเที่ยง รศ.นพ.เรืองศักดิ์ ลีธนาภรณ์ นำทีมฝ่ายต่างๆ คือ งานนโยบายและแผน งานการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายการพยาบาล มาเล่าเรื่องการทำงานให้ฟัง

ในการทำงานอาจารย์แพทย์สังกัดภาควิชา ขึ้นต่อคณบดี ส่วนของโรงพยาบาลประกอบด้วยฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการพยาบาล ฝ่ายเภสัชกรรม สายการทำงานเป็นแบบ cross functional โรงพยาบาลขอความร่วมมือจากภาควิชา ปัจจุบันมีแพทย์ที่ไม่ได้เป็นอาจารย์ สังกัดโรงพยาบาลอยู่เพียง ๒ คน เพราะขาดคนด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ แต่โดยนโยบายแล้วจะต้อง recruit คนผ่านภาควิชา

การบริหารงบประมาณ มีงบประมาณ ๓ แหล่งสำคัญคือ งบประมาณแผ่นดิน เงินรายได้ และเงินบริจาค มีเทคนิคในการใช้งบประมาณอย่างประหยัด ในการจัดทำงบประมาณจะวิเคราะห์ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ๓ ปี และงานใหม่ที่คิดจะทำ

มีฐานข้อมูลด้านการเงิน มีโปรแกรมช่วยจำแนกตามภาระงานหลัก การจ่ายเงินให้กับบริษัทห้างร้าน หน่วยงานภายนอกใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ intranet เชื่อมหน่วยงาน ภายในงานคลังเชื่อมข้อมูลด้วยระบบ LAN มีเครื่องมือวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ระบบบัญชีคงคลัง

ใช้ IT ช่วยงานพัสดุ ระบบจัดซื้อ ระบบเบิกพัสดุ

การพัฒนาบุคลากร มีคณะกรรมการเสนอแผนพัฒนาสาย ข, สาย ค ส่วนสาย ก มีวงเงินให้ บุคลากรที่มีวุฒิระดับต่างๆ มีอัตราค่าจ้างเป็นอย่างไร ใช้ระบบ competency ในการประเมินบุคลากร core competency มี ๗ ด้าน ประเมินผ่านเครือข่าย intranet เอาคะแนนไปกำหนดแผนการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาอาจส่งอบรมหรือจัดการอบรมเอง คนเข้าใหม่มีการปฐมนิเทศ มีการสร้างแรงจูงใจ เช่น ค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ทำโครงการพัฒนางาน สนใจเรื่องความผาสุกและความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากรด้วย

การสรรหาและว่าจ้างบุคลากร มีประเด็นที่น่าสนใจคือมีการให้เขียนแผนการพัฒนาตนเอง บุคลากรที่ขาดแคลนจะมีการให้ทุนตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ นอกจากนี้ยังมีการวางแผนการสืบทอดผู้บริหาร

การบริหารบุคลากรฝ่ายการพยาบาล ดร.สมสมัย สุธีรศานต์ (จบรามาฯ รุ่น ๓ รุ่นน้องของดิฉัน) หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลเล่าให้ฟังว่า มีจำนวนผู้ใช้บริการ OPD ประมาณ ๓,๐๐๐ ราย/วัน ER ๑๕๐ ราย/วัน OR ๒,๔๐๐ ราย/เดือน IPD ๘๗๓ เตียง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นประเภท super tertiary ระดับ ๓-๔ PCU จะดูแลเฉพาะนักศึกษาและประชาชนรายรอบ

บุคลากรในฝ่ายการพยาบาลมีจำนวน ๑,๘๘๑ คน ประกอบด้วยระดับผู้บริหาร (หัวหน้าฝ่าย ผู้ตรวจการ หัวหน้าหอผู้ป่วย) พยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานช่วยการพยาบาล (ฝึกเอง ทำสัญญาจ้างเป็นรายปี) เสมียน แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่อื่นๆ สายการบริหารขึ้นตรงต่อผู้อำนวยการโรงพยาบาล เอาผู้ตรวจการพยาบาลและหัวหน้าหอผู้ป่วย มาทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายด้านต่างๆ เช่น ด้านบริหารคุณภาพ ด้านพัฒนาบุคลากร ด้านบริหารจัดการพัสดุ ฯลฯ มี nursing service committee พิจารณาเรื่องที่จะ involve คนทั้งหมด

ตัวชี้วัดของฝ่ายการพยาบาล เจาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานพยาบาลโดยตรง ผู้ป่วยในทุกรายที่ discharge จะให้ประเมินและดูจำนวนข้อร้องเรียน ด้านจริยธรรมคุณธรรม แรกๆ ถามกันเอง ต่อมาให้ผู้ป่วยและลูกค้าภายในประเมิน

การบริการที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เน้นที่ Patient safety index มีการ monitor ตัวชี้วัดตลอด Benchmark กับของต่างชาติด้วยและดูจากเครือข่าย รพ.มหาวิทยาลัย

อัตราการลาออก โอนย้าย ปี ๒๕๔๙ – ๕.๗๓% ปี ๒๕๕๐ – ๕.๔๐% ปี ๒๕๕๑ – ๖.๗๔% ถ้ายังต่ำกว่า ๑๐% ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพ ที่ลาออกไปก็ยังทำงานอยู่ใกล้ๆ เช่น ตามภาควิชาต่างๆ

การจัดสรรอัตรากำลัง (๑) ดูตามมาตรฐานที่สภาการพยาบาลกำหนด (๒) ดูตามความหนักเบาของผู้ป่วย และสมรรถภาพทางกาย คุณสมสมัยได้นำเสนอตัวเลขอัตราการลาป่วยว่า RN มีอัตราการลาป่วย ๒+ วัน/ปี PN ๓+ วัน/ปี อายุมากการลาจะมากขึ้น

การประเมินผล ดูหลายด้าน รวมทั้งการแก้ปัญหาและตัดสินใจ การสื่อสาร มีการตรวจสอบคุณภาพบันทึกทางการพยาบาลปีละ ๒ ครั้ง

RN จบใหม่ มีค่าตอบแทนประมาณ ๑๘,๘๐๐ บาท/เดือน พร้อมที่พักห้องละ ๑ คน มีสวัสดิการมากกว่าที่อื่น มีการให้ทุนนักศึกษาพยาบาลปี ๓ เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท ปี ๔ เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท จบแล้วทำงานใช้ทุนเท่ากับระยะเวลาที่รับทุน

การเตรียมคนในช่วงแรกเริ่ม มีการส่งเรียนที่ วพบ.สงขลา ปีละ ๒๐ คน ให้พยาบาลที่จบจากรามาธิบดีและศิริราชมาใช้ทุนที่นี่ ส่วน PN ส่งเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จบภาคเช้าเมื่อเลยเวลา ๑๒ น.ไปแล้ว เราหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันที่จัดมาเป็นชุดน่ารับประทาน

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 231459เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2008 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท